SHARE

คัดลอกแล้ว

เคยสังเกตตัวเองกันไหมครับ ว่าคนเรายิ่งทำงานไปนานๆ เราเริ่มมองงานเป็นศัตรูชีวิต

ทั้งๆ ที่ตอนได้งานนี้ ดีใจแทบจะวิ่งรอบหมู่บ้าน และต้องยอมรับว่างาน คือ สิ่งที่เราหลายๆ คนส่วนใหญ่ ‘ไม่ทำไม่ได้’ เพราะไม่เช่นนั้น จะไม่มีเงินมาเลี้ยงปากท้องตนเองและครอบครัว

ไหนจะหนี้บ้าน หนี้รถ ที่เราสร้างเอาไว้จากความต้องการของตัวเอง ความคาดหวังของคนรอบข้าง และค่านิยมของสังคมที่ผลักดันให้มันเกิดขึ้น

ดังนั้น เราจึงควรจะรักงานไม่ใช่หรือ แต่แล้วทำไมเราถึงได้มามี Love-Hate Relationship (ความสัมพันธ์แบบตบ-จูบ) กับงานแบบนี้

จากการที่ผมได้คุยกับใครหลายๆ คนที่เริ่มมีอาการเกลียดงานแบบที่แค่พูดถึงก็หน้าดำหน้าแดง ยาวจนไปถึงคนที่บรรลุธรรมจนสามารถเห็นธรรมชาติของความสัมพันธ์ของคนกับงาน และสามารถแยกแยะได้ว่าทำไม เราถึงทั้งต้องการงาน และเกลียดงานของตัวเองในเวลาเดียวกัน

ผมจึงได้ลองวิเคราะห์ลองหาดูว่า มันมีอะไรที่ผิดพลาดไป จนทำให้ ‘งาน’ กลายเป็นยาขม และไม่ได้น่าชื่นชมขนาดนั้น

ข้อแรกเลย พอเราทำงาน เรามักคาดหวังผิดเรื่อง หรือฝันให้เรื่องที่เป็นจริงได้ยากในธรรมชาติของงานนั้นๆ เกิดขึ้น

เราต้องเข้าใจก่อนว่า ธรรมชาติของงานทุกประเภท ไม่มีงานไหนหรอกครับที่คุณจะรักมันได้แบบ 100% แบบที่เรียกว่า รักงานในทุกๆ อณู มันจะต้องมีบางส่วนที่คุณหรือเราๆ ท่านๆ ไม่ถนัด ไม่ชอบ หรือไม่อิน

ลองคิดง่ายๆ ครับ ถ้าคุณลองเดินไปถามแม่บ้านในออฟฟิศ จะมีสักกี่คนครับที่ชอบขัดห้องน้ำ

หรือแม้กระทั่งเมื่อคุณเดินไปถามคนที่ประสบความสำเร็จในงานที่ทำ ผมมั่นใจว่า สำหรับหลายๆ คน มันจะต้องมีอย่างน้อยๆ 5-10% ในเนื้องานของเขาที่เขาอยากจะตัดทิ้งออกไปจาก Job description เพราะมันเหลือจะทน

แต่ปัญหาคือ เรามักคาดหวังจะมี Dream job แบบที่เรารักมันได้ทั้งหมดของหัวใจ หรือคาดหวังให้มันง่าย และเป็นอย่างใจไปเสียหมด

เช่น เราอยากให้เจ้านายดี งานก็น้อย เนื้องานก็ใช่ เงินก็ดีมาก สวัสดิการก็ครบ เพื่อนร่วมงานก็น่ารัก บลาๆๆ

แต่พอเมื่อเรามาเจอด้านที่มันไม่ใช่ เราก็เลยทำตัวฟูมฟายเหมือนคนอกหัก และมัวเพ่งเล็งกับจุดที่เราไม่ชอบ เช่น งานเอกสารเยอะจัง ทำไมมีแต่งานแอดมิน ทำไมบางอย่างต้องหาข้อมูลเยอะมาก

แล้วเราก็ใส่ผงฟูเข้าไปในอารมณ์ของเราจนมวลของความไม่ชอบนั้นก่อตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เหมือนเชื้อมะเร็งร้าย แล้วกลายเป็นงานที่เกลียดไปซะอย่างนั้น ทั้งๆ ที่มันยังมีส่วนที่เราเคยชอบ หรือยังชอบอยู่อีกมาก

ในกรณีนี้ ถ้าใครกำลังเผชิญกับปีศาจ 5% ดังกล่าวที่กำลังก่อตัวอยู่ ผมแนะนำว่า ลองมานั่งลิสต์รายการเนื้องานดูครับว่ามันคืออะไรบ้างที่เราชอบ และอะไรที่เราเกลียด

และสำหรับสิ่งที่เราเกลียด เราจะจัดการมันอย่างไรให้ดีกว่านี้และมีสันติสุขทางใจ เช่น ตัดมันออกได้ไหม ถ้าไม่ได้ เราจะลดทอนมันลงอย่างไร

หรือเราจะหาวิธีฉลาดๆ มาจัดการมันใหม่อย่างไร หรือจริงๆ แล้ว เราก็อยู่กับมันได้ แค่ไม่ปล่อยใจเราให้ไปเพ่งอยู่กับมันจนเราเป็นทุกข์ ลองคิดดูครับ

ต่อมา เราหลายคนลืมไปครับว่า เรามาทำ ‘งาน’ และไม่ได้มาหาเรื่องกับ ‘คน’ ลองมองดีๆ ครับ มากกว่าครึ่ง ปัญหาในการทำงานของเราเกิดมาจากความไม่พอใจในตัวคน คำพูดของคน หรือวิธีการที่คนหนึ่งๆ เลือกมาใช้ในการทำงาน

