SHARE

คัดลอกแล้ว

เหตุการณ์สึนามิในไทย ผ่านมา 20 ปีแล้ว เชื่อว่าหลายคนที่ทันเหตุการณ์ในตอนนั้นยังคงจำภาพที่ติดตาจนถึงทุกวันนี้ได้เป็นอย่างดี

ภาพที่คลื่นทะเลยักษ์ซัดเข้าหาฝั่งอย่างบ้าคลั่ง ภาพที่บ้านเรือนหลายร้อยหลังค่อยๆ โดนคลื่นถาโถมจนลอยไปตามน้ำ ภาพแห่งการสูญเสียของร่างมนุษย์มากมายหลากหลายสัญชาติที่เรียงรายเกลื่อนกลาดรอคอยการระบุตัวตน

คุณปีเตอร์ เบนส์ (Peter Baines) เป็นตำรวจด้านนิติวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย เขาเคยนำทีมช่วยพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์โจมตีของผู้ก่อการร้ายที่บาหลี อินโดนีเซีย ในปี 2002 จากนั้นในปี 2005 ระหว่างที่เขากำลังพักผ่อนในวันหยุด หัวหน้าของเขาก็โทรหาพร้อมบอกว่า “เวลาวันหยุดของนายหมดลงแล้ว” คุณปีเตอร์ต้องบินด่วนมาที่ประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่เดิม คือการนำทีมช่วยพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้เสียชีวิต จากโศกนาฏกรรมสึนามิ

คุณปีเตอร์บอกว่า เขาไม่เคยเดินทางมาที่ประเทศไทยมาก่อน แต่ประสบการณ์ในเมืองไทยครั้งแรกของเขา แทนที่เขาจะได้พบกับน้ำทะเลสีใสกับท้องฟ้าสีสวย กลับกลายเป็นภาพของซากปรักหักพังของบ้านเรือนต่างๆ เสียงร่ำไห้ของญาติผู้เสียชีวิตที่ทั้งรอคอยคนในครอบครัวอันเป็นที่รักด้วยความหวัง และคนที่ได้รับร่างที่ได้รับการพิสูจน์อัตลักษณ์เรียบร้อยแล้ว เตรียมนำร่างไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่อไป

คุณปีเตอร์ นำทีมพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้เสียชีวิตชาวต่างชาติ เคียงข้างไปกับทีมของคุณหมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ที่รับหน้าที่ในส่วนของการพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้เสียชีวิตชาวไทย เขาได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่บริเวณท่าฉัตรไชย จังหวัดพังงา ซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของสะพานสารสิน จังหวัดภูเก็ต และร่วมกันพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้เสียชีวิตกว่า 3,500 คน หลังจากนั้นคุณปีเตอร์ก็ได้รับการขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย ให้ช่วยพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้เสียชีวิตที่เกาะพีพีต่อ เขาและทีมจึงใช้เวลาอยู่ในประเทศไทย รวมถึงการบินกลับไปกลับมาระหว่างไทยและออสเตรเลียอยู่นานนับหลายเดือน

แม้ว่าจะเป็นภารกิจที่เหน็ดเหนื่อย แต่คุณปีเตอร์ยอมรับว่า การได้ช่วยพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้เสียชีวิตให้กับครอบครัวของพวกเขาได้ เป็นสิ่งที่ทำให้เขาภาคภูมิใจในสิ่งที่เขาทำ เพราะเขาเข้าใจและรู้ซึ้งถึงความรู้สึกที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก คุณปีเตอร์ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่เขาจะหยุดปฏิบัติการนี้ หยุดการพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้เสียชีวิต เพราะเขารู้สึกว่าการได้ช่วยระบุตัวตน และคืนร่างของผู้เสียชีวิต คือการช่วยหา “คำตอบ” ให้กับครอบครัวของพวกเขา ไม่ว่าแต่ละคนจะมีศรัทธาหรือไม่ หรือนับถือศาสนาใดก็ตาม นั่นจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เขาอยู่ช่วยเหลือทุกคนที่ไทยอย่างยาวนานเป็นเดือนๆ เพราะเขาอยากช่วยเหลือครอบครัวของผู้สูญเสียอย่างสุดความสามารถ

เมื่อถามเขาว่า พบร่างที่ไม่สามารถพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้เสียชีวิตได้หรือไม่ คุณปีเตอร์ยอมรับว่ามี ที่ตำบลบางม่วง จังหวัดพังงา จะมีสุสานที่บรรจุร่างของผู้เสียชีวิตที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้มากถึง 400 คน เพราะปกติแล้วขั้นตอนในการระบุตัวตนจะต้องมีการเข้าไปเก็บหลักฐานที่สามารถตรวจ DNA ได้ เช่น เส้นผม แปรงสีฟัน ลายนิ้วมือ เพื่อนำผลตรวจมาจับคู่กับร่างที่พบ แต่หลายคนที่ดำรงชีวิตอย่างสมถะ อาจสูญเสียบ้านทั้งหลังไปจากสึนามิ และยังติดต่อญาติและครอบครัวไม่ได้ ก็อาจทำให้ไม่มีหลักฐานมากเพียงพอที่จะระบุตัวตนได้ ซึ่งทีมงานของคุณปีเตอร์ก็บินตรงจากออสเตรเลียเพื่อมาดูแลรักษา ทำความสะอาด และปรับปรุงสถานที่ฝังร่างของผู้เสียชีวิตที่ตะกั่วป่าให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ เพื่อเป็นการให้เกียรติต่อผู้เสียชีวิต

ลาออกจากงานประจำ ลุยงานช่วยเหลือสังคมเต็มตัว

คุณปีเตอร์ เล่าว่า หลังจากที่เขาได้มาร่วมพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้เสียชีวิตจากสึนามิที่ประเทศไทยร่วมกับทีมงานไทยและต่างประเทศ เป็นช่วงเวลาที่เขาได้พบกับเด็กๆ ที่สูญเสียบ้านและครอบครัว ที่ตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เขาเห็นเด็กๆ ต้องอาศัยอยู่ในเต็นท์ วินาทีนั้นเขาตัดสินใจที่จะทำกิจกรรมการกุศล เพื่อช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ที่ไทยหลังจากที่เขาบินกลับออสเตรเลีย ตอนนั้นเขายังมีงานประจำทำอยู่ แต่เขาก็ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ในการระดมทุนช่วยเหลือเด็กๆ ที่ไทย

คุณปีเตอร์ก่อตั้งมูลนิธิ Hands Across the Water ในปี 2005 จนกระทั่งในปี 2009 เขาตัดสินใจลาออกจากการเป็นตำรวจ เพื่อใช้เวลาทั้งหมดกับการทำงานเป็นอาสาสมัคร และทำกิจกรรมการกุศลหลายๆ อย่าง เพื่อระดมทุนช่วยเหลือเด็กๆ ที่ประเทศไทยผ่านมูลนิธิของเขานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

“ผมเข้าใจว่าผมไม่สามารถเปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพราะพวกเขาเสียทั้งครอบครัวและบ้าน แต่ผมรู้สึกว่าผมสามารถเปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปจากนี้ได้ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่แค่การหาองค์กรการกุศลมาช่วย ผมคิดว่าผมมีเหตุให้กับตัวผมเองในการที่จะทำด้วยตัวเอง และผมตัดสินใจทำงานเพื่อช่วยส่งเสริมและสนับสนุนพวกเขา เลยเป็นที่มาของการเริ่มทำงานตรงนี้อย่างจริงจัง”

 

การช่วยเหลือที่แท้จริง คือการช่วยเหลือที่ยาวนาน เพื่อความยั่งยืน

คุณปีเตอร์ เล่าให้ฟังถึงการลาออกมาทำงานมูลนิธิของตัวเองอย่างเต็มตัว เพราะตัวเขาคิดว่า การให้ความช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาสในประเทศไทยหลังเหตุการณ์สึนามิเหล่านี้ จำเป็นต้องใช้เวลาที่ยาวนาน มีหลายองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรเข้ามาช่วยในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นองค์กรเหล่านั้นก็หายไป ทำให้การช่วยเหลือขาดความต่อเนื่อง และไม่ยั่งยืน

“ตอนที่ผม และผู้สนับสนุนมากมายร่วมด้วยช่วยกันสร้างบ้านหลังแรกให้กับเด็กๆ ที่ตะกั่วป่าในปี 2006 ผมจำได้ชัดเจนเลยวันที่ผมขับรถกลับจากงานเปิดบ้านให้เด็กๆ ระหว่างทางผมมีความคิดผุดขึ้นมาว่า แล้วยังไงต่อ ใครจะอยู่ดูแลเด็กๆ ที่นั่น แล้วทีมงานจะเอาเงินจากไหนมาดูแลเด็กๆ และตัวเอง ใครจะดูแลเรื่องสุขภาพและการศึกษาของเด็กๆ เหล่านั้น ตอนนั้นผมเลยคิดขึ้นมาได้ทันทีว่าการสร้างบ้านเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในการช่วยเหลือเด็กๆ”

“หลังจากที่ผมบินกลับออสเตรเลีย ผมเลยคิดว่าผมอยากใช้เวลาดูแลเด็กๆ ที่ไทยให้ยาวนานยิ่งขึ้น ผมก่อตั้งมูลนิธิตั้งแต่ปี 2005 ทำกิจกรรมระดมทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ที่ไทยทั้งในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และในไทย”

“ความต้องการการช่วยเหลือของเด็กๆ ที่สูญเสียบ้านและครอบครัวมันยังอยู่ ไม่หายไปไหน แค่เรื่องราวมันไม่ได้เผยแพร่ลงตามข่าวต่างๆ ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่มีปัญหา บ้านหลังแรกที่หลายๆ องค์กรร่วมมือกันสร้างที่บ้านธารน้ำใจ ตะกั่วป่า สักพักก็เริ่มไม่เพียงพอเพราะมีเด็กๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้พวกเราต้องสร้างบ้านหลังใหม่เพิ่ม รวมถึงสร้างศูนย์กู้ภัยสึนามิในพื้นที่แถวนั้นให้อีกด้วย”

คุณปีเตอร์ อธิบายว่า เขาและทีมงานต้องทำกิจกรรมระดมทุนเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ทุกปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายทั้งในการดูแลคุณภาพชีวิต ให้การศึกษา หรือฝึกสร้างอาชีพที่เหมาะสม รวมถึงจ่ายค่าแรงของทีมงานที่ดูแลเด็กๆ ด้วย

“พวกเราเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ และได้เลือกวิถีชีวิตของตัวเอง บางคนก็เลือกที่จะไม่เรียนต่อ แต่ไปฝึกอาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่เด็กเสิร์ฟในร้านอาหารของชุมชน หรือเป็นพนักงานในร้านนวดเท่านั้น แต่เราเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ใช้ชีวิต ได้ทำตามความฝันอย่างเต็มที่”

นอกจากนี้ คุณปีเตอร์ยังเล่าอย่างภาคภูมิใจว่า สิ่งที่เขารู้สึกว่าเป็นรางวัลแก่ชีวิตของเขา คือการได้เห็นเด็กๆ มีชีวิตที่ดี มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เธอไม่เหลือครอบครัวและญาติในไทยเลย ทางมูลนิธิจึงเข้าช่วยเหลือเธอ และให้การสนับสนุนเธออย่างเต็มที่ เธอได้เรียนมหาวิทยาลัยในไทย จบด้านการตลาด และสุดท้ายเธอได้บินไปทำงานกับบริษัทเอเจนซี่โฆษณาที่ออสเตรเลีย

นอกจากนี้ยังมีเด็กผู้ชายที่ไม่เคยได้พบกับพ่อแม่ที่แท้จริง เขาอาศัยอยู่บ้านป้าที่มีการใช้ความรุนแรงจากการดื่มแอลกอฮอล์อยู่บ่อยๆ เขาถูกบังคับให้ออกจากโรงเรียนและหางานทำเพื่อเลี้ยงตัวเองในวัย 12 ปี สุดท้ายทางมูลนิธิจึงเข้าไปช่วยเหลือให้ได้อยู่กับทางมูลนิธิเอง ทำให้เขาได้เรียนจนจบมหาวิทยาลัย ได้เรียนต่อในระดับปริญญาโท และปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแคนเบอร์ราที่ออสเตรเลีย จนสุดท้ายเขากลับมาเป็นผู้บริหารที่บ้านของมูลนิธิที่เขาเติบโตมา ดังนั้นการได้เห็นชีวิตของเด็กๆ ที่เขาช่วยเหลือได้มีเส้นทางชีวิตและอนาคตที่ดี เป็นสิ่งที่ทำให้เขาภาคภูมิใจที่สุด

ขยายการช่วยเหลือไปยังเด็กด้อยโอกาสคนอื่นๆ ในไทย

แม้ว่าจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งมูลนิธิช่วยเหลือเด็กๆ ในไทยจะมาจากเหตุการณ์สึนามิ แต่คุณปีเตอร์ก็ตัดสินใจช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสของมูลนิธิอื่นๆ ด้วย โดยเขาได้ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเด็กๆ บ้านโฮมฮัก ที่จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ช่วยเหลือเด็กๆ ที่ติดเชื้อ HIV ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

“ผู้ดูแลเด็กๆ ของบ้านโฮมฮักต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านการเงิน เธอไม่สามารถจัดหายาที่เด็กๆ ต้องการได้ และตลอดระยะเวลาหลายปี เด็กๆ หลายคนเสียชีวิตเพราะมียารักษาไม่เพียงพอ ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา ผมจึงให้คำมั่นสัญญาว่าผมจะช่วยเหลือมูลนิธิของเธอ”

“ผมคิดว่าเราสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญสำหรับพวกเขา เพราะในพื้นที่แถวนั้นผู้คนค่อนข้างยากจน และเด็กๆ หลายคนมีอาการป่วยรุนแรง และทยอยเสียชีวิต เมื่อเราเข้าไปช่วยเหลือ จำนวนของเด็กที่เสียชีวิตก็ค่อยๆ ลดลง ผมจึงรู้สึกดีมากที่ได้ช่วยเหลือเด็กๆ ที่นั่น”

ในปี 2016 คุณปีเตอร์ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “เบญจมดิเรกคุณาภรณ์” จากกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะที่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทย ช่วยเหลือเด็กกำพร้าจากเหตุการณ์สึนามิที่ภาคใต้ของไทยอย่างต่อเนื่อง และยังได้ขยายความช่วยเหลือไปยังบ้านเยาวชนที่ดูแลผู้ติดเชื้อ HIV ในจังหวัดยโสธร และสุรินทร์อีกด้วย

นอกจากนี้ คุณปีเตอร์ ยังมีแผนที่จะเปิดศูนย์เรียนรู้เกษตรกรรมที่พังงา และศูนย์การเรียนรู้แบบดิจิตอลที่ยโสธร เพื่ออบรมให้ความรู้กับเด็กๆ ได้มีความรู้ และสามารถนำไปต่อยอดสร้างอาชีพเพื่อเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวในอนาคต โดยไม่ได้มีแค่กลุ่มเป้าหมายเพียงเด็กๆ ที่ทางมูลนิธิในการช่วยเหลือจากเหตุการณ์สึนามิ แต่รวมถึงเด็กด้อยโอกาสจากที่อื่นๆ ที่สามารถเข้ามาใช้บริการที่ศูนย์การเรียนรู้นี้ได้เช่นกัน

Run to Remember

ในฐานะที่เคยนำทีมช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิที่ไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และยังให้ความช่วยเหลือผ่านกิจกรรมการกุศลต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องทุกปี คุณปีเตอร์ จัดกิจกรรมวิ่งการกุศลระยะไกล เพื่อรำลึกถึงโศกนาฏกรรมสึนามิ และระดมทุนเพื่อเด็กด้อยโอกาสที่ยังรอคอยความช่วยเหลืออยู่อีกจำนวนมาก โดยจะเริ่มวิ่งจากจังหวัดยโสธร ในวันที่ 1 ธันวาคม ผ่านลงมากรุงเทพฯ ก่อนมุ่งหน้า ไปยัง อนุสรณ์สถานสึนามิ บ้านน้ำเค็ม ในจังหวัดพังงา โดยมีกำหนดจบการวิ่งในวันที่ 26 ธันวาคม เฉลี่ยวิ่งวันละ 60 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 1,400 ก.ม.

เขาให้เหตุผลที่จัดกิจกรรมวิ่งระยะไกลหลายกิโลเมตรข้ามหลายจังหวัดเพราะว่า หากเป็นการวิ่งไม่กี่กิโลเมตรในวันเดียว คนอาจเห็นภาพกิจกรรมไม่ชัด และยังรับรู้ถึงกิจกรรมนี้ไม่มากพอ คนยังไม่ทันเห็นอะไรมาก กิจกรรมก็จบไปแล้วอย่างเงียบๆ และระยะเวลาสั้นๆ อาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของเขาที่ต้องการระดมทุนมากถึง 25 ล้านบาทได้

“เราทำงานอยู่ที่ไทยมากว่า 20 ปี ยังไม่มีใครรู้จักเราเลย จริงๆ แล้วผมกับเพื่อนๆ จากออสเตรเลียปั่นจักรยานข้ามจังหวัด แถวอุดรธานีบ้าง ปั่นจากหัวหินไปพังงาบ้าง ระยะทางกว่า 1,600 กิโลเมตรใน 16 วัน เราปั่นจักรยานกันเป็นกลุ่มทุกปีเพื่อระดมทุนช่วยเหลือเด็กๆ แต่ไม่มีใครสนใจพวกเราเท่าไร”

“ผมเลยคิดว่าถ้าเราอยากจะบอกกล่าวถึงองค์กรของเราให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น มีคนเห็นกลุ่มนักวิ่งที่วิ่งเป็นบ้าเป็นหลังข้ามหลายจังหวัดตั้งแต่อีสานลงใต้ ระยะทางกว่า 1,400 กิโลเมตรเป็นเวลา 26 วัน คนอาจสงสัยว่าพวกเราเป็นใคร และรับรู้ถึงกิจกรรมของพวกเราได้ ว่าพวกเรากำลังช่วยเหลือเด็กๆ ในไทยอยู่ และหวังว่าจะมีคนตามมาสมทบร่วมกิจกรรมกับพวกเราด้วยกันเยอะๆ”

แต่สำหรับคนที่ไม่มีเวลาวิ่งจากอีสานไปใต้ หรือไม่มีกำลังวิ่งมากพอ ก็ยังสามารถร่วมวิ่งระยะสั้นที่สวนจตุจักรได้ในวันที่ 15 ธันวาคมนี้เช่นกัน

การบริจาค ไม่ช่วยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

เมื่อคุณปีเตอร์เป็นคนที่ลาออกจากงานประจำที่มั่นคงอยู่แล้ว มาลุยงานมูลนิธิ ทำกิจกรรมการกุศลเป็นหลักแทน TODAY จึงขอความคิดเห็นถึงเรื่องที่คนไทยบางส่วนมองว่า การวิ่งระดมทุนบริจาคเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุหรือไม่

“ผมมองว่าสิ่งที่ผมทำไม่ได้มีจุดประสงค์ในการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุตั้งแต่แรกอยู่แล้ว สิ่งที่เราทำไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนในประเทศนี้ได้ ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้จริงๆ น่าจะเป็นเรื่องที่เกินตัวของพวกเราที่เป็นคนธรรมดาไปมาก นั่นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจัง”

“แต่สำหรับตัวผมเอง ผมก็มองว่าผมอยากทำในสิ่งที่ผมทำได้ ช่วยในสิ่งที่ผมช่วยได้ ถ้าเรามัวแต่รอวิธีแก้ปัญหาจากรัฐบาลอย่างเดียว แล้วในระหว่างนี้ที่ปัญหามันยังอยู่ เราจะทำยังไง เด็กๆ ที่รอคอยการช่วยเหลืออยู่ตอนนี้จะทำยังไง สิ่งที่เราคำนึงถึงคือ เด็กๆ ได้รับผลประโยชน์จากสิ่งที่เราทำ อาจจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้ถึงต้นตอ แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยในตอนนี้ ก็ไม่มีอะไรดีขึ้นเลยเช่นกัน”

 

การสนับสนุนที่มากกว่าเงิน

นอกจากเรื่องของเงินแล้ว สำหรับคนที่เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิช่วยเหลือเด็กผู้ด้อยโอกาสในไทยมากว่า 20 ปีอยากฝากบอกภาครัฐและทุกๆ คนว่า 

“พวกเราต้องการการสนับสนุนด้านการเงินก็จริง แต่ถ้ามีผู้คนคอยติดตามเรื่องราวและกิจกรรมของเราที่ทำอย่างต่อเนื่อง ผู้คนในแต่ละจังหวัดที่เราเดินทางไปทำกิจกรรมรับรู้ถึงการมีอยู่ของพวกเรา ออกมาให้กำลังใจเวลาพวกเราวิ่งหรือปั่นจักรยานผ่าน รวมถึงมาร่วมกิจกรรมกับเราอย่างการวิ่งระยะสั้นที่สวนจตุจักรในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ แค่นี้ก็โอเคแล้ว ผมคิดว่าผมและเพื่อนๆ ต้องการกำลังใจ แค่บอกว่า ‘ทำได้ดีแล้วนะ’ หรือ ‘ยินดีด้วยนะ พวกคุณทำสำเร็จแล้ว’ แค่นี้ก็พอแล้วครับ” คุณปีเตอร์ยิ้มอย่างจริงใจ

ติดตามรายละเอียดกิจกรรม Run to Remember ได้ที่ Facebook: Hands Across the Water

#runtoremember

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า