Elon Musk คลั่งไคล้การเล่นเกมเป็นชีวิตจิตใจ แต่สุดท้ายเขาได้กลายเป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร ‘Tesla’ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของโลก
Warren Buffett เคยเป็นครูสอนอูคูเลเล่ แต่แล้วก็หันเหสู่เส้นทางนักลงทุนระดับตำนานแห่ง ‘Berkshire Hatahaway’
ส่วน Bill Gates ก็ไม่ได้ยึดการเล่นไพ่บริดจ์อันโปรดปรานเพื่อหาเลี้ยงชีพ เขามุ่งหน้าสู่การเป็นมันสมองเบื้องหลังอาณาจักร Microsoft จนความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์
นี่คือบทสรุปที่สำนักข่าว Financial Times อ้างอิงไปยังข้อเสนอของ Scott Galloway ศาสตราจารย์ด้านการตลาดแห่ง NYU Stern School of Business
โดย Galloway ระบุในงานชิ้นนี้ว่า หากคนทำงานอยากพบกับความมั่งคั่งทางการเงิน อยากประสบความสำเร็จในชีวิต จงละทิ้งความสนใจ แพชชัน และความหลงใหล
Galloway บอกว่า หากมีใครก็ตามแนะนำให้ทำตามแพชชัน นั่นแปลว่า เขาคนนั้นรวยแล้ว เพราะหลายครั้งความมั่งคั่งร่ำรวยของครอบครัวที่สั่งสมมาตั้งแต่ยุคก่อนไม่ได้เกิดจากสิ่งที่บรรพบุรุษชื่นชอบ อยากทำ และเป็นความฝันของพวกเขา
หากแต่เป็นสิ่งที่ทำได้ดี ใช้ความพยายาม และเสียสละเวลาอีกหลายพันหลายหมื่นชั่วโมง เพื่อที่จะทำสิ่งนั้นได้ด้วยความเป็นเลิศ หาใช่การใช้ ‘แพชชัน’ เป็นแรงขับเคลื่อนไปข้างหน้า
ด้านนักวิจัยจากมหาวิทยาสแตนฟอร์ดก็ระบุตรงกันว่า ความมุ่งมาดปรารถนาทำตามแพชชันเพียงอย่างเดียวกระทบต่อความสำเร็จในชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ
เพราะแพชชันจะพาเราอุทิศตนให้กับเป้าหมายเพียงหนึ่งโดยไม่ทันเหลียวมองปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่อาจพาเราเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้นด้วยก็ได้
[ ความหลงใหล ≠ ความสามารถ ]
ศาสตราจารย์ด้านการตลาดนิยามคำว่า ‘ความสามารถ’ ว่า เป็นที่สิ่งที่เราได้มาโดยง่าย แต่ยากจะได้มาสำหรับผู้อื่น ความสามารถเป็นสิ่งเฉพาะตัวที่อยู่ตรงข้ามกับ ‘ความหลงใหล’
แม้ว่า แพชชันจะแปลงเป็นอาชีพทำเงินได้ แต่หากเทียบเคียงกันแล้ว Galloway มองว่า ความสามารถช่วยการันตีความสำเร็จได้มากกว่าแพชชันอย่างแน่นอน
เขายกตัวอย่างกรณีของ ‘Prophet’ บริษัทที่ปรึกษาที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1992 ซึ่งตัวเจ้าของบริษัททำมาแล้วสารพัดอาชีพที่เป็นการวิ่งไล่ตามแพชชันของเธอ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักเทนนิส ไปจนถึงเทรดเดอร์
แต่สุดท้ายสิ่งที่เป็นความสามารถอันโดดเด่นมาโดยตลอดไม่ว่าเธอจะประกอบอาชีพไหน คือทักษะในการวางแผน การบริหารจัดการคน สร้างแรงจูงใจให้กับทีม นั่นจึงทำให้ในเวลาต่อมาเธอประสบความสำเร็จกับธุรกิจ Consuting Firm
Galloway อธิบายเพิ่มเติมว่า คนส่วนใหญ่มักคิดว่า ใครๆ ก็เป็นเมเนเจอร์ที่ดีได้ ทว่า ในความเป็นจริงแล้วทักษะบางอย่างเป็นความแตกต่างเฉพาะบุคคล แม้จะฝึกฝนได้ ออกดอกออกผลในท้ายที่สุดได้ แต่สิ่งนี้จะเบ่งบานได้ดีในกลุ่มคนที่มีความสามารถเป็นทุนเดิม
ข้อมูลจาก Forbes ระบุว่า การใช้แพชชันนำทางอาจกลายเป็นกับดักที่ย้อนกลับมาทำร้ายเราได้เช่นกัน สำหรับบางคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ไม่รู้ว่าหลงใหลในอาชีพแบบใด จะเริ่มตั้งคำถาม-คิดวนซ้ำๆ เพื่อหาสิ่งนั้นให้เจอ
Forbes ให้ความเห็นว่า คนส่วนใหญ่ต้องการเวลา ต้องการศึกษาและฝึกฝน การได้ทำงานร่วมกับบริษัทต่างๆ จะช่วยให้เราตามหาแพชชันเจอได้ แต่กลายเป็นว่า ที่ผ่านมาเราถูกสอนให้ตามหาแพชชันอย่างหนัก จนเกิดความเครียดและวิตกกังวลเมื่อยังหาตัวเองไม่เจอสักที
สิ่งที่สำคัญไปมากกว่า ‘แพชชัน’ คือ ตามหา ‘จุดแข็ง’ ของตัวเองให้เจอ การมองหาอาชีพเพื่อสร้าง Career path ควรเริ่มสตาร์ทที่ความสามารถเป็นหลัก เพื่อดูว่าเราสามารถใช้จุดแข็งในตำแหน่งแห่งที่นั้นๆ ได้อย่างไร
หรือถึงที่สุดแล้ว หากยังตามหาไม่เจอว่าเราเก่งด้านไหน ให้ลองทำสิ่งใหม่ไปเรื่อยๆ ดูว่าอะไรที่ทำแล้วมีความสุข อยู่กับสิ่งนั้นได้นานที่สุด ‘แพชชัน’ ควรเป็นสิ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นจากความสามารถ ไม่ใช่การวิ่งไล่ตามอย่างไร้ทิศทาง
[ เมื่อความหลงใหลเปลี่ยนเป็นงาน อาจทำให้ ‘แพชชัน’ หายไป ]
บางคนตามหาแพชชันเจอจนนำมาต่อยอดเป็นงาน แต่กลับกลายเป็นว่า ความรู้สึกที่มีต่อสิ่งนั้นเปลี่ยนไป ไม่ได้รัก ไม่ได้เกลียด แต่ก็ไม่รู้สึกหลงใหลเหมือนเดิมอีกแล้ว
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เป็นเรื่องปกติที่ต้องเจอเมื่อเราทำบางสิ่งบางอย่างเป็นประจำจนจนเกิดเป็นวิถีชีวิต มากไปกว่านั้น คือนำแพชชันต่อยอดสู่การหารายได้ ซึ่งอาจทำให้เราสูญเสียความหลงใหลที่เคยมีไปได้
หากรู้สึกไม่ดี และไม่อยากแบ่งพื้นที่ความหลงใหลไปกับสิ่งที่จำเป็น ‘ต้องทำ’ เพื่อเลี้ยงชีพ ลองปรับให้แพชชันขยับสู่งานอดิเรกที่ต้องทำนานๆ ครั้งก็พอ
แต่หากเรายังอยู่ในสถานะที่มีเงินเป็นแรงขับเคลื่อนของชีวิตและไม่ได้มีทางเลือกมากนัก ให้เราโฟกัสไปที่คุณค่าในปัจจุบันที่ซุกซ่อนอยู่ในงานนั้นๆ โดยที่งานอื่นให้คุณไม่ได้ อาทิ ออฟฟิศยังสามารถทำงานจากที่บ้านได้ 100% ขณะที่เพื่อนรอบข้างคุณต้องกลับเข้าออฟฟิศกันแล้ว
แทนที่จะวิ่งตามแพชชันไม่รู้จบ ลองมองหาข้อดีรอบๆ ตัวที่บางครั้งเราก็อาจเผลอลืมไปว่า นี่คือเรื่องราวดีๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับใครก็ได้
ที่มา: