SHARE

คัดลอกแล้ว

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า อนาคตของโลกนี้ขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่ เด็กและเยาวชนคือฟันเฟืองชิ้นสำคัญที่จะขับเคลื่อนโลก ขับเคลื่อนสังคม ให้กลายเป็นโลกที่น่าอยู่สำหรับพวกเขา พลังของเด็กและเยาวชนจากทั่วทุกมุมโลกอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อทุกพลังมารวมกันก็เป็นไปได้ว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ยิ่งใหญ่กว่า

ซึ่งเวที One Young World คือเมก้าอีเวนต์ของโลก ที่รวบรวมสุดยอดตัวแทนเยาวชน ไปจนถึงสุดยอดบุคคลต้นแบบ อันเป็นทั้งแรงบันดาลใจและเป็นแรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ไม่ว่าจะเป็น บัน คี มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ พอล โพลแมน ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิ IMAGINE หน่วยงานที่ผลักดันผู้นำภาคเอกชนทั่วโลกทำความดีอย่างยั่งยืน จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีประเทศแคนาดา เมแกน มาร์เคิล ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ พระชายาในเจ้าชายแฮร์รี่ ดยุกแห่งซัสเซกซ์ และ ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์ชาวบังกลาเทศ เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปี 2549 เป็นต้น

One Young World 2022 จัดขึ้นที่เมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ มีตัวแทนเยาวชนกว่า 2,000 คน จาก 190 กว่าประเทศ โดยมีประเด็นสำคัญที่กำลังเป็นทั้งเทรนด์ เป็นทั้งปัญหาที่ต้องถกและหาทางแก้ไข ไม่ว่าจะเรื่อง Conflict Prevention, Gender Equality, Oceans, Ethical Leadership และ Health

ปีนี้เป็นปีที่ 7 แล้ว ที่บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือซีพี ได้สนับสนุนเยาวชนไทยเข้าร่วมการประชุม One Young World เพื่อสร้างประสบการณ์ระดับ World Wide ที่เปิดโลกทัศน์ให้เยาวชนไทยได้พร้อมสู่การเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลง เป็นพลังสำคัญการขับเคลื่อนประเทศไทยและโลกสู่ความยั่งยืน ซึ่งในปีนี้มีจำนวนเยาวชนรวมทั้งสิ้น 24 คนจากกลุ่มธุรกิจต่างๆ ในเครือฯ รวมถึงนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยทักษิณ

ก่อนการเดินทางไปร่วมประชุมครั้งนี้ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร หรือ ซีอีโอ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) ซึ่งสนับสนุนเยาวชนในโครงการนี้มาโดยตลอด ได้ชี้ให้เห็นถึง 4 ประเด็นสำคัญซึ่งเป็นความท้าทายของโลก คือ 1. ความเหลื่อมล้ำ (Equality) 2. การปรับตัวสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) 3. การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) 4. การเผชิญกับภาวะโลกป่วน (Disruptive World) โดยกล่าวว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ต้องร่วมกันหาแนวทางรับมือและแก้ปัญหาทั้ง 4 ประเด็นนี้อย่างเร่งด่วน

สอดคล้องกับความคิดเห็นของ ศ.มูฮัมหมัด ยูนุส ที่กล่าวโดยสรุปว่า การที่เยาวชนทั่วโลกมารวมตัวกัน ถือเป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นการตัดสินใจร่วมกันว่าโลกแบบใดที่พวกเขาต้องการสร้าง และจะมีกระบวนการในการทำงานร่วมกับเยาวชนจากที่อื่นๆ อย่างไร โดยหากเปรียบกับโลกใบนี้เป็นยานอวกาศ พวกเราไม่ได้เป็นเพียงผู้โดยสาร คือลูกเรือและนักบิน ที่จะต้องบังคับยานอวกาศลำนี้ไปในทิศทางที่เราต้องการ นั่นคือการสร้างโลกด้วย 3 Zero คือ ไม่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่มีการกระจุกตัวของความมั่งคั่ง และไม่มีการว่างงาน

สิทธิโกมล ไชยทุม จากซีพี ออลล์ ซึ่งสนใจด้านภาวะผู้นำเชิงจริยธรรม (Ethical Leadership) และ ทยา จันทรวิโรจน์ จากกลุ่มทรู ซึ่งสนใจเรื่องสุขภาพ (Health) เป็น 2 ใน 24 ตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่จากการสนับสนุนโดยเครือซีพี ที่ได้ไปสัมผัสและเรียนรู้ในเวทีรวมสุดยอดเยาวชนครั้งล่าสุด

ตลอด 4 วันในงานดังกล่าว พลังงาน ทัศนคติ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเหล่าเพื่อนผู้นำจากทั่วทุกมุมโลก กลายเป็นเชื้อเพลิงผลักดันให้เยาวชนไทยมีจิตนาการ ปัญญา และสร้าง Impact ให้กับสังคม กลับมาเป็น ‘ผู้นำ’ ที่ดีกว่าเดิม ตามความตั้งใจของ ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร หรือซีอีโอ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) ที่กล่าวกับพวกเขาก่อนเดินทางไปว่า “คุณสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ต้องรอสถานการณ์สร้างผู้นำ”

เดินตามฝัน

เวทีระดับโลกย่อมต้องคัดสรรผู้ที่เหมาะสมเป็นธรรมดา ความรู้ความสามารถของตัวแทนเยาวชนทุกคนล้วนติดตัวพวกเขามานาน ความสนใจบ่มเพาะกลายเป็นแรงจูงใจเพื่อจะพัฒนาองค์ความรู้ด้านถนัดให้เป็นการเปลี่ยนแปลงโลก

สิทธิโกมล เล่าว่า เขามีแพสชันด้าน HRD (Human Resources Development) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทว่าที่ผ่านมาเขามักจะเห็นผู้นำมุ่งไปทางความเป็นเลิศด้านธุรกิจ แต่หลงลืมเรื่องจริยธรรมไป ทั้งที่ผู้นำควรจะสร้างความรู้สึกดีและรู้สึกปลอดภัยที่คนได้ร่วมงานด้วย เรื่องจริยธรรมจึงสำคัญมากในมุมมองของเขา

“One Young World เป็นเหมือน Connection Platform ที่ใหญ่ที่สุดของโลกในเรื่องการนำผู้นำเยาวชนมาประชุมกัน ผมเลยอยากเข้าไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ไปหาไอเดียใหม่ๆ ว่าเขาทำอะไรกันอยู่ ถ้าเราอยากเชื่อมโยงกับเขาเพื่อทำอะไรบางอย่างเพื่อพัฒนาชุมชนหรือพัฒนาสังคมก็ต้องเข้าไปร่วมเวทีนี้ นี่คือสิ่งที่ทำให้ผมอยากไป One Young World มากๆ”

ส่วนทยาคือคนที่สนใจประเด็นทางสังคมมาตั้งแต่เด็ก และเรียนจบด้าน Bio Medical Science มา รวมถึงการเติบโตที่ต่างประเทศแล้วกลับมาประเทศไทยเรื่อยๆ จึงได้เห็นว่าประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำทางการแพทย์ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานของโลก ทำให้เกิดแพสชันว่าอยากสร้าง Wellbeing (ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น) ให้คนไทย

“สิ่งที่ทำให้ผมอยากไป One Young World มากที่สุด คืออยากไปเรียนรู้มุมมอง ไอเดียใหม่ๆ จากผู้นำที่ประสบความสำเร็จแล้วในสิ่งที่เขาสนใจ แล้วนำมาเปรียบเทียบกับมุมมองของตัวเองว่าเขาเป็นอย่างไร ทำแล้วเป็นอย่างไร เราเอามาพัฒนาต่อยอดได้ไหม มันแตกต่างจากสิ่งที่เราคิดสิ่งที่เราเห็นอย่างไร มันมีจุดดีจุดด้อยอย่างไร จะเอามาประยุกต์ใช้กับสังคมไทยหรือชุมชนของเราอย่างไรบ้าง”

