SHARE

คัดลอกแล้ว

“สงครามยูเครนเริ่มขึ้นที่ไครเมีย และต้องจบลงที่การปลดปล่อยไครเมีย” ถอดคำพูดโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ตามหาที่มาที่ไปสงครามยูเครน

หลังเกิดเหตุระเบิดรุนแรงที่ฐานทัพรัสเซียเพียงไม่นาน ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ได้ออกมาประกาศว่า “สงครามยูเครนเริ่มต้นขึ้นที่ไครเมีย และต้องจบลงด้วยการปลดปล่อยไครเมีย” 

คำกล่าวนี้มีที่มาที่ไปยังไง หากจะลองวิเคราะห์ถึงจุดเริ่มต้นของสงครามตามที่ผู้นำยูเครนพูดถึง คงต้องเท้าความย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงปลายปี 2013 ถึง 2014 ยูเครนเกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงขึ้นภายในประเทศระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนรัสเซีย กับกลุ่มต่อต้านที่เอนเอียงไปทางยุโรป

แล้วความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นมาจากตรงไหน อาจต้องย้อนกลับไปไกลกว่านั้นตั้งแต่ยูเครนแยกตัวออกมาเป็นเอกราชหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1991 ดินแดนที่ถูกเรียกว่าประเทศยูเครน ยังคงมีชาวรัสเซียจำนวนมากอาศัยอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคตะวันออกของประเทศ 

ประชาชนฝ่ายสนับสนุนรัสเซีย หรือโปร-รัสเซีย มองว่า ยูเครนกับรัสเซียมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันมายาวนาน จึงควรอยู่ด้วยกันในฐานะบ้านพี่เมืองน้อง ให้รัสเซียเป็นพี่ใหญ่ที่คอยดูแลสนับสนุน ในขณะที่รัสเซียเองก็มองว่ายูเครนเป็นส่วนหนึ่งของตนโดยเรียกยูเครนว่า “Little Russia”

ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนยุโรปกลับเห็นต่างไปจากนั้น พวกเขามองว่า การที่ยูเครนหันไปหายุโรปจะช่วยให้พวกเขาได้รับการสนับสนุนทางเศรษฐกิจ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้ยูเครนแม้จะกลายเป็นประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ก็มีนโยบายต่างประเทศที่เหวี่ยงไปเหวี่ยงมาระหว่างการหันไปทางยุโรป กับการหันไปทางรัสเซีย

เปลวเพลิงของความขัดแย้งโหมกระพือขึ้น หลังจากที่ วิคเตอร์ ยานูโควิช ซึ่งเป็นฝ่ายโปร-รัสเซีย ก้าวขึ้นมามีอำนาจ รับตำแหน่งประธานาธิบดี และได้คว่ำข้อเสนอจากสหภาพยุโรปที่มาชวนยูเครนเข้าเป็นสมาชิก โดยหันกลับไปซบอกรัสเซียแทน พร้อมรับเงินสนับสนุนกับรัสเซียจำนวนมากถึง 15,000 ล้านดอลลาร์ ยิ่งสร้างความเดือดดาลให้กับประชาชนที่มองว่าผู้นำประเทศได้นำยูเครนไปขายให้กับรัสเซีย

หลังจากนั้นการประท้วงก็ปะทุขึ้นทั่วประเทศยูเครน ประชาชนเรือนหมื่นเรือนแสนออกมารวมตัวกันเพื่อโค่นล้มรัฐบาลยานูโควิช หรือที่เรียกกันว่า “การปฏิวัติไมดาน” (Maidan Revolution) จนสถานการณ์ลุกลามบานปลาย เกิดการปะทะต่อสู้กับระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมกลายเป็นเหตุนองเลือด

ในที่สุด ยานูโควิช ถูกถอดถอนจากตำแหน่งประธานาธิบดีและหลบหนีออกนอกประเทศ ลี้ภัยไปพำนักที่รัสเซีย ขณะที่ทางฝั่งของรัสเซียเอง เมื่อรู้ว่ายูเครนไม่มาอยู่ฝ่ายเดียวกับตัวเอง แค่วันเดียวหลังจากที่ยานูโควิช โดนไล่ออกจากตำแหน่ง รัสเซียก็เข้าตอบโต้ด้วยการยึดดินแดนไครเมีย  (Crimea) มาเป็นของรัสเซีย

ส่วนสาเหตุที่เป็นไครเมียนั้น เพราะไครเมียเคยเป็นดินแดนของรัสเซียมาก่อน แม้จะไม่มีอาณาเขตติดกับรัสเซียเลย แต่ติดกับยูเครนแทน โดยเมื่อปี 1954 นิกิต้า ครุสเชฟ ผู้นำของสหภาพโซเวียตได้ตัดสินใจมอบไครเมียให้ยูเครน โดยให้เหตุผลว่า “เป็นสัญลักษณ์ในการเชื่อมสัมพันธ์พี่น้องของชาวยูเครน และชาวรัสเซีย”

หลังจากยึดไครเมียได้แล้ว วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ก็รีบจัดการลงประชามติเพื่อถามประชาชนไครเมียว่า ต้องการที่จะอยู่กับยูเครนต่อหรือจะย้ายไปอยู่กับรัสเซีย ซึ่งผลโหวตปรากฏว่า ฝั่งรัสเซียชนะด้วยคะแนนโหวตถึง 96.77% และผลที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือ โดแนตสก์และลูฮันสก์ ซี่งอยู่ในภูมิภาคดอนบาสทางตะวันออกของยูเครน ได้ตัดสินใจทำประชามติแบบเดียวกันบ้าง แต่กลับกลายเป็นสงครามแบ่งแยกดินแดนมาจนปัจจุบัน จนรัสเซียได้เข้าไปประกาศรับรองเอกราชของทั้งสองดินแดน ส่งทหารเข้าไปรักษาความสงบ

แม้ในมุมมองของ วลาดิมีร์ ปูติน การผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ถือเป็นการปลดปล่อยชาวไครเมีย ให้มาอยู่กับประเทศที่พวกเขาอยากอยู่ตรงๆ แต่ในมุมที่ชาติอื่นๆ มองเข้ามา วิธีการนี้คือการยึดพื้นที่ของประเทศอื่นๆ ถึงแม้ในประวัติศาสตร์ ไครเมียจะเคยเป็นดินแดนของรัสเซียมาก่อน แต่ในทางกฎหมายไครเมียเป็นดินแดนของยูเครนมาตั้งแต่ปี 1954 เท่ากับว่ารัสเซียได้เข้าไปละเมิดอธิปไตยของยูเครนอย่างแท้จริง

ที่โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ออกมาประกาศกร้าวหลังจากเกิดเหตุระเบิดที่ฐานทัพรัสเซียในไครเมีย จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คนว่า “ไครเมียเป็นของยูเครน และเราจะไม่มีวันยอมแพ้” จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในมุมมองของยูเครนไครเมียเป็นดินแดนของพวกเขาที่ถูกรัสเซียยึดไป

จนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าฝ่ายใดเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยผู้ช่วยประธานาธิบดียูเครนได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดฐานทัพรัสเซียแต่อย่างใด พร้อมกับกล่าวอ้างไปถึงรัสเซียว่า อาจจะเกิดจากความสะเพร่าของรัสเซียเอง

บนโซเซียลมีเดียของกระทรวงกลาโหมยูเครนได้มีการระบุว่า สาเหตุของเพลิงไหม้ยังคงไม่เป็นที่ชัดเจน พร้อมกับเตือนไปยังรัสเซียถึงความอันตรายของการสูบบุหรี่ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ ไอรีนา เวเรชชัค รองนายกรัฐมนตรียูเครน ยังออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า “เหตุการณ์ระเบิดใกล้เมืองโนโวเฟโดริฟกา เป็นสิ่งย้ำเตือนอีกครั้งว่าไครเมียเป็นของใคร เพราะคำตอบก็คือยูเครน” 

ขณะเดียวกัน มิไคโล โปโดลยัค ที่ปรึกษาของ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ก็ได้โพสต์ลงบนทวิตเตอร์ว่า คาบสมุทรไครเมียควรเป็น “ไข่มุกแห่งทะเลดำ” ไม่ใช่ “ฐานที่มั่นทางทหารของกลุ่มผู้ก่อการร้าย” พร้อมกับระบุว่า “นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น” และประโยคนี้เองก็ได้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเขากำลังพูดถึงเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยเขาได้ไปให้สัมภาษณ์กับสื่อทีวีออนไลน์ ดอซด์ (Dozhd) ของรัสเซียด้วยว่า เหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้นอาจเป็นผลงานของฝ่ายต่อต้านรัสเซีย 

จากการเปิดเผยของทางการท้องถิ่นไครเมีย เกิดเหตุระเบิดขึ้นหลายครั้งในฐานทัพอากาศซากี (Saky) ของรัสเซีย ที่ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองโนโวเฟโดริฟกา (Novofedorivka) บริเวณชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรไครเมีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 คน บาดเจ็บอีก 8 คน โดยกระทรวงกลาโหมรัสเซีย ออกมาระบุในเวลาต่อมาว่า เหตุระเบิดดังกล่าวเกิดขึ้นในบริเวณคลังกระสุนในฐานทัพอากาศ และไม่มีอุปกรณ์การบินใดๆ ได้รับความเสียหาย

ขณะที่สื่อของรัสเซียเองก็ได้ออกมารายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากกระทรวงกลาโหมว่า เหตุการณ์ระเบิดเกิดขึ้นจาก “การละเมิดกฎป้องกันเพลิงไหม้ และไม่มีสัญญาณ หลักฐาน หรือข้อเท็จจริงใดๆ ที่บ่งบอกถึงการจงใจโจมตีในครั้งนี้”

ไม่ว่าเหตุการณ์ระเบิดรุนแรงในฐานทัพรัสเซียจะเกิดจากอุบัติเหตุหรือการจงใจ แต่ก็ถูกจับตาว่าอาจมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสบโอกาสนี้ในการโจมตีฝ่ายตรงข้าม ในขณะที่สงครามในยูเครนยังคงยืดเยื้อมาจนถึงตอนนี้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า