ใช่เลยครับ เราลืมไปว่า เรามาทำงาน และลืมไปว่าเราควรเลือก ‘ผลของงาน’ หรือ ‘เนื้องาน’ เป็นตัวตั้ง ทว่า ในหลายกรณี สิ่งที่มักเกิดขึ้นก็คือ พอเราเริ่มไม่ชอบคน เราจะสร้าง Assumption หรือด่วนสรุป

เช่น พอเห็นว่าคนคนนี้ส่งงานมาปั๊บ เราจะรีบตัดสินทันทีว่ามันจะต้องไม่ดีปุ๊บ และก็หนีไม่พ้นการจับผิด และตอกกลับ เลยพาลทำให้งานนั้นกลายเป็นแค่อาวุธที่เอาไว้โจมตีกัน ทั้งๆ ที่มันควรจะเป็น ‘แก่น’ ของเรื่องราวทั้งหมด

ในกรณีแบบนี้ ผมแนะนำว่า เราต้องแยกแยะให้ออกก่อนว่าที่เราไม่ชอบงานอะไรสักอย่าง มันเกิดจากคุณภาพของงาน เกิดจากตัวงาน หรือจริงๆ เราแค่ไม่ชอบคนคนนั้นที่เป็นเจ้าของงาน

ถ้าเราแยกแยะได้ มันจะมาถึงจุดที่เรามีความสุขมากขึ้นได้…ที่ว่า “การที่เราไม่ชอบงานหรืออะไรสักอย่างในงานสักชิ้น เราอาจจะแค่ไม่ชอบงานของเขา แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่ชอบตัวตนเขาทั้งหมดเสียหน่อย”

ข้อที่สาม เราก็ลืมไปอีกครับว่า มนุษย์เราไม่มีใครสมบูรณ์แบบ แม้กระทั่งตัวเราเอง แต่เราก็ยังจับผิดกัน

หลายครั้งที่ใครก็ตามที่ไม่ใช่ตัวเราทำผิดพลาด สังเกตสิครับ เราจะมองว่ามันเป็นเรื่องใหญ่เสมอ และมักจะมีคำว่า “ทำไมทำงานแย่ขนาดนี้” ทำไมไม่รู้จักตรวจสอบดีๆ ก่อนส่ง” ออกมาจากปากเราเสมอ

แต่พอเป็นตัวเราที่ทำผิดพลาด เราพร้อมจะเข้าอกเข้าใจ และให้อภัย

หลายๆ องค์กรตอนนี้พยายามจะพูดถึงเรื่องนี้ ผ่านคำว่า Fail Fast หรือการที่ทีมงานหรือผู้ใหญ่อนุญาตให้ผิดพลาดได้

แต่เอาจริงๆ ผมยังไม่เห็นว่ามีองค์กรไหนที่ทำเรื่องนี้ได้จริงเลยแบบสมบูรณ์แบบ เพราะพอเกิดอะไรไม่ดีขึ้น หลายๆ องค์กรจะเริ่มหาคนผิด เริ่มเกิดการนินทา การมองไปยังต้นตอที่เป็นตัวบุคคลมากกว่าต้นตอของปัญหาเพื่อหาทางแก้

เลยไม่แปลกครับว่า สุดท้าย ‘คน’ ย่อมไม่มีวันมีความสุข เพราะตกอยู่ใต้ความกลัว คือ กลัวพลาด กลัวโดนตำหนิ นินทา กลัวเจ้านายไม่ชอบ กลัวโดนรุมชี้นิ้วใส่ ทั้งๆ ที่ป้ายในองค์กรก็แปะหราอยู่ว่า อนุญาตให้ Fail Fast ได้ หรือ Perfection นั้น ไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์มาแต่ไหนแต่ไร

พอเกิดอาการชี้นิ้วขึ้น แน่นอนครับ คนจะเริ่มเกลียดกัน ต้องหาเหยื่อ ล่าแม่มด และไม่ชอบ แหยง ระแวงในงานของตนเองไปโดยปริยาย ซึ่งนำไปสู่ Love-Hate relationship กับงานแบบเลี่ยงไม่ได้

จึงขอแนะนำไปยังบรรดาเจ้านายทั้งหลายว่า อย่าทำให้คำว่า Fail Fast เป็นแค่เพียงป้ายคำขวัญที่เอามาแปะเพื่อตามกระแสฝรั่ง ขอให้คุณช่วยนำพาทีมงานให้ใจกว้างต่อทั้งตัวเองและผู้อื่น โดยมีความคิดแบบนี้ให้ได้จริงๆ ด้วย เพราะมันจะทำให้ความ Toxic ในงานลดลงได้อย่างมาก

ผมคิดว่า 3 อาการดังกล่าวที่นำไปสู่ความรักงานแบบตบ-จูบนั้น ไม่ได้ยากเกินไปที่เราจะตรวจพบก่อนที่เราจะทนไม่ไหว หรือเกิดอาการป่วยทางใจไปเสียก่อน

ถ้าเริ่มสังเกตเห็น ขอให้รีบแก้ไขโดยที่เริ่มจากเราก่อน ฝากลองพิจารณาวิธีที่ผมแนะนำไปใช้ อย่างน้อยๆ จาก Love-Hate Relationship มันก็จะไม่พัฒนาไปในทิศทางรุนแรงขึ้น หรือเดินไปสู่ภาวะสงครามในออฟฟิศครับ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า