SHARE

คัดลอกแล้ว

บ่ายวันนี้ (29 พ.ย. 2565) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการการเก็บภาษีขายหุ้น (Transaction Tax) ในอัตรา 0.11% โดยให้เวลาเตรียมตัว 3 เดือน ก่อนจะเริ่มเก็บจริงวันที่ 1 เม.ย. 2566

ปีแรกจะเริ่มเก็บในอัตรา 0.055% หรือครึ่งหนึ่งก่อน ส่วนปีถัดๆ ไป (ตั้งแต่ 2567) ถึงจะเริ่มเก็บในอัตรา 0.11% อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีขายหุ้นจะยังไม่มีผลบังคับใช้ในทันที เพราะต้องผ่านกฤษฎีกาก่อน

[ ต้นทุนเพิ่ม วอลุ่มเทรดลดลง ราคาหุ้นร่วง  ]

ถึงอย่างนั้น นักวิเคราะห์ก็เริ่มออกมาประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับตลาดแล้ว โดยคาดว่าภาษีขายหุ้นจะทำให้ต้นทุนการทำธุรกรรม (Transaction Cost) ของนักลงทุนทั่วไปเพิ่มขึ้น 18.33% ในปีแรก และ 37% ในปีถัดไป

นอกจากนี้ คาดว่าดัชนี SET (SET Index) มีความเสี่ยงจะปรับตัวลงประมาณ 26-52 จุดในปีแรก และระหว่างทางคาดว่า SET Index มีความเสี่ยงจะผันผวนต่อเนื่องก่อนถึงวันที่ภาษีมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

ซึ่งก่อนหน้านี้ ประเด็นการเก็บภาษีขายหุ้นเคยกดดันให้ SET Index ปรับตัวลงเกือบ 50 จุดภายในระยะเวลาเพียง 2 วันทำการมาแล้ว ก่อนจะฟื้นตัวกลับขึ้นมา

สำหรับมูลค่าการซื้อขาย คาดว่าจะลดลงราว 30-40% และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ราคาหุ้นในตลาดปรับตัวลงประมาณ 10-15% ซึ่งผลกระทบเหล่านี้จะเป็นตัวฉุดให้ความสามารถในการแข่งขันของตลาดหุ้นไทยลดลง

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เคยประเมินเอาไว้ว่า การเก็บภาษีขายหุ้นจะทำให้ต้นทุนการซื้อขายหุ้นของนักลงทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้โปรแกรมซื้อขาย (High-frequency Trading: HFT) ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 20-30% ของการซื้อขายต่อวัน

นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลเรื่องต้นทุนการระดมทุน (Cost of Capital) ที่จะสูงขึ้น และต้นทุนภาษีที่ซ้ำซ้อน (Double Taxation) ในผลิตภัณฑ์การลงทุนบางประเภท เช่น ETF, Derivative Warrant และ Single Stock Futures

ส่วนสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) คาดว่า การเก็บภาษีขายหุ้นจะทำให้สภาพคล่องในตลาดหุ้นไทยลดลงประมาณ 40% เหลือประมาณ 5 หมื่นล้านบาทต่อวัน จากค่าเฉลี่ยตอนนี้ที่ 8 หมื่นล้านบาทต่อวัน

[ ย้อนรอย 31 ปีที่ผ่านมา ทำไมรัฐไม่เก็บภาษีหุ้น ]

สำหรับภาษีขายหุ้น หรือ Financial Transaction Tax (FTT) ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นเรื่องที่ถกกันมากว่า 30 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่เคยทำได้จริงสักครั้ง เพราะมีข้อกังวลจากผู้ร่วมตลาดว่า ภาษีขายหุ้นจะทำให้ตลาดหุ้นไทยไม่น่าสนใจ และจะผลักให้คนออกไปลงทุนในต่างประเทศ

