SHARE

คัดลอกแล้ว

กสม. ชี้ เจ้าหน้าที่ คฝ. ใช้ความรุนแรงสกัดกั้นผู้ชุมนุม ‘ราษฎรหยุด APEC 2022’ เป็นการละเมิดสิทธิ กระทบเสรีภาพการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน

(เครดิตภาพ Thai News Pix วันที่ 18 พ.ย. 65)

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยในวันนี้ (2 มิ.ย. 66) ว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีมติเห็นควรให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า ‘ราษฎรหยุด APEC 2022’ กับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (เจ้าหน้าที่ คฝ.) บริเวณถนนดินสอ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 เป็นผลให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก รวมถึงสื่อมวลชนด้วย ซึ่งอาจมีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชน

และต่อมา กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากองค์กรเครือข่ายสื่อมวลชนหลายแห่ง ระบุว่า การปะทะกันในกรณีดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ชุมนุม ผู้สื่อข่าวและช่างภาพอย่างน้อย 4 คน ได้รับบาดเจ็บ อันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และกระทบเสรีภาพในการเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน รวมทั้งได้รับคำร้องจากผู้ร้องรายหนึ่ง ระบุว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เพื่อร้องเรียนปัญหาไปยังผู้นำของประเทศต่างๆ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงเจ้าหน้าที่ คฝ. คุกคามเสรีภาพในการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้นการเคลื่อนขบวน การใช้กำลังสลายการชุมนุมในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ชุมนุม การทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบนั้น

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม กรณีข้างต้น กสม. เห็นว่า มีประเด็นที่ต้องพิจารณา ดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ 1 การชุมนุมของกลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 เมื่อวันที่ 16 – 18 พ.ย. 65 เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธหรือไม่

เห็นว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ประจำกติกา ICCPR ได้อธิบายเงื่อนไขและขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบไว้ในความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 (General comment No. 37 on the right of peaceful assembly) ว่า การชุมนุมที่มีเพียงแต่การผลักหรือดันกัน หรือการขัดขวางการเคลื่อนที่ของยานพาหนะหรือการสัญจรของผู้คน หรือการขัดขวางการทำกิจวัตรประจำวัน ไม่นับว่าเป็น “ความรุนแรง” การใช้ความรุนแรงเฉพาะตัวของผู้ชุมนุมบางคนไม่ควรที่จะถูกนำไปเหมารวมว่าเป็นการกระทำของผู้ชุมนุมคนอื่นๆ และไม่อาจสรุปได้ว่า การชุมนุมทั้งหมดนั้นเป็นไปโดยไม่สงบ

จากเหตุการณ์ดังกล่าว เห็นว่า แม้ผู้ชุมนุมบางกลุ่มหรือบางรายในการชุมนุมราษฎรหยุด APEC 2022 จะมีพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าใช้ความรุนแรง เช่น การสาดพริกและเกลือคั่วร้อนใส่เจ้าหน้าที่ หรือ การใช้ท่อนไม้ตีแขนเจ้าหน้าที่ คฝ. ที่กำลังจับกุมผู้ชุมนุม แต่ไม่ถึงกับเป็นพฤติการณ์ที่ปรากฏอย่างแพร่หลายในที่ชุมนุม จึงไม่อาจนำไปเหมารวมได้ว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มีเจตจำนงที่จะใช้ความรุนแรง ประกอบกับแกนนำรวมถึงผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ ได้ห้ามปรามผู้ชุมนุมที่ขว้างปาสิ่งของใส่ เจ้าหน้าที่ คฝ. อยู่เป็นระยะด้วย จึงเห็นว่า การชุมนุมในภาพรวมเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ อันถือเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพภายใต้กรอบหรือเงื่อนไขที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ จึงมีผลผูกพันให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องเคารพ และประกันการใช้เสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวด้วย

ประเด็นที่ 2 การควบคุมดูแลการชุมนุม เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 65 เจ้าหน้าที่ คฝ. ได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

เห็นว่า เมื่อพิจารณาตามแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ประกอบแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) ซึ่งกำหนดว่า ในการดูแลการชุมนุมสาธารณะ เจ้าหน้าที่ต้องพยายามใช้การเจรจาต่อรองเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ หลีกเลี่ยงการใช้กำลังและเครื่องมือควบคุมฝูงชนจนถึงที่สุดก่อน หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การใช้กำลังและอาวุธต้องใช้เพียงเท่าที่จำเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยการใช้กระบองต้องไม่ตีบริเวณอวัยวะสำคัญ และต้องแจ้งเตือนก่อนการใช้ ส่วนการยิงกระสุนยางให้ยิงต่อเป้าหมายที่กระทำการหรือมีท่าทีคุกคามต่อชีวิตของผู้อื่น ต้องกำหนดเป้าหมายโดยชัดเจน

จากข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ คฝ. ใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชน 2 ประเภท ได้แก่ กระบองและกระสุนยาง ซึ่งยิงผู้ชุมนุมโดยไม่เลือกเป้าหมายที่ชัดเจน และไม่แจ้งเตือนให้ผู้ชุมนุมทราบก่อน ทำให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมและบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องได้รับบาดเจ็บหลายราย จนถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น ทั้งยังปรากฎด้วยว่า เจ้าหน้าที่ใช้วัตถุอื่นๆ ได้แก่ ขวดน้ำ ขวดแก้ว และท่อนไม้ ขว้างปาไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมหลายครั้ง ซึ่งวัตถุเหล่านี้ไม่ใช่เครื่องมือควบคุมฝูงชนที่จะสามารถใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายได้ การกระทำข้างต้นจึงไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย จึงเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชีวิตและร่างกายของประชาชน

นอกจากนี้ การใช้กำลังในการเข้าจับกุมผู้ชุมนุม เห็นว่า เจ้าหน้าที่ คฝ. ใช้กำลังที่เกินกว่าความจำเป็นเพื่อการควบคุมตัวหลายครั้ง เช่น การผลักจนล้มหรือการรุมเตะและชก ทั้งที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้ถูกจับกุมบางรายมีท่าทีที่ยอมจำนนและไม่ขัดขืน และแม้บางรายจะแสดงอาการขัดขืนอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้มีอาวุธที่จะใช้ต่อต้านจนถึงขนาดที่ผู้ถูกร้องจะต้องใช้กำลังเข้ารุมทำร้าย ซึ่งส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย การเข้าจับกุมตัวผู้ชุมนุมในหลายครั้งจึงมีลักษณะเกินความจำเป็น ไม่เหมาะสมและไม่ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ของผู้ถูกจับกุม ถือเป็นการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของประชาชนเช่นเดียวกัน

ประเด็นที่ 3 การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ คฝ. มีการกระทำที่กระทบต่อเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนหรือไม่

เห็นว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประจำกติกา ICCPR ได้ระบุถึงการคุ้มครองการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนไว้ในความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 ว่า สื่อมวลชนและบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่สังเกตการณ์หรือการรายงานเหตุการณ์การชุมนุมต้องได้รับความคุ้มครอง และจะถูกห้ามมิให้ทำหน้าที่หรือจำกัดการทำหน้าที่โดยมิชอบไม่ได้ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการที่ประชาชนจะสามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบได้อย่างเต็มที่

การที่เจ้าหน้าที่ คฝ. ปฏิบัติหน้าที่ในการชุมนุมกรณีนี้ โดยปราศจากความระมัดระวัง ขัดต่อกฎหมายและมาตรฐานสากลที่ควรจะต้องปฏิบัติ จนทำให้มีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บ รวมถึงมีการใช้กำลังทำร้ายและคุกคามสื่อมวลชนให้ปฏิบัติตามคำสั่ง ทั้งยังพยายามขัดขวางหรือปิดบังไม่ให้สื่อมวลชนรายงานข่าว โดยไม่มีเหตุผลความจำเป็น ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหน้าที่ของรัฐในการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่สื่อมวลชน อันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และเสรีภาพในการเสนอข่าวสารของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญ

จากเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 66 จึงมีมติให้เสนอแนะมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สรุปได้ว่า

– ให้เร่งรัดหาข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกรายที่รับผิดชอบในการออกคำสั่ง และเจ้าหน้าที่ คฝ. ที่ใช้กำลัง และเครื่องมือควบคุมฝูงชน โดยไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติที่กำหนด

– ต้องติดตั้งกล้องพกพาที่ตัวเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ละรายให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานสากลด้วย

– ให้สั่งการไปยังเจ้าหน้าที่ คฝ. ที่เกี่ยวข้องในการดูแลการชุมนุมสาธารณะให้อำนวยความสะดวกในการชุมนุม ไม่แทรกแซงการชุมนุมที่เป็นไปโดยสงบ ไม่ห้าม จำกัด ขัดขวาง หรือรบกวนการชุมนุมโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร

– หลีกเลี่ยงการใช้กำลังในการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยควรมุ่งเน้นการลดความตึงเครียดของเหตุการณ์ไม่ให้นำไปสู่การใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย หากมีสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้กำลังในการควบคุมดูแลการชุมนุมหรือเครื่องมือควบคุมฝูงชน ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

– ระมัดระวังผลกระทบต่อผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น สื่อมวลชน ผู้สังเกตการณ์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางการแพทย์ในพื้นที่การชุมนุม และประชาชนโดยทั่วไป

– รวมทั้ง ให้ประชาสัมพันธ์หรือเปิดช่องทางให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือได้รับความเสียหายจากการใช้กำลังเข้าควบคุมดูแลการชุมนุมและการใช้กำลังเข้าจับกุมที่เกินกว่าความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วนในเหตุการณ์การชุมนุมดังกล่าว ยื่นคำขอให้มีการเยียวยาและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

สำหรับมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

กสม. มีข้อเสนอให้ ตร. กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีหน้าที่ควบคุมสั่งการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ให้สื่อสารและประสานงานกับผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจของฝ่ายผู้ชุมนุมอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้การบริหารจัดการชุมนุมเป็นไปอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ให้ผู้จัดการชุมนุมดูแลการชุมนุมให้เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ กำชับและย้ำเตือนผู้ชุมนุมโดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย ให้ระมัดระวังการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย งดเว้นการใช้ความรุนแรง การแสดงพฤติกรรมในลักษณะยั่วยุที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง หรือกระทำการในลักษณะที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นด้วย


 

My Country Talks ร่วมกับสำนักข่าว TODAY ขอเชิญผู้ที่มีความสนใจ เข้าร่วมกิจกรรม World Talks ที่จะชวนคนจากหลากหลายพื้นที่ของโลกมาแลกเปลี่ยนไอเดีย เรื่องราว มุมมอง ผ่านการสนทนาแบบ 1:1

ผู้เข้าร่วมจะได้รับโอกาสพูดคุยกับผู้ที่มาจากต่างวัฒนธรรม ต่างบริบท ต่างแนวคิด โดยคัดจากการตอบคำถามในแง่มุมต่างๆ

หากท่านสนใจเข้าร่วม สามารถเริ่มต้นจากการตอบคำถามด้านล่างนี้ หรือเข้าไปที่ https://www.theworldtalks.org/invite

*คำถามและบทสนทนาเป็นภาษาอังกฤษ

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า