วีรบุรุษแห่งป่าเชอร์วู้ด จอมโจรคุณธรรมที่ปล้นคนรวยไปแจกจ่ายคนจนนามว่า โรบินฮู้ด เป็นแรงบันดาลใจของชื่อแอปพลิเคชัน Robinhood แต่วันนี้เรามาถึงยุคที่ไม่มีให้ปล้น ด้วย ‘โควิด-19’ ทำตลาดฟู้ดเดลิเวอรีไทยปี 2563 มีแนวโน้มโตระเบิด 200% แต่ในวันที่ไร้โควิดกลับทำให้ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ไทยดำดิ่ง
“เอาง่ายๆ ทุกๆ ทรานแซคชั่น ของโรบินฮู้ดเราขาดทุนประมาณ 30-40 บาท แต่มันทำให้เกิดการค้าขายในวงร้านอาหาร เกิดกำไร คือแบงก์มองเป็นซีเอสอาร์ตั้งแต่แรก”
นี่คือหนึ่งคำพูดของ ‘ธนา เธียรอัจฉริยะ’ ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่บอกกับ TODAY ไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2564 ช่วงส่ง ‘Robinhood’ ลงสนามธุรกิจส่งอาหารหรือฟู้ดเดลิเวอรี่ ในประเทศไทย
จุดยืนที่ชัดเจนว่า ‘Robinhood’ เป็นหนึ่งในโครงการ CSR ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ เน้นคืนกำไรให้สังคม ทำให้ ‘Robinhhod’ มีจุดเด่นแตกต่างจากเจ้าอื่นในตลาด
คือเป็นแอปพลิเคชันส่งอาหารที่ไม่เก็บ “ค่า GP” (Gross Profit) คือส่วนแบ่งหรือค่าคอมมิชชันที่ร้านค้าจ่ายให้แก่แอปพลิเคชัน ร้านค้าจะได้รับเงินทั้งหมด ทำให้ร้านค้าสามารถขายของได้อย่างมีคุณภาพในปริมาณที่เหมาะสม ส่วนลูกค้าก็จ่ายค่าอาหาร และค่าส่งตามจริงโดยไม่บวกเพิ่ม

แฟ้มภาพ
แต่การทำ CSR ไม่ใช่ Social Enterprise
CSR ย่อมาจาก Corporate Social Responsibility ความเข้าใจอย่างง่ายๆ ก็คือ การนำผลกำไรเพียงส่วนเล็กน้อยมาจัดกิจกรรมทางสังคม ขณะที่ Social Enterprise (SE) คือ กิจการเพื่อสังคม คือเป้าหมายการทำธุรกิจไม่ใช่เพียงกำไร แต่ธุรกิจต้องอยู่ได้
ซึ่งกรณี Robinhood ทาง SCBx ย้ำชัดว่ามาจากจุดเริ่มต้นเพื่อจัดกิจกรรมทางสังคม แต่จะเห็นได้ชัดว่าความยั่งยืนในการทำธุรกิจเป็นเหตุผลสำคัญที่นำมาสู่การยุติกิจการในครั้งนี้
ยิ่งปล่อยไปยิ่งขาดทุน เพราะโมเดลธุรกิจไม่ได้ครบลูป
แม้จะมีแรงสนับสนุนจากบริษัทแม่ ทว่า ‘Robinhood’ ก็ไม่สามารถต่อได้ ส่วนเรื่องการขยายธุรกิจหรือการปล่อยกู้จากที่เคยระบุว่าจะเป็นเป้าหมายระยะต่อไปนั้น แม้จะเริ่มมีการปล่อยกู้ให้ไรเดอร์บ้าง แต่ก็ยังไม่ถือว่าทำกำไรได้ตามเป้า
หลังดำเนินการฝ่าโควิดมากว่า 3 ปี บริษัทแม่อย่าง SCBX ที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงตัดสินใจตัดจบกิจการในส่วนที่ไม่สร้างกำไรไป
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ก็ต้องประกาศยุติการให้บริการแอปพลิเคชัน ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป
“หลังจากบรรลุภารกิจช่วยเหลือร้านค้า ไรเดอร์ และคนตัวเล็กในช่วงวิกฤตโควิดได้ตามเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้” SCBx ระบุไว้ในประกาศชี้แจงต่อสาธารณชน
ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่นั้นเป็นธุรกิจที่ทำยาก เพราะต้องมีบาลานซ์รอบด้าน กล่าวคือ ต้องทำให้ลูกค้าพอใจ ไรเดอร์อยู่ได้ ส่วนร้านค้าก็ต้องได้รับเงินคุ้มกับการลงทุนค้าขาย
อย่างไรก็ตามการดำเนินการของ ‘Robinhood’ ไม่สูญเปล่า เพราะข้อมูลจากการลงทะเบียนยังสามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจในเครือ SCBx ได้ต่อไป
แต่ผลกระทบทางสังคมจากการที่ ‘Robinhood’ ประกาศยุติกิจการ คือเรากำลังเสีย “ตัวเลือก” ในตลาด ท่ามกลางการแข่งขันธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่รุนแรงแต่ละฝ่ายยอมขาดทุน เพื่อให้ได้ฐานคนติดตามมาก
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด มีมุมมองเป็นลบเล็กน้อยต่อการยกเลิกบริการ Robinhood โดยมองว่าระยะสั้นอาจมีการตั้งด้อยค่าในเงินลงทุน ไตรมาสใดไตรมาสหนึ่ง อาจจะในไตรมาส 3 หรือ 4 แต่ในระยะยาวจะเป็นบวก เพราะ Robinhood ขาดทุนราวปีละ 2,000 ล้านบาท เท่ากับถ้ายกเลิกกิจการที่ทำให้ขาดทุน กำไรในระยะยาวก็จะปรับตัวขึ้น การขาดทุนปีละ 2,000 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 5% ของกำไรต่อปีของธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีกว่า 40,000 ล้านบาทบวก ดังนั้นระยะกลางถึงยาวมองบวก
อ้างอิง :
บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) SCBx ประกาศปิดตัว Robinhood มีผลกระทบอะไรบ้าง
โรบินฮู้ด วีรบุรุษในคราบจอมโจรตัวจริงคือใครกันแน่?
เรื่องที่เกี่ยวข้อง :
ถอดแนวคิด ‘ช่วยคนอย่าเขียม’ ภารกิจพยุงคนตัวเล็กฝ่าโควิดของ ‘โรบินฮู้ด’
วิเคราะห์ SCB เปิดตัว Robinhood เขย่าธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ฟรี GP แต่ได้ข้อมูลล้ำค่ากลับไป