แม้เจ้าตลาดจะแข็งแกร่งแค่ไหนก็มีคนพร้อมจะโดดลงตลาดมาท้าแข่งเสมอ กับ ‘ตลาดแพลตฟอร์มเรียกรถ’ หรือ Ride-hailing ที่ในไทยมีแอปเรียกรถเข้ามาหลายเจ้า มีทั้งเจ้าที่อยู่ยั้งยืนยงเป็นเจ้าตลาด เจ้าที่ถูกซื้อ หรือเจ้าที่เข้ามาแล้วเก็บของกลับบ้านไป
ล่าสุด เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้กับผู้เล่นใหม่อีกเจ้าอย่าง ‘TADA’ แพลตฟอร์มเรียกรถสัญชาติสิงคโปร์ ที่เข้ามาเริ่มทำธุรกิจหลังได้รับอนุญาตจากกรมขนส่งทางบกในประเทศไทยแล้ววันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2567) โดย ‘ไทย’ เป็นประเทศที่ 4 ต่อจากสิงคโปร์ กัมพูชา และเวียดนาม
จุดเด่นของ TADA ที่ทำให้สามารถเติบโตขึ้นเป็นเบอร์ 2 ของตลาดเรียกรถสิงคโปร์ได้มี 2 ข้อหลัก คือ “ไม่เรียกเก็บค่าคอมมิชชันจากคนขับ” และ “ไม่บังคับคนขับให้รับงาน คนขับสามารถเลือกได้”
[ ไม่เก็บค่าคอมมิชชัน เก็บแค่ ‘ค่าธรรมเนียม 20 บาท’ จากผู้โดยสาร ]
โมเดลธุรกิจของ TADA จะเรียกเก็บ ‘ค่าธรรมเนียม’ จากผู้โดยสารเท่านั้นและเท่าที่รู้ตอนนี้คือแพลตฟอร์มได้ค่าธรรมเนียมเรียกรถจาก ‘ผู้โดยสาร’ ตามกรมขนส่งทางบกกำหนด คือ 20 บาทต่อเที่ยว
เมื่อไม่เก็บค่าคอมมิชชันและเก็บค่าธรรมเนียมในราคาไม่สูง จึงทำให้ค่าโดยสารมีราคาถูกกว่าตลาด (ผู้บริหาร TADA ประเทศไทยคาดว่าจะถูกกว่าเจ้าที่แพงที่สุดในตลาดราว 30%) และคนขับจะได้รับค่าจ้างขับรถในราคาที่ยุติธรรมและสูงกว่าตลาด
โดย TODAY Bizview ได้ถามผู้บริหารเกี่ยวกับเมื่อเก็บค่าธรรมเนียม 20 บาทเท่ากันทุกการเรียกรถ จะสามารถสร้างรายได้และกำไรได้อย่างไร ผู้บริหารยืนยันว่า ในสิงคโปร์เองก็เก็บค่าธรรมเนียมต่ำกว่า 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ (แต่เก็บจากสองทางคือคนขับและคนนั่ง) แต่โมเดลธุรกิจของ TADA ก็ยังสามารถทำกำไรได้ในสิงคโปร์
[ คนขับเลือกรับงานได้ เพราะทุกฝ่ายพึงพอใจ จึงได้บริการดี ]
สาเหตุที่ TADA ให้คนขับเลือกรถ-ไม่รับงานได้ เพราะต้องการมอบความพึงพอใจให้กับทุกฝ่าย เมื่อคนขับได้ขับในเส้นทางที่อยากขับ ได้ค่าโดยสารที่ยุติธรรม ก็จะมอบบริการที่ดีให้ผู้โดยสารได้ ไม่กลายเป็นการบริการด้วยความไม่เต็มใจที่ทำให้ทุกฝ่ายไม่มีความสุข
โดยผู้บริหารของ TADA ยืนยันด้วยสถิติว่า ในสิงคโปร์ ด้วยค่าโดยสารที่ยุติธรรมของ TADA ทำให้คนขับส่วนใหญ่เลือกกดรับงานและมอบระยะเวลาเรียกรถที่ดีให้ผู้โดยสารได้ด้วย
เมื่อถามว่า จุดแข็งอาจกลายเป็นดาบสองคม เพราะในประเทศไทยผู้โดยสารอาจเรียกรถไม่ได้ ทางผู้บริหารของ TADA ยืนยันด้วยสถิติว่า ในสิงคโปร์ TADA สามารถทำเวลาเรียกรถได้ดีมาก เพราะโมเดลไม่มีค่าคอมมิชชันทำให้คนขับส่วนใหญ่กดรับงาน
[ อีกจุดแข็งปลอดภัย ติดต่อได้ มีที่ตั้งแน่นอน ]
นอกจากนั้น จุดเด่นอื่นๆ ของ AWC คือ เข้าถึงง่ายและใช้ง่าย รวมถึง ‘ความปลอดภัย’ ที่ได้รับการรับรองจากทั้งหน่วยงานขนส่งทางบกของสิงคโปร์ (LTA) และกรมขนส่งทางบกของไทย
แล้วยังเปิดให้คนขับสามารถเยี่ยมชมศูนย์ให้บริการคนขับ TADA Driver Centre ที่สำนักงานเลขที่ 2322 ชั้น 2 ซอยประชาสงเคราะห์ เขตดินแดง กรุงเทพฯ 10400 เพื่อลงทะเบียนให้บริการกับ TADA
[ เริ่มต้นจากกรุงเทพฯ คนขับพร้อมรับ 15,000 คน ]
เริ่มต้นนำร่องด้วย ‘รถยนต์’ ที่ปัจจุบันมีคนขับแล้ว 15,000 คน (เป็นแท็กซี่ราว 60%) ก่อนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (ไม่รวมปริมณฑล) โดยประกอบด้วยรูปแบบการให้บริการ 4 ประเภทอย่าง
– AnyTADA
– Economy
– Economy Large
– Premium
และเตรียมจะเปิดตัวการให้บริการในรูปแบบ ‘มอเตอร์ไซค์’ ต่อไปในอนาคตอันใกล้ พร้อมๆ กับการขยายพื้นที่ออกสู่เขตปริมณฑลอย่าง นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ก่อนขยายออกไปสู่จังหวัดอื่นๆ ให้ได้ภายในปีนี้
[ เป้าหมายยังต้องใช้เวลา แต่จะไม่ยอมแพ้ ]
ด้านแผนธุรกิจในภาพรวมของ TADA ต้องการจะขยายธุรกิจออกไปในประเทศอื่นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไปสู่เอเชียตะวันออก ส่วนที่ว่า “ทำไมเลือกมาไทยเป็นประเทศที่ 4”
‘ฌอน คิม’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ TADA บอกว่า หลังจากประสบความสำเร็จในสิงคโปร์ TADA มองหาโอกาสในการขยายธุรกิจต่อ ตลาดแอปเรียกรถในประเทศไทยที่มีค่าคอมมิชชันค่อนข้างสูง TADA ที่มีจุดแข็งอย่าง ‘ค่าคอมมิชชัน’ เป็น 0% สามารถมอบรายได้ที่ยุติธรรมให้กับคนขับให้ไปหาเลี้ยงชีพ-ครอบครัวได้ จึงเชื่อว่าเรามีโอกาส
สำหรับ ‘เป้าหมายส่วนแบ่งตลาดและจำนวนผู้ใช้’ ของ TADA ในประเทศไทย ผู้บริหารบอกว่า ยังคงต้องใช้เวลาถึงจะตอบได้ “แต่เราบอกได้ว่า เราจะไม่ยอมแพ้ ไม่เรียกเก็บค่าคอมมิชชัน ไม่เสียจุดเด่น และทำสิ่งที่เราเชื่อมั่นต่อไป”
ในสิงคโปร์ TADA สามารถทำกำไรได้หลังเปิดบริการ 4-5 ปีและกลายเป็นเจ้าของส่วนแบ่งอันดับ 2 ในตลาดได้ในที่สุด ที่สำคัญผู้บริหารยืนยันว่า โมเดลธุรกิจของ TADA สามารถเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเรียกรถได้