SHARE

คัดลอกแล้ว

เหล้า-เบียร์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  เป็นสิ่งที่ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็นเครื่องดื่มที่ไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ และยิ่งหากดื่มในปริมาณที่มากอย่างต่อเนื่องทุกวัน จนเกินเลยไปถึงขั้นกลายเป็น “ผู้ติดเหล้า” นอกจากจะเกิดปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของบุคคลแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวและสังคมอีกด้วย เพราะผู้ที่ติดเหล้ามักจะพบปัญหาทางสุขภาพที่ร้ายแรง และนำไปสู่การมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมตามมา

ผลกระทบแรกที่เห็นได้ชัด คือ ครอบครัว เพราะการติดเหล้าของบุคคล มักนำไปสู่ความรุนแรงและความขัดแย้งในครอบครัวได้ ก่อนจะหนักขึ้นไปสู่ขั้นถัดไป คือปัญหาที่ลุกลามไปสู่สังคม จากการขาดความไว้วางใจจากผู้ใกล้ชิด และการสูญเสียงานที่สำคัญ อันไปสู่ผลกระทบต่อสังคมที่กว้างขึ้นอีก เช่น การลดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเพิ่มอาชญากรรม การทำงานที่ไม่เสถียร หรือความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุต่อผู้อื่นเมื่อดื่มแล้วขับขี่ ซึ่งทั้งหมดล้วนมาจากผลกระทบ ที่เกิดขึ้นกับระบบสมองจากพิษของแอลกอฮอล์

หลายคนร่างกายและสมองติดแอลกอฮอลล์จนต้องหามาดื่มทุกวัน แต่อีกมุมหนึ่งก็อยากจะอยากเลิกแทบขาดใจ… แต่ก็ไม่สามารถเลิกได้อย่างถาวรสักที เพราะสารเคมีในสมองผิดเพี้ยนไปแล้ว บางคนตัดใจเลิกแบบหักดิบ กลายเป็นว่าต้องเผชิญกับความทรมานกับ “อาการลงแดง” จนแทบคลั่ง  ทำให้ผู้ที่ต้องการหลุดพ้นจากวงจรความทุกข์นี้ไม่สามารถหลุดพ้นได้สักที ทั้งขาดกำลังใจ แรงจูงใจ และที่ปรึกษาที่พร้อมอยู่เคียงข้างให้สามารถเลิกเหล้าได้สำเร็จอย่างถูกวิธี

ปัญหานี้ผู้เกี่ยวข้องอย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด (1413 สายด่วนเลิกเหล้า) และภาคีเครือข่าย ต่างทราบกันดี ทุกฝ่ายจึงพยายามระดมสมองร่วมมือกัน คิดหาวิธีที่จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้ติดเหล้าให้ได้ในทุกมิติ เป็นที่มาของ “อีกก้าวของบริการช่วยเลิกเหล้า” คือการเปิดตัว “น้องตั้งใจ” นวัตกรรมแชทบอทช่วยเหลือเลิกเหล้า ที่ต่อยอดมากจากบริการ 1413 สายด่วนเลิกเหล้า เหมาะสำหรับคนไม่กล้าโทร ไม่กล้าคุย แต่ชอบแชทผ่านมือถือในยุคสมัยนี้ ที่แค่ “แอดไลน์” เป็นเพื่อน ก็มาพร้อมกับออปชั่นการบริการให้เลือกใช้อีกเพียบ

สสส.เผยสถิตินักดื่มเข้ารับการบำบัดทะลุ 8 แสนคน

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปจำนวน 57 ล้านคน เป็นคนเคยดื่มหนักในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา 5.73 ล้านคน คิดเป็น 10.05% ในจำนวนนี้ดื่มหนักเป็นประจำถึง 1.37 ล้านคน คิดเป็น 2.40% และดื่มหนักเป็นครั้งคราว 4.36 ล้านคน คิดเป็น 7.65 % แต่แนวโน้มถือว่าลดลงตามลำดับจาก 13.95% ในปี 2557 เหลือ 11.9% ในปี 2560 และเหลือ 10.05% ในปี 2564 สะท้อนว่าพฤติกรรมการดื่มอย่างหนักของคนไทยมีแนวโน้มดีขึ้น

นอกจากนี้จากรายงานผ่านระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2566 พบว่าตั้งแต่ต้นปีผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ารับการบำบัดในสถานพยาบาลอยู่ที่ 857,582 คน คิดเป็น 65.2% ของผู้ที่ดื่มสุราที่ควรได้รับการบำบัด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 63.71%

“แม้จะมีผู้เข้ารับการบำบัดเพิ่มมากขึ้น แต่ยังพบข้อจำกัดในการเข้าถึงการรับบริการ เช่น ผู้ดื่มขาดความตระหนัก ไม่กล้าขอเข้ารับบริการเพื่อรับคำปรึกษา ไม่ทราบแหล่งที่จะขอรับความช่วยเหลือเมื่อประสบปัญหา เรื่องนี้ถือเป็นความท้าทาย สสส. และภาคีเครือข่าย จึงเร่งพัฒนาการให้บริการเชิงรุกในการส่งเสริมให้ประชาชน ลด ละ เลิก วิธีการหยุดดื่มสุราอย่างถูกต้อง ปลอดภัย และการเตรียมความพร้อมของระบบบริการเพื่อรองรับการให้บริการส่งต่อกับสถานพยาบาล”

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส.

หากเทียบกับสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้านแล้ว นางสาวรุ่งอรุณ เผยว่า ประเทศไทยนั้นมีการให้บริการในวงกว้างเข้าถึงได้มากกว่าหลายๆ ประเทศ โดยจะมีการจัดตั้งเช่นกลุ่ม อสม. ที่เข้าไปให้ข้อแนะนำได้ และสสส.เข้าไปดูการทำงานบอกแนะที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วิธีการลดละเลิก มีเครือข่ายประชาคมเลิกเหล้า ที่ทำงานในทุกจังหวัดก็จะเกิดเป็นอีกส่วนในการขยายเข้าถึงบริการให้ได้มากที่สุด 1413 เป็นอีกช่องทางที่มาอุดช่องว่างเหล่านี้เพื่อให้คนเข้าถึงได้ง่าย

“จริงๆ แล้วเรื่องการดื่มเป็นสิทธิส่วนบุคคลเราไม่มีสิทธิ์ไปห้าม แต่สสส.อยากเป็นอีกหนึ่งช่องทาง ที่ให้ข้อมูลเต็มรูปแบบ ครบถ้วนในทุกแง่มุม ก่อนดื่มเราอยากให้คุณคิดเพิ่มขึ้นและต้องพร้อมรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ที่สังคมรับไม่ได้ คือ การดื่มแล้วขับ การดื่มแล้วเกิดผลกระทบกับครอบครัว มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เราจึงต้องการเปิดช่องทางต่างๆ เพื่อให้บริการเป็นจุดให้ข้อมูลและเป็นที่ให้คำปรึกษากับนักดื่มเพิ่มขึ้น”

บทบาทของสสส. คือต้องการเชื่อมช่องทางบริการสุขภาพไปสู่การรักษาที่ถูกวิธี ที่ดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้นการเปิดบริการ 1413 สายด่วนเลิกเหล้าที่ผ่านมา และการเปิดตัวแชทบอท “น้องตั้งใจ” คือ ความคาดหวังของสสส.  ที่มั่นใจว่าจะมาช่วยต่อยอดการดูแลให้ครอบคลุมมากขึ้น ให้ภาพรวมของการดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญกว่านั้นปัญหาต่างๆ ต้องลดลงด้วย เช่น ความรุนแรงภายในครอบครัว ซึ่งในประเทศไทยค่านิยมชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงถูกกระทำ หรือเดือดร้อนจากเรื่องนี้มาก ถึงบอกว่าทุกคนดื่มได้แต่ต้องมองรอบข้างด้วย หากไม่ก่อให้เกิดปัญหา 100% จะเป็นเรื่องที่ดีมาก

รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด (1413 สายด่วนเลิกเหล้า) ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต่อยอด 1413 สู่ “น้องตั้งใจ” แชทบอทเลิกเหล้าเข้ากับยุค  ​

ทางด้าน รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด (1413 สายด่วนเลิกเหล้า) ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ข้อมูลการให้บริการ 1413 สายด่วนเลิกเหล้า ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์แบบครบวงจร รวมถึงช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ตั้งแต่ปี 2564-2565 มีผู้โทรเข้ามาขอรับคำปรึกษามากถึง 26,176 สาย โดยเฉพาะช่วงเข้าพรรษา ตั้งแต่เดือน ก.ค. – ก.ย. ของทุกปี จะมีคนโทรเข้ามาขอรับบริการปรึกษาเพื่อเลิกเหล้ามากขึ้น

ดังนั้น เพื่อขยายการให้บริการได้อย่างทั่วถึง จึงพัฒนา “น้องตั้งใจ นวัตกรรมแชทบอทช่วยเหลือเลิกเหล้า” ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียน เพื่อดูประวัติส่วนตัว และบันทึกการดื่มย้อนหลัง ตลอดจนประเมินระดับความเสี่ยง และวิธีการเลิกเหล้า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางช่วยเหลือผู้มีปัญหาจากการดื่มสุราทางออนไลน์ สอดคล้องกับพฤติกรรมการสื่อสารในยุคปัจจุบันที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย และเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

รศ.พญ.รัศมน เปิดเผยว่า การเลิกเหล้านั้นขึ้นอยู่แต่ละบุคคล ซึ่งถ้าสามารถหยุดได้ 3 เดือน  ถือว่าเลิกได้เบื้องต้น แต่ต้องมีการติดตามตลอดระยะเวลา 1 ปี ถ้าไม่กลับไปดื่มก็ถือว่าหายจากอาการติดเหล้า ซึ่งบางคนก็มีการดื่มแต่ลดปริมาณลงจากเดิมได้มาก หรือบางคนก็อาจเกิดการซ้ำกลับไปดื่มอีก เหมือนการติดเสพสารเสพติดถือว่าเป็นวงจรธรรมชาติของโรคติดสาร ซึ่งเราก็จะมีการจัดการกระบวนการตรงนี้เพื่อไม่ให้เขากลับไปติดอีก ผู้ป่วยบางคนจะมีอาการถอนตั้งแต่ระดับเล็กน้อย มีอาการมือสั่นนิด ๆ ปานกลางจะมีอาการทางกายอื่น ๆ เช่น ชัก และอาการรุนแรง อาจจะมีอาการหลอน เพ้อ เข้ามาด้วย เพราะสมองเสียหายมาก เนื่องจากดื่มมาเป็นระยะยาว เมื่อเลิกดื่มทันทีสมองที่โดนกดด้วยแอลกอฮอล์จะถูกกระตุ้นอย่างรุนแรงทำให้สารเคมีในสมองเสียหาย ซึ่งเราจะไม่แนะนำให้เลิกกะทันหัน ต้องหาปริมาณให้ได้ก่อนว่าแต่ละวันดื่มเท่าไร แล้วลดปริมาณลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเลิกได้ด้วยตัวเอง

“ในคนที่ติดเหล้าหากหยุดการติดได้แล้ว ต้องพยายามไม่ให้ร่างกายของเขากลับไปติดอีก เพราะโอกาสที่จะกลับไปติดจะมีมากกว่าคนทั่วไป เพราะสมองถูกทำลายไปแล้ว แต่ถ้าทำให้เขาหยุดดื่มได้มากเท่าไร โอกาสที่จะกลับไปติดอีกครั้งจะมีอัตราที่น้อยกว่า เพราะสมองจะค่อยๆ ฟื้นขึ้นมาตามธรรมชาติ โดยเฉพาะผู้ดื่มที่มีอายุน้อย สมองเด็กจะบอบบางกว่าเปราะบางง่าย ถ้าดื่มจะติดง่ายกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้นเขาจึงมีกฎหมายกำหนดไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์หรือห้ามขายแอลกอฮอล์ให้เด็กเพราะต้องการปกป้องในส่วนนี้ด้วย”

รศ.พญ.รัศมน เผยถึงความคาดหวังกับผู้ที่ใช้บริการ 1413 ว่า ปัจจุบันคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 28% ผลกระทบทำให้เกิดความรุนแรงภายในครอบครัว อุบัติเหตุ สุขภาพ เช่น โรคตับ สมองเสื่อม โรคหัวใจ มะเร็งเต้านม เพราะฉะนั้นถ้าทำให้คนเหล่านี้ เข้ามาใช้แชทบอทน้องตั้งใจได้ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว อยากให้คนที่ดื่มหนักๆ เข้ามาใช้บริการ ซึ่งอยากให้มันแพร่หลายออกไป รวมถึงทาง 1413 ต้องพัฒนาให้แอปพลิเคชันเข้าถึงง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ที่โทรเข้ามาหรือแชทเข้ามาอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ดื่มเท่านั้น แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ครอบครัว ก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้เช่นกัน

พ.ท.นพ.ณัฐพล โชคไมตรี กองจิตเวชและประสาท โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

มั่นใจเทคโนโลยีใหม่ช่วยนักดื่มได้มากขึ้น  

พ.ท.นพ.ณัฐพล โชคไมตรี กองจิตเวชและประสาท โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า แชทบอทน้องตั้งใจ พัฒนาขึ้นจากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ ร่วมกับการสำรวจความต้องการและความคาดหวังของกลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะเป็นผู้ใช้งานกับผู้ให้บริการจาก 1413 สายด่วนเลิกเหล้า เพื่อให้เป็นเหมือนเพื่อนคนหนึ่งที่ใกล้ชิดผู้ดื่ม คอยติดตามและให้คำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงจากการดื่มแอลกอฮอล์ ภายใต้การดูแลจากเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาจาก 1413 สายด่วนเลิกเหล้า ซึ่งจากการทดลองใช้แชทบอทจากกลุ่มตัวอย่าง พบจำนวนวันดื่มของผู้ใช้บริการปรึกษาเลิกเหล้าผ่านแชทบอทมีแนวโน้มลดลงมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้ และระดับความรุนแรงของความเสี่ยงในการดื่มก็ลดลง

ผศ.นพ.ดร.วรภัทร รัตอาภา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การบำบัดรักษาผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในแต่ละประเทศมีหลักการคล้ายกันคือ การช่วยเหลือให้ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกิดการลด ละ เลิก แต่แตกต่างกันตามบริบทและทรัพยากรที่สามารถจัดสรรได้ในแต่ละประเทศ แต่ปัจจุบันในหลายการศึกษาได้นำเทคโนโลยีมาช่วยในการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาจากการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น เช่น ฮอตไลน์ให้คำแนะนำปรึกษา สื่ออิเล็กทรอนิกส์ แอปพลิเคชัน อุปกรณ์ติดตามตัวเพื่อตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของสัญญาณชีพหรือสรีรวิทยาของร่างกาย เพื่อช่วยเตือนหรือติดตามเมื่อเกิดภาวะต่าง ๆ เช่น อาการเมา อาการถอน เป็นต้น พบว่ามีส่วนช่วยให้ผู้ที่มีแรงจูงใจประสบความสำเร็จในการลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ และใช้เทคโนโลยีเป็นทางเลือกในการเลิกดื่มเพิ่มขึ้น

โดยข้อดีของการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการบำบัดรักษา เช่น เหมาะกับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ ช่วยติดตามการรักษา โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีทรัพยากรจำกัด ข้อมูลที่สื่อสาร สามารถปรับให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้ Self-guided interventions ช่วยเพิ่มการเข้าถึงการบำบัดรักษาในพื้นที่ห่างไกล เป็นทางเลือกในการบำบัดรักษาในผู้ที่ไม่ต้องการเดินทางมารับการรักษา หรือแบบ Face-to-Face และช่วยลดStigma หรือการตีตราปัญหาทางจิตใจได้

อย่างไรก็ตาม จากสถิติการให้บริการสายด่วน 1413 ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2561- ธันวาคม พ.ศ. 2564 รวมทั้งสิ้น 141,886 คน แบ่งเป็นเพศชาย 52.34%  เพศหญิง 47.66% โดยมีอายุน้อยกว่า 15 ปี 0.04% อายุ 15-24 ปี 6.29% อายุ 25-59 ปี 87.35% อายุมากกว่า 59 ปี 6.33%

โดยแบ่งการรับบริการจากเจ้าหน้าที่ 68,619 คน คิดเป็น 48.36% รับฟังความรู้อัตโนมัติ 69,400 คน คิดเป็น 45.30% และ Outgoing ฝากเบอร์ให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ 3,867 คน คิดเป็น 2.73% โดยจำนวนผู้ดื่มที่ได้รับการคัดกรองความเสี่ยง Assist มีทั้งสิ้น 10,206 คน แบ่งเป็นความเสี่ยงสูง 36.57% เสี่ยงปานกลาง 42.60% เสี่ยงต่ำ 20.82% และจำนวนญาติที่ได้รับการประเมินความเครียด STs มีจำนวน 4,033 คน จากตัวเลขดังกล่าวทุกฝ่ายจึงคาดหวังว่า การเปิดตัวแชทบอท “น้องตั้งใจ” ย่อมจะเข้ามาช่วยนักดื่มที่ต้องการเลิกเหล้าได้ครอบคลุมทั่วถึง โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ชอบการสนทนาผ่านโทรศัพท์หรือการเผชิญหน้าได้มากขึ้น

ทั้งนี้หากคุณคือ นักดื่มตัวยงที่มีเป้าหมายอยากเลิกดื่ม แต่ขาดแรงจูงใจ ขาดข้อมูลสนับสนุนที่ถูกต้อง หรือต้องการประเมินความเสี่ยงอาการติดเหล้าของตนเองว่า เข้าข่ายอันตรายแล้วหรือไม่ ? แต่ละวันควรลดปริมาณดื่มเท่าไหร่ ?  สามารถ “สแกนคิวอาร์โค้ด” เพิ่มเพื่อนกับ “น้องตั้งใจ” ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ไปลองแชทได้ หรือสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กเพจ 1413 สายด่วนเลิกเหล้า

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า