SHARE

คัดลอกแล้ว

1,500-2,000 เรื่อง คือค่าเฉลี่ยปริมาณหนังอินเดียที่สร้างออกมาฉายต่อปี จนถือเป็นประเทศที่สร้างภาพยนตร์แต่ละปีมากที่สุดในโลก ขณะที่สหรัฐอเมริกาเจ้าแห่งศาสตร์ด้านนี้สร้างหนังเฉลี่ย 800 เรื่องต่อปี แต่ถ้าเทียบมูลค่าอุตสาหกรรมหนังแล้ว สหรัฐอเมริกายังคงครองที่หนึ่งในโลก

3,600 ล้านคนทั่วโลก คือฐานคนดูหลักหนังอินเดีย

กระแสชื่นชมภาพยนตร์อินเดีย Gangubai Kathiawadi คังคุไบ หญิงแกร่งแห่งมุมไบ เต็มโซเชียลมีเดีย หนังเรื่องนี้ฮิตในอินเดียตั้งแต่เปิดฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อช่วงกุมภาพันธ์ และยังถูกจริตคนดูในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในไทยที่มีกระแส “นายหญิงคังคุไบ” ถึงขนาดพากันไปแต่งโคฟเวอร์ลุคเป็น “คังคุไบเวอร์ชั่นไทยแลนด์” ความดังของหนังเรื่องนี้ทำให้กระแสหนังอินเดียถูกกลับมาพูดถึงกันมาก และเป็นตัวช่วยเปิดตลาดหนังอินเดียให้หมู่คนดูในประเทศไทยเพิ่มขึ้น นอกจากมีกลุ่มขาประจำกันอยู่แล้ว

1.83 แสนล้านรูปี หรือราว 8 หมื่นกว่าล้านบาท คือมูลค่าของอุตสาหกรรมหนังอินเดีย นี่เป็นตัวเลขในช่วงมีวิกฤติแพร่ระบาดโควิด-19 และคาดว่าปีนี้จะเติบโตทะลุเลยแสนล้านบาท


ปี 2561 จารึกไว้ว่าเป็นปีที่วงการหนังอินเดียสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ “Dangal” คือหนังอินเดียบอลลีวูด ที่ทำรายได้สูงสุดทั่วโลกตลอดกาลจนถึงตอนนี้ และเป็นหนังที่ฮิตมากในประเทศจีน ทำให้พระเอกของเรื่อง “อาเมียร์ ข่าน” (Aamir Khan) ขึ้นแท่นซุปตาร์บอลลีวูดยอดนิยมและพระเอกค่าตัวสูงสุดในอินเดียจนถึงปัจจุบัน และยังมีแฟนคลับเป็นคนจีนจำนวนมาก

เมื่อดูประวัติศาสตร์หนังอินเดียมีมายาวนานนับ 100 ปี หนังอินเดียเรื่องแรกเป็นสารคดียาวสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1913 หรือตรงกับ พ.ศ.2456 เทียบประเทศไทยก็คือช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 หนังอินเดียก็ถือเป็น Soft Power ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งโดยฐานคนดู 3,600 ล้านคน มาจาก ชาวอินเดียในประเทศและประเทศใกล้เคียง กลุ่มคนดูชาวอินเดียที่กระจายอยู่ทั่วโลก และกลุ่มคนดูชาติอื่นๆ

 

หนังบอลลีวูดทั้งหมดมาจากอินเดียแต่ไม่ใช่หนังอินเดียทุกเรื่องที่เป็นภาพยนตร์บอลลีวูด

ความที่อินเดียมีประชาชนใช้ภาษาพูดหลากหลายตามภูมิภาคต่างๆ ทำให้อุตสาหกรรมหนังอินเดียสร้างออกมาในภาษาต่างๆอีกกว่า 20 ภาษาแยกย่อยตามแต่ละภูมิภาค โดยมี “บอลลีวูด” Bollywood ที่เกิดจากการรวมคำระหว่าง บอมเบย์กับฮอลลีวู้ด เป็นอุตสาหกรรมหนังหลักของประเทศ มีฐานที่มั่นตั้งอยู่ที่เมืองมุมไบ (ในชื่อเดิมบอมเบย์) ถือเป็นเมืองหลวงความบันเทิงของประเทศคล้ายฮอลลีวูดที่นครลอสแอนเจลิส

อุตสาหกรรมหนังบอลลีวู้ดถือเป็นพี่ใหญ่ของอุตสาหกรรมหนังอินเดีย และมีฐานคนดูจำนวนมากที่สุด
ดังนั้นเมื่อพูดถึง “บอลลีวูด” จึงหมายถึงภาพยนตร์อินเดียที่ใช้ภาษาฮินดี (Hindi) เท่านั้น ซึ่งเป็นภาษาพูดที่ใช้กันส่วนใหญ่ในประเทศ โดยเฉพาะแถบอินเดียเหนือและกลาง ทั้งยังเป็นภาษาที่กำหนดให้ใช้ติดต่อกับรัฐบาลกลาง

ส่วนภาพยนตร์อินเดียในภาษาประจำภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งภาษาเบงกาลี ภาษาทมิฬ ภาษาเตลูกู ก็จะมีชื่อเรียกเล่น ๆ ในวงการเช่นกัน อย่างตลาดหนังภาษาทมิฬ จะถูกเรียกชื่อเล่นว่า Kollywood ส่วนหนังที่ใช้ภาษาเตลูกู ก็เรียกว่า Tollywood แต่ภาพรวมหนัง Bollywood ก็เป็นที่นิยมมากที่สุดในอินเดีย

เป็นหนังอินเดียต้องร้องเพลงเต้นรำสนั่นจอ

ในอดีตความเป็นหนังอินเดีย แรกเริ่มมีฉากเต้นรำ เดิน วิ่ง ร้องเพลงสอดแทรกมาในหนัง เป็นการวางภาษาหนังที่ผู้กำกับภาพยนตร์ตั้งใจจะสื่อให้คนดูเข้าใจความรู้สึกของตัวละคร รวมทั้งฉากเต้นรำคือ หนึ่งในช่วงบันเทิงที่พาคนดูหลุดจากพันธนาการในโลกจริงเข้าสู่ความบันเทิงและโลกความฝันอย่างสมบูรณ์

ส่วนในกลุ่มคนดูอินเดียนั้นถูกจริต คุ้นเคยผูกพันกับวิธีนำเสนอแนวนี้มาแต่ดั้งเดิม และคนอินเดียเองก็ชอบดนตรี เต้นรำ การละคร ความรื่นเริงบันเทิงรมย์ นั่นทำให้การมีฉากตัวละครเดิน วิ่ง ร้องเพลงเต้นรำใส่ไปในหนัง ถูกจริตคนดูอินเดียกลุ่มใหญ่ของประเทศ และพวกเขารู้สึกกันว่าจ่ายเงินเพื่อชมภาพยนตร์เรื่องนั้นคุ้มค่า

ฉากเต้นรำจากเหตุผลทางศิลปะสู่พาณิชย์ศิลป์

เวลาผ่านไปนอกจากเหตุผลดังกล่าวแล้ว ก็มีเหตุผลทางการตลาดและการขายมาเกี่ยวข้อง ทำให้ต่อมา ฉากตัวละครร้องเพลง เต้นรำ กลายเป็นจุดขายหลักอีกอย่างของหนัง

หนังบอลลีวูดต่างต้องแข่งกันดีไซน์ฉากร้องเพลง เต้นรำ ออกแบบท่าเต้น และทำเพลงประกอบที่ดึงดูดเพื่อจูงใจให้คนดูตื่นเต้น แปลกใหม่ ไม่เบื่อ

ฉากเต้นรำช่วยให้หนังที่มีบทอ่อนหรือบทไม่ดี รอดตายมาแล้ว
บางเรื่องบทหนังธรรมดาไม่มีอะไรน่าจดจำ แต่กลับทำรายได้สูง เพราะทีเด็ดทีขาดอยู่ตรงดนตรีและฉากเต้นรำได้ใจคนดูเลยก็มี

หนังบางเรื่องก็จงใจใส่ฉากร้องเพลงเต้นรำชนิดเหมือนทำ MV มิวสิควิดีโอ สวยๆ ที่ให้พระเอกนางเอกมาแสดงแทรกไปกับหนัง ซึ่งวิธีนี้ก็ช่วยส่งเสริมการตลาดนำเพลงไปต่อยอดหารายได้ต่อได้อีกทาง อีกด้านหนึ่งคือ การดีไซน์ฉากร้องเพลง เต้นรำที่ร่วมสมัยขึ้นทำให้คนดูจากต่างวัฒนธรรมจำนวนไม่น้อยเปิดรับ การร้องเพลงเต้นรำในหนังอินเดียมากขึ้น

ดังนั้นจะเห็นว่าแม้คนดูต่างวัฒนธรรมบางส่วน (ไม่ทั้งหมด) อาจจะเบื่อหน่ายฉากเหล่านี้ เพราะทำให้หนังเดินเรื่องช้าลง และเพิ่มเวลาการรับชม แต่มีเหตุผลทั้งสิ่งเหล่านี้ตอบโจทย์คนดูหมู่มาก และเหตุผลทางการขายและการตลาดนั่นเอง

อย่างไรก็ตามใช่ว่าหนังทุกเรื่องจะต้องใส่ฉากเต้นรำ เพราะก็มีหนังอินเดียบางเรื่องที่ไม่มีฉากเต้นรำให้เห็นเลยซักฉากก็มี ส่วนใหญ่จะเป็นหนังแนวทริลเลอร์ อาชญากรรมเคร่งขรึมที่ใส่เข้าไปก็ดูจะผิดฝาผิดตัว

จากแอลเอสู่มุมไบ ความเหมือนของวงการบอลลีวูดและฮอลลีวูด

คำว่า “บอลลีวูด” ถูกเรียกแทนอุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดียในช่วงปี 1970 ที่หนังอินเดียเฟื่องฟูได้รับความนิยมสุดขีด จนถูกเทียบชั้นกับฮอลลีวู้ดของสหรัฐอเมริกา
และมีจังหวะซบเซาลงไปในช่วงทศวรรษที่ 1980 กระทั่งกลับมาเติบโตได้อีกครั้งในยุค 1990 เนื่องจากรัฐบาลอินเดียดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ภาพยนตร์ต่างๆจึงได้รับงบประมาณการผลิตเพิ่มขึ้น

ขณะที่ช่วงนี้หนังบอลลีวูดเริ่มหันมาใช้แนวทางสร้างหนังแบบ หวังรายได้ ในระดับบล็อกบัสเตอร์มากขึ้น ทำให้มีการลงทุนใส่ฉากหรูหราอลังการ และหลายเรื่องก็ออกไปถ่ายทำในต่างประเทศ ซึ่งในช่วงปี 2551-2552 ประเทศไทยถือเป็นแหล่งถ่ายทำภาพยนตร์บอลลีวูดติดอันดับหนึ่งเลยทีเดียว

นอกจากนี้ความเป็นบอลลีวูดยังไม่ได้เหมือนฮอลลีวูดแค่ชื่อเรียก แต่อุตสาหกรรมหนังอินเดียได้เกิดวัฒนธรรม “ดาราชูโรง” ที่ถูกใช้เป็นจุดขายของหนังเรียกคนดูด้วย คำเรียกนักแสดงระดับแม่เหล็ก ทำให้เกิดกระแส “ดาราค่าตัวแพง” “ดาราแม่เหล็ก” หรือในวงการภาพยนตร์เรียกว่านักแสดงระดับ A-List ที่ถ้ามีดารากลุ่มนี้มาร่วมแสดง มีหน้ามีชื่อติดอยู่ในโปสเตอร์ ก็รับประกันว่าหนังเรื่องนั้นจะทำรายได้

