ที่มาของ ‘นางนาค สะใภ้พระโขนง’ ที่คุณอาจไม่เคยรู้
‘แม่นาค’ เป็นหนึ่งในตำนานของไทยที่เคยถูกเล่าขานมาหลายต่อหลายครั้ง และเกือบทุกครั้งก็ได้รับการตอบรับที่ดีอยู่เสมอ โดยมีฉากและตัวละครที่เป็นที่จดจำจากเวอร์ชั่นต่าง ๆ ซึ่งกลายเป็นแม่แบบของแม่นาคชนิดที่ว่าไม่เวอร์ชั่นไหนก็จะได้เห็นอยู่เสมอ อย่างฉากเก็บมะนาว ห้อยหัว ฯลฯ
แต่ นางนาค สะใภ้พระโขนง ที่ฉายจบไปเมื่อวานนี้ทางช่อง workpoint 23 และ Netflix และทำเรตติ้งรวมถึงอันดับใน Netflix ไว้อย่างสวยงาม และถึงแม้จะมีฉากซิกเนเจอร์อยู่ครบ แต่ก็มีเรื่องราวที่แตกต่างกับเวอร์ชั่นอื่นอยู่ไม่น้อย เพราะต้นแบบของเรื่องราวไม่ได้มาจากตำนานแม่นาคที่เราคุ้นเคยกันเท่านั้น แต่ดัดแปลงมาจากละครเพลงร้องทั้งเรื่องของบริษัทดรีมบอกซ์อย่าง แม่นาค เดอะ มิวสิคัล ซึ่ง Series Society จะมาเล่าเรื่องราวหลังแม่นาคเวอร์ชั่นนี้ ที่ทำให้ นางนาค สะใภ้พระโขนง นั้นฉีกออกไปจากเวอร์ชั่นอื่น เพราะความโหดร้ายของเรื่องนั้นไม่ได้อยู่ที่แม่นาคซึ่งเป็นวิญญาณดุร้ายดังเช่นเวอร์ชั่นก่อน แต่อยู่ที่ตัวละครแวดล้อมซึ่ง ‘ร้ายยิ่งกว่าผี’
[บทความต่อจากนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของเรื่อง]
พื้นเพของแม่นาค
ข้อความของ คุณ ดารกา วงศ์ศิริ ผู้เขียนบท จากสูจิบัตร แม่นาค เดอะ มิวสิคัล เผยว่า การตั้งคำถามว่า แม่นาคเป็นใคร ทำไมมาอยู่ที่พระโขนง ทำไมถึงขึ้นชื่อว่าดุร้ายกว่าผีตายทั้งกลมอื่น ๆ ทำไมถึงรักพ่อมากนัก และทำไมถึงตัดสินใจจากไปในที่สุด เป็นสิ่งที่ทำให้ แม่นาค เดอะ มิวสิคัล ซึ่ง นางนาค สะใภ้พระโขนง นำมาดัดแปลง มีเรื่องราวแต่หนหลังของแม่นาคว่า
- แม่นาคเป็นลูกผู้ดีจากอยุธยา ที่หลงรักชาวบ้านอย่างพ่อมากและหนีตามเขามาอยู่ที่พระโขนง
- จุดต่างที่สำคัญคือการที่แม่นาคนั้นเป็นหญิงสาวที่ได้รับการศึกษา อ่านออกเขียนได้ แต่ทำงานใช้แรงงานไม่เป็น
- การที่แม่นาคย้ายมาอยู่พระโขนง ที่เป็นสังคมชนบทซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้แรงงาน โดยเฉพาะในช่วงต้นรัตโกสินทร์ที่มีการเกณฑ์ไพร่พลไปทำศึกบ่อยครั้ง ทำให้ภาระการทำงานตกอยู่กับผู้หญิง จึงทำให้แม่นาคเป็นเหมือนปลาผิดน้ำ
- แม่นาคกลายเป็นผู้หญิงค่าน้อยยิ่งกว่าควายเมื่อมาอยู่ในชุมชนตัดสินคุณค่าของคนด้วยแรงงาน พื้นเพที่ต่างกันจึงเป็นหนึ่งในสาเหตุทำให้แม่เหมือน แม่ของพ่อมากและผู้คนในหมู่บ้านรังเกียจเหยียดหยันเธอ จนนำมาสู่โศกนาฏกรรมในชีวิตของแม่นาค
เหตุผลที่แม่นาคตายทั้งกลม
นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดที่เพิ่มเหตุผลให้ชะตากรรมของแม่นาคที่ต้องตายทั้งกลมให้ดูมีเหตุผลมากขึ้น จากตัวละครรายล้อมแม่นาคที่สร้างขึ้นมาใหม่ อย่างแม่เหมือน แม่ของพ่อมาก สายหยุด ที่หลงรักพ่อมากแต่เด็ก ป้าแก่ หรือ ป้าจันในเวอร์ชั่น นางนาค สะใภ้พระโขนง หมอตำแยขี้เมา และตาฉ่ำ สามีผู้เป็นสัปเหร่อ ที่ตกหลุมพรางของแม่เหมือนผู้เกลียดชังแม่นาค ได้ให้สายหยุดเอาเหล้าล่อจนหมอตำแยเมามายไม่มาทำคลอด บวกกับไม่มีใครแจ้งข่าว ทำให้แม่นาคที่คลอดยากอยู่แล้วถึงแก่ความตาย
ทำไมแม่นาคจึงกลายเป็นผีดุร้ายในตำนาน
ในเมื่อแม่นาคเป็นคนดีอย่างนี้แล้วทำไมถึงยังเป็นตำนานผีดุร้ายได้ ตัวเรื่องให้เหตุผลแม่เหมือนใส่ร้ายแม่นาคว่าหลอกหลอนสายหยุดจนกินยาตาย ที่อีกส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือการกระจายข่าวของชาวบ้าน ที่ทำให้เรื่องเล่ากลายเป็นตำนานที่เชื่อกันจนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงสำหรับบางคน ซึ่งนอกจากจะขับเน้นแนวคิดในเรื่องที่ว่า “คนร้ายกว่าผี” แล้ว ยังเป็นคล้ายกับภาพสะท้อนของสังคมที่ใครจะสร้างข่าว แพร่กระจาย กีดกัน และลงทัณฑ์คนที่คิดไม่เหมือนกันก็ได้
ทำให้ นางนาค สะใภ้พระโขนง นอกจากจะเป็นละครที่หาดูได้ยากในเชิงว่านาน ๆ ครั้งเราจะได้เห็นละครโทรทัศน์ที่ดัดแปลงมาจากละครเวที เหมือนละครเรื่อง อวสานเซลส์แมน ละครโทรทัศน์ที่มีต้นฉบับเป็นบทละครเวทีโดย Arthur Miller ยังเป็นละครที่เปิดมุมมองใหม่ให้กับเรื่องราวของแม่นาค และชวนให้ผู้ชมคิดก่อนจะเผยแพร่เรื่องราวบางเรื่อง ว่าเรากำลังจะเป็นแม่เหมือน หรือชาวพระโขนงในชีวิตของใครบ้างหรือไม่