SHARE

คัดลอกแล้ว

ย้อนกลับไป 14 ตุลาคม ปี 63 การชุมนุม ‘ม็อบแฮร์รี่พ็อตเตอร์’ ยังเป็นภาพที่หลายคนจดจำ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นในการพูดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่ชุมนุมอย่างเอาจริงเอาจังครั้งแรก ๆ หากหลายคนจำได้ในวันนั้น อานนท์ นำภา นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและทนายความเป็นแกนนำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคนทำกิจกรรมทางการเมือง  และการเป็นแกนนำขบวนชุมนุมครั้งนั้นได้เปลี่ยนเส้นทางชีวิตของทนายคนนี้ และทำให้เขาต้องสูญเสียอิสรภาพไปอีก 4 ปี

แม้อิสรภาพจะหมดไป แต่แสงแห่งการเปลี่ยนแปลงยังคงเปล่งประกายอยู่ TODAY ได้สัมภาษณ์กับทนายอานนท์อีกครั้ง เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2566 เขายังคงมีสีหน้าที่ยิ้มแย้ม มีความสุข แม้จะเป็นการพูดคุยอย่างอิสระครั้งสุดท้ายก่อนเข้าเรือนจำก็ตาม 

จากม็อบแฮร์รี่วันนั้น สังคมเปลี่ยนไปเยอะไหม?

ทนายอานนท์: สังคมเปลี่ยนไปเยอะ การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ปี 63 ไม่ได้พูดเรื่องสถาบันกษัตริย์เพียงอย่างเดียว แต่พูดเรื่องความเท่าเทียมทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่อง LGBTQ+ เรียกร้องการสมรส เรื่องสุราก้าวหน้า ทำไมบริษัทใหญ่ ๆ ผลิตสุราได้ทำไมชาวบ้านทั่ว ๆ ไปทำเองไม่ได้ พูดเรื่องหลักงสูตรการศึกษาที่ล้างสมอง ประวัติศาสตร์ที่บิดเบือน หลักสูตรที่ครูเป็นใหญ่ไม่ได้เอาเด็กเป็นศูนย์กลาง พูดไปกระทั่งการที่เอาศาสนามายุ่งเกี่ยวการเมือง 

เฉพาะความคิดคนที่เราเชื่อเรื่องประชาธิปไตย เรื่องความเท่าเทียม เชื่อเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้น และมันเป็นความเชื่อที่ยุบเป็นเจนเนอเรชั่นจากการแสดงออกบนโซเชียล ถ้าเราสังเกตดี ๆ เรื่องพวกนี้มันไปในทุกวงการ วงการประกวดนางงามก็พูดเรื่องการเมือง พูดเรื่องความเท่าเทียม ถ้าเป็นดาราตอนนี้ใครมาพูดเชียร์เผด็จการก็โดนแบนหมด แม้แต่คนที่เคยสนับสนุนหรือมีส่วนในการเชียร์เผด็จการก็โดนแบน ยิ่งผลการเลือกตั้ง 2 ครั้งล่าสุด ปี 62 และปี 66 มันยิ่งชัดว่าคนเขาต้องการระบอบการปกครองแบบไหน การตั้งคำถามต่อทุกองค์กรในประเทศนี้มันเข้มข้นขึ้น พอข้างนอกมันเข้มข้นขึ้นบนท้องถนนก็ดี ในโซเชียลก็ดีเพดานมันยกสูงขึ้น แน่นอนในสภาก็สูงขึ้นตาม เมื่อใดที่คนข้างนอกเพดานมันลดลงในสภาก็ลดลง

ณ ตอนนี้เพดานการต่อสู้อยู่ในระดับไหน?

ทนายอานนท์: ผมคิดว่าเพดานตอนนี้มันลดลง เราทำลายเพดานไปแล้วเราถูกโต้กลับ โดนคดี โดนความรุนแรง คดีหลายพันคดีทั้งแกนนำหรือไม่ใช่แกนนำก็โดนกันเยอะ ในส่วนของความรุนแรงเราก็ถูกยิงกระสุนยาง กระสุนจริงก็มี แก๊สน้ำตา โดนทุกอย่าง ประกอบกับโควิดในปี 64-65 ทำให้กระแสมันลง ขณะเดียวกันในสภากระแสก็ลดลงด้วย เวลาจะพูดถึงสถาบันก็ถูกเบรกจากประธานสภา แต่ถ้าเมื่อใดที่กระแสข้างนอกมันสูงขึ้นมาอีกครั้งในสภาก็จะสูงตาม

ช่วงที่ ‘รุ้ง-เพนกวิน’ อดอาหารมีคนสนใจมาก กลับกันตอนนี้ก็มีคนอดอาหารเหมือนกันเหมือนกัน แต่คนดูสนใจน้อยลง คิดเห็นยังไง?

ทนายอานนท์: ในข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้น แต่คิดว่าคนไม่ได้หลงลืม คนเรามี 2 ภาค ภาคแรกคือชีวิตจริง กินกาแฟแล้วไปทำงาน อีกภาคนึงคนมีตัวตนในโซเชียล แล้วอัลกอริทึมก็รันข่าวให้หมด ทุกคนก็รู้ว่ามีใครอดอาหารตอนนี้ หรือใครติดคุกอยู่ แต่กระแสมันเอื่อย ๆ เพราะว่าเราเหนื่อยกับการชุมนุม กับการเลือกตั้งที่มันเหมือนชนะแล้วไม่ได้ถ้วย คนก็เหนื่อย พอคนไม่ประสบความสำเร็จทั้งบนท้องถนนและในสภามันก็เป็นภาวะเอื่อย ๆ แต่ผมคิดว่าไปถึงจุดหนึ่งทุกคนก็จะกลับมาสนใจเรื่องนี้ แล้วก็ออกมาพูดเรื่องนี้อีกครั้งนึง แต่เมื่อไหร่ยังไม่รู้ 

จริง ๆ ถ้าผมเข้าคุกไปก็อาจจะทำให้หลาย ๆ เรื่องมันถูกพูดถึงมากขึ้นก็ได้ คนที่สังคมจับตาให้ความสนใจอยู่มันเหมือนกับคนถือเทียนอยู่ ไปที่ไหนก็ส่องให้เห็นทั้งหมด เราก็จะต้องทำให้คนอื่นพูดถึงเคสอื่น ๆ ที่เขาตกหล่นในสังคมว่ามันเกิดอะไรขึ้น ตอนนี้มันมีคนติดคุกอยู่ 30 กว่าคนในคดีการเมืองเกี่ยวกับความมั่นคงทั้งนั้น หลายคนไม่ได้มีชื่อเสียงแต่ว่าพวกเราต้องพูดถึงเขาในส่วนรวม หนึ่งคือจะพาเขาออกจากคุกยังไง ถ้าคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาก็ต้องยื่นประกันตัว คดีที่ถึงที่สุดแล้วทำยังไงให้เขาพ้นโทษ เรื่องการขออภัยโทษ เรื่องการเสนอให้สภาออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อจะเอาเพื่อนเราออกจากคุก พวกนี้อาจจะต้องพูดถึงต่อไปหลังจากนี้

ม.112 ที่กำลังจะตัดสินนี้ได้มายังไง?

ทนายอานนท์: มันเป็นการชุมนุมวันที่ 14 ต.ค.ปี 63 ที่เรายกกระถางต้นไม้ออกจากอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย มันเป็นสัญญะ เอาต้นไม่ลวก ๆ ไปกองกันเพื่อที่จะขวางไม่ให้เราใช้พื้นที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย เราก็ช่วยกันรื้อออกในเชิงสัญลักษณ์ว่าต่อไปนี้พวกคุณจะมาขัดขวางการใช้เสรีภาพในการคิดของพวกเราไม่ได้แล้ว และก็มีการปราศรัยทางการเมือง ก็โดนคดีเรื่องทำให้เสียทรัพย์ ชุมนุมขัดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ม.112 ฟ้องแล้วก็พิจารณาคดีไป 

ถ้าติดคุกเพราะ ม.112 อีกจริง ๆ คิดว่าคุ้มมั้ย กับการติดคุก 7 เดือนก่อนหน้านั้น

ทนายอานนท์: คุ้มนะ คดีนี้มูลเหตุมันคือการปราศรัยกับตำรวจว่าอย่าเข้ามาในที่ชุมนุม การที่เราได้ดูแลชีวิตคนที่ไปร่วมชุมนุมวันนั้นที่คนมันเยอะมากจากราชดำเนินไปที่ทำเนียบ ขบวนมันอย่างเท่ห์ แล้วการที่เราสามารถปกป้องชีวิตคนที่จับไมค์บนเวทีได้ก็ถือว่าคุ้ม 

ตอนนั้นรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรง ถ้าเอาทหารมาสลายสถานการณ์ชุมนุมภาพจำของผมคือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ทหารใส่ท๊อปบูทคงอัดเต็มที่ ยิ่งเราปราศรัยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยมันคงอัดเต็มที่ แล้วถ้าทหารจะกรูเข้ามาจับแกนนำมวลชนชาวบ้านเขาคงไม่ยอมหรอก มันก็คงมีการปะทะกัน ไม่อยากเห็นภาพนี้ ก็ประกาศสลายการชุมนุมแล้วก็ไปชุมนุมใหม่วันรุ่งขึ้น ผมคิดว่าการหลีกเลี่ยงความรุนแรงของเรามันคุ้ม คือเราไปติดคุกเต็มที่ก็ 2-4 ปี แต่ถ้ามันมีคนเจ็บ คนตายขึ้นมา เรื่องราวมันจะตามมาอีกเยอะมาก การที่เรายอมเสี่ยงกับคุกเพื่อแลกกับสวัสดิภาพของคนที่มาร่วมชุมนุมมันโคตรคุ้ม 

มุ่งหน้าเข้าเรือนจำรอบนี้เตรียมตัวยังไงบ้าง?

อานนท์ : จัดการความเป็นอยู่ของครอบครัว ขายทุกอย่างเท่าที่จะขายได้เพื่อเอาเงินมาให้ครอบครัวเก็บไว้ แฟนเตรียมทำร่มมาขายเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว อาจจะให้ญาติ ๆ มาช่วยดูลูกสองคน คนนึงอยู่ ป.2 อีกคนนึง 9 เดือน ถ้าต้องขับรถ 6 กิโลไปส่งลูก ป.2 ที่โรงเรียนกับเด็กอีก 9 เดือนมันจะวุ่นวายมากสงสารแฟนเขาจะลำบากมากขึ้นเลยจัดการเรื่องพวกนี้ให้มันสะดวก ซื้อคาร์ซีท ขอที่ทำงานว่าแฟนเราไปสายได้ไหม ให้แฟนเราทำงานที่บ้านได้ไหมเพราะเขาทำเกี่ยวกับข้อมูล พาลูกไปเลี้ยงที่ออฟฟิศได้ไหม ให้เพื่อนทนายช่วยอุ้มได้ไหม ต้องช่วยกันค่อย ๆ แก้ปัญหาไป

ส่วนถ้าติดนานจะทำยังไง หรือถ้าไม่ติดออกมาแล้วแบบมีเงื่อนไข อย่างศาลบอกว่าห้ามออกบ้าน 24 ชั่วโมงจะทำยังไง ให้ใส่อีเอ็มข้อเท้าเหมือนเดิมจะทำยังไง มีหลายตัวเลือกก็ต้องทำ แต่ว่าที่เราประเมินเอาแบบร้ายสุดหากต้องติดจริง ๆ หนึ่งคือครอบครัวจะอยู่กันยังไง อย่างที่สองคือเราที่อยู่ในคุกจะอยู่ยังไงให้มันอยู่ได้ อันนี้ต้องคิดหนัก 

จะเจอลูกหลังเข้าเรือนจำยังไง?

