เสร็จสิ้นการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ในวาระที่หนึ่ง ผ่านฉลุยจากเสียงโหวตของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ยังมีเสียงหนุนจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะ 7 ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ถูกตราหน้าว่าเป็น “งูเห่า” อีกไม่กี่วันข้างหน้าจะมีการเรียกร้องให้มีมาตรการลงโทษ
วันที่ 3 มิ.ย. 2565 ประเด็นร้อนควันหลงจากการลงมติในร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2566 หนีไม่พ้นกรณี ส.ส.ฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย 7 เสียง โหวตสนับสนุนรับร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 2566 ทั้งที่มติพรรคชัดเจนว่าจะไม่รับร่างนี้ โดย
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมการจริยธรรม พรรคเพื่อไทย บอกว่า ต้องมีมาตรการอะไรบางอย่างออกมาดำเนินการกับทั้ง 7 คน เพราะ ส.ส. 7 คน เป็นที่รู้กันในพรรคว่า ไม่ค่อยมาร่วมกิจกรรมพรรคในช่วงหลัง ดูแนวโน้มไม่น่าจะอยู่ร่วมกับพรรคในสมัยหน้า บางคนมีพฤติกรรมมาตั้งแต่การโหวตซักฟอกรอบที่แล้ว บางคนไปเปิดตัวกับพรรคการเมืองอื่นชัดเจน
“การประชุมพรรคในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ จะหยิบยกกรณีการไม่โหวตตามมติพรรคมาคุยกัน และจะเสนอให้ตั้งคณะกรรมการสอบจริยธรรมทั้ง 7 คน เพื่อลงมติขับออกจากพรรค ส่วนตัวมองว่า คนเหล่านี้ไม่ใช่ลูกผู้ชาย ถ้าอยากจะไปให้ไปเลย วันที่ยังไม่ได้เป็น ส.ส. มาขออยู่ร่วมกับพรรค ใช้โลโก้ ใช้เงินพรรคหาเสียง แต่พอได้เป็น ส.ส. ในวันที่พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน ก็หนีไปหาพรรคอื่นที่อุดมสมบูรณ์” นายวิสุทธิ์ กล่าว
ขณะที่นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย หนึ่งใน ส.ส.งูเห่า กล่าวว่า เป็นเอกสิทธิของ ส.ส.ในการโหวตลงมติ ปกติแล้วการโหวต พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายที่ผ่านมา ฝ่ายค้านจะงดออกเสียงไม่เคยลงมติไม่เห็นด้วย แต่เที่ยวนี้พรรคเพื่อไทยตั้งเป้าไม่เห็นด้วย ขัดกับวัฒนธรรมการลงมติในอดีต ดูแล้วไม่น่าจะถูกต้อง หากพรรคจะเรียกไปชี้แจงพร้อมไปและจะตั้งคำถามกลับด้วยว่า เหตุใดถึงให้โหวตไม่รับหลักการขัดกับวัฒนธรรมการโหวตกฎหมายงบประมาณ ส่วนอนาคตทางการเมืองยังไม่สามารถตอบได้ ให้เป็นเรื่องอนาคต หากพรรคจะมีมติขับออกจากพรรค เพราะไม่ปฏิบัติตามมติพรรค ยินดีรับบทลงโทษ แต่พรรคต้องมีความชัดเจนตอบคำถามข้อสงสัยให้ได้เช่นกัน
ด้านนายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย งูเห่าอีกคน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับมติพรรคให้โหวตไม่รับหลักการ เพราะเรื่องงบประมาณเป็นเรื่องเกี่ยวกับประโยชน์ของประชาชน สมควรโหวตให้ หรือเต็มที่ก็งดออกเสียง ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยโหวตงดออกเสียงมาตลอด แต่เที่ยวนี้ให้ไม่รับหลักการ จึงจำเป็นต้องโหวตสวนมติพรรค ส่วนอนาคตทางการเมือง คงไม่ได้อยู่กับพรรคเพื่อไทยอีก จะไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย เป็น ส.ส.อยากทำงานให้ประชาชน แต่การเป็นฝ่ายค้านไม่มีงบประมาณลงพื้นที่ไปช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้ ถ้าเป็นรัฐบาลอย่างน้อยก็ช่วยประสานของบประมาณไปแก้ไขปัญหาได้ จึงตัดสินใจไปร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทย ถ้าพรรคจะมีมติขับออกจาก ส.ส.ก็พร้อมรับมติพรรค