SHARE

คัดลอกแล้ว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ดอลลาร์สหรัฐ’ (US Dollar) เป็นสกุลเงินที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก

เวลาทำธุรกิจ ถ้าต้องซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ ก็มักจะทำในรูปเงินดอลลาร์ หรือเวลาพูดถึงมูลค่าของสินทรัพย์บางอย่าง ถ้าอยากให้เข้าใจกันในระดับสากล ก็มักจะตีมูลค่าเป็นดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน

สำหรับคนทั่วไป เวลาจะดูว่าค่าเงินประเทศไหน อ่อนหรือแข็งค่าเท่าไหร่บ้าง ก็มักเป็นการพูดถึงความอ่อนค่าและแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

แต่อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เงินดอลลาร์ครองโลกอย่างทุกวันนี้ TODAY Bizview จะสรุปให้ฟัง

[ ย้อนอดีต ‘เงิน’ คืออะไร ใครเป็นคนคิดขึ้นมา ]

ย้อนกลับไปในยุคตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ‘เงิน’ หมายถึง สื่อกลางการแลกเปลี่ยน แต่เงินในยุคนั้นไม่ใช่เหรียญหรือธนบัตรที่เราใช้กันอย่างทุกวันนี้

แรกๆ จะเป็นของมีค่า เช่น ขวานหิน กำไล และเครื่องประดับ ถัดมาพัฒนามาใช้ภาชนะดินเผา เปลือกหอย สำริด โลหะ ฯลฯ หลักๆ คือ เป็นวัตถุที่สามารถแปรรูปได้โดยไม่เสียคุณสมบัติเดิม

แต่พัฒนามาอีกหน่อย การใช้โลหะมีค่าก้อนเล็กๆ แลกสินค้าจำนวนมาก กลับได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง และกลายเป็นสื่อกลางที่ได้รับความนิยมมากที่สุด

ซึ่งพอเล่ามาถึงตรงนี้แล้ว จะเริ่มเห็นว่าลักษณะก็คล้ายกับเหรียญที่เราใช้ในตอนนี้อยู่เหมือนกัน

พอมาถึงยุคที่ล่าอาณานิคม เจ้าอาณานิคมต่างๆ ก็เริ่มประทับตราเครื่องหมายของตัวเองลงบนเม็ดเงินที่ใช้ชำระสินค้า โลหะเงินประทับตราจึงเป็นจุดกำเนิดของ ‘เงินตรา’ ในปัจจุบัน

ส่วน ‘ธนบัตร’ หรือแบงก์ที่เราเรียกกันติดปากในปัจจุบัน มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีนช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะจีนเป็นประเทศแรกที่คิดค้นกระดาษและสิ่งพิมพ์ (Print) ขึ้นมา

แต่ที่ทำให้ชาวโลกรู้จักกับเงินกระดาษครั้งแรก คือ บันทึกของ ‘มาร์โค โปโล’ (Marco Polo) นักเดินทางชื่อดังชาวเวนิส ที่เขียนรายงานเรื่องธนบัตรหลังจากได้มีโอกาสมาทัวร์ประเทศจีนช่วงปี ค.ศ. 1214-1294 (พ.ศ.  1757-1837)

แต่ธนบัตรก็ยังไม่ได้ถูกยอมรับในทันที (เพราะไม่มีใครเชื่อว่ามันเวิร์คจริงๆ) ต้องใช้เวลานานถึง 20-30 ปีให้หลัง กว่าที่ยุโรปจะนำพิมพ์เงินกระดาษออกมา ก่อนจะถูกยอมรับไปทั่วโลกในที่สุด

[ ก่อนการมาถึงของดอลลาร์ เป็นยุคของใคร ]

สำหรับระบบการเงินโลก สามารถแบ่งได้หยาบๆ 4 ยุคตามวิวัฒนาการ คือ

1. ระบบมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) (ค.ศ. 1870‐1914 หรือ พ.ศ. 2413-2457 หรือก่อนหน้านั้น) เป็นระบบมาตรฐานการเงินระหว่างประเทศระบบแรก พัฒนามาจากการใช้เหรียญทองคำ การทำงานคือ ผูกค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงไว้กับทองคำ

