SHARE

คัดลอกแล้ว

“กรุงเทพฯ เป็นเหมือนเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน” คือหนึ่งคำพูดที่ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้ว่าฯ กทม. พูดถึงอนาคตของกรุงเทพฯ และประเทศไทยในงานสัมมนา ‘สู่โอกาสใหม่ Stronger Bangkok Stronger Thailand’

บนเวทีดังกล่าว ‘ชัชชาติ’ ยังร่วมสนทนากับ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ บอสใหญ่แห่งแสนสิริ ทั้งคู่มีการพูดถึงประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่หลักของผู้ว่าฯ กทม. รวมไปถึงปัญหาปากท้องของประชาชน และทิศทางอนาคตของกรุงเทพฯ

TODAY Bizview สรุปมุมมองน่าสนใจจาก ‘ชัชชาติ-เศรษฐา’ มาให้อ่านกัน

[ หน้าที่ของผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ และการร่วมมือกับเอกชน ]

ชัชชาติบอกว่า หน้าที่หลักของผู้ว่ากรุงเทพฯ แบ่งออกเป็น 3 อย่าง คือ การดูแลคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ การเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง (productivity) และการสร้างโอกาส

การดูแลคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ เป็นหน้าที่ของผู้ว่าฯ โดยตรง ทั้งการดูแลน้ำเสีย น้ำท่วม มลพิษ ขยะต่างๆ ที่พบเจอ พูดง่ายๆ ก็เปรียบเสมือนเป็นงานรูทีนทั่วไป

ส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ที่สำคัญ เพราะว่า กทม.เป็นผู้ถือกฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ ที่ผ่านมา บางครั้งกฎระเบียบต่างๆ มักเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจของประชาชน กทม. จึงต้องทำให้เมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดขั้นตอนการปฏิบัติ และอำนวยความสะดวกต่อประชาขน

และการสร้างโอกาสให้กับทุกคน เพราะจริงๆ แล้วในเมืองมีทั้งคนที่มีรายได้เยอะและน้อย บางคนเลยขาดโอกาส หรือความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น หน้าของที่ กทม.คือเกลี่ยความเหลื่อมล้ำตรงนี้ สร้างพื้นฐานบริการให้กับประชาชน

ชัชชาติย้ำว่า สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น คือการทำหน้าที่ 3 หน้าที่หลักนี้ ถ้าอะไรก็ตามไม่เกี่ยวกับ 3 หน้าที่หลักนี้ ก็ไม่ต้องไปทำ และไม่เอางบประมาณไปลงกับเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับ 3 เรื่องนี้

ส่วนคำนิยามของคำว่า ‘เมือง’ คืออะไร สำหรับชัชชาติ เมืองคือ ‘Labor Market’ หรือ ‘ตลาดแรงงาน’ ทุกคนมารวมกันในกรุงเทพฯ เพราะกรุงเทพฯ มีงาน

ซึ่งคนที่สร้างงานก็คือ เอกชนเป็นหลัก ราชการเองก็ไม่ได้สร้างงานเยอะ เพราะฉะนั้นคนที่สร้างเมืองจริงๆ แล้วคือเอกชนนั่นเอง

กทม. เลยต้องร่วมมืออย่างแข็งขันกับเอกชน ที่จะช่วยกันสร้างเมืองกรุงเทพฯ ในอนาคต

จึงเห็นได้ว่าในช่วง 15 วันแรกหลังจากเป็นผู้ว่าฯ ชัชชาติเดินสายพบกับเอกชน สภาอุตสาหกรรม หอการค้า และหน่วยงานต่างๆ ในกรุงเทพฯ เพราะเขาเองก็ไม่สามารถสร้างเมืองได้คนเดียว

เศรษฐาเพิ่มเติมว่า ปัญหาที่ทุกคนเผชิญตอนนี้คือ ปัญหาปากท้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพที่สูงขึ้น ราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ รายได้ที่ลดลง หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น เป็นเรื่องที่ทุกคนทราบกันดี เป็นเรื่องที่ผู้นำทั้งหลาย ก็พยายามที่จะร่วมมือกับภาคเอกชนด้วย

[ หมดยุคคอนเนกชัน ใช้แพลตฟอร์มเป็นบายพาส ]

ชัชชาติ บอกว่า จริงๆ แล้วคำว่า ‘ทราฟฟี่ฟองดูว์’ (traffy fondue) มีคำที่ลึกกว่านั้น คือคำว่า ‘แพลตฟอร์ม’ ซึ่งที่ผ่านมาภาคธุรกิจทำงานนานแล้ว

ถามว่าแพลตฟอร์มคืออะไร เมื่อก่อนระบบธุรกิจเป็นแบบ ‘ไปป์ไลน์’ เช่น ถ้ามีเรื่องร้องเรียนส่งมาที่มาที่ผู้ว่าฯ  ผู้ว่าฯ บอกรองผู้ว่าฯ บอกรองปลัด จนไปถึงเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะมีท่อที่เชื่อมโยงระหว่างปัญหากับผู้แก้ ถ้าใครเส้นใหญ่ก็จะมีท่อที่ใหญ่ สามารถแก้ไขปัญหาได้เลย ส่วนใครที่ไม่มีเส้น หรือไม่มีท่อก็จะไม่ได้รับการแก้ปัญหา

ซึ่งระบบไปป์ไลน์ทุกคนก็พยายามหาท่อของตัวเอง หาคอนเนกชัน  ขึ้นอยู่กับว่าใครจะสามารถหาท่อที่จะเชื่อมโยงได้และจะพยายามรักษาท่อนี้ไว้

แต่พอเป็นแพลตฟอร์ม คือไม่มีท่อ เป็นเหมือนกระดานใหญ่ๆ ใครมีเรื่องก็โยนเรื่องเข้ามา เช่น อยากจะสั่งอาหาร คนจะให้บริการเราเห็นก็หยิบเลย ไม่ต้องมีไปป์ไลน์ นี่คือแนวคิดที่เอกชนทำมาเป็นสิบปีแล้ว

ซึ่งราชการเองและประชาชน สามารถเห็นได้เลยว่า พิกัดไหนมีปัญหาบ้าง ผู้ว่าฯ ไม่จำเป็นต้องสั่งงานเองเลย ผอ.เขตมาเห็นก็ดึงเรื่องไปแก้ได้เลย เพราะประชาชนมองเห็นอยู่และก็รู้ว่า เรื่องนี้ค้างอยู่บนแพลตฟอร์มกี่วัน นี่คือรูปแบบที่ทำให้การแก้ปัญหาเร็วขึ้น

การใช้แพลตฟอร์มยังสามารถเป็นเคพีไอที่ลงไปลึกไป ว่าเรื่องติดอยู่ที่ใคร ปัญหาอยู่ที่ใครมัน ซึ่งมันเปรียบเสมือนการปฏิวัติระบบราชการ

เศรษฐามองว่า การเปิดบายพาสเป็นบริบทการทำงานใหม่ เรื่องแพลตฟอร์มทำให้ทุกคนเห็นปัญหา การวัด KPI จะเน้นถึงประสิทธิภาพ ความกระตือรือร้น ไม่ได้เน้นว่าใช้งบไปเท่าไหร่

อีกอย่างที่สำคัญคือภาวะผู้นำ การ ‘lead by example’ ลงพื้นที่จริงๆ และแก้ปัญหาจริงๆ เจอผู้นำที่มีความเด็ดขาด มีความจริงใจ มีการอธิบายให้ตลอดเวลาว่า ทำไมบางอย่างทำไม่ได้

ชัชชาติเสริมว่าการใช้แพลตฟอร์มไม่ได้ใช้เงินสักบาท ไม่ได้ใช้งบประมาณเพิ่มเลย แต่ว่าการแก้ปัญหาจะเร็วขึ้น นี่คือรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป

ชัชชาติชี้ว่า รูปแบบของ กทม. จะมีงบผูกพันเยอะ ที่ผูกกันมาหลายปีและเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี จนบางปีมีเงินสดงบประมาณที่ไม่พอ จึงต้องไปยืมเงินสดสำหรับงบประมาณของปีต่อไป และต้องมาตั้งคืนในปีหน้าๆ ซึ่งตัวเลข 7.9 หมื่นล้าน ส่วนหนึ่งคือเงินในอดีตที่ต้องไปใช้คืน

