กกร. มองที่ผ่านมา ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ ปรับขึ้นอย่างเหมาะสมแล้ว เบรกนโยบาย ‘ขึ้น 600 บาทต่อวัน’ ชี้จะทำต้นทุนภาคธุรกิจเพิ่มเกือบ 70% แม้จะทยอยขึ้นก็อาจทำให้ธุรกิจปรับตัวไม่ทัน

ภาพจาก : คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)
ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งเป็นสถาบันหลักภาคเอกชนในการส่งเสริมการค้า การอุตสาหกรรม และการเงินของประเทศ ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 ได้หารือถึงประเด็น การประกาศนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมือง เรื่อง การทยอยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และการจบปริญญาตรีมีเงินเดือน 25,000 บาท
กกร. มีความเห็นว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงที่ผ่านมา มีความเหมาะสมแล้ว โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดมากนัก ประกอบกับการขั้นค่าแรงขั้นต่ำมีการพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) โดยคำนึงถึง การครองชีพของลูกจ้าง รวมถึง อัตราเงินเฟ้อ ดัชนีค่าครองชีพ ราคาสินค้า เป็นต้น
“การพิจารณาปรับค่าแรง จึงต้องมองในทุกมิติ ทั้งในมุมของนายจ้างและลูกจ้าง รวมถึงการคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้างซึ่งมีผลต่อการจ้างงานโดยรวม”
“จากกรณีขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน เมื่อปี 2554 ที่ถึงแม้จะดำเนินการได้สำเร็จ แต่ต้องยอมรับว่า ช่วงแรกโดยเฉพาะ SME ปรับตัวค่อนข้างลำบาก ส่วนธุรกิจหรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่บางราย ก็ปรับเป็นการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นแทน”
“ขณะเดียวกันหากทยอยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน จากปัจจุบันที่ค่าแรงเฉลี่ยอยู่ที่ 328-354 บาทต่อวัน ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นการทยอยขึ้น ก็จะทำให้ต้นทุนภาคธุรกิจปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 70% ทำให้ภาคธุรกิจอาจปรับตัวไม่ทัน” ความเห็นจากที่ประชุม กกร. ในวันนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วันที่ 1 ต.ค. 65 มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ สูงสุด 356 บาทต่อวัน ต่ำสุด 328 บาทต่อวัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สรุปไฮไลต์ เพื่อไทย ประกาศนโยบายเลือกตั้ง “คิดใหญ่ ทำเป็น” ภายในปี 2570