SHARE

คัดลอกแล้ว

เกาะพะงันเป็นเกาะที่การท่องเที่ยวเติบโต พูดถึงเกาะพะงัน ใครๆ ก็นึกถึงฟูลมูนปาร์ตี้ แต่การเติบโตของการท่องเที่ยวและเมืองมาพร้อมกับปัญหาขยะบนเกาะ ที่เทศบาลต้องใช้เงินถึงปีละ 23 ล้านบาทในการจัดการขยะเหล่านี้

แต่ขยะก็ใช่ว่าจะหายไปโดยง่าย เมื่อขยะปริมาณมากเริ่มเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม คนพื้นที่เริ่มมองเห็น ก็เกิดการร่วมมือกันขึ้นบนความตั้งใจว่าจะทำให้เกาะแห่งนี้เป็นชุมชนที่ไม่ต้องมีถังขยะ เพราะทุกคนสามารถจัดการกับของเหลือทิ้งเหล่านั้นได้

และก้าวเล็กๆ เพื่อไปสู่เป้าหมายนั้นก็เริ่มที่การทำอิฐบล็อกรักษ์โลกที่ “โรงเรียนเกาะพะงันศึกษา” ด้วยความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของครูในโรงเรียน นำมาสู่การมีจิตสำนึกร่วมกันของทุกฝ่ายบนเกาะ

เรื่องนี้เป็นไปเป็นมาอย่างไร TODAY Bizview ชวนอ่านกันในบทความนี้

[ ขยะบนเกาะ เกิดง่าย กำจัดยาก ]

หากพูดถึง ‘เกาะพะงัน’ ภาพที่ใครหลายคนนึกถึง น่าจะเป็นภาพการเป็นเกาะเล็กๆ อยู่ใกล้เกาะสมุยที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่โด่งดังไปทั่วโลกอย่างฟูลมูนปาร์ตี้

การเติบโตของการท่องเที่ยวนี้เองทำให้เกิดการขยายตัวของผู้คนและเมือง ทั้งคนท้องถิ่นที่อยู่มาแต่เดิม คนที่เข้ามาทำงาน และคนที่มาเข้ามาท่องเที่ยว

เมื่อเมืองขยายแบบไม่ได้มีมาตรการจัดการขยะรองรับ ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาที่ตามมาของเกาะพะงันคือขยะจำนวนมหาศาลที่ค้างอยู่บนเกาะ และด้วยความที่สภาพของการเป็นเกาะ ทำให้การจัดการขยะทำได้ยากกว่าบนแผ่นดินใหญ่ 3-4 เท่า

กล่าวคือ สภาพความเป็นเกาะทำให้การขนส่งขยะมีต้นทุนการขนส่งที่มากกว่า ขยะบางประเภทขายไปก็ได้ราคาไม่คุ้มกับการจ่ายค่าเดินทางให้ร้านรับซื้อด้วยซ้ำ

และหากจะกำจัดขยะด้วยวิธีฝังกลบเองบนเกาะ ที่ดินบนเกาะพะงันตอนนี้ก็กลายเป็นที่ดินที่มีมูลค่าไปทุกอณู ทำให้การหาสถานที่ที่จะนำมาใช้จัดการขยะนั้นทำได้ยาก

บนเกาะพะงันประกอบไปด้วยเทศบาลทั้ง 3 เทศบาล โดยเทศบาลตำบลเพชรพะงัน มีขยะเกิดขึ้น 15 ตัน/วัน เทศบาลตำบลบ้านใต้ มีขยะเกิดขึ้น 15 ตัน/วัน และเทศบาลตำบลเกาะพะงัน มีขยะเกิดขึ้น 20 ตัน/วัน

เทศบาลเหล่านี้ต้องใช้เงินวันละ 7 หมื่นบาท หรือราว 23 ล้านบาท/ปี เพื่อจัดการกับของเสีย-ของเหลือทิ้งเหล่านี้

แม้จะมีงบประมาณจากภาครัฐเพื่อจัดการกับขยะ แต่นั่นก็ดูยังไม่เพียงพอต่อขยะมหาศาลบนเกาะพะงันแห่งนี้ ขยะบนเกาะเริ่มกลายเป็นมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ส่งกลิ่นเหม็น เกาะพะงันไม่สะอาดสวยงามดังก่อนอีกต่อไป และนั่นก็ทำให้คนพื้นที่เองเริ่มเห็นปัญหา

[ โมเดลแห่งความสำเร็จ “โรงเรียนไร้ถัง” ]

ในปี พ.ศ. 2552 “ครูกล้วย-กิตติมา เนตรพุกกณะ” ครูโรงเรียนเกาะพะงันศึกษาที่เป็นคนเกาะพะงันแท้ๆ เริ่มรู้สึกถึงปัญหาเหล่านี้ เธอบอกว่าตอนนั้นขยะบนเกาะส่งกลิ่นเหม็นมาก ที่ดินบนเกาะใช้ปลูกผักไม่ได้ เตาเผาขยะก็ระเบิดเพราะทำงานหนักเกินไป นั่นทำให้เธอเริ่มตระหนักและพยายามหาทางที่จะแก้ปัญหา

ความเป็นครูทำให้ครูกล้วยเริ่มจัดการขยะในโรงเรียน ด้วยการจัดทำกิจกรรมส่งเสริมการแยกขยะด้วยหลักการง่ายๆ โดยในปี 2564 ครูกล้วยเริ่มนำหลักการจัดการขยะอย่าง 3Rs คือ Reduce, Reuse และ Recycle มาใช้

แต่ดูเหมือนว่ายิ่งแยกเท่าไหร่ ขยะก็ดูเหมือนจะยิ่งเพิ่มขึ้น นั่นทำให้ครูกล้วยเริ่มมองหาหนทางใหม่ที่จะช่วยจัดการกับของเหลือทิ้งเหล่านี้ได้อย่างแท้จริง

แล้วครูกล้วยก็ได้มาเจอกับโมเดล “ต้นกล้าไร้ถัง” หรือโมเดลการจัดการวัสดุเหลือทิ้งที่มี “โรงเรียนอนุบาลทับสะแก” จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้นแบบ และมี “บมจ.ซีพี ออลล์” เข้าไปสนับสนุนให้โครงการนี้สำเร็จได้มากยิ่งขึ้น

โดยโรงเรียนอนุบาลทับสะแกถือเป็นโรงเรียนต้นแบบ (School Model) ในโครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED ของซีพี ออลล์ ที่สามารถแก้ไขปัญหาขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดจำนวนขยะจาก 15 ตัน/เดือน เหลือเพียง 2 กิโลกรัม/ เดือน หรือคิดเป็น 98%

และเป็นที่ประจักษ์ด้วยรางวัล “ค่าของแผ่นดิน” ด้านการส่งเสริมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

โรงเรียนเกาะพะงันศึกษาก็เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนในเครือข่าย CONNEXT ED ที่ซีพี ออลล์ มองว่ามีศักยภาพพอที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการจัดการของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซีพี ออลล์ จึงเป็นเสมือนข้อต่อที่ทำให้โรงเรียนเกาะพะงันศึกษานำโมเดลของโรงเรียนอนุบาลทับสะแกมาใช้

[ เริ่มต้นที่ ‘แยกขยะ’ ]

ความที่อยากจะให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ ครูกล้วยเริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของทั้งคุณครูและนักเรียนในโรงเรียน โดยเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ อย่างในห้องเรียน

ในเดือนพฤษภาคม 2566 จากที่แต่ละห้องเรียนมีถังขยะ 2 ใบสำหรับใส่กระดาษและขยะอื่นๆ ก็เปลี่ยนถังนับ 10 ใบที่นำมาแยกใส่วัสดุเหลือทิ้งอย่างละเอียด กล่าวคือ ถังแต่ละใบมีหน้าที่เป็นภาชนะของวัสดุแต่ละอย่างอย่างชัดเจน เช่น ขวดน้ำ, ฝาขวด, ฉลากขวดน้ำ, ถุงขนม, ขี้ยางลบ, ไส้ปากกา, กล่องนม, กระดาษสี, เศษดินสอ, ถังใส่น้ำทิ้ง เป็นต้น

และถังเหล่านี้เกิดจากการที่ครูกล้วยให้นักเรียนลองคิดว่าเราสามารถแยกของเหลือทิ้งออกเป็นอะไรได้บ้าง และออกแบบ-ประดิษฐ์ถังเหล่านั้นขึ้นมากันด้วยตัวนักเรียนเอง

