ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง ล่าสุด ‘แรบบิท ประกันชีวิต’ เผยข้อมูลว่า ในปี 2567 หนี้ครัวเรือนจะเป็นแรงกดดันต่อตลาดประกันชีวิตและการจับจ่ายใช้สอยของลูกค้า
‘กรณ์ ชินสวนานนท์’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แรบบิท ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ Rabbit Life กล่าวถึงธุรกิจประกันในปี 2567 โดยคาดว่าจะเป็นปีที่เหนื่อย หรือตลาดจะไม่ดีเท่ากับปีนี้ เนื่องจากภาวะหนี้ครัวเรือนและสภาพเศรษฐกิจ คาดว่าคนจะใช้จ่ายกับประกันยากขึ้น ซึ่งหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาของธุรกิจประกันอย่างมาก
แต่แม้จะมีความท้าทายนี้ บริษัทฯ ก็ยังตั้งเป้าหมายการเติบโตในปีหน้าที่ 30% โดยคาดว่าเบี้ยประกันจะเติบโตแตะ 3,000 ล้านบาท ผ่านการตัวแทนมากกว่า 1,000 ราย และโบรกเกอร์ที่มาร่วมงานกับบริษัทฯ มากขึ้น ซึ่งในกลุ่มบริษัทฯ เองก็มีโบรกเกอร์ในเครืออย่าง แรบบิท แคร์ (Rabbit Care)
นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนขอไลเซ่นส์ยูนิตลิงก์ คาดว่าจะสามารถออกผลิตภัณฑ์ได้ภายในครึ่งหลังปี 2567 ครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์แบบชำระเบี้ยประกันภัยครั้งเดียว (Unit Linked Wealth Single) และประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life Insurance)
ปัจจุบันตลาดประกันชีวิตมีเบี้ยประกันรวมอยู่ที่ 600,000 ล้านบาทต่อปี และมีการเติบโตใกล้เคียงกับจีดีพี หากอิงตามคาดการณ์จีดีพีของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 3-4% คาดว่าจะมีเบี้ยใหม่เข้ามาอีกราว 20,000 กว่าล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ ก็คาดหวังจะได้รับโอกาสใหม่ๆ ในก้อนนี้
สำหรับธุรกิจของบริษัทฯ ปีนี้ถือเป็นปีที่การเติบโตค่อนข้างดี โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน บริษัทฯ มีการเติบโตแล้วกว่า 40% เบี้ยประกันรวมเติบโตแตะ 1,800-1,900 ล้านบาท เกินกว่าเบี้ยรับรวมทั้งปี 2565 แล้ว และคาดว่าจะปิดสิ้นปีได้ที่ 2,300 ล้านบาทตามเป้าหมาย
โดยปัจจัยหนุนมาจากการทำแบรนด์ใหม่ การจัดอีเวนต์ ผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับภาษี การเพิ่มตัวแทนขาย ซึ่งปัจจุบันมีมากถึง 700 ราย และคาดว่าสิ้นปีจะปิดที่ 1,000 ราย รวมถึงการเพิ่มโบรกเกอร์ใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีโบรกเกอร์พันธมิตรประมาณ 20 ราย
ปัจจุบันบริษัทฯ มีจำนวนลูกค้าทั้งสิ้น 50,000-60,000 กรมธรรม์ เฉลี่ยเติบโตเดือนละ 2,000-3,000 กรมธรรม์ โดยฐานลูกค้าส่วนใหญ่ยังเป็นเจนเอ็กซ์และเจนวาย 80% เบบี้บูมเมอร์ 10% และฐานลูกค้าเจเนอเรชันแซด 10% แต่คาดว่าการสื่อสารใหม่ๆ ของแบรนด์จะช่วยขยายฐานลูกค้ากลุ่มนี้ให้เติบโตแตะ 20% ในปี 2567
สำหรับผลิตภัณฑ์เจาะกลุ่มเจนแซด คือ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ ‘ภาษี’ โดยในปีหน้า บริษัทฯ เตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับเจนแซด ซึ่งครอบคลุมโรคที่พบบ่อยในเจนนี้ เช่น ออฟฟิศซินโดรม เป็นต้น
ขณะที่การเติบโตของช่องทางการขายตอนนี้ แบ่งเป็น 1. บริการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ประมาณ 800-1,000 ล้านบาทต่อปี 2. เทเลเซลล์ 100-200 ล้านบาทต่อปี 3. โบรกเกอร์ 300-400 ล้านบาทต่อปี 4. ประกันกลุ่ม 100 ล้านบาทต่อปี และ 5. ตัวแทนขาย 300 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ บริษัทฯ จะรักษาช่องทาง Wealth Management ไว้ที่ 50% ผ่านตัวแทน 15 ราย โดยประเมินว่าในปี 2567 ตลาดหุ้นกู้อาจจะยังไม่ดีมาก ซึ่งเป็นเทรนด์ตั้งแต่ปีนี้ ส่งผลให้ธุรกิจขายประกันระยะสั้นอย่าง Wealth Management มีความเสี่ยงเวลาลงทุน หากตลาดหุ้นกู้ดีขึ้น จะพิจารณาโอกาสเติบโตต่อไป
สำหรับขนาดเบี้ยเฉลี่ยของ Rabbit Life หากเป็นขนาดเบี้ยปกติจะอยู่ที่ 10,000-20,000 บาท ส่วนขนาดเบี้ยลูกค้าไฮเอนท์จะอยู่ในระดับที่สูงกว่านั้น โดยผลิตภัณฑ์ที่ขายได้ส่วนใหญ่ ตัวแทนขายจะเป็นประกันชีวิตและสุขภาพ เทเลเซลล์และโบรกเกอร์จะเป็นผลิตภัณฑ์ระยะกลาง 10-15 ปี ส่วน Wealth Management จะขายผลิตภัณฑ์ที่สั้นลง 3-5 ปี
ปัจจุบัน ขนาดพอร์ตลงทุนของบริษัทฯ อยู่ที่ 7,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้ 40-50% เครดิตเรทติ้ง A ขึ้นไป พันธบัตรรัฐบาล 20% และเงินกู้ธุรกิจรายใหญ่ 10% คาดการณ์ผลตอบแทนที่ 4% โดยมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio: CAR) อยู่ที่ 300%
สำหรับความร่วมมือกับบริษัทแม่ กลุ่มบีทีเอส (BTS) ในส่วนของ Rabbit ที่เป็นธุรกิจการเงิน ได้แก่ Rabbit Care มีการทำงานร่วมกันในการเสนอขายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางออนไลน์
แรบบิท แคช (Rabbit Cash) คอลแลปกันในการขายประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (Personal Accident Insurance: PA) และการนำเสนอสินเชื่อ และแรบบิท รีวอร์ดส (Rabbit Rewards) โดยในต้นปี 2567 ลูกค้าจะได้รับแต้มเมื่อซื้อประกัน ซึ่งสามารถนำมาและสิทธิพิเศษต่างๆ กับบริษัทได้ เป็นต้น
ส่วนนอก Rabbit เช่น วีจีไอ (VGI) และแพลนบี (Plan B) คาดว่าจะเห็นสื่อโฆษณาของบริษัทฯ ที่แหลมคมมากขึ้น และไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีประกันกลุ่มที่ราว 50% มาจากกลุ่ม BTS และอีก 50% มาจากภายนอก