SHARE

คัดลอกแล้ว

 

หลายคนสงสัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 ที่ใช้อำนาจ “รัฏฐาธิปัตย์”  ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 และถูกรับรองความชอบธรรมด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีอะไรที่มันพิเศษกว่าฉบับอื่นถึงทำให้ 2 พรรคใหญ่อย่าง “ประชาธิปัตย์” และ “เพื่อไทย” ประสานเสียงออกมาคัดค้าน ถึงขั้นจะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ทั้งๆ ที่รู้ว่าโอกาสแพ้สูง และดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกเสียด้วยซ้ำที่สองพรรคที่เป็น “ขั้วตรงข้าม” คิดเห็นตรงกัน

 

เอาเข้าจริงคำสั่งฉบับนี้มีความซับซ้อน และถูกมองว่า “ซ่อนเล่ห์” อยู่ไม่น้อย หากอยากเข้าใจต้องรู้เรื่องกันตั้งแต่ต้นทาง

 

เรื่องเริ่มต้นที่หลังการรัฐประหาร 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกคำสั่งมาสองฉบับคือ “ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 57/2557” และ “คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558” โดยคำสั่งทั้งสองเป็นการห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดๆ โดยให้เหตุผลเรื่องความสงบเรียบร้อย

 

จากนั้น คสช. ก็เริ่มกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญและเดินหน้าสู่การเลือกตั้งภายใต้ชื่อว่า “โร้ดแม็พสู่การเลือกตั้ง” เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันร่างเสร็จก็กำหนดเส้นทางว่า หากจะเลือกตั้งได้ต้องให้กฎหมาย 4 ฉบับออกมาประกาศใช้เสียก่อนคือ 1.กฎหมาย กกต. 2.กฎหมายพรรคการเมือง 3.กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และ 4.กฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว.

 

และเมื่อวันที่ 7  ต.ค. 2560   “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง” ก็ประกาศใช้ โดยในเนื้อหาแม้จะไม่มีการสั่งเลิกพรรคการเมืองเดิม หรือที่เราเรียกกันว่า “รีเซ็ตพรรค” แต่ก็เป็นการจัดระเบียบการบริหารพรรคการเมืองใหม่ เพราะมีความแตกต่างจากกฎหมายพรรคการเมืองฉบับปี 2550 อยู่พอสมควร ทำให้มีคำว่า “พรรคการเมืองต้องแต่งตัวใหม่” ตามกฎหมายใหม่

 

โดยการ “แต่งตัวใหม่” นี้ก็มีระยะเวลาในการทำ ซึ่งหากพ้นจากกำหนดระยะเวลาและทำไม่ทันก็จะมีผลต่อการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ส.ส. รวมทั้งอาจส่งผลต่อการดำรงอยู่ของพรรค

 

ทั้งนี้สิ่งที่ต้องทำและระยะเวลาที่เขียนกำกับไว้ประกอบด้วย

 

  1. สำหรับ “พรรคการเมืองเก่า” ที่มีมาก่อนกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ต้อง

– อัพเดทสมาชิกพรรค ภายใน 90 วัน นับแต่กฎหมายประกาศใช้

– เก็บค่าสมาชิก จากสมาชิก 500 คน คนละ 50 บาท ภายใน 180 วันนับแต่กฎหมายประกาศใช้

– เก็บค่าสมาชิกพรรค จากสมาชิก 5,000 คน คนละ 50 บาท ภายใน 1 ปี นับแต่กฎหมายประกาศใช้

– หากมีสมาชิกไม่ถึง 500 คน ต้องหาให้ครบใน 180 วัน นับแต่กฎหมายประกาศใช้

– หาทุนประเดิม 1 ล้านบาท จากผู้ร่วมก่อตั้งพรรค คนละ 1,000 – 50,000 บาท โดยพรรคเก่าสามารถใช้ทรัพย์สินเดิมซึ่งต้องทำใน 180 วัน นับแต่กฎหมายประกาศใช้

– แก้ไขข้อบังคับพรรค ทำอุดมการณ์ นโยบาย เลือกหัวหน้า เลขาธิการ กรรมการบริหาร ภายใน 180 วัน นับแต่กฎหมายประกาศใช้

– ตั้งสาขาพรรค ภาคละ 1 สาขา ภายใน 180 วันนับแต่กฎหมายประกาศใช้

 

  1. ส่วน “พรรคการเมืองที่จะตั้งใหม่” นั้น

– หากจะตั้งต้องยื่นจองชื่อพรรค โดยใช้ผู้ก่อตั้ง 15 คน ยื่นจองชื่อ – เครื่องหมายพรรค

– หาสมาชิกให้ครบ 500 คน ภายใน180 วัน นับแต่ยื่นจดทะเบียน

– มีทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท ภายใน180 วัน นับแต่ยื่นจดทะเบียน

– ตั้งสาขาพรรคอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา ภายใน180 วัน นับแต่ยื่นจดทะเบียน

– หาสมาชิก 5,000 คน ภายใน1 ปี นับแต่ยื่นจดทะเบียน

 

แม้กฎหมายจะประกาศใช้ไปแล้ว แต่กลับปรากฏว่า คสช. ยังไม่ยอมยกเลิกประกาศการห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมืองทั้งสองฉบับ ทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถกระทำการใดๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติได้ และอาจจะส่งผลต่อการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และ คสช. ก็ยืนยันจะไม่ยกเลิกต่อไปเรื่อยๆ โดยใช้เหตุผลเรื่องความสงบ

 

พรรคเก่าต่างก็ร้อนใจว่าแค่การ “อัพเดต” หรือทำสมาชิกพรรคให้เป็นปัจจุบันใน 90 วันก็ยากแล้ว ที่ผ่านมาจึงทำเพียงอย่างไม่เป็นทางการ และหากต้องประชุมพรรคก็ทำไม่ได้โดยสิ้นเชิง

 

ขณะที่พรรคใหม่ก็จดทะเบียนไม่ได้เช่นกัน

 

แต่จุดเปลี่ยนอยู่ที่ มี “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ผู้ที่เคยทำงานร่วมกับรัฐบาล ประกาศจะตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี ออกมาเรียกร้องให้ นายกฯ สั่งปลดล็อกให้สามารถตั้งพรรคและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ นอกจากนี้ยังเสนอให้ “สมาชิกพรรค” พ้นจากสมาชิก เพื่อเป็นการรีเซ็ต โดยอ้างเรื่องความเท่าเทียม สอดคล้องกับคนกันเองอย่าง “สุเทพ เทือกสุบรรณ”

 

มีการตีความว่าหากรีเซ็ตสมาชิกพรรคได้ ก็จะมีสมาชิกพรรคและ ส.ส. จำนวนหนึ่งพ้นจากพันธะเดิม ซึ่งอาจจะเกิดสภาวะแตกรังทางการเมือง และเมื่อนั้นย่อมมีใครบางคนรอรับเหล่า “ผึ้งแตกรัง”

 

และนี่คือที่มาของคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมีเนื้อหาโดยสรุป คือ

 

ส่วนของ “พรรคเก่า”

 

– กรรมการบริหารพรรคเดิม ต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญใหม่ (เดิมให้เป็นกรรมการบริหารพรรคต่อได้เลย แม้ขาดคุณสมบัติ)

 

– สมาชิกพรรคการเมือง ต้องทำหนังสือยืนยันว่าจะเป็นสมาชิกพรรคต่อไป และแจ้งด้วยว่าไม่ขาดคุณสมบัติตาม รธน. (เดิม แค่พรรคยืนยัน สมาชิกซึ่งก็คือประชาชนไม่ต้องทำหนังสือรับรองด้วยตัวเอง)

 

– หนังสือยืนยันต้องทำใน 30 วัน นับแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561

 

– นอกจากทำหนังสือยืนยัน ต้องจ่ายเงินบำรุงพรรค (50-100) บาท ภายใน 30 วันนับตั้งแต่ 1 เม.ย. 2561

 

– หากพ้นกำหนด ใครไม่ทำหนังสือยืนยันหรือจ่ายค่าบำรุงพรรค ถือว่าพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค

 

– ภายใน180 วัน นับบจาก 1 เม.ย. 2561 พรรคต้องหาทุนประเดิมให้ได้ 1 ล้านบาท

 

– ให้สมาชิกพรรคไม่น้อยว่า 500 คนจ่ายค่าบำรุงพรรคภายใน 180 วัน และต้องให้สมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คนจ่ายค่าบำรุงพรรคภายใน 1 ปี จากนั้นเมื่อครบ 4 ปี ต้องให้มีสมาชิกพรรคที่จ่ายค่าบำรุงพรรค 10,000 คน

 

– ให้ประชุมใหญ่พรรคเพื่อ ** แก้ไขข้อบังคับพรรค ** ทำคำประกาศอุดมการณ์ ** เลือกกรรมการบริหารภายใน 90 วันนับแต่ คสช. ยกเลิกคำสั่งห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

 

– คำสั่งห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจะยกเลิกเมื่อกฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ และ ครม. ทำเรื่องแจ้ง คสช.เพื่อยกเลิกประกาศ

 

– การจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ต้องทำภายใน 90 วัน นับแต่ คสช. ยกเลิกคำสั่งห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

 

– หากทำไม่ได้ขยายเวลาได้อีก 1 เท่า

 

– แต่ระหว่างที่ทำห้ามส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และห้ามจัดสรรเงินสนับสนุน

 

– การจะประชุมพรรคเพื่อจัดตั้งสาขาพรรค ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเลือกกรรมการบริหาร ทำข้อบังคับพรรค ต้องขอนุญาต คสช.

 

สำหรับ “พรรคใหม่”

 

– คนที่จะตั้งพรรคใหม่สามารถยื่นจองชื่อพรรคได้ตั้งแต่ 1 มี.ค. 2561

 

– จากนั้นการประชุมผู้ก่อตั้งพรรคใหม่เพื่อดำนเนินการอื่นๆ เช่นหาทุนประเดิม หาสมาชิก ต้องขอนุญาต คสช. และให้ทำได้ตามเงื่อนไขที่ คสช. กำหนด

 

จากเนื้อหานี้เห็นว่าจะยังไม่มีการปลดล็อกหรือเลิกคำสั่ง คสช. ไปจนกว่ากฎหมายเลือกตั้ง ที่ขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของ คสช. จะประกาศใช้ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงหลัง มิ.ย. 2561 และกำหนดเวลา 180 วันที่เขียนเอาไว้ก็เป็นเวลาก่อนวันเลือกตั้งที่นายกฯ เคยประกาศว่าจะจัดเพียง 1 เดือนเท่านั้น

 

จะมีเพียงการคลายล็อกให้ พรรคการเมืองดำเนินการในส่วนธุรการบางอย่าง นั่นคือการให้พรรคใหม่เริ่มจองชื่อพรรคได้ตั้งแต่ 1 มี.ค. 2561 และพรรคเก่าเริ่มเคลียร์สมาชิกพรรคตั้งแต่ 1 เม.ย. 2561

 

แต่คำสั่งนี้แม้จะไม่บอกเรื่องการ “รีเซ็ตสมาชิกพรรค” อย่างที่ใครบางคนร้องขอ แต่ผลจากคำสั่งก็บอกได้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะปฏิบัติตาม เพราะการให้สมาชิกพรรคจำนวนมากต้องทำหนังสือยืนยันด้วยตัวเอง และจ่ายเงินบำรุงพรรคภายใน 30 วันนั้นเข้าข่าย “มิชชั่นอิมพอสสิเบิล” จึงจะส่งผลให้สมาชิกพรรคเดิมจำนวนมากขาดจากความเป็นสมาชิก ซึ่งนั้นคือการ “รีเซ็ตสมาชิกพรรค” แบบกลายๆ

 

นี่เองทำให้พรรคการเมืองเก่าต่างไม่พอใจ เพราะแม้บางคนจะอ้างว่าที่ผ่านมามีการหลอกลวงให้สมัครสมาชิกพรรค แต่กับพรรคการเมืองก็ยืนยันว่ากระบวนการเป็นสมาชิกพรรคของพวกเขาทำอย่างถูกต้องและเป็นการสั่งสมในฐานะ “สถาบันทางการเมือง”

 

เรื่องนี้ดูเหมือนจะกระทบกับ “ประชาธิปัตย์” มากที่สุดเพราะมีสมาชิกพรรคมากถึงสองล้านคน และอาจจะทำให้เขาเหลือสมาชิกไม่ถึงหลักแสนภายใน 1 เดือน

 

ขณะที่ “เพื่อไทย” ก็มองว่านี่เป็นสิ่งที่กระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยตรง

 

นอกจากนี้การกำหนดเวลาเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองช้าออกไปเป็นช่วง เมษายน และกำหนดสิ่งที่ต้องทำภายใน 180 วันอาจทำให้ “โร้ดแม็พ” ต้องเลื่อนออกไป เพราะการจะจัดการเลือกตั้งภายในก่อนเงื่อนไขเวลา 180 วันที่กำหนดในคำสั่งนั้น ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม และที่สำคัญยิ่งเริ่มช้า พรรคการเมืองก็จะทำช้า และทำให้การเลือกตั้งอาจต้องล่าช้าออกไป

 

ยังมีวรรคสุดท้ายที่ระบุว่า เมื่อกฎหมายเลือกตั้งประกาศใช้ ก็ให้ คสช. กกต. และพรรคการเมือง มาหารือเพื่อทำแผนสู่การเลือกตั้ง ซึ่งถูกตีความว่าเป็นการเปิดทางเลื่อนเลือกตั้งออกไปจากเดือน พ.ย.

 

รวมความแล้วนอกจากข้อกังวลเรื่องการแก้ไขเพื่อเอื้อประโยชน์กับพรรคพวกตัวเองและอาจนำไปสู่การเลือกตั้ง จึงทำให้หลายฝ่ายออกมาคัดค้านคำสั่งฉบับนี้ และมองว่านี่ไม่ใช่การปลดล็อกแต่อย่างใด

 

บทความโดย “อสรพิษ”

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า