SHARE

คัดลอกแล้ว

ก่อนหน้านี้หลายๆ คนอาจจะได้เห็นข่าวสื่อต่างประเทศอย่าง ‘บลูมเบิร์ก’ ออกมารายงานสถานการณ์ ‘ทุนสำรองระหว่างประเทศ’ (Foreign Exchange Reserves) ของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในแถบเอเชีย (Emerging Asian) ที่ลดลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยคาดว่าเป็นผลจากการใช้ทุนสำรองฯ พยุงค่าเงินในช่วงที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า

โดยเฉพาะ ‘ประเทศไทย’ ที่ตัวเลข ‘ทุนสำรองต่อจีดีพี’ ในปัจจุบันลดลงมากกว่าประเทศอื่นๆ เมื่อเทียบกับตอนสิ้นปี 2564 รวมถึง ‘มูลค่าทุนสำรอง’ ก็ลดลงมากเป็นอันดับ 2 เป็นรองจากอินเดีย หรือลดลงไป 3.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยราว 1.2 ล้านล้านบาท

คำถาม คือ ทำไมหลังข่าวนี้ออกไปถุึงดึงดูดความสนใจของคนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นใช้ทุนสำรอง ‘พยุงค่าเงินบาท’

[ ‘ทุนสำรอง’ สำคัญต่อชาติ ]

เรื่องแรกที่ต้องเข้าใจในประเด็นนี้ คือ ‘ทุนสำรองระหว่างประเทศ’ หรือ เงินตราต่างประเทศที่ไม่ได้ถูกแลกคืน หลังจากมีคนนำเงินตราต่างประเทศมาแลกเป็นเงินสกุลท้องถิ่น อย่างของไทยคือ เงินตราต่างประเทศ ที่ถูกนำมาแลกกับเงินบาทแล้วไม่ได้แลกคืนไป

โดยจะถูกเก็บอยู่ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเงินสกุลต่างประเทศ พันธบัตร ทองคำ หุ้น สิทธิพิเศษในการถอนเงิน หรืออื่นๆ อีกมากมาย

ความสำคัญของ ‘ทุนสำรองฯ’ ที่มีหน้าที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ คือ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ และรองรับความเสี่ยงจากภาคต่างประเทศ สามารถนำไปใช้แทรกแซงดูแลค่าเงินในภาวะที่ตลาดการเงินมีความผันผวนสูง และการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของค่าเงินอาจส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงได้

หรือเรียกง่ายๆ ว่า ‘ทุนสำรองฯ’ เป็นเงินสำรองที่ถูกเก็บเอาไว้ใช้แก้ปัญหาให้กับประเทศในยามคับขันนั่นเอง

ดังนั้น หลักการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศ จึงต้องให้ความสำคัญกับการรักษามูลค่าของทุนสำรองระหว่างประเทศและรักษาสภาพคล่องให้สูง จะได้สามารถนำมาใช้ได้ทัน เมื่อมีการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศอย่างฉับพลัน หรือตอนที่ตลาดโลกผันผวนมากจนเศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน

จึงไม่แปลกที่หลายๆ คนจะกังวลเมื่อ ‘ทุนสำรองฯ’ ลดลง

อีกหนึ่งสาเหตุที่หลายๆ คนกังวลเกี่ยวกับการใช้ทุนสำรองฯ ในการพยุงค่าเงินบาท มาจาก ‘บาดแผล’ จากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ทำให้หลายๆ คนเป็นกังวลว่า

เมื่อดอกเบี้ยไทยต่ำกว่าสหรัฐอเมริกา แล้วเงินทุนจะไหลออกจากประเทศ นำไปสู่สถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนหรือค่าเงินบาทไม่มีเสถียรภาพ จนต้องใช้เงินจำนวนมากจากทุนสำรองไปพยุง จนทำให้ทุนสำรองไทยในช่วงเวลานั้นลดลงจนถึงขั้นวิกฤต เหลือเพียง 9 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น และนำไปสู่วิกฤตทางการเงินให้กับประเทศ

ในอดีตปี 2540 เคยเกิดเหตุการณ์ ‘คุมเงินบาท’ เป็นการกำหนดมูลค่าเงินบาทให้คงที่โดยแบงก์ชาติ ไม่ปรับตัวขึ้นลงตามค่าเงินดอลลาร์ ทำให้เกิดช่องโหว่ให้นักลงทุนต่างชาติโจมตีค่าเงิน จนท้ายที่สุดก็ต้องปล่อยลอยตัวค่าเงิน ทำให้คนเป็นหนี้เพิ่มเท่าตัวแค่ข้ามคืน บางคนเคยมีหนี้ 50 ล้านบาท เช้าวันรุ่งขึ้นกลายเป็น 100 ล้านบาท จนเกิดเหตุการณ์หดหู่ ธุรกิจล้ม คนฆ่าตัวตาย เพราะรับมือกับวิกฤตไม่ไหว

ย้อนกลับมาดูในปัจจุบันจากข้อมูลของนักวิเคราะห์ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยเคยใช้ทุนสำรองฯ ดูแลค่าเงินบาทจริงในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

เมื่อต้นปี 2565 ธปท. มีทุนสำรอง 2.79 แสนล้านเหรียญ (ราว 10.3 ล้านล้านบาท) แต่ในวันที่ 24 มิ.ย. 2565 ทุนสำรองเหลือเพียง 2.51 แสนล้านเหรียญ (ราว 9.3 ล้านล้านบาท) เท่านั้น ลดลงไปราว 2.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1 ล้านล้านบาท

นอกจากนั้น ในอดีต ธปท. ก็เคยใช้วิธีแทรงแซงค่าเงินบาทเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคามาแล้ว ถ้าย้อนกลับไปเร็วๆ คือ ในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไทยถูกจับตาเรื่องการแทรกแซงค่าเงิน (Watchlist of Currency Manipulators)

อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงค่าเงินสามารถทำได้ ในเว็บไซต์ของแบงก์ชาติก็อธิบายไว้ว่าเป็นวิธีหนึ่งในการดูแลเสถียรภาพค่าเงิน

[ ทุนสำรองลดลง มีข้อเสนอประคองค่าเงิน แต่ความกังวลเพิ่มขึ้น ]

เพราะความกังวลขยายออกไปเป็นวงกว้าง และยังมีข่าวออกมาด้วยว่า รักษาการนายกรัฐมนตรี ‘ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ กำชับให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ประคองค่าเงินบาทไว้ที่ 35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ เพื่อแก้ปัญหาเงินบาทไทยอ่อนค่าลงอย่างมากในรอบ 15-16 ปี

ประเด็นนี้ดึงดูดความสนใจของคนไทยจำนวนมาก และทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวล ว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และอาจจะเสี่ยงซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้งในอดีตหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ธปท. ออกมาตอบคำถามเกี่ยวกับทุนสำรองฯ ว่าเรื่องเล่าที่ว่า ดอกเบี้ยไทยต่ำกว่าสหรัฐ > เงินทุนไหลออก > ค่าเงินบาทอ่อน > ทุนสำรองลดลง > เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเหมือนปี 2540 เท่ากับ ‘ไม่จริง’

เพราะตอนนี้ต่างชาติยังเข้ามาซื้อสุทธิอยู่ (รวมตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้) ส่วนเงินบาทอ่อนค่า ก็อ่อนค่าจริงตามดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นมากซึ่งไม่ใช่แค่ค่าเงินบาท เพราะค่าเงินอื่นๆ ก็ถูกกระทบเหมือนกัน

ส่วนประเด็นทุนสำรอง แบงก์ชาติยอมรับว่าลดลงจริงๆ แต่ลดลงเพราะ ‘มูลค่าสินทรัพย์’ (Valuation) เป็นหลัก เพราะสินทรัพย์ต่างๆ ที่ถือเป็นเงินสำรองในรูปแบบต่างๆ พอตีมูลค่าแปลงมาเป็นดอลลาร์จะได้มูลค่าลดลง เพราะในช่วงที่ผ่านมา เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมาก (ตีมูลค่าจากสกุลเงินต่างๆ > ดอลลาร์)

พอถามผู้ว่าฯ ธปท. เรื่องการเข้าดูแลเงินบาท ผู้ว่าฯ ตอบว่า มีการเข้าไปดูแลจริง แต่เป็นส่วนน้อยของทุนสำรอง ส่วนทุนสำรองฯ ที่ลดลงรอบนี้มาจากการตีมูลค่าสินทรัพย์เป็นหลัก

ส่วนความกังวลว่าจะเกิดวิกฤตปี 2540 ตอนนี้ห่างไกลมาก ทั้งมูลค่าทุนสำรองไทยตอนนี้ที่สูงกว่ามาก ทุนสำรองต่อจีดีพีที่สูงกว่ามาก และทุนสำรองต่อหนี้ต่างชาติระยะสั้น ซึ่งเป็นตัววัดความแข็งแกร่งก็สูงกว่าปี 2540 มาก

และอีกประเด็นสำคัญคือ นโยบายการเงินของไทยปัจจุบัน ไม่ได้ใช้ระบบตะกร้าเงิน หรือคุมเงินบาทเหมือนในอดีต เพราะเมื่อก่อนไทยมีการตรึงค่าเงินให้มีมูลค่าที่ราวๆ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์หรือ ปิดรับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน แต่ตอนนี้เป็นระบบลอยตัวค่าเงินไม่จำเป็นต้องใช้ทุนสำรองจำนวนมากเพื่อรักษาค่าเงินอีกต่อไป

[ ‘เสถียรภาพการเงินไทย’ ยังคงแข็งแกร่ง ]

หากย้อนดูเครื่องชี้เสถียรภาพการเงินไทยด้านต่างประเทศหลายๆ ด้านเทียบกับเกณฑ์สากล ช่วงวิกฤตปี 40 และปัจจุบันแล้ว

เงินทุนสำรองฯ ในช่วงวิกฤตปี 40 มีแค่ 9 ล้านดอลลาร์ แต่ปัจจุบันมี 2.47 แสนล้านดอลลาร์

เงินทุนสำรองฯ ต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น เกณฑ์สากล คือ มากกว่า 1 เท่า ในช่วงวิกฤตปี 40 มีประมาณ 0.7 เท่า แต่ปัจจุบันมี 2.6 เท่า

เงินทุนสำรองฯ ต่อมูลค่าการนำเข้า เกณฑ์สากล คือ มากกว่า 3 เท่า ในช่วงวิกฤตปี 40 มีประมาณ 3 เท่า แต่ปัจจุบันมี 9.6 เท่า

ดุลบัญชีเดินสะพัด เกณฑ์สากล คือ ขาดดุลไม่เกิน 2% ในช่วงวิกฤตปี 40 คือ -8% และ -2% แต่ปัจจุบันคาด -1.5%

เรียกว่า เครื่องชี้เสถียรภาพการเงินไทยด้านต่างประเทศ ยังคงแข็งแกร่งตามคำยืนยันของแบงก์ชาติ และห่างไกลจากการเกิดวิกฤตทางการเงินที่ใกล้เคียงกับในอดีต ยังไงก็ตามถือเป็นเรื่องดีที่คนไทยให้ความสำคัญกับ ‘ทุนสำรองฯ’ และตื่นตัวอยู่เสมอ ยังไงเรื่องนี้ก็ต้องติดตามกันต่อไป เพราะมันเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจประเทศ กระทบชีวิตประชาชน ซึ่งไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราเลย

อีกอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ สถานการณ์เงินเฟ้อและสถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนค่าที่สุดในรอบหลายปี ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจหลายภาคส่วนจริง ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เงินเฟ้อค้างสูงนานจนกระทบต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวมต่อไป

ที่มา
www.bloomberg.com/news/articles/2022-09-12/depleting-reserves-spell-risks-for-emerging-asian-currencies?sref=LQZclhPm
www.prachachat.net/finance/news-976548
www.workpointtoday.com/bot-thai-baht-usa-monitering-list/
https://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/Activities/Documents/220765_SlideMTP.pdf

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า