SHARE

คัดลอกแล้ว

Ms. Marvel ซีรีส์เรื่องล่าสุดจาก Disney+ ที่เปิดมาด้วยความสดใหม่สมกับยุคสมัย ตั้งแต่การเป็นซุปเปอร์ฮีโร่เชื้อสายปากีสถาน ศาสนาอิสลามคนแรก และยังเป็นการรวมกระแสเชิดชูความหลากหลายไว้ในตัวละคร ด้วยเรื่องราวของ กมลา ข่าน (รับบทโดย ไอมาน เวลลานี)  เด็กสาวแฟนคลับตัวยงของอเวนเจอร์สและมีไอดอลเป็นกัปตันมาร์เวล ผู้ค้นพบว่าตัวเองได้รับพลังวิเศษจากกำไลเก่าแก่ของครอบครัว จากแฟนคลับงานนี้เธอจึงอาจจะได้กลายมาเป็นฮีโร่เสียเอง

Ms. Marvel ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากนักวิจารณ์ ผู้ชมบางส่วนก็ชื่นชมในความสนุกและการที่ซีรีส์นับเป็นอีกก้าวสำคัญสู่ความเท่าเทียมของจักรวาลมาร์เวล ด้วยการสร้างซีรีส์ที่มีซุปเปอร์ฮีโร่หญิงมุสลิมะห์ขึ้นมา ทว่าผู้ชมบางส่วนอาจจะไม่รู้สึกอย่างนั้น ทำให้เกิดกระแสต่อต้านและรุม ‘รีวิวบอมบ์’ ที่หมายถึงการรุมถล่มเพื่อจงใจให้ซีรีส์หรือภาพยนตร์ดูแย่

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าแม้จะมีเสียงชื่นชมมากมาย แต่เรตติ้งของ Ms. Marvel ในเว็ปไซ ต์ IMDb กลับมีอยู่แค่ 6.2 เพราะมีผู้ชมกว่า 28.7% ที่ให้เรตติ้ง 1/10 โดยบทความจาก News Week รายงานว่ามีการโหวตให้คะแนนขั้นต่ำสุดตั้งแต่ซีรีส์ยังไม่ถูกปล่อยออกมาให้ชมอย่างเป็นทางการเสียอีก Forbes ลงบทความถึงประเด็นนี้โดยเปรียบเทียบและตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่าจะมีคนจำนวนมากให้เรตติ้ง Ms. Marvel เต็มสิบ แต่หากเปรียบเทียบกับซีรีส์เรื่องอื่นเปอร์เซนต์ของคนที่ให้ 1/10 นั้นโดดจนน่าสังเกต โดยทั่วไปเรื่องอื่น ๆ นั้นไม่เกิน 5% แต่ของ Ms. Marvel นั้นเกิน 20% ไปไกล

นอกจากนี้ยังมีการชี้ให้เห็นว่าแม้แต่ผลงานของมาร์เวลที่ได้รับความนิยมน้อยกว่านี้อย่าง Inhumans หรือ Iron Fist ยังไม่ได้รับเสียงวิจารณ์ด้านลบมากขนาดนี้ โดยได้เพียง 11.6 และ 3.9 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ทำให้ผู้ชมและสื่อหลายสำนักตั้งข้อสังเกตว่า Ms. Marvel กำลังถูกรีวิวบอมบ์ ซึ่งสาเหตุก็มีอยู่หลายเรื่อง อาทิ

  • เชื้อชาติและศาสนาของตัวละคร

มีความเห็นใน IMDb ที่วิจารณ์ว่า Marvel เหมือนกับละครน้ำเน่าอินเดีย และอีกหลายความเห็นที่ถึงแม้ไม่ได้พูดออกมาอย่างตรง ๆ แต่ก็มีนัยของความเหยียดเชื้อชาติและศาสนา ด้วยความที่ กมลา ข่าน นับถือศาสนาอิสลามที่ถูกสร้างให้กลายเป็นผู้ร้ายในสายตาชาวโลกมานาน และเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังที่ฝังรากลึกอยู่ในหัวใจใครอีกหลายคนก็แผ่กิ่งก้านออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนในความเห็นที่มีต่อซีรีส์ชุดนี้ ความคิดเห็นเหล่านี้อาจจะกำลังสะท้อนอาการ อิสลาโมโฟเบีย (Isamophobia) หรือความหวาดกลัวอิสลามิกชนอย่างไร้สาเหตุที่รายงาน Global Terror and the Rise of Xenophobia/Islamophobia: An Analysis of American Cultural Production since September 11 เขียนโดย มูฮัมหมัด เซฟอีร์ อาวัน นำเสนอว่ามันแพร่ไปทั่วโลกหลังเหตุการณ์เครื่องบินชนตึกตึกเวิลด์เทรดในวันที่ 11 กันยายน ซึ่งทำให้สื่อต่าง ๆ ต่างนำเสนอภาพของอิสลามมิกชนอย่างอยุติธรรมทำให้เกิดแบบแผน (Stereotype) ของตัวละครที่นับถือศาสนาอิสลามขึ้นมา การที่ตัวเอกอย่างกมลานั้นเป็นเด็กสาวมุสลิมะห์ จึงอาจจะทำให้เกิดความไม่คุ้นเคยในผู้ชมบางกลุ่มอย่างไม่รู้ตัวเนื่องจากการเสพสื่อที่หล่อหลอมมุมมองที่สร้างความหวาดกลัวชาวอิสลามมิกจนผู้ชมบางส่วนมีอคติกับตัวละครจากเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ที่นับถือศาสนาอิสลาม

  • ซีรีส์มีความ Woke มากเกินไป

NBC ก็มีรายงานข่าวการโดนรีวิวบอมบ์นี้เช่นกัน โดยในบทความมีการวิเคราห์ว่าการที่ซีรีส์ได้รับเสียงวิจารณ์ว่ามีความ Woke ที่หมายความถึงการตาสว่างตื่นรู้กับความเหลื่อมล้ำในสังคมมากจนเกินไป อาจจะเชื่อมโยงกับการที่ในจำนวนผู้ชมที่ให้ 1 คะแนนนั้นเป็นผู้ชายอายุมากกว่า 30+ อยู่ด้วย ในบทความนั้น ฮาร์ลีน ซิงห์ รองศาสตราจารย์ด้านสตรีศึกษาและประวัติศาสตร์เอเชียใต้จาก มหาวิทยาลัยแบรนไดส์ (Brandeis University) กล่าวว่ามันไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่จะมีผลตอบรับเช่นนี้เพราะภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่นั้นมีความเป็นปิตาธิปไตยมาอย่างยาวนาน และเมื่อมีซีรีส์ซุปเปอร์ฮีโร่ที่ฉีกออกจากแบบแผนเดิม ๆ ก็อาจจะทำให้ผู้ชมบางส่วนรับไม่ได้

  • การที่ซีรีส์มีเรื่องราวของการก้าวข้ามผ่านวัย (Coming of Age) ของเด็กสาว

ด้วยความที่กมลาเป็นเด็กวัยรุ่น จึงพลอยทำให้ปมปัญหาที่เธอต้องเผชิญนั้นก็คล้าย ๆ กับเด็กสาวทั่วไป อย่างเช่นการมีพ่อแม่ที่รักเธอ แต่ขี้ปกป้องและหัวโบราณเกินไปนิดหน่อย แต่ไม่ได้มีปมหนัก ๆ ตามแบบแผนเดิม ๆ อย่างการโดนเหยียด เพื่อนไม่มี ครูใจร้าย หรือโดนบูลลี่ ฯลฯ ซึ่งแม้สมจริงกว่า แต่ก็ทำให้เรื่องดูจะเบากว่าเรื่องอื่น ๆ ที่มาร์เวลเคยทำมา บวกกับการเล่าเรื่องแบบตรงไปตรงมา ทำให้มันกลายเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้ชมบางกลุ่มไม่ชอบซีรีส์ชุดนี้ อย่างไรก็ตามมีความเห็นในอินเตอร์เน็ตที่ชี้ว่าเสียงวิจารณ์เหล่านี้ อาจจะเกิดจากผู้ชมบางกลุ่มที่ยังไม่คุ้นเคยกับการที่ผลงานของมาร์เวลไม่ได้เจาะกลุ่มผู้ชมกลุ่มเดิม ๆ อยู่กลุ่มเดียวอีกต่อไป ทำให้มีตัวละครเอกที่ภาพลักษณ์ต่างจากเดิมมาก

