Kbank Private Banking ธุรกิจบริหารความมั่งคั่งจากธนาคารกสิกรไทย (Kbank) เตรียมเปิดบริการ ‘Reconciliation Service’ หรือบริการแก้ไขความขัดแย้งของครอบครัว ช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและยุติปมความขัดแย้ง
‘พีระพัฒน์ เหรียญประยูร’ Managing Director, Wealth Planning and Non Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า หลังเปิดบริการได้ร่วม 6 ปี พบว่า ลูกค้าเผชิญกับความขัดแย้งในธุรกิจครอบครัวค่อนข้างมาก
ที่น่าเป็นห่วงคือ 15% ขัดแย้งกันรุนแรง ตกลงกันไม่ได้ และไม่สามารถจัดการความขัดแย้งดังกล่าวได้ โดยความขัดแย้งที่มักจะพบเจอ ยกตัวอย่างเช่น ความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งมักจะพบในครอบครัวที่ยึดถือธรรมเนียมจีนที่ให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่าลูกสาว
‘หลายครอบครัวคุณพ่อวางแผนไว้ดีมากเลย มองว่าธุรกิจหลักอยากให้อยู่กับคนนามสกุลเดียวกันเรา เพราะฉะนั้น ธุรกิจหลักมักจะให้กับผู้ชาย ในขณะที่ลูกสาวบางบ้าน จะให้ธุรกิจอื่นๆ ที่เป็นธุรกิจรอง’
นอกจากนี้ ยังพบปัญหาจากการจัดการทรัพย์สินที่มีลักษณะเป็น ‘กงสี’ ซึ่งสมาชิกในครอบครัวแต่ละรายในกงสีมีแนวทางที่อยากจัดการทรัพย์สินไม่เหมือนกัน เช่น สมาชิกบางรายอยากขายทรัพย์สิน แต่สมาชิกบางรายไม่อยากขาย เป็นต้น
หากถามว่า ทำไมบริการบริการแก้ไขความขัดแย้งของครอบครัวจึงสำคัญ ก็เพราะว่า จากกรณีที่พบ หากความขัดแย้งนำไปสู่การฟ้องร้อง ส่วนใหญ่ครอบครัวจะ แตกแยกถาวร จากเรื่องเล็กอย่างการจัดการทรัพย์สิน กลายเป็นเรื่องใหญ่
นอกจากผลกระทบด้านความสัมพันธ์ในครอบครัวแล้ว ความขัดแย้งในธุรกิจครอบครัวยังเป็นปัญหาระดับประเทศที่กระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เนื่องจาก 3 ใน 4 ของจีดีพีไทยมาจากธุรกิจครอบครัว
สำหรับการเข้ามาของธนาคาร จะให้ความรู้สึกที่เป็นกลาง เป็นคนกลางที่ช่วยตัดสิน และเพื่อรักษาความเป็นกลาง KBank Private Banking จะไม่คิดค่าธรรมเนียมใดๆ จากบริการดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ลูกค้าจะมีค่าใช้จ่ายราว 400,000-500,000 บาท สำหรับนักกฎหมายที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายและนักจิตวิทยาที่ให้คำปรึกษาด้านความสัมพันธ์ ซึ่งรวมแล้วเป็นค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าการดำเนินการทางกฎหมายตามปกติ รวมถึงมีความรวดเร็วกว่า
‘เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดความขัดแย้งแล้วลูกค้าหรือคู่กรณีเชิญนักกฎหมายของบ้านเขาเข้ามา ความรู้สึกตรงนี้จะเริ่มเปลี่ยนไป เพราะเขารู้สึกว่า นี่คือกระบวนการแรกของการจะไปต่อสู่กันในศาล’
ส่วนรายละเอียดบริการ KBank Private Banking จะเป็นผู้ช่วยร่าง ‘ธรรมนูญครอบครัว’ โดยมีนักกฎหมายและนักจิตวิทยาเข้ามาร่วมด้วย โดยกระบวนการคือ 1. วิเคราะห์ความขัดแย้ง 2. พิจารณาว่าความขัดแย้งดังกล่าวดำเนินไปถึงขั้นไหนแล้ว และ 3. เริ่มให้บริการแก้ไขความขัดแย้ง
สำหรับผลลัพธ์ที่พบ จะแบ่งเป็น 3 รูปแบบด้วยกัน คือ
1. สมาชิกครอบครัวตกลงกันได้
2. สมาชิกบางรายนอมออกจากกงสี แต่ได้ครอบครัวกลับคืนมา
3. สมาชิกในครอบครัวนำข้อมูลที่ได้ไปดำเนินการในเวทีอื่นต่อ
ปัจจุบัน KBank Private Banking มีลูกค้าประมาณ 790 ครอบครัว รวมประมาณ 4,000 ราย โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารประมาณ 1.8 แสนล้านบาท คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้หลังเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ จะเริ่มให้ความช่วยเหลือลูกค้าอีกประมาณ 10 ครอบครัว