2. ระบบมาตราปริวรรตทองคำ (Gold Exchange Standard) (ค.ศ. 1918‐1939 หรือ พ.ศ. 2461-2482) คล้ายกับระบบแรก แต่แตกต่างกันที่ทุนสำรองภายใต้ระบบนี้สามารถสำรองได้มั้งทองคำและเงินสกุลสำคัญที่แลกเป็นทองได้ เช่น เงินปอนด์ และเงินดอลลาร์สหรัฐ

3. ระบบเบรตตันวูดส์ (Bretton Woods System) (ค.ศ. 1944‐1973 หรือ พ.ศ. 2487-2516) ระบบที่มาแทนที่ระบบทองคำหลังจบสงครามโลก การทำงานคือ ผูกทองคำ 1 ออนซ์ไว้กับเงิน 35 ดอลลาร์

4. ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว (Floating Exchange Rate) (ค.ศ. 1973 หรือ พ.ศ. 2516 ถึงปัจจุบัน) ระบบที่ใช้ในปัจจุบัน การขึ้นลงของค่าเงินขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อ (Demand) และความต้องการขาย (Supply) ของนักลงทุนในตลาดเงิน ถึงมีประเทศที่กำหนดค่าเงินคงที่อยู่บ้าง แต่น้อยมาก และเป็นการกำหนดแบบมีเงื่อนไข

สรุป คือ ก่อนที่โลกจะเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยน เราเคยมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ระบบมาตรฐานทองคำ’ เป็นระบบการเงินแรกของโลก ถูกคิดค้นโดยสหราชอาณาจักร ในฐานะเจ้าอาณานิคม ณ ตอนนั้น

แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายประเทศเปลี่ยนมาใช้ ‘ระบบเบรตตันวูดส์’ ซึ่งผูกทองคำ 1 ออนซ์ไว้กับเงิน 35 ดอลลาร์ ก่อนจะถูกยกเลิก กลายเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวในปัจจุบัน

[ ‘ระบบเบรตตันวูดส์’ ครั้งแรกที่โลกยอมรับดอลลาร์ ]

สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ทั่วโลกยอมรับเงินดอลลาร์ ต้องเล่าย้อนไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

หลายประเทศที่เข้าร่วมสงครามประกาศยกเลิกการแลกเปลี่ยนเงินตรากับทองคำ และมีนโยบายห้ามส่งออกทองคำเพื่อรักษาทุนสำรองของประเทศ

ในช่วงเวลาเดียวกัน เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร (คนคิดระบบมาตรฐานทอง) ก็ถูกกระทบจากสงคราม ทำให้คนเริ่มไม่เชื่อมั่นในระบบ Gold Standard

ช่วงนั้นก็มีศูนย์กลางทางการเงินใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ประกอบกับภาวะขาดแคลนทองคำ ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การยกเลิกใช้ระบบ Gold Standard และเปลี่ยนมาใช้เงินสกุลสำคัญๆ เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศแทน

พอหมดยุค Gold Standard ก็ใช่ว่าเศรษฐกิจโลกจะไปต่อได้ เพราะการค้าระหว่างประเทศเข้าสู่ภาวะล้มเหลวอย่างรุนแรง แทบจะทำการค้าระหว่างประเทศไม่ได้ เพราะไม่มีมาตรฐานระบบการเงินกลางที่ใช้ร่วมกัน

ปัญหานี้ทำให้ประเทศเศรษฐกิจสำคัญ 44 ชาติ นัดรวมตัวกันที่เมืองเบรตตันวูดส์ มลรัฐนิวแฮมเชียร์ สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1944 (พ.ศ. 2487) เพื่อกำหนดมาตรฐานทางการเงินของโลกใหม่

