SHARE

คัดลอกแล้ว

“ยาบ้า ยาบ้า ยานรก” 

“ยาบ้า ยาบ้า ยาสกปรก”

“ยาบ้า ยาบ้า ยาของใคร”

“ยาบ้า ยาบ้า ทำไมยังทำลายไม่หมด”

เนื้อเพลงข้างต้นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเพลง “ยาบ้า” จากแร็ปเอก ที่มีทำนองติดหูมากเสียจนใครหลายคนไม่อาจอ่านเนื้อเพลงโดยไม่ใส่ทำนองลงไปได้ ซึ่งแน่นอนว่าเพลง “ยาบ้า” อาจจะไม่ได้เป็นบทเพลงที่ได้ถูกมองว่ามีคุณค่าทางดนตรีเทียบเท่ากับเพลงทั่วๆ ไป แต่ถ้าหากเรามองไปที่เนื้อเพลงข้างในแล้วนั้น เพลงยาบ้านี้ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมไทยปัจจุบันที่ยังไม่สามารถจัดการกับปัญหายาเสพติดได้เสียที ถึงแม้เพลงนี้จะถูกเผยแพร่ออกมาเกือบ 10 ปีแล้วก็ตาม

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับยาเสพติดนั้นก็เปรียบเสมือนกับ Toxic Relationship ที่ต่างฝ่ายต่างพยายามทำลายกันและกันอยู่เรื่อยมา แต่ก็ไม่สามารถพรากทั้ง 2 ให้แยกขาดจากกันได้เสียที โดยในข่าวสังคมปัจจุบัน เรามักเห็นคดีอาชญากรรมอันน่าเศร้าต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ฆ่า ปล้น ทำร้ายร่างกาย ชิงทรัพย์ หรือลักพาตัวเมื่อไหร่แล้วละก็ ผู้คนส่วนมากก็คงจะชี้ “ยาเสพติด” ว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุอย่างไม่ลังเล แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าผู้ร้ายตัวจริงนั้นคือยาเสพติด?

นับตั้งแต่ในยุคที่รัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เริ่มประกาศทำ ‘สงครามยาเสพติด’ ในช่วงปี 2546 นั้น ประเทศไทยเองก็ยังพยายามเร่งมือกวาดล้างและปราบปรามยาเสพติด เรามักได้ยินหรือเห็นข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ารวบ เข้าจับ และเข้าปรามปราบกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดกันอย่างไม่ขาดสาย แต่ทำไมกันปัญหายาเสพติดในประเทศไทยนั้นยังคงมีตัวตนอยู่ในสังคมเรื่อยมา แถมดูเหมือนว่าจะแย่ลงไปเรื่อยๆ เสียอีก 

แล้วทำไมประเทศไทยถึงไม่สามารถยุติสงครามกับยาเสพติดได้เสียที?

REUTERS

“ยาบ้า” ทำไมราคาถูกและหาได้ง่าย จนใครๆ ก็เข้าถึงได้

จากผลการวิจัยเรื่อง “การตลาดและการกระทำผิดที่เกี่ยวกับยาเสพติดบนโลกอินเทอร์เน็ตระยะที่ 3 ปี พ.ศ. 2564” จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าระหว่างช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น ได้มีส่วนที่ทำให้การซื้อขายยาเสพติดบนโลกออนไลน์พุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก แถมยังมีการโยกย้ายสับเปลี่ยนแพลตฟอร์มซื้อขายกันไปมาอยู่ตลอดอีกด้วย ซึ่งล่าสุดนั้นแพลตฟอร์มที่สามารถพบเห็นการซื้อขายยาเสพติดมากที่สุดก็คือ ทวิตเตอร์

ในปัจจุบันนั้นเรากลับยังสามารถพบยาเสพติดหลากหลายประเภท รวมถึง “ยาบ้า” ราคาถูกหลากชนิดมากมายที่วางขายกันอยู่บนโลกออนไลน์ที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย และจะยิ่งง่ายเข้าไปอีกถ้าหากเรารู้ถึงคีย์เวิร์ดของมัน 

โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มสาธารณะยอดฮิตอย่างทวิตเตอร์ที่หากมีการติดแฮชแท็กง่ายๆ อย่าง #งานดีด #ตัวเล็ก หรือ #หนม เราก็จะสามารถเข้าถึงภาพนิ่งและวิดีโอสำหรับซื้อขายยาเสพติดมาให้เราเลือกอย่างสะดวกสบาย สำหรับราคาก็เริ่มต้นตั้งแต่ยาเสพติดราคาถูกเพียง 60 บาทไปจนถึงหลักมากกว่า 1,000 บาท นอกจากนี้ยังมีวิดีโอสาธิตกรรมวิธีการใช้งานยาเสพติดบางประเภทอีกด้วย

นอกจากความแพร่หลายแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ยาบ้ากลายมาเป็นสินค้าติดตลาดก็คือ “ราคา” ที่เรียกว่าเข้าถึงได้ง่ายเกินไปมาก โดยแหล่งข่าวภายในวงการยาเสพติดได้บอกกับรายการ Checks And Balances สำนักข่าว TODAY ว่าราคาต่อเม็ดของยาบ้าในสมัยที่มีการประกาศสงครามยาเสพติดอย่างจริงจังในยุครัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร อยู่ที่ประมาณ 300-500 บาท แต่ตัดภาพมาในปัจจุบัน ราคาถูกที่สุดของยาบ้านั้นได้ลดลงเหลือเพียงแค่ประมาณ 50 บาทต่อเม็ดเท่านั้น 

นอกจากนี้แหล่งข่าวผู้นี้ยังได้บอกกับเราอีกว่า ในปัจจุบันยาบ้านั้นกลายเป็นสินค้าเกลื่อนตลาดที่มีการยืนซื้อขายกันอย่างโจ่งแจ้งชนิดที่ว่าไม่กลัวตำรวจเลย แถมยังบอกว่าถ้าให้ตนเลือกระหว่าง “ยาบ้า” หรือ “มาม่า” ตนก็คงเลือกยาบ้าเพราะมีราคาถูกกว่า ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าเหลือเกินที่หลายคนเองก็ตัดสินใจเลือกแบบเดียวกัน

ด้วยความสะดวกสบายในการซื้อขายยาบ้า ทั้งหมดนี้ทำให้พวกเราต้องกลับมาตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดกัน ยาเสพติดภายในประเทศไทยถึงสามารถซื้อขายกันได้อย่างโจ่งแจ้งเพียงนี้ เหล่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำอะไรกันอยู่ หรือว่ามันมีข้อมูลเบื้องลึกอะไรบางอย่างที่ทำให้วิธีการปราบปรามยาเสพติดของประเทศไทยนั้นไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

แนวทางการปราบปรามยาเสพติดของประเทศไทยในปัจจุบัน

ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เองนั้นก็มีส่วนที่ทำให้ยาเสพติดได้ถูกพัฒนาเรื่อยมาในหลายแง่มุม โดยสมัยก่อนนั้นยาเสพติดถูกผลิตขึ้นจากพืชอย่าง หญ้ามาฮวงหรือดอกฝิ่น แต่ในปัจจุบันยาเสพติดถูกผลิตจากสารเคมี โดยสารเคมีราคาเพียงไม่กี่ร้อยบาทนี้ สามารถผลิตยาเสพติดออกมาได้รับล้านบาทเลยทีเดียว 

โดยทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ “ป.ป.ส.” เองก็เคยออกมาเปิดเผยว่า ยาเสพติดทั้งหลาย โดยเฉพาะ “ยาบ้า” นั้นมีพัฒนาการที่สูงขึ้นจากสมัยก่อนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะด้วยเทคโนโลยีการผลิต เทคโนโลยีการขนส่ง หรือสารที่ใช้ในการผลิต โดยในอดีต เครื่องผลิตยาบ้าผลิตได้ 2,700 เม็ดต่อชั่วโมง แต่ปัจจุบันพัฒนาขึ้นจนเป็นระบบไฮดรอลิกผลิตได้ 288,000 เม็ดต่อชั่วโมง หรือเพิ่มขึ้นเป็น 100 เท่า ซึ่งเป็นสาเหตุหลักว่าทำไมยาบ้าถึงมีราคาถูกและหาได้ง่ายดายเพียงนี้

อย่างไรก็ดี นโยบายการปราบปรามยาเสพติดของประเทศไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน โดยได้มีการเปลี่ยนแนวทางของการจัดการกับยาเสพติดและผู้ค้ายาเสพติด ที่ไม่ได้มีการวิสามัญฆาตกรรม จับกุม  ฆ่าตัดตอน ตัดวงจรอะไรต่างๆ หากแต่เป็นการแกะรอยธุรกรรมทางการเงินแทน ซึ่งมาตรการนี้ถือเป็นจุดสำคัญของกฎหมายใหม่ ที่เรียกว่าประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งกฎหมายนี้มีผลใช้บังคับในเดือนธันวาคม 2564 

โดยประมวลกฎหมายยาเสพติดนี้ ถือเป็นการอุดช่องว่างของกฎหมายฉบับเดิม ที่เน้นการจับกุมให้ได้จำนวนเยอะเข้าว่า แต่ดูเหมือนสาวไปถึงต้นตอรายใหญ่ของขบวนการได้น้อย กฎหมายฉบับใหม่นี้ก็เลยได้รับการออกแบบมาเพื่อโดยเฉพาะติดตามเส้นทางธุรกรรมการเงินและยึดทรัพย์ได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องรอคดีอาญาให้เสร็จเรียบร้อยก่อน

ซึ่งการ Tracking ธุรกรรมทางการเงินแบบนี้ เป็นวิธีการปราบปรามยาเสพติดเชิงโครงสร้าง ที่เป็นการตัด “ท่อน้ำเลี้ยง” ของขบวนการยาเสพติด ทำให้ผู้ค้ายาก็จะขาดเงินหมุนในการทำธุรกิจต่อ ก็จะสามารถโยงไปที่ต้นตอผู้ค้ายาที่แท้จริงได้ และยังทำให้ปัญหายาเสพติดลดลงได้ด้วย

โดย ป.ป.ส. เองก็เพิ่งแถลงผลงานไป ว่าแค่ไตรมาสแรกของปี 2566 นี้ ยึดทรัพย์ได้แล้ว 2 หมื่นกว่าล้านบาทแล้ว จากเดิมปีที่แล้วทั้งปียึดได้แค่ 11,000 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม ก็คงยังไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่านโยบายใหม่นี้จะเป็นวิธีที่ได้ผล เนื่องจากคดีอาชญากรรมจากยาเสพติดเองก็ยังมีให้เห็นกันอยู่เป็นประจำ

แต่พวกเราต้องไม่ลืมว่ามาตรการทั้งหมดนี้ยังคงเป็นเพียงแค่มาตรการที่เอาไว้สำหรับจับกุมขบวนการยาเสพติดในประเทศไทยเพียงเท่านั้น โดยอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยาเสพติดยังไม่หมดไปจากประเทศไทยเสียทีก็คือยาเสพติดที่ถูก “นำเข้า” มาจากต่างประเทศหรือทางชายแดนก็ตาม โดยยังมีเส้นทางหลักที่ควรระวังเป็นพิเศษก็คือพื้นที่ทางภาคเหนืออย่าง ชายแดนไทย–เมียนมา ที่มักจะถูกลักลอบเข้ามาพร้อมกองกำลังติดอาวุธคุ้มกัน เพื่อป้องกันการตรวจค้นและปราบปรามของเจ้าหน้าที่ของไทย

ซ้ำร้าย นับแต่เหตุรัฐประหารในเมียนมาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2021 จนเกิดเป็นปัญหาการเมืองภายในประเทศและปัญหาการสู้รบในพื้นที่รอบนอก ทำให้เมียนมาก็ไม่สามารถให้ความสำคัญกับการปราบยาเสพติดได้เท่าที่ควร ซึ่งก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้มียาเสพติดจำนวนมากที่ไหลเข้ามาผ่านชายแดนของประเทศไทย

สถานการณ์ทางภาคใต้เองก็ไม่ต่างกัน จากข้อมูลศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่ายาเสพติดที่วัยรุ่นภาคใต้นิยมเป็นอันดับสองรองจากใบกระท่อมก็คือยาบ้า โดยแต่ละปีมีการจับกุมยาเสพติดเพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์การก่อเหตุรุนแรงนั้น ขบวนการค้ายาเสพติดมีส่วนในการสร้างสถานการณ์ เพื่อเบี่ยงเบนเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนี้ผลจากการตรวจปัสสาวะผู้เข้ารับการตรวจ เลือกทหารกองเกินเข้าประจําการปี 2560 ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า ร้อยละ 30 มีสารเสพติดในร่างกายอีกด้วย 

แล้วประเทศไทยควรมุ่งไปทางไหน ในการปราบปรามยาเสพติด?

ที่จริงแล้วทางรัฐบาลไทยเองดูเหมือนจะมีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนมาตรการและมุมมองของการปราบปรามยาเสพติดอยู่ตลอด แต่ดูเหมือนไม่ว่าจะพยายามสักเท่าไร โดยได้มีการนิยามผู้เสพ จาก “ผู้ต้องหา” ที่ต้องถูกคุมขังสู่ “ผู้ป่วย” ที่ต้องได้รับการรักษา ซึ่งล่าสุดทางอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีขวัญใจประชาชนแห่งพรรคภูมิใจไทยเองก็ได้มีการนำเสนอแนวคิดที่จะทำให้ “ผู้เสพกลายเป็นผู้ค้า” ด้วยนโยบายแบบสุดโต่งที่บอกว่าต่อจากนี้ไปใครครอบครองยาบ้าเกิน 1 เม็ดเท่ากับผู้เสพ 2 เม็ดเท่ากับผู้จำหน่ายทันที โดยแต่ก่อนนี้ต้องถือครองเกิน 15 เม็ด ถึงจะถูกนับว่าเป็นผู้ค้ายาเสพติด

“เราจะห่วงใคร ห่วงเจ้าหน้าที่ที่จะบอกว่าห้องขังไม่พอขังหรือห่วงสถานบำบัดที่จะไม่พอ ก็เลยปล่อยให้เด็กเยาวชน หรือคนครอบครองยาเสพติดเป็นจำนวนมากได้ ถ้าในส่วนที่ผมยังคงมีความรับผิดชอบอยู่ ผมเลือกที่จะเซฟเด็ก เซฟเยาวชน แล้วก็ป้องกันไม่ให้ผู้ค้ายาเสพติดมีโอกาสที่จะค้ายาเสพติดได้เป็นจำนวนมาก” อนุทิน บอกกับรายการ Checks And Balances สำนักข่าว TODAY 

แนวคิดนี้ก็ถือว่าเรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย เพียงแต่ดูเหมือนว่าแนวคิดดังกล่าวเหมือนจะมีช่องโหว่ที่คล้ายคลึงกับนโยบายปราบปรามยาเสพติดแบบเก่าที่เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ แถมยังเป็นการเปิดช่องให้เกิดการจับกุม “แพะ” ได้ง่ายขึ้นเสียมากกว่า

ปัญหายาเสพติดเองก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนก็ “แก้ไม่ตก” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปัจจุบันผู้ต้องขังในเรือนจำกว่า 78% หรือมากกว่า 200,000 คน ก็ยังคงเป็นผู้ต้องขังจากคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติด

ทั้งนี้ ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ก็ได้ให้มุมมองว่า หนึ่งในสาเหตุที่ประเทศไทยพบเจอกับความยากลำบากในการปราบปรามยาเสพติดนั้นก็เพราะว่าผู้ค้ายาเสพติดในประเทศไทยนั้นไม่ใช่ผู้ค้ารายย่อย แต่เป็นขบวนการที่มีเครือข่ายโยงใย มีทรัพยากรสูง รวมถึงมีความสามารถที่จะหลบหนีให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของกฎหมายได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

และด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยีต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ระบบและกลไกทางกฎหมายนั้นไม่สามารถตามเทคโนโลยีของขบวนการเหล่านี้ได้ทัน แต่สิ่งสำคัญคือการโฟกัสไปที่กลุ่มผู้ค้ารายใหญ่มากกว่าไล่ต้อนจับกุมผู้ค้ารายย่อยแบบเน้นจำนวน

การที่เราเลือกที่จะใช้ “ไม้แข็ง” แบบกระบวนการยุติธรรมทางอาญา แล้วบอกว่าการเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเป็นความผิด ไม่ว่าจะเสพหรือค้าเองก็เป็นวิธีที่ดูแล้วเหมือนจะได้ผลแค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะไทยเองก็ยังจับคนที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดได้อยู่มากในตลอดระยะเวลา 6-7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งวิธีนี้อาจเป็นวิธีที่ได้ผลลัพธ์ที่จับต้องได้มาเป็นผลงาน แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ในการปราบปรามเชิงโครงสร้าง

“หวังว่ากฎหมายใหม่ แล้วก็การไปโฟกัสที่ผู้ค้ารายใหญ่จะเป็นทางในการแก้ปัญหาให้เกิดอิมแพ็ค ผมคิดว่าก็หวังได้ระดับหนึ่งนะครับ แต่จริงๆ แล้วมันอาจจะซับซ้อนกว่านั้น มันอาจจะต้องไปดูที่ทำยังไงให้ความสัมพันธ์ในทาง Demand และ Supply มันเปลี่ยนไปกว่าที่เป็นอยู่ครับ” ดร.พิเศษ กล่าว

ทุกวันนี้กฎหมายยาเสพติดใหม่อาจจะทำให้แนวโน้มนี้ไม่ได้เลวร้ายไปมาก ไม่ได้แย่ลง แต่ก็ไม่ได้ดีขึ้นอย่างทันทีทันควัน อาจจะต้องติดตามแล้วก็ดูผลของการใช้กฎหมายนี้ไปอีกระยะหนึ่งแล้วจึงจะตอบได้ว่า ประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ของปี 2564 นี้จะเป็นวิธีที่ได้ผลจริงหรือไม่

ถ้าหากเราลองไปดูตัวอย่างของประเทศที่ประกาศสงครามกับยาเสพติดมามากกว่า 50 ปีอย่างสหรัฐอเมริกานั้น จะพบว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ได้มีการผลาญเงินทุนไปมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ในการบังคับใช้นโยบายปราบปรามยาเสพติด อย่างไรก็ตาม ประชาชนสหรัฐฯ จำนวนมากเองก็ไม่ว่าจะยืนอยู่ฝ่ายไหน ทั้งฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายอนุรักษนิยม ก็มีความเห็นตรงกันว่า ตั้งแต่ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกซอน ได้เริ่มนโยบายปราบปรามยาเสพติดแบบจริงจังในปี 1971 พวกเขา “ได้ไม่คุ้มเสีย” เอาเสียเลย

อัตราการใช้ยาเสพติดภายในสหรัฐอเมริกาเองก็กำลังเพิ่มขึ้นสูงอีกครั้งและรวดเร็วกว่าที่เคย จากข้อมูลของ Substance Abuse and Mental Health Services Administration มีจำนวนผู้ใช้ยาเสพติดที่ผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นเป็น 13% ของชาวอเมริกันอายุ 12 ปีขึ้นไปในปี 2019 ซึ่งเกือบจะถึงจุดสูงสุดจาก 40 ปีที่แล้วเลยทีเดียว 

เห็นได้ชัดเลยว่าปัญหายาเสพติดนี้ ไม่ใช่ว่าจะเป็นปัญหาเรื้อรังที่คอยรังควานสังคมไทยแต่เพียงผู้เดียว แต่ยาเสพติดเองก็ยังคงเป็นปัญหาระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ ​​UNODC หรือ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ คาดปี 2030 ทั่วโลกจะมีผู้ใช้ยาเสพติดประมาณ 299 ล้านคน ซึ่งกัญชายังคงเป็นยาเสพติดที่มีผู้ใช้มากที่สุด 200 ล้านคน 

นี่ก็คงเป็นอีกหนึ่งในปัญหาที่ประชาชนจะเฝ้ามองอย่างใกล้ชิดและให้ความสนใจมากเป็นพิเศษแน่นอนว่า แคนดิเดตที่จะเข้ามาท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดใหม่ในการเลือกตั้งใหญ่ประจำปี 2566 นี้มีแผนที่จะรับมือกับปัญหายาเสพติดอย่างไร 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครก็ตามที่จะขึ้นมาเป็นรัฐบาลชุดใหม่ในปี 2566 นี้ ก็ควรที่จะย้อนกลับไปศึกษาบทเรียนในอดีตมากมายว่านโยบายปราบปรามยาเสพติดที่ผ่านมากว่า 20 ปีนั้น ได้สร้างผลกระทบดีหรือแย่ให้กับให้กับสังคมมากกว่ากัน รวมถึงคำนึงไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนถึงการออกแบบนโยบาย “ไม้แข็ง” ที่บริบทที่ไม่ให้ขวานผ่าซากจนเกินไปอีกด้วย

“ถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคมมองว่าต้องลงโทษยาเสพติดให้หนักๆ หนักกว่าเดิมอีก ถ้าผมเป็นนักการเมืองผมก็ไม่น่าจะมีทางเลือกมาก นอกจากก็ต้องสนองความต้องการ แล้วก็เข้าไปในสภาก็ต้องออกกฎหมายที่รุนแรงมากกว่าเดิม” 

“แต่ถ้าประชาชนได้ข้อมูลมากขึ้นว่า การจัดการปัญหามันมีเฉดเยอะแยะเลย ก็อาจจะพบว่ากว่าจะออกกฎหมายฉบับหนึ่งต้องคิดแล้วคิดอีกนะ กระบวนการมันต้องรอบคอบมากกว่าเดิม ต้องคำนึงถึงผลกระทบว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง จนมั่นใจแล้วก็ค่อยออก แล้วก็การติดตามประเมินผล แล้วผลที่ได้ก็ต้องบอกประชาชน ประชาชนก็จะมีข้อมูลมากขึ้น” ดร.พิเศษ สอาดเย็น แสดงความคิดเห็นส่งท้าย

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า