เศรษฐาเสริมในประเด็นนี้ว่า ถึงแม้งบจะเหลือไม่มาก แต่หลายอย่างที่ชัชชาติทำใน 1 เดือนที่ผ่านมา อย่างการเอาสายไฟลงใต้ดินที่ใช้งบสูง แต่ท่านผู้ว่าก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน เอาสายที่ไม่ได้ใช้ออกไปก่อน ทำให้สายไฟเป็นระเบียบ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ได้ใช้งบอะไร

[ PM 2.5 – รถยนต์ไฟฟ้า – รถเมล์ ปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ซักที ]

ถ้าเมืองกรุงเทพฯ น่าอยู่ขึ้น ทุกอย่างจะดีไปหมด และเอกชนพร้อมที่จะช่วยเหลือ ผลตอบแทนที่พวกเขาจะได้คือ กรุงเทพฯ น่าอยู่มากขึ้น คุณภาพดีขึ้น ธุรกิจรายได้ก็จะมากขึ้น

อย่างตอนนี้ ชัชชาติมีโครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ต้นไม้คือสินทรัพย์ของเมือง เพื่อที่จะแก้ปัญหา PM 2.5 และปัญหาโลกร้อน เป็นการร่วมมือของ กทม. และภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือจาก ปตท. หรือ แสนสิริ

ชัชชาติเผยว่า เขาแทบไม่มีข้อมูลหรือวิจัยจริงจังเกี่ยวกับเรื่อง PM 2.5 สิ่งที่เขาอยากจะทำก็คือ มีวิจัยต่อเนื่องว่า สาเหตุของฝุ่นมาจากไหน และทำเป็นข้อมูลที่เปิดเผยเพื่อดูว่าใครเป็นคนสร้างมลพิษ

เพราะเมื่อรู้ต้นเหตุ ประชาชนก็จะลงโทษเขา เพราะฝุ่นเป็น political mandate เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสำคัญต้นๆ พลังซอฟต์เพาเวอร์ของประชาชนจะเป็นตัวกระตุ้นให้แก้ปัญหายิ่งกว่ากฎหมาย

ส่วนประเด็นของรถยนต์ไฟฟ้า เศรษฐามองว่า ภายใน 5 ปีรถสันดาปจะหายไปเยอะมาก เพราะอาจจะมีการตั้งโรงงาน การเปลี่ยนระบบการผลิต แต่การตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าก็เป็นปัญหาที่สร้างความไม่สบายใจเหมือนกัน เพราะไม่มีความชัดเจนใดๆ

ซึ่งปัญหาจุดชาร์จที่ไม่เพียงพอ ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้ประชาชนไม่กล้าที่จะใช้รถยนต์ไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ดังนั้น รัฐบาลต้องทำให้ประชาชนมั่นใจ ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงการมีจุดชาร์จไฟฟ้าที่เพียงพอ และปตท. ต้องร่วมมือกับภาคเอกชนด้วย

ส่วนเรื่องของคมนาคม ตอนนี้ ขสมก. โอนอำนาจเป็นขนส่งทางบกแล้ว กรุงเทพฯ ก็จะเดินรถเสริมในบางจุด และเก็บค่าโดยสารเพื่อความเหมาะสม

[ กรุงเทพฯ ขาดความสนุก จุดเริ่มต้นของ ‘ดนตรีในสวน’ ]

ดนตรีในสวนเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก ซึ่งสาเหตุที่ชัชชาติเริ่มทำนโยบายนี้เป็นนโยบายแรกๆ เพราะตอนนี้คนกรุงเทพฯ ขาดความสนุก และไม่มีที่ไป

แต่กรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะเยอะมากที่มีแต่นักวิ่ง เขาเลยอยากให้ความสนุกเกิดขึ้น

ชัชชาติบอกว่า การทำสวนดนตรีเป็น ‘การลงทุนน้อย แต่ได้กลับมาเยอะ’ ได้ความสุขกลับมา ทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลาย และยังเป็นการสร้างอาชีพ มีคนสมัครมาเยอะมาก อนาคตอาจจะมีช่องทางให้ศิลปินทำงานได้

[ สารพัดปัญหาของประเทศไทยในตอนนี้ ]

ในมุมของเศรษฐา ปัญหาของประเทศไทยตอนนี้คือ ความถูกต้อง ระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง เพราะอีกไม่กี่เดือนก็จะถึงการเลือกตั้งใหญ่แล้ว ซึ่งการเลือกตั้งอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ให้ความหวังกับประชาชน

และหน้าที่ของ ส.ว. คือดูความต้องการประชาชนเป็นหลัก เพราะปัญหาทุกวันนี้คือปากท้อง เป็นเรื่องที่รัฐบาลยังแก้ไม่ได้เป็นรูปธรรม การอธิบายปัญหาน้ำมันแพง ปัญหาเงินเฟ้อจะแก้ยังไง

ตอนนี้ประชาชนสนใจแค่ว่าทำไมรายจ่ายเขาเพิ่มขึ้น ซึ่งมันเป็นเรื่องของต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เลยทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น และถ้าดอกเบี้ยขึ้น ประชาชนจะแย่ไปหมด เป็นอะไรที่รัฐบาลต้องคำนึงมากขึ้น

อย่างปีที่ผ่านมา ประชากรไทยลดลงเป็นครั้งแรก ซึ่ เหตุผลที่มาจาก Medical Advancement การไหลออกของคนที่ไปอยู่ต่างประเทศ และความหวังที่ทำให้คนอยากมีลูกน้อยลง รัฐบาลควรรับฟังปัญหา ไม่ใช่ไปไล่คนออก ทำให้คนอยากอยู่มากขึ้น

ชัชชาติเองก็เห็นถึงความหวังมากขึ้น และเชื่อว่าปัญหาที่ผ่านมา คือความขัดแย้งกัน การทะเลาะที่แบ่งเป็นฝ่าย ถ้าประชาชนทุกคนหันหน้าคุยกัน ประเทศไทยจะไปได้ และคนไทยจะมีโอกาสได้เยอะขึ้น

เขาบอกว่า ตอนนี้การท่องเที่ยวก็เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง ถึงแม้ไทยยังต้องพึ่งนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก แต่เราลืมไปหรือเปล่าว่า ตอนนี้จำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียขึ้นเป็นอันดับที่ 1 ถ้าเราลองเปลี่ยนมาเน้นที่นักท่องเที่ยวอินเดียมากขึ้นมั้ย สร้างโอกาสได้อย่างไร

เมืองในอนาคตไม่ได้แข่งที่รถไฟฟ้า แต่แข่งกันที่เมืองที่ดึงคนเก่ง สร้างงาน สร้างธุรกิจต่างๆ ถ้า กทม. มีคุณภาพชีวิต มีความยุติธรรม ไม่มีการทุจริต ก็จะมีคนเก่งเยอะขึ้น เพราะคนกลุ่มเหล่านี้ มีสิทธิเลือกได้ว่า เขาอยากจะอยู่ที่ไหน

[ ความหวังกับคนรุ่นใหม่ ]

ชัชชาติบอกว่า “ผมว่ากรุงเทพไม่ได้แพ้เมืองไหนในโลกนะ เหมือนเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน เรามีทุกอย่างพร้อม เรามีเด็กที่มีพลังเยอะแยะ ลดการทะเลาะ และรวมหนึ่งเดียวกันครับ”

ส่วนเศรษฐาปิดท้ายว่า “ปัญหาต่างๆ ที่ถูกหยิบหยกมามันก็บั่นทอน แต่เราควรที่จะเข้าใจว่าไทยก็มีอะไรที่ดี เยอะแยะ การที่เรามีอาหารที่อยู่ได้เอง ไม่ต้องพึ่งใคร

“เราต้องการนโยบายที่ชัดเจนจากภาครัฐ ถ้าเป็นอะไรที่จับต้องไม่ได้ เดินทางไปข้างหน้าก็เหนื่อย การเลือกตั้งครั้งต่อไป อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนประเทศไทยได้ พลังมวลชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงได้

“อย่าหมดหวัง หมดกำลังใจ โครงสร้างไทยก็ยังถือว่าอยู่แนวหน้าของโลก และเรื่องผู้นำเป็นเรื่องสำคัญ ผมว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ท่านชัชชาติ คือความหวังของคนไทย” เศรษฐากล่าวทิ้งท้าย

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า