SHARE

คัดลอกแล้ว

กาลครั้งหนึ่งความก้าวหน้าใน ‘Career path’ ของมนุษย์ออฟฟิศอาจเป็นเส้นตรงที่ต้องไต่ระดับจาก ‘มดงาน’ ขึ้นสู่ ‘หัวหน้าทีม’ และจุดสูงสุดอย่างผู้บริหารระดับ ‘C-level’

เพราะเป็นความก้าวหน้าที่จับต้องได้จริง ทั้งจากค่าตอบแทนที่เพิ่มมากขึ้นรวมถึงการเป็นที่ยอมรับในความสามารถ ที่พิสูจน์ได้จากความไว้วางใจในการแบกรับหน้าที่ที่มีความรับผิดชอบมากกว่าเดิม

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ถนนที่เคยมีเพียง ‘ทางตรง’ ก็ถูกตัดเชื่อมเพื่อให้ผู้คนที่สัญจรไปมามี ‘ทางเลือก’ หลากหลาย จากที่เคยเชื่อว่า การขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้า-ผู้บริหาร คือความก้าวหน้าเพียงหนึ่งเดียว คนรุ่นใหม่กลับปฏิเสธสิ่งนั้น 

หลายคนไม่สนใจ-ยักไหล่ให้กับตำแหน่งหัวหน้างาน แต่เลือกที่จะนิยามความสำเร็จและความพึงพอใจ ด้วยการกำหนดเส้นชัยที่มีส่วนผสมของความเป็นตัวเองมากขึ้น 

และบางครั้งตำแหน่งหัวหน้าก็ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่เท่ากับรูปแบบการทำงานในยุคก่อนอีกแล้ว ‘หัวหน้า’ หรือ ‘ผู้บริหาร’ ในสายตาคนรุ่นใหม่จึงไม่ได้น่าดึงดูดใจอีกต่อไป

[ ตำแหน่งไม่ใช่เครื่องพิสูจน์ ‘ความสำเร็จ’ ]

‘Visier’ บริษัทซอฟต์แวร์วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อการพัฒนาองค์กรได้ทำการสำรวจเก็บข้อมูลชาวอเมริกันจำนวน 1,000 คน พบว่า 38% ต้องการขึ้นสู่ตำแหน่งระดับ ‘Manager’ ในองค์กรปัจจุบัน ส่วนอีก 62% ระบุว่า พวกเขาต้องการอยู่ในสถานะ ‘คนทำงาน’ เช่นเดิมมากกว่า

ข้อมูลจากเว็บไซต์ ‘Yahoo! Finance’ ระบุว่า คนทำงานรุ่นใหม่หลุดพ้นจากความสำเร็จเชิงอุดมคติในรูปแบบเดิมๆ ไปแล้ว พวกเขาต้องการเติมเต็มความสำเร็จที่ออกแบบเองได้ในระดับปัจเจกบุคคลมากกว่า 

โดยได้ยกตัวอย่างการสำรวจอินไซต์ของออฟฟิศแอปพลิเคชันแห่งยุคอย่าง ‘TikTok!’ ที่มีแนวโน้มคล้ายกันกับผลสำรวจดังกล่าวโดยพบว่า “คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการให้พาร์ตการทำงานเป็นแกนหลักในชีวิต พวกเขาต้องการขีดเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น”

ผลสำรวจจาก ‘Visier’ ยังพบอีกว่า กว่า 67% ตอบว่า พวกเขาต้องการใช้เวลากับเพื่อนและครอบครัวมากขึ้น 64% ตอบว่า พวกเขาต้องการมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง 58% บอกว่า พวกเขาโฟกัสไปที่การหาเวลาเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น และมีเพียง 4% เท่านั้นที่ระบุว่า ต้องการทำงานในบทบาทผู้บริหาร

ส่วนหนึ่งที่ทำให้วิธีคิดในการทำงานเปลี่ยนแปลงไปเป็นผลสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดใหญ่ ทำให้ผู้คนเริ่มเปลี่ยนวิธีคิด ลำดับความสำคัญในชีวิตใหม่ เส้นทางการเติบโตในอาชีพการงานดูจะสำคัญน้อยกว่าสุขภาพและความสุขส่วนตัว 

ซึ่งท้ายที่สุดก็อาจสรุปได้ว่า ทั้งหมดนี้ คือความพยายามในการรักษาสมดุลระหว่างงานและชีวิตที่ดีนั่นเอง

[ ตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้น มาพร้อมกับภาระที่ใหญ่ยิ่ง ]

การเป็นคนทำงานในบทบาท ‘Specialist’ เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการมากกว่าขึ้นสู่ตำแหน่งระดับบริหาร พวกเขาต้องการปิดจบงานด้วยตัวเองโดยไม่ต้องวุ่นกับการจัดการคนอื่นๆ พวกเขาต้องการทำงานที่ชอบพร้อมกับการได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม โดยไม่ต้องเผชิญกับความท้าทายอื่นๆ ที่มาพร้อมกับการบริหารจัดการสารพัดอย่าง

พร้อมกันนี้ยังพบอีกว่า ความน่าสนใจในตำแหน่งระดับผู้บริหารนั้นน้อยลงเต็มที เพราะเมื่อคุณขึ้นสู่ระดับเมเนจเมนต์แล้ว งานที่ได้ทำส่วนใหญ่มักเป็นงานที่ ‘ต้องทำ’ ไม่ใช่งานที่ ‘อยากทำ’ แม้จะแลกมากับการ ‘ลงแรง’ ที่น้อยกว่า 

แต่นั่นก็มาพร้อมกับความเครียดและค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นเพียงน้อยซึ่งก็ดูจะไม่คุ้มกับสิ่งที่ต้องแบกรับสักเท่าไร 

ในบรรดาผู้ตอบแบบสอบถามของ ‘Visier’ ระบุว่า สิ่งที่พวกเขากังวลที่สุดหากต้องขึ้นสู่ตำแหน่งบริหาร คือความเครียด ความกดดัน และเวลาในการทำงานที่มากขึ้น

งานวิจัยจาก ‘Washington Post’ พบว่า คนรุ่นมิลเลนเนียล (ผู้ที่เกิดในปี 1980-1994) ไม่ค่อยสนใจงานด้านการจัดการผู้คน แต่พวกเขากลับมีความสนใจในความก้าวหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานที่หันมาโฟกัสกับตัวเอง 

และด้วยความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นทำให้บางบริษัทปรับเปลี่ยน ‘Career path’ ในบริษัทให้ยึดโยงกับบริบทที่เปลี่ยนไป ความก้าวหน้าไม่ได้ผูกกับการขึ้นสู่ตำแหน่งเมเนจเมนต์อย่างเดียว แต่คนทำงานที่ต้องการออกแบบเส้นทางอาชีพในฐานะ ‘Specialist’ ก็สามารถเติบโตในองค์กรได้เช่นกัน

ด้านข้อมูลจากเว็บไซต์ ‘Harvard Business Review’ ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า หน้าที่ของผู้บริหาร ทั้งในระดับ ‘Manager’ และระดับ ‘C-level’ มีภารกิจที่แปลกแยกจากความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ 

กล่าวคือผู้บริหารต้องสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของบริษัทและพนักงาน ซึ่งทั้งสองส่วนมีความขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนไม่ต้องการสวมหัวโขนเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายองค์กรจะปรับตัวให้สอดคล้องไปกับวิถีคนรุ่นใหม่ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ทุกองค์กรยังต้องการคนทำงานในตำแหน่งผู้บริหารอยู่ดี 

นี่คือปัญหาที่บริษัทต้องเผชิญในภายภาคหน้า และต้องเร่งหาวิธีจัดการโดยเร็ว ต่อไปบริษัทอาจขาดแคลนตำแหน่งผู้บริหารมากขึ้นหลังจากเจเนอเรชันก่อนทั้ง ‘เบบี้บูมเมอร์’ และ ‘เจนเอ็กซ์’ ทยอยเกษียณอายุงานไปหมดแล้ว

บริษัทหรือนายจ้างจะทำอย่างไรเพื่ออุดรอยรั่วดังกล่าว ต้องจัดสวัสดิการที่ตรงกับความต้องการของพวกเขามากกว่านี้หรือไม่ ต้องมีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น ต้องสร้างทักษะเพื่อให้เกิดผู้บริหารยุคใหม่อย่างไร เป็นโจทย์ที่องค์กรต้องนำกลับไปขบคิดเพื่อทำให้งานเหล่านี้น่าสนใจมากขึ้น

ที่มา

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า