SHARE

คัดลอกแล้ว

เห็นด้วยหรือไม่ว่า การนั่งเงียบตลอดเวลาในร้านทำผมเป็นเรื่องยากเหลือเกิน โดยเฉพาะหากใครมีร้านทำผมประจำตัว บรรยากาศการชวนคุยเม้าท์มอยมักเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ตั้งแต่เรื่องอากาศประจำวัน ซุบซิบนินทาชาวบ้าน อัพเดตข่าวดาราคนดัง ไปจนถึงบ่นเรื่องในครอบครัว ช่างทำผมจึงกลายเป็นคู่สนทนามืออาชีพไปโดยปริยาย

“งั้นเราชวนคุยเรื่องโลกร้อนด้วยดีกว่า” นี่เป็นความคิดแวบแรกของพาโลม่า กราเซีย เจ้าของซาลอนแห่งหนึ่งในเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เธอเป็นหนึ่งในประชากรออสซี่กว่า 25 ล้านคน ที่ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนทุบสถิติทุกปี

ในวันที่เธอเริ่มตื่นเต้นกับความคิดที่ว่าอยากช่วยโลกจากภาวะ Climate change ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ เธอแปะโปสเตอร์แผ่นใหม่หน้าร้านด้วยประโยคสั้น ๆ ที่ว่า “This salon chats about love, life & climate action” (ร้านนี้คุยเรื่องความรัก ชีวิต และการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ)

พาโลม่าเล่าว่า บทสนทนาโดยทั่วไปกับลูกค้ามักเริ่มต้นด้วยสภาพอากาศในแต่ละวันอยู่แล้ว มันจึงเป็นเรื่องง่ายมากที่จะพาลูกค้าไปต่อถึงเรื่องสาเหตุของภาวะโลกรวน อีกทั้งมีเวลาเหลือเฟือบนเก้าอี้ทำผม ที่จะแนะนำวิธีการใหม่ ๆ ในการลงมือแก้ไขสิ่งแวดล้อม

ในปี 2019 และ 2020 ช่างผมจำนวนมากต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าหัวข้อที่ลูกค้าทุกคนชวนคุยคือ เรื่องไฟป่า black summer ทางตะวันออกของออสเตรเลียที่ลุกลามนานเกือบ 9 เดือน ลูกสาวของพาโลม่ากลับบ้านมาด้วยอาการเลือดกำเดาไหลเกือบทุกวันจากการสูดดมหมอกควัน ความกังวลแต่กลับทำอะไรไม่ได้กับความเสียหายในปีนั้นกลายเป็นอารมณ์หม่นหมองที่ปกคลุมบรรยากาศในร้านทำผมตลอดมา

จะทำอย่างไรให้บทสนทนาเหล่านี้เกิดขึ้นในทุกร้านเสริมสวย โจทย์ถัดมาจึงเป็นการติดอาวุธด้านความรู้ โดยเฉพาะข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ พาโลม่าได้เริ่มขยายวงพูดคุยด้วยการเปิดอบรมให้กับช่างทำผมในเมือง เธอเชิญนักวิทยาศาสตร์มาให้ความรู้อย่างลึกซึ้ง และยังมีนักสังคมศาสตร์ที่เชี่ยวชาญเรื่องการเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ต่อ Climate Change มาสอนการต่อยอดบทสนทนาให้เกิดแอคชั่นจริง

ผลปรากฏว่า มีช่างทำผมถึง 400 คนที่ผ่านการทำเวิร์กช็อปนี้ไปแล้ว หลายคนขอโปสเตอร์กลับไปแปะหน้าร้านด้วย เพื่อประกาศชัดว่า เรายินดีคุยเรื่องโลกร้อนขณะทำผม!

แม่ลูกสองที่เป็นลูกค้าของพาโลม่ารายหนึ่งได้รับการจุดประกายให้รู้จักกับเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์และระบบการเงินรักษ์โลก (green banking) เชื่อหรือไม่ว่าสองเดือนถัดมา ลูกค้ารายนี้กลับมาทำผมอีกครั้ง พร้อมเล่าว่าเธอได้เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นจากเรื่องราวที่ได้คุยกัน

ดร.ฮันนาห์ แมคคานส์ อาจารย์ด้านสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ถอดสูตรความสำเร็จเรื่องนี้ว่า คุณค่าสำคัญที่ช่างทำผมมีมากกว่านักวิทยาศาสตร์คือ ความใกล้ชิดกับผู้รับสาร ลองนึกดูว่าจะมีสักกี่อาชีพที่ได้ใกล้ชิดกับลูกค้าแบบตัวต่อตัว การปล่อยให้ช่างได้สัมผัสศีรษะเป็นเวลานานสะท้อนถึงความไว้เนื้อเชื่อใจ แถมในระหว่างบทสนทนาอาจได้ล่วงรู้ความลับของลูกค้าด้วย

สำหรับลูกค้าบางคน ช่างทำผมจึงเปรียบเสมือนนักบำบัดชุบชูใจส่วนตัว (ที่ไม่ได้ค่าจ้างบำบัด) นอกจากสกิลการทำผมแล้ว ช่างทำผมยังรู้ด้วยว่าจังหวะไหนควรเงียบหรือจังหวะไหนควรเปลี่ยนหัวข้อพูดคุย ลูกค้าหลายคนจึงติดใจที่จะคุยกับช่างอยู่นานสองนาน แม้จะทำผมเสร็จไปนานแล้ว

นอกจากการให้ช่างเสริมสวยกลายมาเป็นไมโครอินฟลูเอนเซอร์ กระตุ้นให้คนรู้จักกับ Climate Action หรือการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมให้ร้านเหล่านี้เข้าสู่วิถีรักษ์โลกก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลย

ในวงการเสริมสวยล้วนเต็มไปด้วยการใช้สารเคมี ใช้ไฟ ใช้น้ำอย่างมหาศาล แต่ไม่ต้องห่วง เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของการใช้ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก และการสนับสนุน Net Zero ซาลอน ที่กำลังแผ่ขยายไปทั่วยุโรปและออสเตรเลีย

ลองจินตนาการถึงการเข้าไปดัดทำสีในร้านเหล่านี้ เริ่มจากกระบวนการสระผม มีการใช้น้ำหลายพันลิตรต่อวันที่กลายเป็นน้ำเสียปนเปื้อนสารเคมีเพียงไม่กี่นาทีทั้งจากการสระผมและซักผ้า แต่ทางร้านสามารถหาฝักบัวแบบประหยัดน้ำแต่เพิ่มแรงดันให้การสระผมเสร็จเร็วยิ่งขึ้น การใช้ไฟฟ้าจากเครื่องมือทำผมร้อน ๆ ตามมาด้วยการเปิดเครื่องปรับอากาศเย็นฉ่ำภายในร้าน ก็สามารถเปลี่ยนให้เป็นแบบประหยัดพลังงานได้

ในมุมของการสร้างขยะ ร้านเสริมสวยมีขวดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งของแชมพู ครีมนวดและน้ำยาทำผมเต็มไปหมด แต่สามารถเปลี่ยนมาเป็นขวดอลูมิเนียมหรือขวดแก้วที่ล้างและรีไซเคิลได้ 100%

เราเริ่มเห็นธุรกิจรีฟิลน้ำยาที่ส่งเสริมระบบนิเวศการหมุนเวียนขวดให้บรรดาแม่บ้านและร้านเสริมสวย ในขณะที่แผ่นฟอยล์ทำสีผมปริมาณหลายร้อยแผ่นต่อวัน ถูกใช้แบบครั้งเดียวทิ้ง แต่ใช้เวลาถึง 400 ร้อยปีในการย่อยสลายตามธรรมชาติ สามารถทดแทนด้วยแผ่นกระดาษย้อมผมที่ซ้ำได้ถึง 3 ครั้งก่อนทิ้งลงถังรีไซเคิล

เมื่อคำว่า Climate change เป็นคำที่ทุกคนได้ยินจนชินหูแล้ว ยุคนี้ถึงเวลาของคำว่า Climate Action ที่จำเป็นต้องให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมช่วยโลกก่อนที่จะสายเกินแก้

การเรียนรู้เรื่อง Climate Action จึงไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเฉพาะในห้องเรียนอีกต่อไป เพียงแค่เดินเข้าร้านทำผมในซิดนีย์ เรื่องซีเรียสเหล่านี้ก็กลายเป็นเรื่องที่คุยกันแบบเพลิน ๆ ได้

อ้างอิง:

https://www.theguardian.com/environment/2023/mar/26/wash-blow-dry-and-15-degrees-please-hairdressers-trained-to-talk-about-climate-action

https://leafscissors.com/blogs/news/becoming-an-eco-friendly-hair-salon

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า