SHARE

คัดลอกแล้ว

‘สว.กิตติศักดิ์’ เห็นด้วยเปิดซักฟอกรัฐบาล ‘เศรษฐา’ ชี้ทำไม่ดีวันเดียวก็แพง ด้าน ‘เลิศรัตน์’ เห็นแย้ง มองเร็วเกินไป ควรผ่านปีงบฯ ก่อน ‘ดิเรกฤทธิ์’ เผยเสียง 1 ใน 3 เอาด้วย 

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงการขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 153 ว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ (8 ม.ค. 67) จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา น่าจะมีข้อยุติ

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าเรื่องระยะเวลาในการทำงานไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ ไม่ว่ารัฐบาลจะอยู่กี่วัน หากทำไม่ดีก็มีค่าเท่ากัน ดังนั้นจะมาบริหาร 3-4 เดือน หรือ 3 – 4ปี ก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของรัฐบาลว่า บริหารประเทศชาติได้ดีหรือไม่ หากทำไม่ดีเพียง 1 วันก็แพงเกิน ซึ่งจากการพูดคุยกันกับเพื่อน สว. ก็เห็นว่า พฤติกรรมของรัฐบาลในขณะนี้มีเสียงสะท้อนเข้ามา โดยเฉพาะเรื่องของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และเรื่องเงิน ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ยังไม่มีใครตอบคำถามพี่น้องประชาชนที่สงสัยได้เลย ดังนั้นสิ่งที่ยังปกปิดอยู่จะต้องมีความชัดเจนต่อประชาชนให้ได้

นายกิตติศักดิ์ กล่าวด้วยว่า จากการลงพื้นที่ของ สว. พบว่าประชาชนที่ค้าขายกำลังจะตายแล้ว จากที่ไม่เคยค้างค่าเช่า เกือบทุกจังหวัดกลายเป็นหนี้แล้ว ไม่มีเงินจ่ายค่าแผง จึงอยากฝากไปถึงรัฐบาลด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ไม่เกรงว่าจะเกิดข้อครหาใช่หรือไม่ เพราะ สว. ไม่เคยอภิปรายรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่กลับอภิปรายรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีวิน ที่บริหารประเทศมาเพียง 4 เดือนเท่านั้น นายกิตติศักดิ์ ตอบว่า เทียบกันได้ แต่เราคิดว่าถ้าด้วยความเป็นธรรม ผลงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 8 – 9 ปีที่ผ่านมาได้เกิดมรรคผลอะไรบ้าง ในขณะที่รัฐบาลของนายเศรษฐา 3-4 เดือนที่ผ่านมาทำอะไรที่ประชาชนได้ประโยชน์จับต้องได้บ้าง

สว.บางคนติดใจไม่อภิปรายรัฐบาล ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ที่ทำงานมา 4 ปี แต่กลับจะอภิปรายรัฐบาล ‘เศรษฐา’ ที่ทำงานเพียง 3-4 เดือน

ด้าน ‘เลิศรัตน์’ เผย มี สว.บางคนติดใจไม่อภิปรายรัฐบาล ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ที่ทำงานมา 4 ปี แต่กลับจะอภิปรายรัฐบาล ‘เศรษฐา’ ที่ทำงานเพียง 3-4 เดือน

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สว. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ สว.บางกลุ่มเตรียมขอเปิดการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตาม มาตรา 153 ของรัฐธรรมนูญว่า ตอนนี้ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง และยังไม่เห็นรายละเอียดว่า สว. ส่วนใหญ่ติดใจเรื่องอะไร จึงต้องขอความชัดเจนก่อน เพราะต้องใช้รายชื่อ สว. 84 คน ลงนาม เพื่อเปิดขอเปิดอภิปราย ซึ่งถือว่าไม่ใช่จำนวนที่น้อย

“ก่อนหน้านี้ก็ได้พูดคุยกับเพื่อน สว. บางคนบอกว่ารัฐบาลชุดที่แล้วทำงานมา 4 ปีทำไม สว. ไม่เปิดอภิปรายเลย รัฐบาลชุดนี้ทำงานมา 3 เดือนกว่า กลับจะเปิดอภิปรายแล้ว ดังนั้นก็ต้องดูประเด็นว่าจะใช้มาตรานี้หรือไม่” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะให้เวลารัฐบาลทำงานนานแค่ไหนถึงสมควรที่จะเปิดการอภิปราย พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ขอให้สิ้นปีงบประมาณนี้ไปก่อน แต่พวกตนก็คงไปก่อนเหมือนกัน ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าการเปิดอภิปรายตอนนี้ยังเร็วไป

เมื่อถามย้ำว่า การเปิดอภิปรายครั้งนี้ถือเป็นการทิ้งทวนของ สว. หรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวติดตลกว่า “ผมไม่มีทวนที่จะทิ้ง”

‘สว.ดิเรกฤทธิ์’ เผย ซาวด์เสียง สว. นอกรอบเกิน 1 ใน 3 ทิ้งทวนของเปิดอภิปรายไม่ลงมติรัฐบาล

นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สว. ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน คนที่ 3 วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม กมธ.ฯ ว่า การอภิปรายทั่วไปฯ ระบุไว้อยู่แล้วว่าไม่ใช่เฉพาะเรื่อง ถือเป็นสิทธิ และอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่อรัฐบาลได้รับความไว้วางใจจากทั้ง สส. สว. เข้ามาบริหารประเทศ ดำเนินการนโยบายต่างๆ ก็เป็นหน้าที่โดยตรงของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะให้ความสนใจ สอบถามความชัดเจนตามรัฐธรรมนูญที่ระบุ เพื่อให้รัฐบาลมาชี้แจงเรื่องต่างๆที่ทำไป รวมถึงสว.สามารถเสนอแนะความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และรัฐบาลเอง เพราะหลายๆ เรื่องที่ประชาชนคลางแคลงสงสัย นายกรัฐมนตรี ครม. หรือฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สามารถใช้สภาฯอธิบายผ่านผู้แทนฯได้ ตนคิดว่าจะได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย

เมื่อถามว่า รัฐบาลเพิ่งจะเข้ามาทำงาน 4 เดือน สว. มองเห็นแล้วหรือใช่หรือไม่ว่าจะหยิบยกนโยบายใดมาอภิปราย เนื่องจากบางนโยบายยังไม่ได้มีการดำเนินการ โดยเฉพาะนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า นี่คือประเด็นปัญหา ทั้งเรื่องที่ขยับแล้ว หรือยังไม่ขยับ ก็เป็นประเด็น ถ้าเรามองภาพกว้าง เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่อยากให้มีการแก้ไขทั้งฉบับ มีการทำประชามติ ก็มีปัญหาหลายประเด็น เช่น ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ วิธีการ ความจำเป็น ขอบเขตที่จะแก้ไข รวมถึงที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ที่จะให้สส.มายกร่างรัฐธรรมนูญ หรือแม้กระทั่งการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ กระบวนการยุติธรรมที่ไม่โปร่งใส ไม่รวดเร็ว ยังไม่ได้อธิบายต่อประชาชนให้เข้าใจ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นความคาดหวังของประชาชน นอกจากนี้ยังมีเรื่องความเหลื่อมล้ำ การเลือกปฏิบัติ อีกด้วย

“วุฒิสภาเองก็มีคณะกรรมาธิการฯ26คณะ มีประชาชนมาร้องเรียน นำปัญหาและคำถามเข้ามาผ่านกรรมาธิการมากมาย นอกจากนั้น สว.ชุดปัจจุบัน ที่ยังทำหน้าที่อยู่ มีเรื่องที่เราทำมาอย่างต่อเนื่อง 4-5 ปี คือเรื่องการปฏิรูปประเทศ เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เราอยากเปลี่ยนแปลงประเทศในเรื่องที่สำคัญ การขับเคลื่อนผ่านรัฐบาลชุดที่ผ่านมาก็ยังไม่สำเร็จ อยากรู้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญกับทิศทาง และวิธีการเหล่านี้อย่างไร ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน” นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว

นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวต่อว่า หลายๆรัฐบาลที่ผ่านมา เวลามีกระทู้ถามด้วยวาจา หรือเป็นหนังสือ รวมถึงหารือความเดือดร้อนของประชาชนไปยังฝ่ายบริหาร บางครั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีก็ไม่มาตอบ ตรงนี้เป็นผลเสียของรัฐบาลเอง ที่มีเวทีแล้วไม่มาชี้แจง เป็นผลเสียต่อประชาชนที่ไม่เข้าใจการทำงานของรัฐบาล ดังนั้น การมีรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 จึงเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

เมื่อถามถึง กระบวนการการบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่โปร่งใส สามารถยกตัวอย่างได้หรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า มีหลายประเด็น ทั้งกระบวนการยุติธรรม ทางแพ่ง ทางอาญา ทางปกครอง ที่ยังมีคดีต่างๆ ค้างอยู่มากมาย เช่น กระบวนการบริหารโทษในกรมราชทัณฑ์ว่า ทำไมถึงมีบางคนถูกเลือกปฏิบัติต่างจากประชาชนทั่วไป ประเด็นนี้สามารถอธิบายได้

“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่อยู่ ชั้น 14 กรณีเดียว แต่เราพูดถึงภาพกว้างด้วย เราไม่ได้ก้าวล่วงดุลพินิจ แต่เราอยากสร้างความเคลื่อนไหว” นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า หวังว่าจะให้นายกรัฐมนตรีมาชี้แจงด้วยตัวเองหรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ข้อดีของมาตรา 153 คือกำหนดให้รัฐมนตรี เข้ามาชี้แจงโดยไม่ต้องผ่านตัวแทน จากที่พูดคุยกับ สว. นอกรอบ พบว่า คนที่เห็นด้วยกับการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติฯ มีมากกว่าจำนวน 1 ใน 3 ที่ต้องเข้าชื่อแน่นอน ทั้งนี้ในวันนี้ (8 ม.ค. 67) จะมีการประชุมกมธ.การพัฒนาการเมืองฯ เราเห็นพ้องกัน แต่จะต้องมาพิจารณาดูญัตติอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้รัฐบาลได้เตรียมตัวว่ามีเรื่องอะไรบ้าง

เมื่อถามถึง ความเห็นเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า หลายคนมองถึงความจำเป็น เป็นวิกฤตหรือไม่ อย่างไร ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผิดกฎหมาย ฉบับไหนหรือไม่ สามารถดำเนินการได้หรือไม่ มีหลายแง่มุมที่ยังมีข้อถกเถียง ดังนั้นทำไมเราไม่ให้ผู้รับผิดชอบมาชี้แจง เพื่อไม่ให้ข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน

เมื่อถามย้ำ ถึงเหตุผลในการที่ สว. ตัดสินใจเปิดการอภิปรายแบบไม่ลงมติรัฐบาลชุดนี้ ที่เพิ่งทำงานได้ 4 เดือน นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติ สามารถทำหน้าที่ได้เป็นช่วงๆ ตอนรัฐบาลชุดที่แล้ว ก็มีการมารายงานทุก 3 เดือน ในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงมีการทำงานร่วมกับกมธ. ที่เกี่ยวข้อง ประเด็นก็แตกต่างกับรัฐบาลชุดนี้ ที่มาจากประชาชน พันธะกรณี ข้อผูกพัน กับสิ่งที่หาเสียง หรือประกาศเป็นนโยบายไว้ เมื่อมีการให้พันธะสัญญาก็จะต้องขับเคลื่อน และมีความคาดหวังจากประชาชน อย่างไรก็ตาม การทำหน้าที่ตรงนี้ไม่อยากให้มองตัวบุคคล แต่อยากให้มองตัวของรัฐบาล ว่าสถานการณ์เวลานี้มีประเด็นที่มากพอ มีประโยชน์หรือไม่อย่างไรในการอภิปราย

นายกฯ ‘เศรษฐา’ ยินดีชี้แจง หลัง สว. จ่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

นายเศรษฐา กล่าวถึงที่ สว. บางส่วน อยากเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 153 แบบไม่ลงมติว่า เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารอยู่แล้ว ถ้าฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายตรวจสอบต้องการความกระจ่าง หรืออะไร ก็ต้องชี้แจง ซึ่งเป็นไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า ระยะเวลาในการบริหารประเทศมีเพียงแค่ 4 เดือน นายกฯ กล่าวว่า ถือว่าเป็นหน้าที่ ไม่เกี่ยวกับจำนวนเดือน หรือจำนวนวัน ซึ่งมีความพร้อมและยินดี

ภาพจาก กลุ่มงานสื่อมวลชน สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า