สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าวสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศไทยกำลังน่าห่วงจากการปิดโรงงานและถูกเลิกจ้าง โดยยกกรณีโรงงานผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นอยางซูซูกิที่ย้ายฐานการผลิต สะท้อนให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวอย่างมีนัยยะของบริษัทอื่นๆ ในประเทศเช่นกัน
โดยตอนนี้ไทยต้องแบกรับปัญหาการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีน และความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมที่ลดลง จากปัจจัยแรงงานวัยทำงานที่มีอายุมากขึ้น และต้นทุนราคาพลังงานที่สูงขึ้น
สำนักข่าวรอยเตอร์เสนอสถิติเช่นเดียวกับที่สื่อไทยเสนอข่าวว่ามีการปิดโรงงานไปเกือบ 2,000 แห่ง ส่งผลให้ภาคการผลิตซึ่งมีส่วนในการช่วยส่งเสริมจีดีพีของประเทศเกือบ 1 ใน 4 ได้รับผลกระทบ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ที่มีมูลค่ากว่า 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ยังได้สัมภาษณ์ตัวแทนแรงงานคนไทยในโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตกระจกนิรภัยใน จ.สมุทรปรากการ ที่โรงงงานปิดตัวลงอย่างไม่คาดคิดและทำให้ตกงานอยู่ในเวลานี้
โดยหญิงแรงงานไทยรายนี้ กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชีวิตและครอบครัวหลังโรงงานปิดตัวลงคือ เธอเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัวคนเดียว เพราะสามีป่วย และมีลูกสาวที่ต้องดูแล อย่างไรก็ตามผลกระทบคือเธอไม่มีเงินเก็บแล้วยังมีหนี้นับแสนบาท และด้วยอายุมากแล้วทำให้วิตกกังวลว่าจะไปทำงานที่ไหนจะมีใครจ้างอีก
ขณะที่รอยเตอร์ อ้างอิง คำกล่าวของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่กล่าวในรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ตอนนี้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศตกต่ำลง และอัตรากำลังการผลิตลดลงต่ำกว่า 60% เห็นได้ชัดว่าภาคอุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องปรับตัว
ขณะที่ ‘ศุภวุฒิ สายเชื้อ’ ประธานบอร์ดสภาพัฒน์ กล่าวกับรอยเตอร์ว่า โมเดลเศรษฐกิจของไทยที่ขับเคลื่อนด้วยการผลิตมายาวนานหลายทศวรรษนั้นล้มเหลวแล้ว
“ตอนนี้จีนกำลังพยายามส่งออกสินค้าทุกประเภท และสินค้าราคาถูกเหล่านี้สร้างปัญหาให้กับเราจริงๆ”
และบอกว่า ประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงควรเน้นการผลิตสินค้าที่จีนไม่ได้ส่งออก ในขณะที่ต้องเสริมสร้างภาคการเกษตรของประเทศอย่างไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไขใด
ข้อมูลจากกรมโรงงานระบุว่าการปิดโรงงานเพิ่มขึ้น 40% จากช่วง 12 เดือนก่อนหน้า (จากเดือนกรกฎาคม 2566 ถึง มิถุนายน 2567) ส่งผลให้มีตำแหน่งงานหายไปถึง 80% ในช่วงเวลาเดียวกัน และมีคนงานมากกว่า 51,500 คนตกงาน
ธนาคารเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยในรายงานเดือนมิถุนายนว่า จำนวนการเปิดโรงงานใหม่ก็ชะลอตัว โดยโรงงานขนาดใหญ่ปิดตัวลง และโรงงานขนาดเล็กเปิดขึ้นแทน
แต่ก็น่าห่วงว่าตอนนี้ผู้ผลิตรายเล็กก็ต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นมาจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น และค่าจ้างที่ค่อนข้างสูง
ประธานสหพันธ์เอสเอ็มอีของไทย มองว่า เราแข่งขันกับธุรกิจข้ามชาติ ผู้ผลิตที่ไม่สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วจำเป็นต้องปิดกิจการหรือเปลี่ยนแปลงไปผลิตอย่างอื่น
ในรายงานข่าวของรอยเตอร์ ยังได้ระบุถึงโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่มีความล่าช้าจากการเห็นสวนทางกับฝ่ายธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งการที่โครงการนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์ได้อ้างคำกล่าวของแรงงานหญิงไทย ที่ถูกเลิกจ้างจากการปิดตัวของโรงงาน โดยเธอกล่าวว่า
“กำลังรอแจกเงิน 10,000 บาท”
“รัฐบาลก่อนเศรษฐกิจไม่ดี แต่ถึงจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามา เศรษฐกิจก็ยังแย่เหมือนเดิม”แรงงานที่ถูกเลิกจ้างจากโรงงานปิดตัวกล่าว
เรียบเรียงจาก Reuters