SHARE

คัดลอกแล้ว

เมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ค่าเงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 14 ปี โดยอ่อนค่าลงทดสอบ 36 บาทเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี และล่าสุดอ่อนค่าลงอยู่ที่ 36.24 บาทต่อ 1 ดอลลาร์แล้ว จากปกติที่ 33 บาทต่อ 1 ดอลลาร์

นั่นหมายความว่า ค่าเงินของไทยมีมูลค่าที่ลดลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ เพราะต้องใช้เงินมากถึง 36 บาทเพื่อแลก 1 ดอลลาร์ จากปกติใช้เงินเพียง 33 บาทเท่านั้น

แน่นอนว่าคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ผู้นำเข้าสินค้า เพราะราคาของต่างๆ ที่ต้องจ่ายเงินเพื่อนำเข้าในสกุลเงินดอลลาร์นั้น จะแพงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพื่อไม่ให้คนทำธุรกิจได้รับความเดือนร้อนจากความเคลื่อนไหวของค่าเงินที่ผิดปกติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน จึงเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ ‘แบงก์ชาติ’ เข้าดูแลค่าเงินโดยด่วน

[ แบงก์ชาติปล่อยค่าเงินตามกลไกตลาด ]

อย่างไรก็ตาม ธปท.ตัดสินใจปล่อยค่าเงินบาทให้เป็นไปตามกลไกตลาด สาเหตุก็เพราะว่า การอ่อนค่าของค่าเงินบาทในครั้งนี้เป็นผลจากที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าผิดปกติ แค่ต้นปีถึงปัจจุบันอ่อนค่าไปแล้ว 11.3%

การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ในครั้งนี้ส่งผลให้ค่าเงินเอเชียปรับตัวลงอ่อนค่าเกือบทุกประเทศ นำโดยญี่ปุ่น 15.3% ฟิลิปปินส์ 9% เกาหลีใต้ 8.5% และไทย 7.6%

นอกจากนี้ ดัชนีค่าเงินบาท (Nominal Effective Exchange Rate: NEER) ซึ่งเป็นดัชนีที่เทียบค่าเงินบาทกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งของไทย ยังอ่อนค่าเพียง 1.5% เท่านั้น

แปลง่ายๆ ว่า ประเทศคู่แข่งก็เผชิญกับการอ่อนค่าของค่าเงินเหมือนกัน ดังนั้น ธปท.จึงมองว่าเป็นเรื่องยากที่เราจะฝืนกลไกตลาดในช่วงที่ทุกประเทศถูกกระทบจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์เหมือนๆ กัน

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ‘ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ บอกว่า ตอนนี้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าประมาณ 11-12% ส่วนค่าเงินบาทอ่อนค่าประมาณ 7% จะเห็นว่าค่าเงินของเราก็ไม่ได้อ่อนค่าเท่าที่ดอลลาร์แข็งค่า

นอกจากนี้ ยังมีสกุลเงินอื่นที่อ่อนค่ามากกว่าค่าเงินบาท เช่น ค่าเงินเยนญี่ปุ่น ค่าเงินวอนเกาหลี หรือค่าเงินเปโซฟิลลิปปินส์ เป็นต้น

ดังนั้น การอ่อนค่าของเงินบาทในครั้งนี้ ถูกขับเคลื่อนจากค่าเงินดอลลาร์เป็นหลัก ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาดที่เมื่อไหร่ดอลลาร์แข็งค่า เงินบาทจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลง แต่เมื่อไร่ที่ดอลลาร์อ่อนค่า เงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ธปท.ก็มีข้อจำกัดในการเข้าไปดูแล

[ ค่าเงินบาท ที่ไม่ได้แปลว่า ค่าเงินบาท ]

เราชอบเรียกอัตราแลกเปลี่ยนว่า ค่าเงินบาท พอเราเห็นเป็นค่าเงินบาท เราจึงเข้าใจว่ามันน่าจะเป็นอะไรที่เราคุมได้ แต่จริงๆ แล้วมันคือ 30 บาทเท่านี้ต่อ 1 ดอลลาร์ ถ้าคิดแบบนี้เท่ากับว่า ค่าเงินบาทที่เราเรียกมันคือราคาของดอลลาร์

เราจะไปควบคุม กำหนดทิศทางของดอลลาร์ได้สักแค่ไหน ก็จะเริ่มเห็นข้อจำกัดแล้วว่า ทำได้แค่ระดับหนึ่ง เรื่องทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท จึงเป็นไปตามกลไกตลาด ‘ดร.เศรษฐพุฒิ’ เสริม

ถึงอย่างนั้น ธปท.ก็ไม่อยากเห็นค่าเงินบาทปรับตัวเร็วเกินไป เพราะรู้ดีว่าจะกระทบต่อผู้นำเข้า-ส่งออก ซึ่งในไทยผู้ประกอบการกลุ่มนี้ทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือ Hedging ค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะรายเล็ก

เมื่อเราเห็นแล้วว่า ตัวที่ขับเคลื่อนค่าเงินบาทครั้งนี้คือเงินดอลลาร์ ไม่ใช่จากเงินทุนเคลื่อนย้ายผิดปกติในอดีต และมองไปข้างหน้าเงินดอลลาร์ก็อาจกลับมาอ่อนได้ หากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มเปลี่ยนทิศ จึงแนะนำผู้ประกอบการทำ Hedging

[ ซากอารยธรรมปี 40 เงินเข้าง่ายแต่ออกยาก ]

ในส่วนที่ทำได้ ปัจจุบัน ธปท.อยู่ระหว่างปรับหลักเกณฑ์ (Regulatory Framework) ลดเงื่อนไขต่างๆ เพราะยอมรับว่า กรอบ หรือกฎระเบียบของแบงก์ชาติ ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม (Conservative)

โดยหลายอย่างถูกกำหนดมาตั้งแต่ช่วงปี 2540 ที่ไทยขาดเงินตราในประเทศ จึงตั้งหลักเกณฑ์ให้เงินไหลเข้ามาได้ง่าย แต่ไหลออกได้ยาก แต่ตอนนี้บริบทเปลี่ยน หลักเกณฑ์ก็ต้องปรับเปลี่ยน

นอกจากนี้ ธปท.จะสนับสนุนผู้ให้บริการทางการเงินในแง่การให้บริการ Hedging ให้ทำได้ดีขึ้น ถูกลงกว่าเดิม เพราะผู้ประกอบการหลายรายปฏิเสธที่จะทำ Hedging ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูง

ถึงแม้ ธปท.จะปฏิเสธการแทรกแซงค่าเงินบาท และยืนยันจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดก็ตาม แต่จากข้อมูลเงินสำรองระหว่างประเทศ พบว่า แบงก์ชาติใช้ทุนสำรองในการเข้าดูแลค่าเงินไปแล้วกว่า 2.8 หมื่นล้านเหรียญ (ราว 1 ล้านล้านบาท)

จากต้นปี 2565 ตัวเลขทุนสำรองอยู่ที่ 2.79 แสนล้านเหรียญ (ราว 10 ล้านล้านบาท) ปัจจุบัน (ณ สิ้น มิ.ย. 2565) ลดลงเหลือ 2.5 แสนล้านเหรียญ (ราว 9 ล้านล้านบาท)

[ ทำไมแบงก์ชาติไม่กำหนดค่าเงินเอง ]

ตัวเลขทุนสำรองของ ธปท.ข้างต้น แสดงให้เห็นว่า แบงก์ชาติสามารถเข้าแทรกแซงค่าเงินได้ แต่ทำไมในช่วงนี้ที่ค่าเงินบาทอ่อน ภาคเอกชน ผู้ประกอบการเข้าร้องเรียน ทำไม ธปท.ถึงไม่ยอมดูแลให้ค่าเงินลดการอ่อนค่าลงหน่อย

คำตอบ คือ เพราะการแทรกแซงค่าเงิน มีราคาที่ต้องจ่ายเสมอ

ล่าสุด ในเดือน มิ.ย. 2565 สหรัฐยังคงประกาศขึ้นบัญชีประเทศไทย เป็นประเทศที่ถูกจับตาเพราะบิดเบือนค่าเงินอย่างใกล้ชิด ซึ่งกรณีเลวร้ายหากเข้าข่ายบิดเบือนค่าเงินเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า (Currency Manipulator) อาจส่งผลกระทบต่อการนำเข้า-ส่งออกระหว่างเรากับสหรัฐ

ย้อนไปไกลกว่านั้นในช่วงปลายปี 2527 ประเทศไทยเคยกำหนดค่าเงินเองด้วยระบบ ‘ตะกร้าเงิน’ โดยผูกเงินสกุลต่างๆ เพื่อทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากที่สุด ช่วงนั้นเงินบาทเคลื่อนไหวระหว่าง 24-26 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

แต่ท้ายที่สุด การกำหนดค่าเงินเองของไทย กลับกลายเป็นต้นเหตุของวิกฤตการเงินครั้งใหญ่อย่าง ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ หรือวิกฤตการเงินเอเชียปี 2540 เพราะเกิดการโจมตีค่าเงิน จนท้ายที่สุด ธปท.ต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาท

[ สำรวจประเทศที่ยังไม่ปล่อยลอยตัวค่าเงิน ]

หลังบทเรียนราคาแพงของวิกฤตการเงินปี 2540 ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มทบทวนการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของตัวเอง โดยยกเลิกการใช้ระบบตะกร้าเงิน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมี 4 ประเทศที่ยังคงกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของตัวเองด้วยระบบตะกร้าเงิน ได้แก่ ฟิจิ คูเวต โมร็อกโก และลิเบีย

นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 ประเทศไทยที่คนไทยคุ้นเคยกันดี คือ จีน สิงคโปร์ และเวียดนาม ที่กำหนดค่าเงินตัวเองแบบหลวมๆ (Loosely Fixed Currencies) เช่น จีน กำหนดกรอบการแกว่งตัวของค่าเงิน (Trading Band) ไม่เกิน 2% จากจุดกึ่งกลาง (Midpoint) ของวันก่อนหน้า เป็นต้น

จากที่เล่ามาทั้งหมด จะเห็นแล้วว่าเรื่องของ ‘ค่าเงิน’ ในระดับนโยบาย มีความซับซ้อน และมีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงก่อนตัดสินใจ มีทั้งปัจจัยภายในที่ควบคุมได้ และปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้

นอกจากบทบาทของแบงก์ชาติที่ต้องดูแลเสถียรภาพของ ‘ค่าเงินบาท’ ให้เราแล้ว ในฐานะผู้ประกอบการ คงหนีไม่พ้นต้องทำการบ้าน และให้ความสำคัญกับการทำ Hedging เพิ่มขึ้น

ที่มา

  • www.bot.or.th/Thai/Statistics/EconomicAndFinancial/ExternalSector/Pages/StatInternationalReserves.aspx
  • tdri.or.th/wp-content/uploads/2013/02/PO3.pdf
  • www.botlc.or.th/item/archive_collection/00000179023
  • www.thebalance.com/fixed-exchange-rate-definition-pros-cons-examples-3306257#:~:text=There%20are%20also%20four%20countries,or%20a%20basket%20of%20currencies.

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า