กฎหมายคาร์ซีทเริ่มมีผลบังคับใช้ ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท โดยมีข้อยกเว้น 3 ข้อ คือ ขับช้า เด็กนั่งที่นั่งตอนหลัง-ห้ามนั่งท้ายกระบะ และต้องมีผู้ดูแลเด็ก
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งกฎหมายเรื่องการกำหนดที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย และวิธีการป้องกันอันตราย ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ พ.ศ. 2566 โดยมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป
โดยกฎหมายคาร์ซีท กำหนดให้เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องมีคาร์ซีท (Car Seat) ระหว่างการโดยสารรถยนต์ หากไม่มีคาร์ซีท จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ 3 ข้อ ได้แก่
- ขับรถด้วยความเร็วช้า โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และต้องขับชิดซ้าย
- ให้เด็กนั่งในที่นั่งโดยสารตอนหลัง (เบาะหลัง) ส่วนในกรณีรถกระบะ หรือกึ่งกระบะ ให้นั่งโดยสารตอนหน้าได้ แต่ห้ามนั่งท้ายกระบะ
- จัดให้มีผู้ดูแลเด็กในขณะโดยสาร หรือให้เด็กรัดเฉพาะเข็มขัดรัดหน้าตัก (อย่างใดอย่างหนึ่ง)
หากละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อความปลอดภัยและข้อกำหนดข้างต้น จะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กฎหมายคาร์ซีท เป็นผลสืบเนื่องจากการปรับปรุงมาตรการทางกฎหมายต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 โดยกำหนดให้เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ที่นั่งในรถ ต้องมีคาร์ซีท ซึ่งมี 2 แบบ คือ
- ที่นั่งนิรภัยชนิดนั่งหันไปทางด้านหลังรถและที่นั่งนิรภัยชนิดนั่งหันไปทางด้านหน้ารถ
- ที่นั่งพิเศษแบบที่นั่งเสริมที่ไม่มีพนักพิง (Booster Seat)
โดยทั้ง 2 แบบ จะต้องมีระบบยึดเหนี่ยวตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ขณะที่ รถรับจ้าง รถสาธารณะ ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องนั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก
เครดิตภาพปก Image by rawpixel.com on Freepik