Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

รายงานจาก World Population Prospects 2022 ขององค์การสหประชาชาติเผยว่า จำนวนประชากรโลกจะแตะ 8 พันล้านคนภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน ปีนี้ และในปี 2023 อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการหลายๆ คนมองว่า อินเดียไม่พร้อมกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นแน่นอน ด้วยโครงสร้างของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมาก และทรัพยากรที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา

วันนี้ TODAY Bizview จะมาเล่าถึงสาเหตุและหายนะที่จะเกิดขึ้นกับอินเดียหลังจากนี้ รวมไปถึงการแก้ปัญหาในภาพรวมของประชากรที่จะเพิ่มขึ้น

[ ภาพรวมของจำนวนประชากรโลกในอนาคต ]

ในรายงานชี้ว่า ประชากรโลกอาจเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 8.5 พันล้านคนในปี 2030 และถึง 9.7 พันล้านคนในปี 2050 และยังคาดการณ์ว่าจะถึงจุดสูงสุดที่ประมาณ 1.04 หมื่นล้านคนใน 2080 และจะคงอยู่ที่ระดับนี้จนถึงปี 2100 

ซึ่งตั้งแต่ปี 1950 จนถึงตอนนี้ ประชากรโลกเติบโตในอัตราที่ต่ำมาก โดยเฉพาะในปี 2020 ที่อัตราการเติบโตต่ำว่า 1% 

ในรายงานยังระบุด้วยว่า ภาวะเจริญพันธุ์ในหลายประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา อย่างทุกวันนี้ 2 ใน 3 ของประชากรโลกทั้งหมด อาศัยอยู่ในประเทศที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำกว่า 2.1 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคน 

โดยจำนวนประชากรใน 61 ประเทศคาดว่าจะลดลง 1% หรือมากกว่านั้น ในระหว่างปี 2022 ถึง 2050 สาเหตุมาจากอัตราการเจริญพันธุ์ที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง และในบางประเทศอัตราการย้ายถิ่นฐานเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนในปี 2050 ประชากรโลกมากกว่าครึ่งหนึ่งจะไปกระจุกตัวกันใน 8 ประเทศ (สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อียิปต์ เอธิโอเปีย อินเดีย ไนจีเรีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และสหสาธารณรัฐแทนซาเนีย) โดยคาดว่าประเทศในแถบแอฟริกาใต้สะฮารา จะมีประชากรเพิ่มขึ้นมากที่สุด

ซึ่งประเทศในแถบแอฟริกาใต้สะฮาราส่วนใหญ่ รวมถึงบางประเทศในเอเชีย ลาตินอเมริกา และแคริบเบียน มีส่วนแบ่งของประชากรในวัยทำงาน (ระหว่าง 25 ถึง 64 ปี) เพิ่มขึ้นเนื่องจากภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดลงเมื่อเร็วๆ นี้

Liu Zhenmin รองเลขาธิการสหประชาชาติเผยว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘การเติบโตของประชากร’ กับ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและมีหลายมิติ เพราะการเติบโตของประชากรอย่างรวด เร็จจะเพิ่มความยากจน และความไม่เท่าเทียมทางด้านสุขภาพ การศึกษา และเพศ 

แต่ในทางกลับกัน การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะช่วยลดระดับการเจริญพันธุ์และชะลอการเติบโตของประชากรโลก

[ จำนวนของคนยากจนกำลังจะล้นอินเดีย ]

โดยทั่วไปแล้ว ประชากรที่เพิ่มขึ้นจะสร้างแรงกดดันในการเจริญเติบโตของทรัพยากรในประเทศ และอาจจะทำให้เศรษฐกิจเติบโต รวมไปถึงสังคมที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว

แต่สำหรับอินเดีย การมีประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะเป็นหายนะสำหรับประเทศ และยิ่งไปกว่านั้น จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น กำลังจะแซงหน้าประเทศจีนเป็นที่เรียบร้อย

เพราะในปัจจุบัน อินเดียกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาทางการเมือง อย่างปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของบุคคลระดับสูงในคณะรัฐบาล ทำให้รัฐบาลต้องหามาตรการฟื้นฟูความน่าเชื่อถือในสายตาประชาชน และพยายามแก้ไขปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำ

ที่ผ่านมา อินเดียต่อสู้กับการควบคุมประชากรมานานหลายทศวรรษ จากปี 2000 อัตราการเจริญพันธุ์อยู่ที่ 3.2 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคน ลดลงเหลือที่อัตรา 2.3 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคนในปี 2016 

แต่อินเดียก็ยังมีประชากรในกลุ่มวัยเจริญพันธุ์เป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเพราะมีเพียง 54% ของคู่รักที่มีการคุมกำเนิด

นอกจากนี้ จำนวนประชากรคนยากจนเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่อัตราการจ้างงาน และอัตราการรู้หนังสือลดลงต่ำมาก และโครงการสวัสดิการของรัฐบาลก็ไม่สามารถรองรับคนหลายพันคน ที่มีรายได้น้อยกว่า 3 ดอลลาร์ต่อวันได้ด้วย

ในปัจจุบัน อินเดียมีประชาชนกว่า 800 ล้านคนที่มีสถานะเป็นคนยากจน โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบท และไม่ค่อยมีงานทำ ไม่มีน้ำดื่มเพียงพอ ก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น อหิวาตกโรค ไข้รากสาดใหญ่ และโรคบิด และมีคนอีก 200 ล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ ซึ่งในจำนวนนี้มีเด็กทั้งหมด 61 ล้านคน

ไม่เพียงเท่านี้ World Inequality Report รายงานว่า ประชากรอินเดียที่ยากจนที่สุดครึ่งหนึ่งของประเทศมีทรัพย์สินเพียง 5.9% ของความมั่งคั่งทั้งหมด ในขณะที่คนรวยที่สุด 10% ของอินเดียควบคุมทรัพย์สินถึง 64.7% ของประเทศ

ด้วยเหตุผลนี้ ทำให้คนยากจนจำนวนมากเข้ามาทำงานในเมืองมากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นในเมืองบอมเบย์ เดลี บังกาลอร์ หรือกัลกัตตา

[ อินเดียต้องเผชิญกับปัญหาที่จะบานปลายไปมากกว่าเดิม ]

สิ่งแรกที่จะเกิดขี้นคือ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มากเกินไป เหมือนกับที่ นเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีของอินเดียเคยพูดว่า “ความต้องการพลังงานของอินเดียจะเพิ่มขึ้นสามเท่าในอีก 20 ปีข้างหน้า” 

ซึ่งก็แปลว่าต้องเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นไปอีก 

อย่างไรก็ตาม การผลิตพลังงานไฟฟ้าในอินเดีย สร้างมลพิษจากก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะอินเดียใช้ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้า

นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของประชากร จะยิ่งเพิ่มจำนวนคนจนในอินเดียไปอีก เพราะผู้คนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้น้อยลง ส่งผลให้จำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้น และในระยะยาว ยังขยายช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน จากการกระจายความมั่งคั่งและรายได้ที่ไม่เท่ากัน 

อีกหนึ่งสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นคือ ‘ภาวะสมองไหล’ คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถพากันย้ายประเทศ ซึ่งในปัจจุบัน คนอินเดียที่ทำงานในบริษัทเทค วงการไอทีส่วนใหญ่ก็ย้ายถิ่นฐานไปทำงานในต่างประเทศ ส่วนมากในสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ เนื่องจากแวดวงเทคโนโลยีในอินเดียยังไม่พัฒนาเต็มที่ การบริหารที่ไม่เป็นระบบในบริษัท และความซับซ้อนและการทุจริตในแวดวงราชการ 

และปัญหาอื่นๆ ที่อาจจะตามมาคือ ปัญหาด้านอาหารและโภชนาการ ปัญหาที่อยู่อาศัย ปัญหาโรคระบาด พื้นที่เกษตรกรรมลดลง การทำลายป่าไม้เพิ่มขึ้น ภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมรวมทั้งสัตว์ป่า และความไม่มั่นคงทางการเมือง

แต่ในอีกมุมหนึ่ง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Bank of Baroda มองว่า การเติบโตของประชากรดูเหมือนจะเป็นเรื่องดี เพราะอินเดียจะมีกำลังแรงงานที่มากขึ้น และจะเป็นความท้าทายที่จะทำให้แน่ใจว่าประชากรมีการศึกษาที่ดี เพื่อให้แรงงานมีส่วนใน GDP มากขึ้น

ซึ่งที่ผ่านมา อินเดียลงทุนเพียง 1.29% ของ GDP ต่อปีในด้านสุขภาพ ซึ่งน้อยกว่าบังคลาเทศและเนปาล ส่วนด้านการศึกษาลงทุนอยู่ที่ประมาณ 3-3.5% ของ GDP ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 4.2%

[ การแก้ปัญหา ต้องเริ่มจากโครงสร้างแรงงาน ]

รายงานของ McKinsey Global Institute ในเดือนสิงหาคม 2020 ระบุว่า ในระหว่างปี 2023 ถึง 2030 อินเดียจำเป็นต้องสร้างงานเพิ่ม นอกเหนือจากงานภาคเกษตรที่ 90 ล้านตำแหน่ง และเปลี่ยนแรงงานในภาคเกษตรกรรมอีก 30 ล้านคน เพื่อไปเติมเต็มงานในส่วนอื่น 

นั่นหมายความว่า ตั้งแต่ปี 2023 อินเดียจะต้องมีตำแหน่งงานนอกเหนือจากภาคเกษตรเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 12 ล้านตำแหน่งทุกปี

ซึ่งการสร้างงานขนาดใหญ่เช่นนี้ GDP ของอินเดียจะต้องเติบโตที่ 8-8.5% ต่อปีในทศวรรษหน้า และการเติบโตของผลิตภาพจะต้องอยู่ที่ 6.5-7%

ส่วนวิธีการป้องกันภาวะสมองไหล ต้องเริ่มจากการพัฒนาชนบทให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งที่จริงแล้ว คนรุ่นใหม่ในอินเดียต้องการเป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าของประเทศ แต่ยังขาดโอกาสในการจ้างงาน และการเพิ่มขีดความสามารถของผู้หญิง 

ไม่เพียงเท่านั้น องค์กรส่วนใหญ่ในอินเดียไม่ได้ทำงานด้วยหลักการที่แข็งแกร่ง นำไปสู่ปัญหาการเมืองภายในองค์กร และช่องว่างในการสื่อสาร ซึ่งนำไปสู่ความเครียดและความวิตกกังวล ทำให้พนักงานจำนวนมากอพยพไปต่างประเทศเพื่อคาดหวังบรรยากาศการทำงานที่ดี แทนที่จะอยู่กับวัฒนธรรมการทำงานที่ไม่เหมาะสม

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่านโยบายการเก็บภาษีในอินเดียทำให้ขอบเขตการออมลดลงมาก และปัญหาความไม่พอใจของภาษี ที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในประเทศ แต่นำไปสู่ปัญหาการทุจริต การผูกขาดแทน

ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องอัตราการเจริญพันธุ์ อินเดียต้องเพิ่มสวัสดิการ และสถานภาพของผู้หญิงในสังคมมากขึ้น เพราะในปัจจุบัน ผู้หญิงยังคงได้รับการปฏิบัติเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ศึกษาและใช้ชีวิตทำงานบ้าน

รัฐบาลต้องส่งเสริมการคุมกำเนิด ทั้งการเพิ่มความตระหนักในการใช้ยาคุมกำเนิด การแจกยาคุมกำเนิดและถุงยางอนามัยฟรีแก่ทุกคน โดยเฉพาะกับครอบครัวที่ไม่พร้อมมีสมาชิกเพิ่ม หรือจะเป็นการส่งเสริมการทำหมันชาย ที่มีประสิทธิภาพและสามารถลดความกังวลของคู่สมรสได้

ถึงแม้วิธีการแก้ปัญหาจำนวนประชากรในอินเดียจะมีเยอะมากมาย แต่สิ่งที่สำคัญคือการเริ่มต้นแก้ที่โครงสร้างของปัญหา ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดต้องเห็นถึงต้นตอของปัญหา และลงมือแก้ไขเพื่อที่จะทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่สามารถเดินไปได้ต่อ กับจำนวนประชากรที่ยังคงเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

ที่มา : 

https://www.un.org/en/desa/world-population-reach-8-billion-15-november-2022

https://edition.cnn.com/2022/07/11/india/india-surpassing-china-population-2023-un-intl-hnk/index.html

https://edition.cnn.com/2019/01/21/health/india-two-child-policy-debate/index.html

https://www.business-standard.com/podcast/current-affairs/india-to-overtake-china-as-the-most-populous-country-what-does-this-mean-122071500089_1.html

https://www.inventiva.co.in/trends/indias-energy-need-to-be-sustainable/

https://marketeeronline.co/archives/243973

https://www.soschildrensvillages.ca/news/poverty-in-india-602

https://www.aspistrategist.org.au/the-trade-off-between-economic-growth-and-wealth-inequality-in-india/

https://www.tutorialspoint.com/what-is-the-best-way-to-stop-brain-drain?key=What+is+the+best+way+to+stop+Brain+Drain%3F

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า