  • การที่ซีรีส์นั้นดัดแปลงพลังของ Marvel ไปจากคอมมิค

ในซีรีส์นั้นพลังของกมลาอยู่ในรูปแบบของพลังงานที่ถูกควบคุมให้ออกมาในรูปต่าง ๆ ได้ ต่างกับในคอมมิคที่พลังของเธอจะอยู่ในแนวของการปรับเปลี่ยนรูปร่างโดยเธอสามารถเปลี่ยนขนาดของอวัยวะของเธอเอง เช่น ขยายตัวหรือส่วนใดส่วนหนึ่งให้ใหญ่หรือหดให้เล็กได้ตามต้องการ ซึ่งหลายคนคิดว่ามันเป็นเรื่องน่าเสียดายที่พลังของเธอเปลี่ยนไป เพราะพลังเดิมนั้นเข้ากับความเป็นวัยรุ่นที่บางครั้งตื่นขึ้นมาพร้อมบางส่วนของร่างกายที่เปลี่ยนไปอย่างไม่ทันตั้งตัว

แต่ถึงแม้จะมีกระแสต่อต้าน แต่หลายประเด็นในนี้ก็เป็นเหตุผลเดียวกันที่มีคนชื่นชม Ms. Marvel ด้วยเรื่องราวที่ดูเพลิน ตัวละครที่แปลกใหม่ และการเผยมุมที่น่ารักของครอบครัวและวัฒนธรรมปากีสถานที่ไม่ค่อยได้เห็นในเรื่องไหน นอกจากนี้ยังแตะไปถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำทางเพศในศาสนาอิสลาม และปัญหาระหว่าปากีสถานกับอินเดียที่เป็นปัญหาสืบเนื่องจากการที่อินเดียตกอยู่ในอาณานิคมของอังกฤษ โดยทั้งหมดนี้บอกเล่าได้อย่างเป็นธรรมชาติด้วยพื้นฐานตัวละครที่ถูกเซ็ตขึ้นมาตั้งแต่ยังเป็นคอมมิค ทำให้ไม่ได้รู้สึกว่าฝืนหรือยัดเยียดประเด็นมาจนเกินไป ผนวกกับงานภาพที่สดใสและเพลงประกอบที่สนุกสนานรวมไปถึง underscore ที่มีกลิ่นอายของดนตรีแถบเอเชียใต้นิด ๆ ส่งให้หลังจากตอนแรกออกฉายคะแนนนักวิจารณ์ของเว็ปไซต์ Rotten Tomato (Tomatoer) นั้นสูงถึง 97% แซงหน้า Black Panther ซึ่งเป็นผลงานจากมาร์เวลที่เคยครองตำแหน่งคะแนนสูงสุด (คะแนน ณ ปัจจุบันคะแนนของ Ms. Marvel หล่นมาอยู่ที่ 95%) นอกจากนี้ยังได้รับคำชื่นชมจากหนังสือพิมพ์ อย่างเช่น The Guardian ที่ให้ เรตติ้งไว้ห้าดาวพร้อมกับพาดหัวว่าเป็นการเดบิวต์ที่เจิดจรัสของซีรีส์

ภาพความอบอุ่น สดใส และเปลี่ยมด้วยพลังของ กมลา ข่าน ครอบครัว และชุมชนอิสลามในนิวเจอร์ซีย์ ที่ถูกนำเสนอผ่าน Ms. Marvel ทำให้มันกลายเป็นซีรีส์ที่เป็นเหมือนเป็นจดหมายขอโทษของสื่ออเมริกันที่เคยตีกรอบให้ภาพของผู้นับถือศาสนาอิสลามนั้นดูเหมือนเป็นผู้ร้าย อย่างที่บทความใน The Hill ที่กล่าวว่า เหตุการณ์ 9/11 นั้นเป็นตัวจุดประกาย แต่สื่อเป็นตัวที่คอยเติมเชื้อไฟให้ความหวาดกลัวอิสลามมิกชนนั้นลุกโชนอยู่เสมอ การนำเสนอมุมมองใหม่ผ่านตัวละครกมลา ข่าน จึงอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการค่อย ๆ ล้างภาพลักษณ์เดิมออกไป และเป็นการตอกย้ำว่าไม่ว่าจะรูปร่างหน้าตา เชื้อชาติ ศาสนา ใด ในโลกของมาร์เวลและดิสนีย์แล้วใครก็เป็นฮีโร่ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ชมแล้วว่าจะเปิดใจรับความหลากหลายได้แค่ไหน

อ้างอิง

หมายเหตุ: คะแนนทั้งหมดอ้างอิงจากวันที่ 18 มิถุนายน 2022

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า