SHARE

คัดลอกแล้ว

ศาลฎีกาอินเดียมีคำสั่งปล่อยตัว 3 ผู้ต้องหาที่ถูกตัดสินประหารชีวิต คดีข่มขืนและฆาตกรรมหญิงวัย 19 ปี เมื่อ 10 ปีที่แล้ว อ้างพยานหลักฐานไม่เพียงพอ สะท้อนปัญหากระบวนการยุติธรรมถูกกดทับด้วยโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ ระบบวรรณะ และความไม่เท่าเทียม ที่ฝังรากลึกในวัฒนธรรม 

สำนักข่าวบีบีซีรายงานเรื่องราวที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในอินเดีย หลังจากที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้ปล่อยตัวนักโทษ 3 คน ในคดีข่มขืนและฆาตกรรมหญิงวัย 19 ปี ซึ่งเคยเป็นข่าวดังในอินเดียเมื่อปี 2555 และได้กลับมาสร้างความกังขาให้กับสังคมอีกครั้ง

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2555 อมานิกา (นามสมมุติตามเอกสารของศาล) ถูกคนร้ายลักพาตัวขณะกำลังกลับจากที่ทำงานในย่านชานเมือง กรุงนิวเดลี ก่อนที่ตำรวจจะพบร่างของเธอในอีก 4 วันถัดมาที่รัฐหรยาณาห่างจากนิวเดลีไปราว 100 กิโลเมตร ในสภาพถูกไฟเผาบางส่วน มีร่องรอยการทรมาน และผลชันสูตรพบว่าเธอได้ถูกกระทำชำเรา 

ต่อมาตำรวจสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 3 คนที่คาดว่าเป็นผู้ก่อเหตุไว้ได้ และในปี 2557 ศาลชั้นต้นนิวเดลีได้มีคำตัดสินว่าผู้ต้องหาทั้งหมดมีความผิดในคดีลักพาตัว ข่มขืน และฆาตกรรม ต้องโทษประหารชีวิต ก่อนที่ศาลสูงจะยืนยันคำตัดสินดังกล่าว โดยระบุว่าผู้ต้องหาเป็น ‘แก๊งล่าเหยื่อตามท้องถนน’ 

สังคมกังขา ศาลฎีกาพลิกคำตัดสิน 

การพิจารณาคดีของศาลฎีกาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (7 พ.ย.) ผู้พิพากษามีคำตัดสินว่า พยานหลักฐานในคดีนี้มีน้ำหนักไม่มากพอ โดยตั้งคำถามไปยังการทำงานของตำรวจและการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นและศาลสูงว่าไม่มีความชัดเจน และอาจมีการเปลี่ยนแปลงหลักฐาน 

ผู้พิพากษาระบุว่า หลักฐานในคดีไม่มีความสอดคล้องกัน แม้อัยการและตำรวจจะอ้างว่าพบกระเป๋าสตางค์ของหนึ่งในผู้ก่อเหตุอยู่บนรถยนต์คันที่ถูกระบุว่าเป็นรถที่ลักพาตัวเหยื่อ และผู้ต้องสงสัยก็รับสารภาพ พร้อมกับพาตำรวจไปชี้จุดเกิดเหตุและจุดพบศพ แต่ในบันทึกของตำรวจรัฐหรยาณาซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่และเดินทางไปถึงที่เกิดเหตุก่อน กลับไม่มีการกล่าวถึงหลักฐานดังกล่าว 

นอกจากนี้ หลักฐานทั้งหมดซึ่งถูกอ้างว่าเก็บมาจากรถที่คนร้ายใช้ก่อเหตุได้ถูกส่งไปยังแผนกนิติเวชล่าช้าไปเกือบ 2 สัปดาห์ “ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว จึงมีความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดการปลอมแปลงหลักฐาน ทำให้ศาลมองว่าการพิจารณาคดีนี้ล้มเหลว มีการตั้งข้อหาโดยปราศจากข้อสงสัยอย่างสมเหตุสมผล และศาลก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องปล่อยตัวผู้ต้องหา แม้นี่จะเป็นคดีอาชญากรรมที่เลวร้ายมากก็ตาม”  

คำตัดสินของศาลฎีกาได้สร้างความโกรธเคืองและผิดหวังให้กับครอบครัวของอมานิกา และกลายมาเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในสื่อสังคมออนไลน์ของอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีรายงานคดีข่มขืนหลายหมื่นคดีต่อปี 

‘ข่มขืน’ ปัญหาระดับชาติที่อินเดียยังแก้ไม่ตก

จากสถิติของสำนักงานข้อมูลอาชญากรรมแห่งชาติของอินเดีย (National Crime Records Bureau – NCRB) เฉพาะในปี 2564 เพียงปีเดียว มีคดีที่เกี่ยวข้องกับการข่มขืนเกิดขึ้นทั่วประเทศมากถึง 31,677 คดี หรือในทุกๆ วันจะมีการข่มขืนเกิดขึ้น 86 ครั้ง ยังไม่นับรวมเหตุการณ์ที่อาจจะไม่ได้มีการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

สาเหตุหลักที่ทำให้อินเดียมีคดีข่มขืนเกิดขึ้นจำนวนมากในประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงสร้างสังคมที่มองชายเป็นใหญ่ และผู้หญิงเป็นพลเมืองชั้นสอง ทำให้ผู้หญิงอินเดียถูกมองว่ามีสถานะต่ำต้อยตั้งแต่เกิด จึงตกเป็นเหยื่อการกดขี่ของผู้ชายได้โดยง่าย ที่น่าตกใจไปกว่านั้น คดีข่มขืนมักจะเกิดจากการกระทำของบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับเหยื่อ เช่น เพื่อนร่วมงาน ร่วมชั้นเรียน เพื่อนบ้าน หรือแม้แต่คนในครอบครัว

แม้ที่ผ่านมานักเคลื่อนไหวจะพยายามแก้ปัญหาด้วยการผลักดันให้มีการแก้กฎหมายเพื่ออุดช่องโหว่ และปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับการตัดสินคดีข่มขืน แต่หลายครั้งกลับพบว่า ผู้ต้องหาคดีข่มขืนในอินเดียมักจะได้รับการปล่อยตัวเพราะหลักฐานไม่เพียงพอ 

ขณะที่กระบวนการยุติธรรมเองก็ดำเนินไปอย่างล่าช้า มีความไม่เท่าเทียมจากสถานะโครงสร้างวรรณะ แม้ในทางกฎหมายจะไม่มีการแบ่งแยกวรรณะแล้ว แต่ปัจจุบันในทางปฏิบัติสิ่งเหล่านั้นยังคงฝังรากลึกอยู่ในสังคม ไม่เว้นแม้แต่การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เหตุการณ์ซ้ำรอย สองคดีใหญ่ในรอบครึ่งปี 

สิ่งที่เกิดขึ้นกับคดีอมานิกา ถูกนำไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่ชายฮินดู 11 คนรุมข่มขืน บิลกิส บาโน หญิงมุสลิมที่กำลังตั้งท้อง ในขณะที่เธอเข้าร่วมการประท้วงระหว่างฮินดูและมุสลิมในรัฐคุชราต เมื่อปี 2545 ซึ่งในตอนแรกศาลมีคำตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แต่เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา ผู้ต้องหาทั้งหมดกลับได้รับการปล่อยตัวจากการอภัยโทษเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง 75 ปีที่อินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ 

โดยศาลให้เหตุผลในการปล่อยตัวชายฮินดูทั้ง 11 คนว่า ผู้ต้องทั้งหมดรับโทษจำคุกมาตั้งแต่ปี 2551 จนถึงตอนนี้เป็นเวลานานกว่า 14 ปีแล้ว ซึ่งตามกฎหมายพวกเขามีสิทธิ์ขออภัยโทษ และเมื่อพิจารณาจากอายุ และพฤติกรรมของพวกเขาที่เป็นผู้ต้องหาชั้นดี ศาลเห็นว่าพวกเขาควรได้รับการปล่อยตัว และการอภัยโทษนี้ก็ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลาง 

คำตัดสินของศาลในขณะนั้น ได้จุดชนวนความไม่พอใจ นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามต่อรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนาเรนทรา โมดี ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้นำสายชาตินิยมฮินดูสุดโต่ง ยิ่งไปกว่านั้น รัฐคุชราตซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุ ยังเป็นบ้านเกิดของนายโมดี และเขาเองก็เคยดำรงตำแหน่งมุขมนตรีของรัฐ

ในวันเดียวกันกับที่มีการปล่อยนักโทษทั้ง 11 คน นายโมดียังได้กล่าวสุนทรพจน์หน้าป้อมแดง ใจกลางกรุงนิวเดลี เนื่องในวันฉลองเอกราชของอินเดีย โดยในตอนหนึ่งได้มีการพูดถึงประเด็นเรื่องความปลอดภัยและการปกป้องผู้หญิงอินเดีย แต่เขากลับนิ่งเฉย ไม่มีการแสดงท่าทีใดๆ ต่อการปล่อยตัวนักโทษคดีข่มขืน ยิ่งทำให้ไฟของความโกรธเคืองปะทุหนักจนบานปลายเป็นการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศ

ที่ผ่านมา ปัญหาเรื่องการข่มขืนได้กลายมาเป็นประเด็นระดับชาติที่ท้าทายรัฐบาลอินเดียทุกสมัย และตอกย้ำข้อกังขาในเรื่องความแบ่งแยก ไม่เท่าเทียม ซึ่งยังมีผลตั้งแต่การดำรงชีวิตไปจนถึงกระบวนการยุติธรรมในสังคมอินเดียปัจจุบัน

 

ที่มา: https://www.bbc.com/news/world-asia-india-63554474

https://www.bbc.com/news/world-asia-india-62574247

https://www.newindianexpress.com/cities/delhi/2022/nov/08/chhawla-rape-victims-parents-shocked-over-acquittal-of-accused-2516103.html

https://www.dnaindia.com/india/report-2012-delhi-chhawala-rape-murder-case-why-did-sc-free-3-convicts-who-were-given-death-sentences-3000266

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า