SHARE

คัดลอกแล้ว

การเลือกตั้งนั้นเป็นไปตามหลักของเสียงส่วนใหญ่ (Majority rule) ที่ไม่ละเลยสิทธิเสียงส่วนน้อย (Minority Rights)

คำกล่าวข้างต้นนั้น เป็นหลักการพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตยในระบอบการเลือกตั้ง ที่เรียบง่ายและทรงพลัง

ก่อนหน้านี้เรามักจะบอกว่า ผู้ชนะคือผู้เขียนประวัติศาสตร์ แต่ก็ไม่แน่เสมอไปในประเทศแบบไท๊ยไทย ที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ถ้ามีปาปริก้า ที่เกิดสภาพ “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” มาแล้ว กล่าวคือมีคะแนนชนะในสภาไม่เด็ดขาดหรือไม่ถึงกึ่งหนึ่ง

เริ่มย้อนรอยกันไปตั้งแต่สมัยเผด็จการ จอมพล ถนอม กิตติขจร ที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจตั้งตัวเป็นผู้ปกครอง และสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทั้งทหาร ขุนศึก พ่อค้า และศักดินากันแนบแน่น วันหนึ่งเกิดนึกครึ้ม อยากจะมีความชอบธรรมขึ้นมา ก็เลยจัดการเลือกตั้งขึ้นในปี 2512

นับว่าอย่างไรก็ได้เปรียบ แต้มต่อมีอำนาจอยู่ในมือเหลือเฟือเอื้อกันสุดๆ จอมพล ถนอม นำทีมพรรคสหประชาไทยลงสู้ศึกเลือกตั้ง ชนกับพรรคประชาธิปัตย์ของ “หม่อมพี่” ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เลือกตั้งครั้งนั้นมีการชิงชัยกัน 219 ที่นั่งจากการแบ่งเขต ในครั้งนั้นถึงแม้จะกุมความได้เปรียบ แต่กระแสเบื่อเผด็จการที่ปกครองกันมาตั้งแต่กึ่งพุทธกาลปี 2500 ก็ทำให้พรรคจอมพลถนอมชนะไม่ขาด

พรรคสหประชาไทยเอาชนะไป 74 ที่นั่ง อันดับที่ 2 เป็นพรรคประชาธิปัตย์ 55 ที่นั่ง พรรคอื่นๆ รวมไปถึงผู้สมัครอิสระได้ไป 90 ที่นั่ง หนึ่งใน ส.ส. สมัยแรกคือ นายเลิศ ชินวัตร บิดาดร.ทักษิณ  จากพรรคพลังใหม่ สอบได้ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อรัฐบาลชนะไม่เด็ดขาด ทำให้การบริหารแผ่นดินเป็นไปแบบกระท่อนกระแท่น

อยู่มาได้ 2 ปีกว่า จอมพล ถนอม อาจจะเพิ่งนึกได้ว่าเราชายชาติเผด็จการ อย่าไปแอ๊บว่าจะต้องเป็นประชาธิปไตยกระนั้นเลย ดังนั้นก็เลยทำการรัฐประหารตัวเองเพื่อยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ ฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2512 ที่ร่างกับมือมา ซึ่งนำไปสู่ความไม่พอใจของ ส.ส. และประชาชน เริ่มเกิดการชุมนุมที่ก่อตัวขึ้น และท้ายที่สุดนำไปสู่คลื่นมหาชนในเดือนตุลาคม 2516 และเป็นที่มาของเหตุการณ์ “วันมหาวิปโยค 14 ตุลาฯ 2516” ที่ จอมพล ถนอม ต้องปิดฉากอำนาจยุคเผด็จการสามจอมพล สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส

หลังวันของประชาชนฟ้าใหม่ ก็ได้มีการเร่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2517 ขึ้น หวังว่าจะคืนความสงบสุขและบรรยากาศการเป็นประชาธิปไตย ก็มีศึกสายเลือด “หม่อมพี่” ม.ร.ว.เสนีย์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ต้องลงชนช้างกับ “หม่อมน้อง” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ จากพรรคกิจสังคม ครั้งนั้นมีการชิงชัยกัน 269 ที่นั่ง และจบลงด้วยชัยชนะของหม่อมพี่ ที่ประชาธิปัตย์ได้ไป 72 ที่นั่ง แต่พอจับมือกับพรรคอื่นแล้วได้เพียง 103 ที่นั่ง

เกิดภาวะชนะแล้วแต่อยู่ไม่ได้บริหารไม่ได้ เพราะคะแนนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสภาคือ 135 ที่นั่ง ดังนั้นเมื่อแถลงนโยบายต่อสภา มีเสียงให้การสนับสนุนเพียง 111 ที่นั่ง และไม่สนับสนุน 152 ที่นั่ง เลยจบเห่ลิเกลาโรง ม.ร.ว.เสนีย์ จึงต้องลาออกพร้อมคณะรัฐมนตรีและสละสิทธิ์การจัดตั้งรัฐบาล

เมื่อส้มหล่นมาถึงหม่อมน้อง คึกฤทธิ์ จากการที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถบริหารต่อได้ ในสภามองเห็นว่าพรรคกิจสังคมของคึกฤทธิ์มีศักยภาพในการบริหาร ถึงแม้จะมีเพียง 18 ที่นั่ง แต่ด้วยความเป็นคนกว้างขวาง ทำให้การชักชวนพรรคต่างๆ มาร่วมรัฐบาลกับพรรคกิจสังคมเกิดขึ้นได้ แม้จะมี ส.ส. ที่น้อย เก็บเล็กผสมน้อยจนได้ ส.ส. ในมือ 141 ที่นั่ง มายกมือโหวตส่งคึกฤทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่การเมืองคือเรื่องการต่อรองผลประโยชน์ พรรคกิจสังคมเองก็ถือว่ายืมจมูกคนอื่นหายใจเยอะ เป็นรัฐบาลผสมจะทำอะไรก็ต้องเกรงใจพรรคร่วมรัฐบาล ที่ร่วมผลักดันให้คึกฤทธิ์เป็นนายกฯ กระทบกระทั่งกันบ้าง ต่อรองผลประโยชน์ไม่ลงตัวบ้าง จากปัญหาภายในดังกล่าว ทำให้ชะตาของหม่อมน้องเป็นนายกฯ ไม่ถึงปี ก็ต้องยุบสภาในวันที่ 12 มกราคม 2519 เพราะขาดเสถียรภาพในการบริหารงาน

นั่นคือเรื่องราวของสองครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เกิดสภาวะรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่ถือว่ามีเสถียรภาพบอบบาง แต่เรื่องนี้ไม่ต้องกลัวไป เพราะ “เนติบริกรระดับตำนาน” อย่าง มีชัย ฤชุพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร ได้เรียนรู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี จากประสบการณ์ ทำให้รัฐธรรมนูญ 2560 นั้นมีสภาวะพิเศษที่มาแก้ปัญหาในอดีต

เริ่มตั้งแต่ไม่ต้องกลัวว่า ถ้าพรรคที่อยากให้เป็นรัฐบาลไม่ชนะแบบเด็ดขาดแล้วล่ะก็ ไม่เป็นไรเรายังมี สมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้งคนกันเองของ คสช. ที่เป็นแต้มต่อ 250 เสียงที่พร้อมจะเข้ามาร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี ซึ่งในรอบการเลือกตั้งปี 2562 ก็โหวตกันอย่าง “เป็นระเบียบเรียบร้อย” ไม่แตกแถว ยกมือให้พรรคพลังประชารัฐ ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ที่มีส่วนแต่งตั้ง ส.ว. เป็นนายกรัฐมนตรี

ถ้าในครั้งนี้ ส.ว. เสียงแตกอีก ก็ยังมีด่านที่สอง เมื่อการโหวตนายกรัฐมนตรีจะเป็นไปอย่างฟรีโหวต เราจะได้เห็น “งูเห่า” ในสภาในวันโหวตนายกฯ หรือไม่ อันนี้ต้องจับตา เพราะตลอดสมัย 4 ปีที่ผ่านมาในรัฐบาลชุดปัจจุบัน เรามี ส.ส. ที่โหวตสวนมติพรรคให้เห็นเป็นอยู่เนืองๆ ก่อนที่จะเปิดตัวย้ายซบพรรคอื่น

ซึ่งท้ายที่สุด พรรคต้นสังกัดอาจจะใช้วิธีการขับพ้นพรรค ซึ่งกลายเป็นการเปิดโอกาสให้ ส.ส. เหล่านี้ ในการย้ายไปยังพรรคใหม่ที่ให้การสนับสนุนภายใน 30 วัน ใครๆ ก็อยากจะเป็นคนชนะ อยากเป็นรัฐบาล จะเป็นฝ่ายค้านให้อดอยากปากแห้งก็กระไรอยู่ ซึ่งถ้าหากเราย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้นตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2521 ที่ถ้าถูกขับพ้นพรรคแล้วสถานะการเป็น ส.ส. จะสิ้นสุดลงทันที เว้นแต่รัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ยังเปิดโอกาสให้ ส.ส. ที่ถูกขับออกสามารถอุทธรณ์ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

และถ้าเผื่อเหลือเผื่อขาด อีกกลไกหนึ่งที่จะสามารถระดมงูเห่าไปช่วยพรรคที่ไม่ชนะเลือกตั้ง ไม่ให้ต้องตกเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้อีก ก็คือ “เกมยุบพรรคการเมือง” ซึ่งเริ่มมีข่าวลือเป็นระยะๆ เรื่องนี้เคยเกิดกับพรรคอนาคตใหม่ เมื่อครั้งถูกยุบพรรค ทำให้ ส.ส. บางส่วนไม่ย้ายตามไปพรรคก้าวไกล แต่ฉวยโอกาสในช่วงนั้นหาสังกัดพรรคใหม่ อาจจะเป็นงูเห่าที่เลื้อยไปค้ำยันรัฐบาลก็เป็นไปได้

ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริงก็อาจจะแปลว่า เผด็จการ นักการเมือง และเนติบริกรนั้น เรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต แต่พวกเขาก็อาจจะลืมไปว่าประชาชนเองก็เรียนรู้จากอดีต และรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ ขาดการยอมรับ และความชอบธรรม

ก็อยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า