กสทช. ไม่อนุญาตให้ ทรูโฟร์ยู ช่อง 24 เพิ่มความคมชัดสูงถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 เป็นการชั่วคราว พร้อมมีหนังสือแจ้งผู้ให้บริการกล่องทีวีอินเตอร์เน็ตต้องออกอากาศฟุตบอลโลกตามกฎ Must Carry
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ให้บริการ IPTV ให้ผู้ให้บริการกล่องทีวีอินเตอร์เน็ต IPTV ต้องออกอากาศการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ตามกฎ Must Carry ข้อ 6 สาระสำคัญระบุว่า ตามหนังสือที่อ้างถึง บริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด แจ้งว่า ได้รับหนังสือจากบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด และบริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด แจ้งถึงสิทธิการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย โดยไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ของกลุ่มทรู เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
จากกรณีดังกล่าว บริษัทจึงขอให้ กสทช. ในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลประกอบกิจการโทรทัศน์ ได้โปรดใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด และพิจารณาด้วยว่า บริษัท ยังคงเผยแพร่การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่มีการออกอากาศโดยผู้ให้บริการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไปผ่านทางโครงข่ายบรอดแบนด์ และโครงข่ายโทรทัศน์เคลื่อนที่ ซึ่งบริษัทได้รับอนุญาตจาก กสทช. ตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง หรือโทรทัศน์ ได้ตามกฎระเบียบของ กสทช. ได้เช่นเดิมหรือไม่ อย่างไร ความละเอียดแจ้งแล้วนั้น
กสทช. ขอเรียนว่า ที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 65 มีมติเห็นชอบแนวทางการปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป
ไม่อนุญาต ‘ทรู’ อัพเกรดเป็น HD ชั่วคราว
นอกจากนี้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. ได้มีหนังสือลงวันที่ 24 พ.ย. 2565 ถึงบริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด ที่ได้ขออนุญาตถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย 32 คู่ แบบความคมชัดสูงเป็นการชั่วคราวระหว่างการถ่ายทอดสด เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดระหว่างการรับชมการถ่ายทอดสดนั้น
กสทช. แจ้งว่า ที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2565 มีมติไม่อนุญาตให้ถ่ายทอดรายการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย 32 คู่ ในระบบความคมชัดสูงเป็นการชั่วคราว ผ่านช่องรายการบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป ช่องรายการ ทรูโฟร์ยู
เนื่องจากข้อเท็จจริงทางด้านเทคนิคปรากฏว่า MUX ที่ 2 ของกองทัพบกที่ บริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด ใช้บริการอยู่นั้น มีผู้ให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปอยู่เต็มความสามารถของ MUX แล้ว หากมีการอนุญาต อาจส่งผลกระทบต่อการให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปรายอื่นได้ อีกทั้งอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล