SHARE

คัดลอกแล้ว

แบงก์ชาติเผยเทรนด์เศรษฐกิจไทยเดือน ต.ค. ยังเห็นทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยได้ปัจจัยหนุนจากอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว

‘ชญาวดี ชัยอนันต์’ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงแนวโน้มเศรษฐกิจเดือน ต.ค. 2566 ว่า ในเดือน ต.ค. ยังเห็นทิศทางการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว

สะท้อนจากเครื่องชี้เร็ว กล่าวคือ ปริมาณการเสิร์ชเกี่ยวกับ Air และ Accommodation ในไทยของต่างชาติ ยังเห็นการฟื้นตัว

ขณะที่การส่งออก เริ่มเห็นการฟื้นตัวจากกลุ่มประเทศ G3 แต่ยังต้องจับตาการส่งออกสินค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

ในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ปรับลดลงมาอยู่ที่ 48.9 จุด ต่ำกว่าระดับ 50 จุด จากคำสั่งซื้อ การผลิต และต้นทุนที่กดดัน ขณะที่เทรนด์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า แม้ดัชนีจะยังอยู่เหนือระดับ 50 จุด แต่ลดลงในเกือบทุกองค์ประกอบ

สำหรับการพูดคุยกับภาคธุรกิจ พบว่า ธุรกิจโดยรวมยังเห็นทิศทางการฟื้นตัวในไตรมาส 4 ปี 2566 โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและการค้า

สรุปคือ ในเดือน ต.ค.และในระยะต่อไป แบงก์ชาติมองว่าเศรษฐกิจจะยังฟื้นตัวได้ตามอุปสงค์ในประเทศและภาคการท่องเที่ยว

แต่ยังต้องจับตาการส่งออก นโยบายภาครัฐ สถานการณ์เอลนีโญที่กระทบต่อผลผลิตและราคาสินค้าเศรษตร รวมถึงความขัดแย้งของสงครามตะวันออกกลางต่อราคาพลังงานและอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าของไทย

ในวันเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงเศรษฐกิจและการเงินเดือน ก.ย. 2566 และไตรมาส 3 ปี 2566 ว่า

เศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายน 2566 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยกิจกรรมในภาคบริการฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำปรับเพิ่มขึ้นในหลายหมวดสินค้า ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมทรงตัว

ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงหลังจากเร่งไปในช่วงก่อนหน้า สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากทั้งรายจ่ายของรัฐบาลกลางและการลงทุนรัฐวิสาหกิจ

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากทุกหมวดหลัก โดยหมวดอาหารสดลดลงจากราคาผัก ผลไม้และเนื้อสัตว์ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่หมวดพลังงานลดลงจากมาตรการลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐ

ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยจากราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นต่อเนื่อง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้าเป็นสำคัญ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวในเกือบทุกสัญชาติ โดยเฉพาะ 1) เกาหลีใต้ และอินเดีย ที่มีวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน 2) ตะวันออกกลาง และยุโรป ที่กลับมาขยายตัวหลังจากที่ชะลอไปในช่วงก่อนหน้า และ

3) จีน ที่ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการยกเว้นการยื่นวีซ่าในช่วงปลายเดือน สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวและอัตราการเข้าพักแรมที่เพิ่มขึ้น

มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยปรับดีขึ้นในหลายหมวด อาทิ 1) การส่งออกเครื่องประดับไปฮ่องกงที่ได้รับผลดีในช่วงที่มีงานจัดแสดงสินค้า 2) สินค้าเกษตร ตามการส่งออกข้าวขาวไปแอฟริกาใต้และเบนินเป็นสำคัญ และ

3) สินค้าเกษตรแปรรูป ตามการส่งออกน้ำมันปาล์มไปอินเดีย และแป้งมันสำปะหลังไปจีน อย่างไรก็ตาม การส่งออกบางสินค้าปรับลดลง อาทิ ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะการนำเข้า 1) วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง จากเชื้อเพลิงและชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และวัสดุโลหะ

2) สินค้าทุน ตามการนำเข้าคอมพิวเตอร์ เพื่อรองรับอุปสงค์ในอุตสาหกรรมดิจิทัล และ 3) สินค้าอุปโภคบริโภค ตามการนำเข้าโทรศัพท์มือถือและรถยนต์ไฟฟ้า หลังเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการผลิตหมวดอาหารและเครื่องดื่มปรับดีขึ้นตามการผลิตน้ำตาลจากราคาน้ำตาลที่ปรับสูงขึ้น ด้านหมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์เพิ่มขึ้นตามรอบการผลิต รวมถึงหมวดยางและพลาสติกที่เพิ่มตามการผลิตยางแท่ง และยางรัดของ

อย่างไรก็ตาม การผลิตหมวดยานยนต์ลดลง จากการผลิตรถกระบะที่ได้เร่งผลิตไปในช่วงก่อนหน้าประกอบกับสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงหมวดปิโตรเลียมลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นชั่วคราว

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลงจากยอดจดทะเบียนรถกระบะบรรทุก ตามกิจกรรมในภาคการผลิตที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน และยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศที่ลดลงจากหมวดมอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลงตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง หลังเร่งไปมากในเดือนก่อน และพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง โดยเฉพาะพื้นที่เพื่อที่อยู่อาศัย และพื้นที่เพื่อการพาณิชย์

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน จากการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทน ตามยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค และปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง หลังจากเร่งไปในช่วงก่อนหน้า

อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายในหมวดบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหมวดโรงแรมและภัตตาคาร สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจ้างงาน และความเชื่อมั่นผู้บริโภค

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำตามการเบิกจ่ายงบกลางเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และจากรายจ่ายลงทุนตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมที่เร่งเบิกจ่ายไปแล้ว สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคม

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากทุกหมวดหลัก โดยหมวดอาหารสดลดลงจากราคาผัก ผลไม้และเนื้อสัตว์ เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่หมวดพลังงานลดลงจากมาตรการลดค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐ

ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยจากราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานยังฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นจากทั้งภาคบริการและภาคการผลิต

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลตามดุลการค้า ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลงตามรายจ่ายค่าทรัพย์สินทางปัญญา ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอ่อนค่าลง

ทั้งนี้ เนื่องจาก 1) ตลาดปรับเพิ่มการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน 2) ค่าเงินหยวนอ่อนค่าจากเศรษฐกิจจีนที่ยังคงเปราะบาง และ 3) นักลงทุนรอความชัดเจนของนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวจากไตรมาสก่อนตามการบริโภคภาคเอกชนและภาคบริการที่ปรับดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นจากการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วน และปิโตรเลียมเป็นสำคัญ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงจากหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์หลังจากได้เร่งไปก่อนหน้า ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามหมวดอาหารสดและหมวดเงินเฟ้อพื้นฐาน ขณะที่หมวดพลังงานเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันเบนซิน ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่อง

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้า ประกอบกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลลดลงตามการส่งกลับกำไรและรายจ่ายภาคบริการที่ลดลง

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า