สธ.มอบหมายองค์การเภสัชกรรมจัดหาวัคซีนฝีดาษลิง รุ่น 3 จำนวน 1,000 โดสฉีดกลุ่มเสี่ยงปลายเดือนสิงหาคมนี้ ยังไม่เคาะฉีดให้กลุ่มไหนบ้าง

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวทางการจัดหาวัคซีนต้านฝีดาษลิงว่า นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้แนวนโยบายไว้ว่าให้จัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากที่สุด อย่างที่ทราบกันโรคฝีดาษลิงไม่ได้รุนแรงมากนักและก็ไม่ได้ติดต่อง่าย ดังนั้นวัคซีนอาจจะต่างจากวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเราอาจจะไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนฝีดาษลิงให้กับทุกคน แต่จะเลือกฉีดกลุ่มที่มีความเหมาะสม เพราะการฉีดวัคซีนชนิดใดให้กับประชาชนในวงกว้างจะต้องคำนึงถึง 4 ปัจจัย
- ประสิทธิภาพ
- ผลข้างเคียงของวัคซีน
- สถานการณ์การแพร่ระบาดขอโรค
- ความเป็นไปได้ในการจัดบริการ
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้เรากำลังหาวัคซีนฝีดาษลิง เป็นวัคซีน Generation 3 ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ประสานให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ประสานในการนำเข้ามา เข้าใจว่าอย่างช้าสุดน่าจะประมาณปลายเดือนสิงหาคมนี้ ไทยจะได้วัคซีนเข้ามา
สำหรับวัคซีนป้องกันฝีดาษลิง รุ่นที่ 3 นี้ มีข้อดีคือฉีดง่ายกว่าวัคซีนรุ่นที่ผ่านมา ที่ผู้ที่เคยฉีดมาแล้วตอนนี้น่าจะอายุรุ่นๆ 40 ข้อดีอีกอย่างคือเรื่องของผลข้างเคียงก็น้อยกว่า จึงเหมาะสมที่จะนำมาเป็นวัคซีนที่จะเก็บไว้ใช้ยามจำเป็นสำหรับประชาชนกลุ่มเป้าหมายทั่วไป เบื้องต้นจะนำเข้ามา 1,000 โดส เพื่อฉีดให้คนละ 2 โดส ส่วนรายละเอียดการฉีดเว้นห่างเท่าไร และจะเลือกกลุ่มใดในการฉีดนั้นจะมีคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคฯ พิจารณาความเหมาะสมต่อไป
เมื่อถามว่าคนที่ปลูกฝีมาก่อนแล้ว สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้มากน้องแค่ไหน
นพ.โอภาส กล่าวว่า เราต้องดูรายงานให้ครบถ้วนด้วย ทางยุโรปที่มีข้อมูลว่าผู้ที่ติดโรคฝีดาษลิงมีอายุมากกว่า 40 ปีจำนวนมาก ต้องดูที่สัดส่วนว่าเป็นอย่างไร และต้องเทียบกับกลุ่มคนอายุน้อยด้วย อาจเป็นไปได้ว่ากลุ่มที่ติดเชื้อเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง
ข้อมูลที่บอกว่าวัคซีนฝีดาษคนเดิมข้อมูลทางระบบวิทยาพบว่า คนที่ฉีดแล้วเมื่อไปพบกลุ่มเสี่ยงต่างๆ จะมีประสิทธิภาพในการป้องกัน 80% อย่างไรก็ตามโรคนี้เป็นโรคใหม่เราอาจมีข้อมูลทางวิชาการค่อนข้างจำกัด จึงต้องติดตามข้อมูลและสถานการณ์อย่างใกล้ชิด คงไม่ต้องกังวลกันเกินไป ใช้มาตรการส่วนบุคคลจะดีที่สุด