เตรียมตัวสู่เวทีโลก

ใช่ว่าทุกคนจะได้มีโอกาสไป One Young World แต่เมื่อพวกเขาคือผู้ถูกเลือกก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมสมกับการก้าวขึ้นสู่เวทีระดับโลก และสิ่งที่พวกเขาต้องเตรียมมากที่สุดไม่ใช่ปัจจัยภายนอก แต่คือองค์ความรู้ที่จะเอาไปแลกเปลี่ยนกับผู้นำเยาวชนจากประเทศต่างๆ

ด้วยความที่สิทธิโกมล มีความสนใจด้าน Ethical Leadership ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างนามธรรม เขาจึงต้องเตรียมทั้งความรู้วิชาการและมุมมองอันเฉียบคม

“เนื่องจากใน One Young World คุยกันหลายประเด็น และนอกเหนือจากประเด็นหลักทั้ง 5 เรื่อง ยังมีประเด็นร้อนแรงที่กำลังเกิดขึ้นขณะนั้น เช่น Climate Change เราจึงต้องเตรียมข้อมูลไปเพื่อจะได้คุยกับเขารู้เรื่อง เพราะบางทีนอกเหนือจากประเด็นที่ถนัด เขายังทำอะไรอีกเยอะเลย

แต่ดีตรงที่ว่าบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด พาเราไปศึกษาดูงานที่ออทิสติกไทย เพื่อไปดูการพัฒนาชุมชนหรือพัฒนาเด็กที่เป็นออทิสติกว่าทำอย่างไร และการส่งเสริมชุมชนเขาทำอย่างไรบ้าง รวมถึงการไปที่เขาใหญ่ เขาพาผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาพูดคุยกับเรา เช่น ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่ดูเรื่องทรัพยากรทางทะเล”

ทำนองเดียวกัน ตัวทยาเองก็เตรียมพร้อมหาความรู้ ทั้งประเด็นที่สนใจและประเด็นสังคมที่เกิดขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ

“ผมเตรียมความรู้และข้อมูลเรื่องที่สนใจ และประเด็นที่กำลังเกิดขึ้นเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนกับเขา เพื่อขอความคิดเห็น ขอมุมมองใหม่ๆ และอีกอย่างผมำได้กลับไปดู One Young World ปีก่อนๆ ว่าเขาทำอะไรอย่างไรบ้าง มีอะไรที่เราจะไปต่อยอดเป็นไอเดียใหม่ๆ ได้”

โอกาสที่หาไม่ได้

ในทั้งหมด 5 หัวข้อหลักในงาน One Young World 2022 ตัวแทนเยาวชนทุกคนจากทั่วโลกจะได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังปาฐกถาและแลกเปลี่ยนมุมมองจากเวทีใหญ่ซึ่งจะผลัดเปลี่ยนหัวข้อสนทนากับ 1-2 หัวข้อในแต่ละวัน

นอกจากโอกาสที่จะได้เปิดมุมมองภาพกว้าง ยังมี Breakout Room แบ่งย่อยเป็นประเด็นๆ ให้ผู้สนใจได้เข้าไปรับฟัง แลกเปลี่ยนกันเพื่อให้เจาะรายละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น

สิทธิโกมลเล่าว่าในห้อง Breakout Room คือแหล่งรวมตัวท็อปของแต่ละวงการ พวกเขาพร้อมจะถ่ายทอดแนวคิด ประสบการณ์ และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ซักถามหรือนำเสนอแนวคิดของตัวเองได้ด้วย

“เราได้สัมผัสตัวจริง อย่างตัวแทนจาก IKEA ก็มาพูดใน Breakout Room ด้วย เรามีปฏิสัมพันธ์กับเขาได้ เป็นโอกาสให้เราได้แลกเปลี่ยนความรู้ลึกลงไปอีก ได้เชื่อมโยงกับคนจริงๆ ในห้อง Breakout Room

ซึ่งผมไปห้อง Start Up เขาบอกว่า Start Up ไม่ใช่แค่การดึงกำไรจากชุมชน แต่เราจะต้องส่งมูลค่าอะไรบางอย่างกลับไปยังชุมชน ที่มาร่วมพูดคุยมีหลายบริษัทมากนะครับ แต่ที่จำได้ดี เขาพูดถึงการทำให้เกิด Zero Carbon ในชุมชนด้วย แล้วก็เอา Waste ต่างๆ มารีไซเคิลให้เกิดกำไรและทำให้ชุมชนไม่มีขยะ เป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจมาก”

สำหรับทยาเลือกที่จะเข้าไป Breakout Room ประเด็นเกี่ยวกับ Health โดยตรง เพื่อเรียนรู้เรื่องนี้จากผู้เชี่ยวชาญในระดับสากล

“ที่ผมได้เข้าไปฟัง เป็นองค์กรที่ทำเกี่ยวกับ Health Education เขาใช้ศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นเพลง Hip Hop, วิดีโอ การ์ตูน ในการสอนเด็กเกี่ยวกับหัวข้อทางสุขภาพต่างๆ ที่เขายกตัวอย่างมาคือการ Stroke Prevention (เส้นเลือดในสมองตีบ) เขาใช้เพลงฮิปฮอปสอนเด็กว่าการที่เราประเมินว่าใครเป็น Stroke Prevention จะมีอาการอะไรบ้างที่บ่งบอก และให้เด็กช่วยเหลือผู้อื่นได้ตั้งแต่เด็กเลยว่าถ้าเจอคนที่เป็น Stroke แล้วต้องทำอย่างไร ติดต่อหน่วยงานพยาบาลอย่างไร หรือช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างไร

ผมได้รู้ลึกถึงแต่ละประเทศที่เขามีพื้นฐานที่แตกต่างจากเรา เขาสอนเด็กๆ ของเขาอย่างไรในการให้มีความรู้การรักษาหรือปฐมพยาบาลเบื้องต้น”

คนเปลี่ยน โลกเปลี่ยน

ความยิ่งใหญ่ของ One Young World ในความคิดทุกคนคือเวทีที่ทุกคนมาปล่อยพลังกัน เป็นแหล่งรวมสุดยอดผู้นำเยาวชน ในสายตาของทั้งสิทธิโกมลและทยาก็เช่นเดียวกัน แต่เมื่อได้ไปเป็นส่วนหนึ่งของเวทีนี้ มีอะไรมากกว่าที่เคยรับรู้มา

“พอได้ไปจริงๆ ผมได้เห็นอารมณ์ของคนในนั้น เขามีแพสชันที่จะเปลี่ยนแปลงโลกจริงๆ แล้วมันมากกว่าแค่การไปรีเสิร์ช เราได้รับพลังจากการที่เขามาพูด หรือการที่เขาไปเจออะไรมา ทำให้เรากลับมามีแพสชันมากกว่าเดิมอีก” สิทธิโกมลเล่า

ด้านทยานี่คือสิ่งที่เกินคาดไปมาก ทั้งความยิ่งใหญ่และสิ่งที่เขาได้รับ

“ผมไม่คาดคิดว่ามันจะยิ่งใหญ่ขนาดนี้ แต่พอได้ไปแล้วมี Speaker หรือผู้นำที่ขึ้นมาพูด มันจุดประกายความคิด แพสชันหลายๆ อย่าง ทำให้เราอยากลงมือทำ ลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงจริงๆ เป็นอะไรที่ตื่นเต้นและประทับใจมากๆ”

ทั้งสองคนยอมรับว่าก่อนจะไปยังเมืองแมนเชสเตอร์ พวกเขาแบกคำว่า “เปลี่ยนแปลงโลก” ไปด้วย ไม่แตกต่างกับทุกคนที่อยู่ในงานนั้น หลายคนเป็นคนตัวเล็กๆ หลายคนเป็นผู้ลี้ภัย แต่สิ่งที่ทุกคนกำลังพยายามทำคือการเปลี่ยนแปลงโลกจากมือของคนตัวเล็กๆ ทั้งสิ้น

นั่นทำให้ทั้งสิทธิโกมลและทยาซึ่งทำงานอยู่ในองค์กรยักษ์ใหญ่ของประเทศไทยกลับมามองถึงความเป็นองค์กรว่าควรทำอะไรได้มากขึ้นอีกเพื่อพัฒนาสังคม

“ผมมีแพสชันมากขึ้นเยอะเลย อยากลงมือทำเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก เปลี่ยนประเทศเราให้มากขึ้น อีกอย่างคือรู้สึกประทับใจที่ได้เห็นเยาวชนจากทั่วโลก จากหลายแบคกราวน์ ว่ายังมีคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลกไปในทิศทางที่ดี ก็รู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่มากๆ ถ้าเราลงมือทำจริงๆ จะมีคนสนับสนุน เครือข่าย ที่เป็นส่วนของการก้าวไปเปลี่ยนแปลง” ทยากล่าว

ต่อจากพลังและแพสชันที่เพิ่มขึ้น พวกเขากำลังเริ่มนำสิ่งที่ตกผลึกจาก One Young World มาทำโปรเจคและปรับใช้กับการทำงาน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ด้วยความหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงได้เป็นรูปธรรมในเส้นทางที่พวกเขาสนใจและถนัด

สิทธิโกมลบอกว่า “แต่การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่แค่ชุมชนทำเองได้ อย่างแรกเริ่มจาก Corporate ก่อน ถ้าเราตั้งใจเปลี่ยนแปลงจริงๆ สุดท้ายสิ่งเหล่านี้มันจะไหลกลับเข้าไปยังชุมชน เข้าไปพัฒนาชุมชน และเกิดความยั่งยืนในการพัฒนาชุมชนได้”

ส่วนทยามองว่าทุกโปรเจคที่ One Young World เสนอ ล้วนสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะเป็นมุมไหนก็ตาม แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการลงมือทำ หรือการจับมือกับคนที่จะเข้ามาช่วยเหลือได้ เป็นทีละก้าวเล็กๆ ที่เติบโตไปสู่การเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ได้มากขึ้น

“ถ้าเราทำให้คนมี Mission หรือ Vision ที่เหมือนกัน เราสร้างความเปลี่ยนแปลงได้แน่นอน เหมือนกับที่คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เคยบอกไว้ว่าพวกเราคือ Multiplier แยกจากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสี่ ไปเรื่อยๆ ทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริง”

พลังคนรุ่นใหม่

ช่วงหลายปีมานี้ หลายคนอาจเห็น Generation Gap ของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ และหลายคนตั้งคำถามถึงระยะห่างนี้ว่าจะเป็นปัญหาหรือไม่ แต่เหนืออื่นใด หากมองว่าคนที่จะต้องอยู่กับโลกนี้ต่อไปก็คือคนรุ่นใหม่ พวกเขาจึงต้องร่วมกันสร้างโลกในแบบที่พวกเขาอยากอยู่

ทยาแสดงความคิดเห็นว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีเยาวชนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในทุกด้าน ทั้งธุรกิจ สังคม หรือการเมือง ยิ่งในยุคที่การสื่อสารในโลกดิจิทัลเข้าถึงคนมากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่คนรุ่นใหม่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงกว้างมากกว่าเดิม

สอดคล้องกับที่สิทธิโกมลพูดถึงเรื่องนี้ว่าเป็นเพราะคนรุ่นใหม่เกิดและเติบโตมาใน Perfect Condition คือเกิดมาพร้อมเทคโนโลยี และข้อมูลใหม่ๆ เมื่อมาพร้อมกันทั้งสองอย่างทำให้พวกเขาไปได้ไกล

“คนรุ่นใหม่มีพร้อมทั้งเทคโนโลยี ข้อมูล และพวกเขายังต้องอยู่กับโลกนี้ไปอีกนาน เขาจึงอินกับสิ่งที่เขาเจอมากกว่า ซึ่งยิ่งถ้าเป็นในระดับโลก พลังของคนรุ่นใหม่ไปไกลมาก เด็กบางคนเขียนโปรแกรมกันแล้วเพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง”

บนเวที One Young World 2022 ทยาเล่าว่าได้เห็นเด็กบางคนที่ขึ้นไปพูด อายุยังแค่สิบกว่าปี แต่เขาสร้างความเปลี่ยนแปลง และลงมือทำได้อย่างยิ่งใหญ่ในสังคม เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ยุคนี้เป็นกลุ่มคนที่กล้าลงมือทำมากๆ เพียงแค่มีสังคมที่ให้โอกาสพวกเขาได้ลงมือทำ

โอกาสที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ไม่ได้มีแค่พนักงานของเครือซีพีเท่านั้น แต่ยังมีนักศึกษาที่ได้รับทุนจาก CP Scholarship นั่นหมายความมีเยาวชนอื่นๆ ได้รับโอกาสด้วย ซึ่งสิ่งที่พวกเขาได้รับจาก One Young World ยิ่งใหญ่จนพวกเขาบอกว่ามากมายจนอธิบายออกมาไม่ได้ทั้งหมด

“ผมพูดได้ไม่หมดเลย แต่ถ้าดึงมา สิ่งสำคัญที่สุดคือแรงบันดาลใจ มีทั้ง Know how มีทั้งไอเดีย แต่สิ่งที่สำคัญสุดคือแรงบันดาลใจเลยครับ เราได้รู้เลยว่าถ้าเราอยากทำอะไร ปกติเราจะมีข้อแม้ เดี๋ยวรอให้พร้อมก่อน แต่พอเราไปฟังเขา เขากลับลงมือทำเลย แสดงว่าถ้าเราอยากทำอะไรเราต้องลงมือทำทันที และนี่คือแรงบันดาลใจที่ผมได้มา” สิทธิโกมลบอก

สำหรับทยา เขาบอกว่าสิ่งที่ได้รับแล้วพอจะยกตัวอย่างให้เห็นได้คือทัศนคติที่กว้างขึ้น

“ทุกคนมีแพสชันของตัวเองว่าอยากทำอะไร มีมุมมองเกี่ยวกับประเด็นสังคมประเด็นหนึ่งอย่างไรบ้าง แต่พอเราได้ไป One Young World แล้ว เราได้เห็นว่าประเด็นหนึ่งประเด็นจริงๆ มองได้หลายมุม แล้วถ้าเรามองทุกอย่างให้กว้างขึ้น เราจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้ง่ายมากขึ้น และเกิดไอเดียใหม่ๆ ให้ได้คิดได้ทำอีกมากมาย”

One Young World 2023 ครั้งต่อไป จะจัดขึ้นที่เมืองเบลฟัสต์ เมืองหลวงของประเทศไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งอาร์เลน ฟอสเตอร์ มุขมนตรีไอร์แลนด์เหนือ ได้กล่าวว่า One Young World คือเวทีที่ผู้นำรุ่นเยาว์แห่งอนาคตมารวมตัวกันบนเวทีโลก ถือเป็นโอกาสสำคัญที่คนหนุ่มสาวจะได้ร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างที่พวกเขาอยากเห็น

“เพราะพลังของคนรุ่นใหม่ คือพลังที่สร้างสรรค์ ยิ่งใหญ่ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า