SHARE

คัดลอกแล้ว

เอกอัครราชทูตจีนเผย การเดินทางเยือนไทยครั้งแรกของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นหมุดหมายสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีจีน-ไทย ในระยะยาว  

สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานว่า นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในฐานะประมุขแห่งรัฐครั้งแรก เพื่อเข้าร่วมการประชุม ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’ Meeting) ครั้งที่ 29 ในกรุงเทพมหานคร ตามคำเชิญของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ระหว่างวันที่ 17-19 พ.ย.

นายหานระบุว่า การเดินทางเยือนไทยของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ถือเป็นหมุดหมายที่มีนัยสำคัญต่อการชี้นำและส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคี ในขณะที่ความสัมพันธ์จีน-ไทย มีโอกาสการพัฒนาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน พร้อมด้วยศักยภาพมหาศาลและความหวังมากมายภายใต้สภาพการณ์ใหม่ในประวัติศาสตร์

เอกอัครราชทูตจีนอธิบายต่อว่า เขาเชื่อว่าประธานาธิบดีสีจะทำงานร่วมกับผู้นำไทยเพื่อกรุยทางและอัดฉีดแรงกระตุ้นสู่การพัฒนาความสัมพันธ์จีน-ไทยในระยะยาว ซึ่งทำให้การเยือนไทยของผู้นำจีนเป็นหมุดหมายใหม่ในประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ทวิภาคี

รายงานของสำนักข่าวซินหัวเสริมว่า ชาวจีนและชาวไทยมีประวัติศาสตร์การแลกเปลี่ยนฉันมิตรมาอย่างยาวนาน และนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 จีนและไทยก็ได้ทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวและผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นการเขียนบทใหม่ของความสัมพันธ์ที่ทั้งสองประเทศได้ร่วมทุกข์ร่วมสุข

สำหรับปีนี้ ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 47 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทย และวาระครบรอบ 10 ปี การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านจีน-ไทย นายหานกล่าวว่าจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด ตลาดส่งออกสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ที่สุด และแหล่งการลงทุนจากต่างประเทศที่สำคัญของไทย

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าทวิภาคีระหว่างจีนและไทย เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แม้เผชิญผลกระทบจากโรคโควิด-19 โดยการค้าทวิภาคีมีมูลค่าสูงกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.58 ล้านล้านบาท) เป็นครั้งแรกในปี 2564 และคาดว่าจะสูงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้

ขณะเดียวกันการเร่งก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทย และการเชื่อมต่อกับทางรถไฟจีน-ลาว เพื่อสร้างเส้นทางสัญจรหลักผ่านคาบสมุทรอินโดจีน จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่การขนส่งผู้คนและระบบโลจิสติกส์ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้า และบรรลุความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

อนึ่ง ทางรถไฟจีน-ลาว ได้ขนส่งสินค้ามากกว่า 10 ล้านตันแล้ว นับตั้งแต่เปิดดำเนินงานเมื่อเกือบหนึ่งปีก่อน ซึ่งสินค้าจำนวนมากเป็นการขนส่งสินค้าระหว่างจีนและไทย

ส่วนความร่วมมือทางอุตสาหกรรม ปริมาณการลงทุนของผู้ประกอบการจีนในไทยเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และมีโอกาสร่วมมือด้านอุตสาหกรรมที่ทันสมัยอยู่มากมาย

สำหรับความร่วมมือทวิภาคีด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพลังงานใหม่นั้นเฟื่องฟูต่อเนื่อง โดยเทคโนโลยี 5G อีคอมเมิร์ซ ยานยนต์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์ของจีนได้กระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ของไทย และกลายเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตสำคัญของความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน

จีนและไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนาและเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด ได้แบ่งปันผลประโยชน์ ข้อเสนอแนะ และจุดยืนร่วมกันหลายประการในประเด็นสำคัญระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ

โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีของไทย ได้เข้าร่วมการเสวนาระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาโลก (High-Level Dialogue on Global Development) ซึ่งมีประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ก็ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีของกลุ่มพันธมิตรเพื่อแผนริเริ่มการพัฒนาระดับโลก (GDI) เมื่อเดือนกันยายน ซึ่งสะท้อนการสนับสนุนของไทยต่อแผนริเริ่มดังกล่าวที่เสนอโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง 

นอกจากนั้น ไทยยังให้ความสำคัญและตอบสนองเชิงบวกต่อแผนริเริ่มความมั่นคงระดับโลก (GSI) ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นผู้เสนอเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตความมั่นคงของโลกด้วย

นายหานยังกล่าวถึง การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคว่าจากสถานการณ์ระหว่างประเทศอันซับซ้อนและผันผวนในปัจจุบัน หัวข้อการประชุม “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” (Open, Connect, Balance) ตอบสนองความต้องการร่วมกันในการพัฒนาและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเอื้อต่อการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

สำนักข่าวซินหัวระบุว่า จีนสนับสนุนบทบาทสำคัญของไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปค และในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะนำเสนอแนวทางแก้ไขและแนวคิดของจีนเกี่ยวกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจเอเปค การปรับปรุงธรรมาภิบาลโลก และการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก

 

ที่มา https://www.xinhuathai.com/china/321083_20221118

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า