อานนท์: เขาก็เอาเราไปเยี่ยมได้ที่ศาล ลูกคงเห็นเราอยู่ แต่มันเป็นเรื่องแปลก ๆ นะ ไปเจอพ่อที่ศาลตอนเย็นเสร็จพ่อต้องนั่งรถหลวงกลับไปที่เรือนจำส่วนลูกกลับบ้านกับแม่มันก็คงเป็นเรื่องที่เศร้าอยู่ แต่มันจะทำยังไงได้มันก็ต้องเป็นไปแบบนี้ ถ้าไม่มีการนิรโทษกรรม ไม่มีการยกฟ้อง หรือถ้าศาลไม่ให้ประกันมันก็จะเป็นแบบนี้

เราอาจจะเป็นคนที่สังคมจับจ้องอยู่ แต่ว่าก่อนหน้านี้คนติดคุกอยู่ทั้งหมด 30 กว่าคน ทุกคนมีครอบครัวหมด มีลูกก็ประสบภาวะเดียวกัน ไม่ได้ประกันตัวและยังไม่รู้จุดหมายปลายทางว่าคดีจะไปถึงจุดไหน น้อง ๆ หลายคนที่เรียนอยู่ก็ไม่รู้จะเรียนจบหรือเปล่า หรือหลายคนที่เขาอยู่ไม่ได้ โดนคุกคาม พอมีคดีแล้วขอหมายเรียกเอกสารก็ไม่ออกให้ คิดว่าสู้คดีไม่ได้แน่ ๆ หลายคนก็เลือกเส้นทางอีกเส้นทางนึงคือการลี้ภัยทางการเมือง เพื่อนเราลี้ภัยหลายคนมากเพราะไม่เชื่อในกระบวนการยุติธรรม และเป็นที่น่าหดหู่ที่มีผู้ลี้ภัยหลายคนที่โดนคนฆาตกรรมในประเทศเพื่อนบ้านกระแสการต่อสู้รอบนี้มันสูญเสียมาเยอะมาก แต่ถ้าเทียบการต่อสู้ของเรารายจ่ายของเรากับคนอื่น ๆ เรายังน้อยกว่าเขาเยอะนะ หลายคนที่เสียชีวิตจากการลี้ภัย แม้แต่คนที่ลี้ภัยแล้วต้องไประหกระเหิน เราอยู่ในคุกเราก็ยังมีกำหนดมาศาลก็ยังได้เจอลูก เจอเพื่อน เจอแฟน ได้พูดได้ทำงาน ผมมาศาลผมก็ยังเป็นทนายอยู่ก็คือว่าความปกติใส่ชุดนักโทษซักความไป ก็ใช้ชีวิตให้มันหมดวันต่อวัน

จากคดีของอากงในวันนั้น สังคมเปลี่ยนไปไหม 

อานนท์: เปลี่ยนไปเยอะ เพราะสมัยก่อน ม.112 จะพิจารณาแบบลับ ไม่ให้คนอื่นเข้าฟัง แต่ตอนนี้พิจารณาเปิดเผยแล้วและการพูดถึง ม.112 ถึงข้อเท็จจริงในศาลมันเปิดมากขึ้น แต่กระบวนการยุติธรรมในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ก็ยังหมุนซ้ำรอยเดิม เรื่องประกันตัวยังยาก ไม่ค่อยเรียกพยานหลักฐานมาให้เรา อย่างล่าสุดที่ไปปราศรัยเรื่องรัฐบาลฟ้องรัชกาลที่ 7 เราขอสำนวนไปที่ศาลแพ่ง ศาลแพ่งบอกหาไม่เจอ แล้วยังไงต่อ? จะบอกว่าเราปราศรัยเป็นเท็จมันก็ไม่ได้เท็จ แต่พอเราไปขอสำนวนศาลบอกหาไม่เจอ ก็สืบกันไม่ได้ กระบวนการยุติธรรมมันก็มีปัญหาอยู่ว่าคดี ม.112 จะพิสูจน์กันยังไงให้ยุติธรรม หลายคดีต้องเลื่อนตลอดเพราะไม่มีหลักฐานเข้ามาพิสูจน์เรื่องนี้ 

ทิศทางพูดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นยังไง?

อานนท์: นี่คือสิ่งที่เราได้มาเมื่อปี 63 ทุกเวทีดีเบตในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดพูดเรื่อง ม.112 พูดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ สรยุทธออกข่าวเรื่องนี้ทุกวัน สื่อหลักพูดเรื่องนี้ TODAY ทำเรื่องนี้ ทั้งมีคลิปพิเศษตอนลงไปในม็อบ ทุกคนออกข่าวให้มันเป็นเรื่องปกติที่พูดได้ ดังนั้นการพูดถึงปัญหานี้ผมคิดว่าเราขยับไปไกลมากแล้วเราพูดกันอย่างมีวุฒิภาวะมากขึ้น ทุกวันนี้ยังมีการพูดเรื่องนี้ในสภาอย่างมีวุฒิภาวะ การถกเถียงเรื่องโทษ แม้แต่การอภิปรายนายกรัฐมนตรีก็ยังพูดเรื่อง ม.112 เป็นหลัก โอ้พระเจ้า เรามาถึงจุดนี้กันได้ยังไง

มันเป็นสังคมที่มีการใช้เหตุผลมากกว่าอดีตเยอะ โชคดีคือการสื่อสารในโซเชียลมันกว้างใครก็เป็นสื่อได้ ใครก็พูดได้ ใครก็คอมเมนต์ได้ ขยับเพดานมาไกล แต่ก็ยังไกลไม่พอที่จะแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายนี้ไป

เพื่อไทยจับมือขั้วอำนาจเก่า ทำให้การต่อสู้ยากหรือง่ายขึ้น

อานนท์: ยากขึ้น ตอนตั้งรัฐบาลก็ชัด มีคนที่ไม่อยากให้พรรคที่เสนอแก้ ม.112 เป็นรัฐบาล ทั้ง สว. ทั้งผู้มีอำนาจไม่ประสงค์ให้พูดเรื่องนี้ และพรรคเพื่อไทยก็ออกปากว่าจะไม่แตะเรื่อง ม.112 มันเป็นเงื่อนไขในการจัดตั้งรัฐบาล ถ้าไม่มีพรรคไหนที่เสนอกฎหมายนี้เข้าไปก็จะไม่ได้รับการอนุญาตให้เป็นรัฐบาล มันถูกล็อกด้วยเงื่อนไขของกฎหมาย ด้วยเงื่อนไขโดยฝ่ายนิติบัญญัติผลักเรื่องนี้กลับมาสู่ท้องถนน กลับมาสู่โซเชียลอีกครั้งนึง อันนี้อันตรายเพราะถ้าเราพูดนอกสภาความสามารถในการสื่อสารของคนไม่เท่ากัน คนที่พูดเชิงวิชาการอาจจะรอด คนที่พูดแบบตรงไปตรงมาก็เสี่ยงกฎหมาย คนที่ไม่พอใจและด่าตรง ๆ ก็เสี่ยงมากกว่า แทนที่จะมีการพูดในสภาแบบมีวุฒิภาวะผ่านผู้แทนของเราก็ไม่ทำ เสนอกฎหมายเข้าไปในสภาประธานก็ไม่ให้เข้า ถ้าพูดเรื่อง ม.112 ก็อาจโดนกดปิดไมค์ เพดานมันต่ำลงเยอะ เคยขึ้นสูงมารอบนึงแล้วมันก็ต่ำลง 

ที่ว่าแก้ยากขึ้นคือเหมือนทุกคนในสภาตอนนี้รู้แล้วว่าถ้าใครพูดเรื่อง ม.112 หนึ่งคือพรรคอาจจะโดนยุบ สองคือพรรคอาจจะไม่ได้ผุดได้เกิด สามหากพูดแล้วไปแสลงหูเขาอาจจะโดนตัดสิทธิทางการเมืองแบบคุณช่อ มันทำให้คนกลัวมากขึ้น มันเป็นมุมกลับว่าถ้าสภาเพดานเริ่มต่ำ ประเด็นจะสะท้อนกลับมาที่ท้องถนน และในโซเชียล มันก็จะทำให้คนโดนคดีกันมากขึ้น และการพูดเรื่อง ม.112 ก็จะกลับมาพูดเสียงดังอีกครั้งนึงนอกสภา

ฝากถึงทุกคน

อานนท์: พวกเรามากันไกลมาก เพดานความคิดคนยกระดับไปเยอะมาก เราคิดว่าพรรคที่มันมีความคิดก้าวหน้าน่าจะได้ สส. แค่ในเขตเมือง กรุงเทพฯ นิดหน่อย มหาลัยนิดหน่อย แต่ไม่ใช่ พรรคที่มีนโยบายแหลมคมได้คะแนนอย่างท่วมถ้นทั่วประเทศ บุรีรัมภูมิใจไทยได้ สส.เขต แต่ปาร์ตี้ลิสต์จังหวัดอันดับ 1 คือพรรคก้าวไกล ภาคใต้ใครพูดเรื่อง ม.112 ที่ภูเก็ตโดนเอาหินไปปาหน้าบ้าน ตอนนี้ยกจังหวัดได้สส.จากพรรคส้ม เพดานความคิดคนมันเปลี่ยนไปมาก แล้วมันจะนำไปสู่การคืบคลานทางกายภาพ คนใหม่ความคิดรสนิยมมาเต็ม แล้วไปกันทั้งเจนเนอเรชั่น ปี 63 มีน้อง ๆ อยู่มัธยมปลายตอนปี 66 มีสิทธิเลือกตั้งมันไปทั้งเจเนอเรชั่น ปี 63 อาจจะเรียนมหาลัยแล้วจบตอนอายุ 22 พอปี 66 อายุ 25 แล้วก็ลง สส. พวกแก่ ๆ อายุเลย 35 ไปก็เป็นรัฐมนตรีมันขยับเจนเนอเรชั่น แม้แต่รุ่นผมอายุ 39 ถ้าเป็นทหารก็ยศพันโท เป็นสารวัตรเป็นพันตำรวจ เป็นผู้กำกับ ถ้าเป็นนักข่าวก็ระดับ บก.ข่าว คือมันขยับทั้งเจนเนอเรชั่น มันไปทั้งแผง ความคิดของเสรีนิยมประชาธิปไตยมันจึงไปทั้งแผง และโชคดีที่เรามีประสบการณ์ร่วมกัน การชุมนุมร่วมกัน การใช้เฟสบุ๊ก การใช้ทวิตเตอร์ร่วมกัน เขาเลยกลัวกันว่าการเลือกตั้งครั้งหน้ามันจะแลนสไลด์ของจริง

ในวันที่ 26 ก.ย. 2566 ศาลอาญาสั่งจำคุก อานนท์ นำภา 4 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ และปรับเป็นจำนวนเงิน 2 หมื่นบาทฐานผิด พ.ร.ก.บริหารราชการฉุกเฉินฯ 2548 จากการชุมนุม ‘ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์’ 14 ตุลาคม 63 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า