SHARE

คัดลอกแล้ว

อย่างที่เรารู้กันดีว่า ‘ธุรกิจขนส่งพัสดุ’ คือหนึ่งในธุรกิจที่แข่งขันกันดุเดือดรุนแรงกันมานานหลายปี เพราะโอกาสในธุรกิจที่ยังมีอยู่มาก จากการที่ตลาดเติบโตแรงด้วยอานิสงส์ของอีคอมเมิร์ซ ทำให้เราเห็นโลจิสติกส์ส่งพัสดุหน้าใหม่ๆ เข้ามาในตลาดมากขึ้น

ซึ่งแต่ละเจ้าก็อาศัยการดัมพ์ราคา-อัดโปรโมชั่นค่าส่ง เพื่อแย่งฐานลูกค้าในตลาดให้ได้มากที่สุด เกิดเป็น ‘สงครามราคา’ ที่ปะฉะดะกันแบบดุเดือด และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะจบลงในระยะอันใกล้ รวมถึงยังไม่เห็นวี่แววว่าใครจะเป็นผู้ชนะที่แท้จริง

พี่ใหญ่แห่งวงการที่อยู่มานานกว่า 139 ปีในไทยอย่าง ‘ไปรษณีย์ไทย’ ได้รับผลกระทบจากสงครามครั้งนี้ไม่น้อย สะท้อนจากตัวเลขผลประกอบการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง คือ

-ปี 2560 รายได้ 28,293 ล้านบาท กำไร 4,212 ล้านบาท

-ปี 2561 รายได้ 29,728 ล้านบาท กำไร 3,827 ล้านบาท

-ปี 2562 รายได้ 27,531 ล้านบาท กำไร 660 ล้านบาท

-ปี 2563 รายได้ 24,210 ล้านบาท กำไร 385 ล้านบาท

-ปี 2564 รายได้ 21,734 ล้านบาท ขาดทุน 1,624 ล้านบาท

รายได้ที่ไม่ดีขึ้น ซ้ำร้ายปีที่แล้วยังพลิกจากกำไรเป็นขาดทุน ทำให้ปีนี้ไปรษณีย์ไทยภายใต้การนำของ ‘ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ต้องเร่งปรับตัวใหม่ หันหลังให้สงครามราคา แล้วโฟกัสที่อย่างอื่นเพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนกว่า

ดร.ดนันท์ บอกว่า แม้ EIC จะคาดการณ์ว่าในปี 2565-2567 ตลาดขนส่งด่วนจะเติบโตเฉลี่ย 11.23% ต่อปี แต่เขาคิดว่าไม่น่าจะไปถึงขนาดนั้น ที่สำคัญคือยังมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาดเรื่อยๆ บริษัทเหล่านี้ต้องใช้กลยุทธ์ด้านราคาเข้ามาสู้ นั่นทำให้สงครามราคายังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง

แม่ทัพใหญ่แห่งไปรษณีย์ไทยมองว่า สงครามราคานี่เองที่จะไม่ดีกับใครเลย ทำให้อุตสาหกรรมไม่เฮลตี้ หลายรายจำนวนงานเพิ่มจริง แต่ต้นทุนก็สูงขึ้นด้วย และท้ายที่สุดก็เป็นการเติบโตที่ไม่ยั่งยืน

ส่วนไปรษณีย์ไทยนั้นจะมุ่งโฟกัสที่อย่างอื่นมากกว่าเรื่องราคา อย่างที่ ดร.นันท์ ประกาศว่าไปรษณีย์ไทยจะ “ไม่ต้องจมอยู่กับการแข่งขันในด้านราคา เพราะเกมนี้ไม่ใช่เกมของเรา”

แล้วอย่างอื่นที่ไปรษณีย์ไทยจะหันไปโฟกัส เพื่อให้ธุรกิจยังโต และคงความเป็นพี่ใหญ่ในตลาดไว้ได้นั้นมีอะไรบ้าง ลองมาดูกัน

ประเด็นแรกเลยคือเรื่องคุณภาพของการขนส่ง

นอกจากการันตีในเรื่องการขนส่งอันแสนรวดเร็วของ EMS ที่ส่งไวได้ทั่วไทยภายในวันถัดไป (ยกเว้นยะลากับแม่ฮ่องสอนที่จะใช้เวลา 2 วันทำการ) ส่งทุกวันไม่มีวันหยุด ราคาเข้าถึงได้แล้ว

สิ่งที่ไปรษณีย์ไทยเร่งพัฒนาอย่างมากก็คือในเรื่องของคุณภาพในการให้บริการและการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการขนส่งที่เหมาะสมกับสินค้าแต่ละแบบโดยเฉพาะ

ยกตัวอย่างคือ ผลไม้ ไปรษณีย์ไทยมีทั้งบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม รวมถึงมีการขนส่งสำหรับผลไม้โดยเฉพาะ ที่ทำให้สินค้าการเกษตรของไทยไม่เสียหาย คงสภาพไว้ได้ดีที่สุด

หรือจะเป็นบริการส่งเย็นอย่าง Fuze Post ที่เข้ามาช่วยเสริมให้พ่อค้าแม่ค้าโดยเฉพาะกลุ่มอาหารทะเล อาหารสด ขยายฐานลูกค้าไปได้ไกลมากกว่าตลาดใกล้บ้าน

ดร.ดนันท์ บอกว่า ไม่เพียงเท่านั้น ไปรษณีย์ไทยยังมีบริการที่เรียกว่า ‘กล่องทำมือ’ ซึ่งเป็นการ Customize บรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับสินค้านั้นๆ โดยเฉพาะ

เช่น เบ็ดตกปลา ที่มีรูปร่างเป็นทรงยาว หากห่อไม่ดีก็อาจเสียหายได้ การให้ไปรษณีย์ห่อให้จะช่วยสร้างความปลอดภัยได้มากกว่า ซึ่งตรงนี้ประชาชนสามารถนำมาใช้บริการห่อได้ที่ที่ทำการไปรษณีย์นั่นเอง

“แทนที่จะโฟกัสแค่ความเร็ว เราหันมาโฟกัสและให้ความสำคัญกับประเภทของของที่ส่งด้วย เพราะนั่นจะสร้างคุณค่าให้การบริการได้มากขึ้น เรามองว่าการแข่งขันไม่ได้อยู่ที่ราคาแล้ว”

ไปรษณีย์ไทยยังมีการพัฒนาระบบอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การมี LINE@ ที่ทุกคนสามารถใช้ข้อมูลอื่นๆ เช่น เบอร์โทรศัพท์ ติดตามพัสดุได้ ไม่จำเป็นต้องใช้เลข Tracking Number เพียงอย่างเดียวแบบเมื่อก่อนอีกต่อไป

ทั้งนี้ หลังจากตั้งแต่ไตรมาส 1/2565 ที่ไปรษณีย์ไทยเริ่มโฟกัสไปที่คุณภาพ ก็พบว่าปริมาณงานสอบสวน (งานที่ลูกค้ามาตามสินค้าหาย) ลดลง 46% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2564

ขณะที่อัตราของเสียหายในไตรมาส 1/2565 ลดลง 46% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

ถือเป็นความสำเร็จอย่างดงาม และนั่นทำให้ไปรษณีย์ไทยจะมุ่งพัฒนาในด้านนี้ต่อ

พร้อมๆ ไปกับสร้างการเติบโตจากโอกาสอื่นๆ แทนธุรกิจขนส่งที่การแข่งขันยังรุนแรง

กล่าวคือ จากเดิมที่ไปรษณีย์ไทยมีส่วนแบ่งรายได้จากธุรกิจมาจากโลจิสติกส์และส่งด่วน ประมาณ 40% ไปรษณียภัณฑ์ 30% บริการขนส่งระหว่างประเทศ 20% ค้าปลีก 10% และบริการด้านการเงินอีกนิดหน่อย

ไปรษณีย์ไทยจะปรับสัดส่วนเป็น โลจิสติกส์และส่งด่วน เหลือประมาณ 37-38% เพิ่มสัดส่วนค้าปลีกขึ้นเป็น 15% และเพิ่มไปรษณียภัณฑ์ขึ้นเป็น 25%

ดร.ดนันท์ อธิบายว่า ธุรกิจค้าปลีกของไปรษณีย์ไทย คือเป็นช่องขายสินค้าทั้งบน Thailandpostmart และที่ทำการไปรษณีย์ แต่ปีนี้ที่จะดันธุรกิจค้าปลีกให้มากขึ้น ไปรษณีย์ไทยจะดึงจุดแข็งของตัวเองอย่าง ‘บุรุษไปรษณีย์’ มาใช้

โดยบุรุษไปรษณีย์ ถือได้ว่าเป็นจุดแข็งที่ทำให้ไปรษณีย์แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่น เนื่องจากบุรุษไปรษณีย์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชุมชน รู้เรื่องราวของคนในชุมชนจนเป็นเหมือนครอบครัวคนหนึ่ง

และบุรุษไปรษณีย์ นี่เองที่จะเป็นผู้แนะนำสินค้า รับออเดอร์สั่งซื้อ และนำสินค้ามาส่งคนในชุมชนได้แบบตามต้องการ

จากกลยุทธ์ที่ว่า ไปรษณีย์ไทยตั้งเป้าว่าจะดันรายได้ของธุรกิจค้าปลีกในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 500 ล้านบาท จาก 300 ล้านบาทในปีก่อน

ทิศทางของไปรษณีย์ในครึ่งปีหลัง (และต่อจากนั้น) นอกจากควบคุมต้นทุน ยังรวมไปถึงการขยายจุดให้บริการให้ครอบคลุมและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้มากกว่ากว่าเดิม

การลงทุนพัฒนาระบบไอทีที่ทำให้เชื่อมโยงข้อมูลภายในตั้งแต่ต้นจนจบถึงกันได้ ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการดีขึ้น ต้นทุนการให้บริการดีขึ้น ประสบการณ์ของผู้ใช้งานดีขึ้น

นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยยังจะมุ่งหน้าไปสู่พลังงานไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการแทนที่รถขนส่งด้วยรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งปีนี้ทดลองก่อน 250 คัน และจะเพิ่มเป็น 500 คันต่อไป

ส่วนมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสำหรับบุรุษไปรษณีย์ ตอนนี้ก็เริ่มทดลองไปแล้วจากการ MOU กับ OR ซึ่งมีแผนว่าจะนำมาใช้ทั้ง 25,000 คันในอนาคต

ไปรษณีย์ไทยยังมีแผนที่จะเข้าสู่ระบบนิเวศของ EV ที่มากกว่าการเป็นผู้ใช้บริการ (ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นการพัฒนารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่เหมาะสมแก่การเดลิเวอรี่ โดยมีแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่รวมถึงไรเดอร์เป็นกลุ่มเป้าหมาย)

นอกจากนี้ยังจะร่วมมือกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในการให้ไปรษณีย์ไทยเข้าไปอยู่ในตัวเลือกการส่งบนแพลตฟอร์ม ซึ่งตอนนี้เริ่มทดลองไปบ้างแล้ว

รวมไปถึงการมีแผนไปร่วมกับธุรกิจแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ ซึ่งจะเป็นรูปแบบไหน ไปรษณีย์ไทยเตรียมแถลงข่าวในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้

และนี่ก็คือทิศทางของ ‘ไปรษณีย์ไทย’ ที่พยายามหนีออกจากสงครามราคา และมุ่งโฟกัสอย่างอื่นแทน ส่วนจะทำได้หรือไม่ เราอาจต้องลุ้นกันต่อไป

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า