ตอนนั้นสหรัฐเป็นประเทศที่มีทุนสำรองสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ผู้แทน 730 คนของ 44 ชาติจึงตกลงกันว่า จะใช้เงินดอลลาร์เป็นมาตรฐานใหม่ภายใต้ ‘ระบบเบรตตันวูดส์’ ตามชื่อเมืองที่ประชุม

โดยกำหนดให้ทองคำ 1 ออนซ์ มีค่าเท่ากับเงิน 35 ดอลลาร์เสมอ เรียกอีกชื่อว่า ‘ระบบค่าเสมอภาค’

[ ครั้งหนึ่งเคยเป็นต้นเหตุวิกฤตการเงินโลก ]

แต่ท้ายที่สุด Bretton Woods System ก็ไม่รอด เพราะสหรัฐปล่อยกู้หนักจนขาดดุลต่อเนื่อง ความต้องการเงินดอลลาร์ในระบบเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่ทองคำที่เป็นทุนสำรองกลับร่อยหรอลงเรื่อยๆ

ในช่วงเย็นวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1971 (พ.ศ. 2514) ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ผู้นำสหรัฐในตอนนั้น ตัดสินใจประกาศนโยบายเศรษฐกิจใหม่ผ่านโทรทัศน์ โดยมีท่อนประวัติศาสตร์ คือ

‘to suspend temporarily the convertibility of the dollar into gold or other reserve assets’ หรือ ‘ระงับการแปลงค่าเงินดอลลาร์เป็นทองคำหรือสินทรัพย์สำรองอื่นๆ เป็นการชั่วคราว’

ถึงจะบอกว่าเป็นการชั่วคราวก็ตาม แต่กลับส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบการเงินโลก ตามมาด้วยวิกฤตการณ์ทางการเงินระหว่างประเทศ

อังกฤษประกาศลอยตัวค่าเงิน อิตาลีหันไปใช้อัตราแลกเปลี่ยนสองอัตรา สวิตเซอร์แลนด์ต้องปิดตลาดเงินตราต่างประเทศ สหรัฐประกาศลดค่าเงินดอลลาร์

หลายประเทศในยุโรปและญี่ปุ่นเริ่มลอยตัวอัตราแลกเปลี่ยนอย่างอิสระ ท้ายที่สุดระบบ Bretton Woods ก็สลายตัวไปโดยปริยาย

แม้จะผ่านมากว่า 50 ปีแล้ว แต่เหตุการณ์นี้ก็ยังถูกขนานนามว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเงิน แถมมีชื่อเรียกเป็นของตัวเองว่า ‘วันนิกสันช็อก’ (The Nixon’s Shock)

[ เจอดราม่าหนัก แต่ยังกลับมายืนในวงการได้ ]

ทั้งที่เหตุการณ์ Nixon’s Shock น่าจะเป็นจุดจบของเงินดอลลาร์ แต่ทำไมทุกวันนี้เงินดอลลาร์ถึงยังเป็นสกุลเงินที่ครองโลกได้อยู่ TODAY Bizview รวบรวมเหตุผลสั้นๆ มา 4 ข้อ คือ

1. ซากอารยธรรมจาก Bretton Woods System ที่อนุญาตให้หลายประเทศสำรองค่าเงินด้วยดอลลาร์แทนทองคำ

2. เศรษฐกิจสหรัฐที่กลับมาแข็งแกร่งเป็นปัจจัยสนับสนุนมูลค่า (Value) ของค่าเงินดอลลาร์

3. ค่าเงินดอลลาร์ถูกใช้เป็นตัวกำหนดตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

4. เกือบ 40% ของหนี้ทั่วโลกอยู่ในรูปเงินดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนกับรัสเซีย พยายามเรียกร้อง ‘ระบบสกุลเงินเดียว’ (One-world Currency) ว่าแต่มันคืออะไร มีแนวโน้มจะสำเร็จหรือไม่ บทความหน้าจะมาเล่าให้ฟัง

ที่มา:

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า