นอกจากในห้องเรียน ภายในโรงเรียนยังเริ่มใช้มาตรการต่างๆ เพื่อลดการเกิดขยะให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ให้นักเรียนและคุณครูพกขวดน้ำและภาชนะใส่อาหารมาโรงเรียน และนั่นก็เริ่มก่อเป็นวัฒนธรรมใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่เริ่มก่อตัวขึ้นในโรงเรียนด้วย

[ เปลี่ยนขยะเป็นอิฐบล็อกสร้างสนาม ]

และเมื่อวันที่ 27-28 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ซีพี ออลล์ ก็เดินหน้าสานต่อโครงการต้นกล้าไร้ถังที่โรงเรียนเกาะพะงันศึกษา แต่ที่มากไปกว่าเดิม คือการต่อยอดไปเป็นโครงการ Green Living “รักษ์เกาะ 24 ชั่วโมง” โดยอาศัยความร่วมมือทั้งโรงเรียน ชุมชน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศการจัดการขยะทั้งด้าน Reuse, Recycle, Upcycle มาร่วมแก้ปัญหาขยะ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมบนเกาะพะงัน

สิ่งที่ซีพี ออลล์ และเซเว่น อีเลฟเว่น เข้าไปร่วมสนับสนุนในครั้งนี้ คือการผลักดันโรงเรียนเกาะพะงันศึกษาให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน และสนับสนุนองค์ความรู้ในการ Upcyling จากขยะพลาสติกสู่ “อิฐรักษ์โลก” เพื่อสร้างองค์ความรู้ในการจัดการขยะและคัดแยกวัสดุอย่างถูกต้อง ตลอดจนสร้างรายได้จากอิฐรักษ์โลกสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชน

อิฐรักษ์โลกดังกล่าวทำขึ้นโดยใช้ขยะพลาสติกกลุ่มที่เอาไปทำอะไรไม่ค่อยได้ หรือเรียกได้ว่าแทบจะไร้ค่าอย่างฉลากขวดน้ำ ถุงขนม เปลือกลูกอม นำมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นนำไปผสมกับปูนซีเมนต์และวัสดุอื่น เทลงใส่บล็อก ทำลายตามชอบ รอให้แห้ง ทาสี ก็จะได้เป็นอิฐทรง 6 เหลี่ยมขึ้นมานั่นเอง

โดยเป้าหมายของเกาะพะงันศึกษา คือต้องกรนำอิฐรักษ์โลกดังกล่าวมาทำเป็นสนามตะกร้อที่สามารถประยุกต์ไปใช้งานอเนกประสงค์อื่นได้

ซึ่งอิฐ 1 ก้อน หนัก 10 กิโลกรัม มีส่วนผสมเป็นพลาสติก 4 กิโลกรัม เรียกได้ว่าเหมือนใช้พลาสติกแทนทราย ทำให้การสร้างสนามนั้นใช้ต้นทุนถูกกว่าปกติถึง 60% ทั้งยังไม่ต้องกังวลเรื่องไมโครพลาสติก เพราะเป็นการใช้อิฐในพื้นที่บนบกของเกาะ ไม่ใช่ริมทะเล จึงเป็นเรื่องยากที่อิฐเหล่านี้จะถูกย่อยให้เป็นโมเลกุลที่เล็กลงแล้วหลงเหลืออยู่ในน้ำ

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของเรื่องนี้คือ หากต้องการทำสนามดังกล่าวให้เสร็จสมบูรณ์ จะต้องใช้อิฐมากถึง 1,200 ก้อน หรือเท่ากับว่าต้องใช้ขยะพลาสติกมากถึง 4,800 กิโลกรัม มองเป็นตัวเลขกลมๆ คือเกือบ 5 ตัน

นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย!

ซึ่งตรงนี้ ซีพี ออลล์ บอกว่าขยะพลาสติกจะได้รับมาจากร้านเซเว่น อีเลฟเว่นบนเกาะพะงัน ชุมชน และโรงเรียนเอง โดยในวันที่จัดกิจกรรมดังกล่าว มีการเซ็น MOU ร่วมกันระหว่างหน่วยงาน องค์กร ชุมชน บริษัท ห้างร้านบนพื้นที่เกาะพะงัน ร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และซีพี ออลล์ จำกัด ในฐานะผู้ริเริ่มประสานงานดำเนินโครงการ “เกาะพะงันไร้ถัง” เพื่อตกลงในการขับเคลื่อนการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกัน

และนั่นน่าจะเป็นสัญญาณที่ดี

ทั้งนี้ ปัจจุบันชุมชนบนเกาะพะงันบางส่วนเริ่มจัดการขยะบางประเภทอย่างจริงจังแล้ว โดย “ตรีวิทย์ จงจิตต์” รองนายกเทศทนตรีตำบลเกาะพะงัน บอกว่า ปัจจุบันเทศบาลตำบลเกาะพะงันได้ออกกฎระเบียบเพื่อการจัดการขยะอาหารอย่างเข้มข้น คือ ผู้ประกอบการที่มาขอใบอนุญาตประกอบกิจการร้านอาหาร-โรงแรม หรือแม้แต่ห้างร้านทั่วไป จะต้องมีถังขยะเปียกหรือพื้นที่จัดการขยะเปียกโดยเฉพาะ หากไม่ยอมรับหรือทำตาม เทศบาลก็ไม่เซ็นอนุญาตดำเนินกิจการให้

เมื่อได้ขยะอาหารดังกล่าวมาแล้ว เทศบาลก็นำไปที่ศูนย์จัดการขยะ และปัจจุบันกำลังรวมกลุ่มกับวิสาหกิจชุมชน เพื่อหาแหล่งสำหรับการนำขยะเปียกที่แรรูปเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรต่อไป

[ เซเว่นฯ สุดรักษ์โลก อยู่ที่เกาะพะงัน ]

นอกจากโรงเรียนและชุมชนที่เริ่มใส่ใจสิ่งแวดล้อมบนเกาะแล้ว “เซเว่น อีเลฟเว่น” อีกหนึ่งห้างร้านที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเกาะพะงัน ก็เดินหน้านโยบายต่างๆ เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมบนเกาะให้ได้มากที่สุดด้วย

“ตรีเทพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา” รองผู้จัดการทั่วไป ส่วนงานยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมและคอนเน็กซ์อีดี สำนักกิจการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บมจ. ซีพี ออลล์ บอกว่า เซเว่น อีเลฟเว่น ทั้ง 22 สาขาบนเกาะพะงัน นอกจากจะเปลี่ยนมาใช้แก้วย่อยสลายได้ เสื้อพนักงานทำมาจากการอัพไซเคิลขวดพลาสติก PET ซึ่งเป็นนโยบายหลักของเซเว่นฯ ทั่วประเทศแล้ว

เซเว่นฯ ที่เกาะพะงัน ยังเปลี่ยนมาใช้เชือกกระจูดแทนถุงใส่แก้วพลาสติก ช้อนชงกาแฟทำมาจากไม้ไผ่ซึ่งย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ที่นี่ยังมีการแยกขยะ ซึ่งรวมไปถึงการแยกขยะอาหารที่เกิดขึ้นจากอาหารหมดอายุหรือไม่ดีพอสำหรับการขายจากในร้านด้วย เช่น นม เป็นต้น ซึ่งขยะอาหารเหล่านี้ก็จะถูกนำไปแปรรูปแล้วส่งต่อให้เกษตรกรนำไปใช้ต่อไป

นอกจากนี้ ซีพี ออลล์ ก็จะสนับสนุนงบประมาณและทีมงานมาช่วยทำอิฐให้โรงเรียน รวมถึงกำลังพิจารณาสนับสนุนเครื่องย่อยสลายอาหาร (เป็นเครื่องมีจุลินทรีย์ย่อยขยะอาหารให้เป็นก๊าซมีเทนและปุ๋ย) ให้กับชุมชนด้วย

และนี่คือก้าวเล็กๆ แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังของทั้งโรงเรียน ชุมชน องค์กรต่างๆ และภาคเอกชน เพื่อจัดการขยะ ปกป้องเกาะพะงันที่เป็น ‘บ้าน’ ของพวกเขาเอง ซึ่งเราเชื่อว่าหากความร่วมมือครั้งนี้เดินหน้าต่อไปอย่างเข้มแข็ง ภาพที่พะงันกลายเป็นเกาะไร้ถัง (ขยะ) คงจะเกิดขึ้นได้ในอีกไม่ช้าแน่นอน…

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า