ท้ายที่สุด ภาษีดังกล่าวจึงได้รับการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534 หรือได้รับการยกเว้นมานานกว่า 31 ปี เพื่อส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้น และถึงจะมีการยกเรื่องนี้ขึ้นอีกกี่ครั้ง ข้อสรุปก็ยังจบที่การเว้นภาษีไปเหมือนเดิม

จนถึงช่วงกลางปีก่อน เริ่มมีข่าวออกมาว่า รัฐบาลไทยกำลังคิดเรื่องการกลับมาเก็บภาษีขายหุ้นอีกครั้ง ซึ่งกระแสข่าวนี้ดูจะมีมูลมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสื่อระดับโลกอย่าง ‘บลูมเบิร์ก’ (Bloomberg) และ ‘รอยเตอร์’ (Reuters) ต่างออกมารายงาน

ในตอนนั้น ‘อาคม เติมพิทยาไพสิฐ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาอธิบายว่า การเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับภาครัฐ แต่จะเป็นการเก็บกับการขายหุ้นที่มีมูลค่าเกินกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไปเท่านั้น

ส่วน ‘เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ’ อธิบดีกรมสรรพากรก็ยืนยันว่า การเรียกเก็บภาษีขายหุ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนรายย่อยอย่างแน่นอน

แม้ว่าระหว่างทางจะมีเสียงคัดค้าน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ขายหุ้นเพราะได้กำไร หลายครั้งก็เป็นการขายตัดขาดทุน (Cut Loss) หรือขายเพื่อปิดสถานะ แต่ถึงจะมีเสียงคัดค้านมากมาย ทั้งจากตลาดหลักทรัพย์ฯ FETCO หรือนักลงทุนเอง แต่ท้ายที่สุดก็ได้รับการเห็บชอบจาก ครม.วันนี้

ถึงจะยังไม่มีใครเห็นหลักการเก็บภาษีที่ชัดเจน แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกมาเปิดเผยความเคลื่อนไหวล่าสุดว่า กำลังทำงานร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์เพื่อเตรียมการสำหรับกระบวนการเก็บภาษีดังกล่าวแล้ว

[ ภาษีขายหุ้นอาจเก็บกับนักลงทุนรายใหญ่เท่านั้น ]

แม้ว่ารายละเอียดของร่างหลักการจะยังไม่ถูกเปิดเผยออกมา แต่ถ้าอิงจากที่กรมสรรพากรเคยศึกษาเอาไว้ คนที่ถูกเก็บภาษีจะเป็นกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ที่มีปริมาณการขายต่อเดือนค่อนข้างสูง ได้แก่

  • 1 ล้านบาทต่อเดือนขึ้นไป
  • 1.5 ล้านบาทต่อเดือนขึ้นไป
  • 2 ล้านบาทต่อเดือนขึ้นไป

ถ้าร่างหลักการเป็นไปตามที่เคยศึกษาเอาไว้จะทำให้ในปีหน้า (2566) คนที่ขายหุ้น 1 ล้านบาท จะเสียภาษี 550 บาท ตามอัตราที่เรียกเก็บในปีแรกครึ่งเดียว (0.055%) ขายหุ้น 1.5 ล้านบาท เสียภาษี 825 บาท และขายหุ้น 2 ล้านบาท เสียภาษี 1,100 บาท

ส่วนปีถัดไป (2567) คนที่ขายหุ้น 1 ล้านบาท จะเสียภาษี 1,100 บาท ตามอัตราที่เรียกเก็บปกติ (0.11%) ขายหุ้น 1.5 ล้านบาท เสียภาษี 1,650 บาท และขายหุ้น 2 ล้านบาท เสียภาษี 2,200 บาท

นอกเหนือจากการเก็บภาษีจากธุรกรรมขายหุ้นแล้ว กรมสรรพากรยังศึกษาความเป็นไปได้ในการเก็บภาษีจากส่วนต่างของกำไร (Capital Gain Tax) อีกด้วย แต่วิธีการค่อนข้างยุ่งยาก เพราะต้องแก้กฎหมายใหม่ แถมเป็นภาระกับคนเสียภาษีมากกว่า

ส่วนช่องทางการจ่ายภาษี เคยมีการชี้แจงเอาไว้ว่า บริษัทหลักทรัพย์ (Broker) จะเป็นคนทำหน้าที่จัดเก็บในส่วนนี้ เพราะเดิมก็เป็นคนที่เก็บค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้นจากนักลงทุนอยู่แล้ว

[ รัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 2 หมื่นล้านจากภาษีหุ้น ]

ส่วนผลประโยชน์ที่ภาครัฐจะได้ ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังเคยประเมินรายได้เอาไว้ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ก่อนจะเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ใหม่ที่ 1-2 หมื่นล้านบาทต่อปี

ขณะที่นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์เอเชีย พลัส จำกัด ประเมินการเก็บภาษีด้วยอัตรา 0.055% ในปีแรกว่า รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 6,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่อ้างอิงจากคาดการณ์มูลค่าการซื้อขายของปีนี้ที่ 17.4 ล้านล้านบาท

สำหรับข้อคิดเห็นในสังคมต่อการเก็บภาษีในครั้งนี้ คาดว่าเป็นผลจากที่ภาครัฐไม่สามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมายในช่วงโควิด-19 ที่รายได้ของประชาชนและธุรกิจได้รับผลกระทบ ทำให้รัฐบาลต้องหาช่องทางการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติม เช่น การเก็บภาษีคริปโตเคอร์เรนซีที่มีผลบังคับใช้ครั้งแรกในปีนี้

อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรเคยให้ข้อมูลว่า การเก็บภาษีหุ้นไม่ได้หวังเรื่องรายได้อย่างเดียว แต่เป็นการสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษีด้วย เพราะธุรกิจอื่นๆ ที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะเหมือนกัน เช่น ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทประกัน ต่างก็เสียภาษีทั้งนั้น ไม่ได้รับการยกเว้น

[ หลายประเทศในเอเชียก็เก็บภาษีขายหุ้น ]

นอกจากประเทศไทยแล้ว หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียก็มีนโยบายจัดเก็บภาษีหุ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง มาเลเซีย ไต้หวัน อินโดนีเซีย เวียดนาม หรือเกาหลีใต้ เป็นต้น

แม้จะมีรายละเอียดการคำนวณภาษีที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่เป็นการเก็บ Transaction Tax หรือ ภาษีอากรแสตมป์ (Stamp Duty Tax) อย่างใดอย่างหนึ่ง และหากเป็น Transaction Tax จะเลือกเก็บกับการขายหุ้นเท่านั้น

ส่วนการเก็บ Capital Gain Tax ไม่ค่อยเป็นที่นิยมในภูมิภาค มีเพียงเกาหลีใต้เท่านั้นที่เก็บ และเป็นการเก็บกับผู้ถือหุ้นใหญ่ (Major Shareholder) เท่านั้น

ในทางกลับกัน ก็มีบางประเทศในภูมิภาคที่ยกเว้นภาษีหุ้นเพื่อดึงดูดความน่าสนใจลงทุนของประเทศ เช่น สิงคโปร์ หรือคู่แข่งของไทยอย่างมาเลเซีย ก็เลือกเก็บเฉพาะ Stamp Duty Tax เท่านั้น

ที่มา:

  • resolution.soc.go.th/
  • t.me/Nomuradirect1/10003
  • t.me/asiaplus_group/21915
  • www.bloomberg.com/news/articles/2021-12-17/thailand-may-impose-stock-trading-tax-to-lift-government-revenue
  • www.reuters.com/markets/stocks/thai-tax-stock-trades-would-hit-trading-volume-exchange-chief-says-2021-12-17/
  • cepr.net/report/financial-transactions-taxes-around-the-world/

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า