ดารากลุ่มนี้ อาทิ Aamir Khan พระเอกจากหนัง Dangal, 3 idiots, พระเอกตาสวย Hrithik Roshan ที่แฟนคลับคนไทยเรียกกันติดปาก “พี่ติ๊ก” Ranbir Kapoor พระเอกดังสามีของนางเอกสาว Alia Bhatt ที่สวมบทเป็นคังคุไบ ส่วนรุ่นใหญ่เลยคือ Shah Rukh Khan และรุ่นลายคราม Amitabh Bachchan ฟากนางเอกที่โด่งดังสากลคือ Priyanka Chopra อดีต Miss World ปี 2000 ที่ผันตัวมาเป็นนักแสดงทั้งในบอลลีวูดและฮอลลีวูด สุดท้ายแต่งงานกับนักร้องดังอเมริกา Nick Jonas นอกจากนี้ยังมี Deepika Padukone ตัวท็อปวงการที่ถูกขนานนามว่าเป็นเจ้าหญิงบอลลีวู้ด Katrina Kaif นางเอกซุปตาร์ตลอดกาล และที่ดังตอนนี้หนึ่งในนางเอกค่าตัวแพงของวงการ Alia Bhatt จากหนังดังคังคุไบ Gangubai Kathiawadi

ที่ว่ามาเป็นตัวอย่างเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมหนังบอลลีวูดที่ก็เหมือนฮอลลีวูดที่มีดาราสวยหล่อมาเรียงรายวางเป็นกองทัพ

ความเหมือนอีกอย่างระหว่างบอลลีวูดและฮอลลีวูดคือ ความหรูหรา ฟู่ฟ่า แม้ภาพรวมรายได้ของหนังอินเดียจะต่ำกว่าหนังอเมริกา แต่เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายในการผลิตหนังอินเดียแต่ละเรื่องจะใช้ต้นทุนน้อยกว่า แต่ที่แพงคือค่าตัวนักแสดงอินเดียระดับตัวท็อปที่แต่ละคนมีรายได้ต่อปีกันสูง

 

บอลลีวูดยังเป็นแหล่งกำหนดเทรนด์ต่างๆ ในสังคมอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นดนตรี แฟชั่นต่างๆ ที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังบอลลีวูด วงการดนตรีเองศิลปินแร็ปเปอร์ในตำนานอย่าง Snoop Dogg และ Pitbull ก็เคยนำเพลงบอลลีวูดมาร่วมแร็ปเป็นตัวอย่างว่าวัฒนธรรมบอลลีวูดของอินเดียก็สากลไม่ต่างจากฮอลลีวูดเช่นกัน

 

อุตสาหกรรมหนังอินเดียเติบโตอย่างแข็งแรงด้วยยอดผู้ชมจำนวนมาก สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากราคาตั๋วหนังที่ฉายในอินเดียที่ถูกมาก ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 75 รูปีเท่านั้น (ราว 33 บาท) หรืออย่างถูกสุดก็มีราคาแค่ 40 รูปี (17 บาท) ก็มี โดยปัจจุบันเรทค่าตั๋วหนังในอินเดียจะถูกแบ่งหลายเกรดตามรูปแบบโรงหนังตั้งแต่ธรรมดาจนถึงพรีเมียม ซึ่งก็จะมีราคาที่สูงกว่านี้มาก แต่โดยรวมถือเป็นประเทศที่มีราคาค่าตั๋วหนังถูก เพราะหนังอินเดียเป็นตัวแทนความบันเทิงความผ่อนคลายในราคาย่อมเยาว์ที่ผู้คนระดับล่างพอจะมีกำลังทรัพย์เข้าถึงได้ง่ายที่สุดเช่นกัน และยังรวมถึงเป็นความบันเทิงร่วมของทุกชนชั้นในประเทศนี้อีกด้วย

 

ภาพรวมตลาดหนังบอลลีวูดนั้น ไม่ได้กระจุกตัวมีฐานผู้ดูเฉพาะตลาดเอเชีย แต่สามารถกระจายตลาดไปยังอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง และโอเชียเนีย ที่มีชาวอินเดียอาศัยอยู่ ซึ่งต้องยอมรับว่าภาษาและศาสนาเป็นปัจจัยที่มีส่วนส่งเสริมการขายภาพยนตร์อินเดียในตลาดต่างประเทศ

 

ประวัติศาสตร์โดยย่อของหนังอินเดีย

หนังอินเดียเรื่องแรกเป็นสารคดียาวสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1913 หรือ พ.ศ.2456 เทียบประเทศไทยก็คือช่วงสมัยรัชกาลที่ 6
ส่วนหนังไทยเรื่องแรก “นางสาวสุวรรณ” สร้างพ.ศ.2466 ในสมัยรัชกาลที่ 6 เช่นกัน

ผ่านมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ราวพ.ศ.2474 อินเดียก็ผลิตภาพยนตร์ได้มากกว่า 100 เรื่องต่อปีแล้ว

ยุคทองของหนังอินเดียเกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2490 เป็นต้นมา ภายหลังได้รับเอกราชจากการปกครองของสหราชอาณาจักร โดยแยกประเทศออกเป็นสาธารณรัฐอินเดียและปากีสถาน จากจุดนั้นอุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดียก็ยิ่งเติบโตขึ้นจนเรียกได้ว่าเป็นยุคทอง ของหนังอินเดีย

หนังอินเดียมีวิวัฒนาการยึดโยงกับบริบทการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เราจึงได้เห็นหนังอินเดียหลายเรื่องนำเสนอประเด็นแหลมคมทางสังคม พูดถึงปัญหาต่างๆในประเทศ สำรวจจุดอ่อนของสังคมอินเดีย

หนึ่งในประเด็นสะท้อนสังคมอินเดีย จนรับรู้ในหมู่นักดูหนังคนไทยรุ่นคนแก่คนเฒ่าเวลาดูหนังอินเดีย ที่มักจะพูดแซวกันว่า หนังอินเดียเขียนบทให้ตำรวจเป็นผู้ร้ายตลอด แล้วก็น่าขำที่โดยมากหนังอินเดียก็มักจะให้ภาพลักษณ์ตำรวจไม่ค่อยดีนักเป็นอย่างนั้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นนัยสะท้อนการพูดถึงความไม่ยุติธรรมอย่างเด่นชัด

 

หนังอินเดียช่วยคนให้รู้หนังสือ

หนังบอลลีวู้ดยังทำหน้าที่ไปไกลกว่านั้น เพราะมันถูกนำไปใช้ในการส่งเสริมการศึกษาเพิ่มอัตราการเรียนรู้หนังสือให้ชาวอินเดียที่ยังไม่รู้หนังสือราว 1 ใน 3 ทั่วประเทศด้วย โดยรัฐบาลแต่ละรัฐมีการนำหนังบอลลีวู้ดที่มีการ้องเพลง เต้นรำ มาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนทางอ้อม โดยนำเพลงจากหนังไปเปิดในหมู่บ้านตามชนบทเพื่อเพิ่มอัตราการรู้หนังสือภาษาฮินดี (ภาษาพูดหลักของประเทศ) และชาวอินเดียส่วนใหญ่ไม่พูดภาษาอังกฤษ ซึ่งสไตล์การพูดของตัวละครในหนังบอลลีวู้ดบทสนทนามักจะมีการสอดแทรกประโยคและคำที่เป็นทับศัพท์ภาษาอังกฤษไว้ด้วย จึงมีการนำหนังบอลลีวูดพร้อมคำบรรยายภาษาฮินดีไปเปิดตามหมู่บ้านในชนบท

และนี่คือเรื่องราวของอุตสาหกรรมหนังมูลค่ากว่าแสนล้านรูปีของอินเดีย ประเทศที่หนังคือความบันเทิงราคาย่อมเยาและยังเป็นสื่อกลางสอนหนังสือให้ประชาชน

 

 

 

 

บทความโดย ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

[email protected]

 

 

อ้างอิง
https://www.statista.com/statistics/235837/value-of-the-film-industry-in-india/#statisticContainer
https://www.statista.com/statistics/972751/india-best-paid-male-actors-by-earnings-per-film/
https://www.masterclass.com/articles/what-is-bollywood#a-brief-history-of-bollywood
https://news.sonoma.edu/article/10-things-you-didnt-know-about-bollywood
https://theopinionatedindian.com/entertainment/Top-5-Film-Industries-In-The-World-In-2022/cid6425517.htm

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า