KKP ชวนสำรวจการเปลี่ยนแปลงในตลาดหุ้นไทย 5 ข้อที่นักลงทุนควรเข้าใจก่อนลงสนามเทรด
ดร.ณชา อนันต์โชติกุล ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่าย KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) บอกว่า ในช่วงที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดทุนไทย ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 5 ข้อด้วยกัน ได้แก่
1. ตลาดทุนมีบทบาทมากขึ้นในระบบการเงินไทย โดยพบว่า 61% ของเงินทุนภายในประเทศมาจากการระดมทุนผ่านตลาดทุน แบ่งเป็นตลาดหุ้น 34% พันธบัตรรัฐบาล 20% และหุ้นกู้เอกชน 7% จากเดิมที่ภาคธนาคารเคยมีบทบาทกว่าครึ่งหนึ่ง
ข้อดีของการระดมทุนผ่านตลาดทุนที่เพิ่มขึ้นคือ เป็นการระดมทุนทางตรงโดยไม่ผ่านตัวกลางอย่างธนาคาร และถือเป็น ‘ยางอะไหล่’ หากเกิดวิกฤตธนาคารล้มอย่างในปี 2540
อย่างไรก็ตาม การระดมทุนผ่านตลาดทุนยังมีข้อจำกัดในแง่ที่บริษัทต้องมีความน่าเชื่อถือ เพราะเป็นการระดมทุนทางตรง ดังนั้น จึงยังมีความเหลื่อมล้ำสูงระหว่างบริษัทขนาดเล็กและบริษัทขนาดใหญ่
นอกจากจะมีบทบาทต่อระบบการเงินไทยที่สูงแล้ว ปัจจุบันตลาดทุนยังมีมูลค่าคงค้างสูง 120% ของจีดีพีอีกด้วย
2. โครงสร้างธุรกิจในตลาดทุนเปลี่ยนแปลงไป เทรนด์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สัดส่วนธุรกิจในตลาดทุนไทยเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน จากเดิมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะเป็นกลุ่มพลังงาน กลุ่มโทรคมนาคม และกลุ่มธนาคาร แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นเทรนด์กลุ่มเฮลท์แคร์ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มสาธารณูปโภค และกลุ่มโลจิสติกส์ขึ้นมานำตลาดมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังปรับตัวได้ไม่เร็วนัก สะท้อนจากธุรกิจใหญ่ในตลาดหุ้นไทย ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในเศรษฐกิจแบบเก่า (Old Economy) แตกต่างจากตลาดหุ้นสหรัฐที่ปัจจุบันกลุ่มเทคโนโลยีกลายเป็นกลุ่มที่ขึ้นมานำตลาด
3. ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยลดลงต่อเนื่อง โดยคาดว่ามาจากโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเก่า แม้ว่าผลตอบแทน 20 ปีย้อนหลังของ SET จะสูงถึง 22% เมื่อเทียบกับ MSCI World ที่ 19%
แต่ในช่วง 10 ปีย้อนหลัง พบว่า ผลตอบแทนของ SET ลดลงเหลือ 5% เท่านั้น เมื่อเทียบกับ MSCI World ที่ 14% ส่วนในช่วง 5 ปีย้อนหลัง ผลตอบแทนของ SET อยู่ที่ 1% เท่านั้น เมื่อเทียบกับ MSCI World ที่ 10%
จะเห็นว่าเทรนด์ผลตอบแทนของ SET ทยอยปรับตัวลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งแพ้เงินฝากประจำในช่วง 5 ปีย้อนหลังล่าสุด นอกจากนี้ ส่วนต่างผลตอบแทนยิ่งถ่างขึ้นเมื่อเทียบกับดัชนีหุ้นโลก
จากเทรนด์ผลตอบแทนที่ลดลง ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติทยอยลดการลงทุนในตลาดหุ้นไทย โดยนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออกมาต่อเนื่องกว่า 8 แสนล้านบาทในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม มูลค่าซื้อขายและสภาพคล่องของตลาดหุ้นไทยยังคงเป็นอันดับ 1 ในอาซียน
4. โครงสร้างนักลงทุนเปลี่ยนแปลงไป เมื่อพิจารณาสัดส่วนการถือครอง จะพบว่า นักลงทุนต่างชาติเหลือสัดส่วนถือครองหุ้นไทยเพียง 28% นักลงทุนสถาบันในประเทศ 10% และนักลงทุนอื่นๆ 62%
แต่หากดูสัดส่วนการมีส่วนร่วมในตลาด กลับพบว่า นักลงทุนต่างชาติมีการซื้อขายสูงถึง 46% รองลงมาคือนักลงทุนรายย่อย 39% และนักลงทุนสถาบันในประเทศ 7%
5. เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการซื้อขายในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นคำตอบของข้อด้านบนว่า เหตุใดนักลงทุนต่างชาติถึงยังมีส่วนร่วมในตลาดหุ้นไทยค่อนข้างสูง คำตอบคือ การใช้โปรแกรมเทรด
โดยพบว่าเทรนด์นักลงทุนต่างชาติเคลื่อนย้ายมาเทรดด้วยคอมพิวเตอร์ (Algorithmic Trading: Algo Trading) และระบบซื้อขายความเร็วสูง (High Frequency Trading: HFT) มากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน Algo Trading มีสัดส่วนสูงถึง 40% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด
สำหรับนักลงทุนต่างชาติ พบว่า 34% เป็นการซื้อขายโดยโปรแกรมเทรด โดยเป็น Non-HFT 23% และ HFT 11% ส่วนใหญ่การซื้อขายจะกระจุกอยู่ในหุ้น SET50 ซึ่งไม่ส่งผลต่อนักลงทุนรายย่อย
จาก 5 การเปลี่ยนแปลงข้างต้น KKP มองว่า จะเป็นประโยชน์หากนักลงทุนเข้าใจเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งโครงสร้างตลาดทุนไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม รวมถึงการเข้ามาของ Algo Trading ที่อาจส่งผลให้กองทุนเชิงรับ (Passive Fund) ได้ประโยชน์มากขึ้น ซึ่งนักลงทุนควรต้องจับเทรนด์ลงทุนใหม่ๆ ที่เข้ามา
นอกจากนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้นักลงทุนรายย่อยเข้าใจว่า การใช้โปรแกรมเทรด ไม่ใช่ตัวร้าย และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนรายย่อยทั่วไปซึ่งเทรดหุ้นนอก SET50 แต่อาจกระทบต่อนักลงทุนรายใหญ่ หรือกลุ่มที่เทรดรายวัน (Day Trade) ที่ต้องทำกำไรแข่งกับคอมพิวเตอร์
เมื่อสอบถามถึงการเก็บภาษีขายหุ้น ดร.ณชา ระบุว่า แน่นอนว่าการเก็บภาษีขายหุ้นจะกระทบเสน่ห์เดียวของตลาดหุ้นไทย ซึ่งก็คือมูลค่าการซื้อขายและสภาพคล่องที่สูงที่สุดในอาเซียน ซึ่งเป็นโจทย์ที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจ