SHARE

คัดลอกแล้ว

ตลอดปี 2565 การเมืองไทยร้อนแรงเป็นระยะ เพราะเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปีหน้า มีหลายเหตุการณ์ที่สร้างปรากฏการณ์ในการเมืองไทย สำนักข่าว TODAY รวบรวมเรื่องที่น่าสนใจมานำเสนอ

‘ก๊วนธรรมนัส’ ถูกขับออกจากพลังประชารัฐ

ส.ส.กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ จำนวน 21 คน เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 65 ด้วย 3 สาเหตุ คือ ตัวบุคคลผิดวินัยและผิดจรรยาบรรณร้ายแรง ทำให้พรรคบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ และเพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่ดีที่สุด

รอยร้าวที่เริ่มเกิดขึ้นเป็นผลต่อเนื่องจากความขัดแย้งต่างๆ สะสมมาเรื่อยๆ เมื่อมาถึงจุดที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พ่ายแพ้การเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ทั้งที่ ชุมพร-สงขลา โดย ร.อ.ธรรมนัส ในฐานะเลขาธิการพรรค พปชร. ขณะนั้น ปราศรัยเปรียบเทียบคนรวยกับคนจน จนอาจถูกมองว่า เป็นปัจจัยที่ทำให้พ่ายแพ้การเลือกตั้ง

ต่อมาปรากฏกรณีแชตไลน์หลุดของ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและกรรมการบริหารพรรค พปชร. เสนอให้ทำโพลว่า เหตุที่ พปชร. ตกต่ำ เป็นเพราะ ร.อ.ธรรมนัส หรือไม่ ทำให้มีการเรียกประชุมด่วน ส.ส. ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ และมีมติขับออก เป็นผลให้ทั้งหมดต้องหาพรรคสังกัดใหม่ภายใน 30 วัน ท้ายที่สุดแล้วไปอยู่กับพรรค ‘เศรษฐกิจไทย’ ประชุมปรับโครงสร้างพรรค ‘ร.อ.ธรรมนัส’ นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค

ปัจจุบัน แนวโน้มกลุ่ม ส.ส. ‘ร.อ.ธรรมนัส’ จะกลับเข้ามาสังกัดพรรค พปชร. อีกครั้ง เพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง โดยกลุ่มความขัดแย้งบางส่วนแสดงจุดยืนจะไปสังกัดพรรคอื่น

ถือเป็นเหตุการณ์การเมืองที่สู้กันยิบตาระหว่างกลุ่มขั้วอำนาจที่ต้องการเป็นใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐ

‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้ว่าฯ กทม. ได้คะแนนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 65 ผลการเลือกตั้ง ‘นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ได้คะแนนสูงสุด 1,386,215 คะแนน ถือเป็นการทำลายสถิติผู้ชนะในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กลายเป็นคะแนนสูงสุดในประวัติศาสตร์ ทำลายสถิติเดิมที่ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ทำไว้ที่ 1,256,349 คะแนน ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 56

นอกจากนี้ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ยังมีการทำงานแบบใหม่ๆ เช่น การไลฟ์เฟซบุ๊กในทุกกิจกรรมที่ได้ทำ ซึ่งมีผู้ติดตามเพจส่วนตัว ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ถึง 2,600,000 คน และในช่วงแรกๆ ทุกครั้งที่มีการไลฟ์จะมีการติดตามเข้าชมมากกว่าหมื่นคน และมาชมย้อนหลังไม่ต่ำกว่าแสนครั้ง

‘ประยุทธ์’ พักงานชั่วคราวรอศาลฯ วินิจฉัยปม ‘นายกฯ 8 ปี’

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของ ส.ส. ฝ่ายค้าน ขอให้วินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไว้พิจารณา และมีคำสั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 65

เป็นผลให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขึ้นรักษาการนายกฯ แทน ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 237/2563 แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต่อเนื่องได้ ช่วงเวลานั้น พล.อ.ประยุทธ์ แทบไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ กับสื่อมวลชน แต่มีภาพการปฏิบัติงานออกมาจากคนใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง

ผ่านไปไม่นาน เมื่อ 30 ก.ย. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6:3 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ ตามที่ฝ่ายค้านยื่นคำร้องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ศาลวินิจฉัยคุณสมบัติของนายกฯ คนที่ 29 เพราะมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ครบ 8 ปีแล้ว นับจากได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ ครั้งแรกเมื่อ 24 ส.ค. 2557 เป็นผลให้นายกฯ กลับมาปฏิบัติหน้าที่ครั้งแรก ในวันที่ 3 ต.ค. 65

ถือเป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติงานนานถึง 37 วัน

‘จุรินทร์’ ทวงสัญญานายกฯ ปรับ ครม.

กรณีที่นายนิพนธ์ บุญญามณี ลาออกจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อต่อสู้คดีการจัดซื้อรถซ่อมบำรุงทางฯ ของ อบจ.สงขลา หลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ได้ออกหมายจับผู้เข้าร่วมประมูลทุกรายซึ่งรวมถึงผู้ชนะการประมูลและบริษัทในเครือ

ขณะนั้นนายนิพนธ์ดำรงตำแหน่งนายกอบจ.สงขลา ไม่อนุมัติจ่ายเงินให้บริษัทที่ชนะการประมูล ยืนยันว่าได้รักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน มิใช่เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวหา โดยสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 65

ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ไม่รอช้า ประชุมสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดยได้เลือกนายนริศ ขำนุรักษ์ มาดำรงตำแหน่งแทน ผ่านไปสองเดือนกว่า นายกรัฐมนตรียังไม่มีท่าทีจะปรับ ครม. นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถึงกับทวงถามผ่านสื่อและมีข่าวลือถึงขั้นว่าจะถอนตัวออกจากรัฐบาล จนในที่สุดนายกรัฐมนตรี ปรับคณะรัฐมนตรี

มี 3 รัฐมนตรีใหม่มาร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา ประกอบด้วย นายธนกร วังบุญคงชนะ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุนทร ปานแสงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายนริศ ขำนุรักษ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

ถือเป็นการปรับคณะรัฐมนตรีส่งท้ายปี 2565 กับวาระการดำรงตำแหน่งอีกไม่กี่เดือน ก่อนจะมีการเลือกตั้งในปี 2566

 

 

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า