Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

นวัตกรรมไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นการสร้างวัฒนธรรมการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรที่นำไปสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่อง องค์กรที่มีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเป็นแรงขับเคลื่อนจะสามารถแข่งขันได้ในทุกสถานการณ์

วันนี้ TODAY Bizview มีโอกาสคุยกับ ‘ดร.คิด-ศุภชัย ปาจริยานนท์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อร่วมก่อตั้ง RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมสัญชาติไทย

อยากให้แนะนำตัว RISE คือใคร และเราทำอะไรอยู่

ปัจจุบันเป็นซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งของ RISE เราเรียกตัวเราเองว่าเป็น ‘บริษัทรับจ้างสร้าง New S-Curve’ เป็นบริษัทที่เข้าไปช่วยองค์กรต่างๆ ในการหาธุรกิจใหม่ เพื่อที่จะสามารถเติบโตแบบยั่งยืนได้ ทำอย่างไรจะให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน

มิชชั่นของ RISE ตั้งแต่เราก่อตั้งมา เรามีมิชชั่นในการเพิ่ม 1% ของจีดีพีให้กับประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1% ให้กับโลก นั่นก็เป็นมิชชั่นสำคัญที่เราทำมาตลอด 7 ปีที่เราก่อตั้งมา เป็นหน้าที่ที่ทำอยู่ทุกวัน

จากที่แทร็กมาจนถึงปีที่แล้ว (2566) เราประสบความสำเร็จไปประมาณครึ่งทาง คือ 0.5% ของจีดีพี ซึ่งจีดีพีประเทศไทยอยู่ที่ราวๆ 5 พันล้านเหรียญ (1.6 แสนล้านบาท) เราทำไปครึ่งหนึ่งก็อยู่ที่ประมาณ 2.5 พันล้านเหรียญ (8.3 หมื่นล้านบาท)

ส่วนวิธีการวัด เราวัดว่า เราสามารถสร้างอิมแพคหรือสร้างธุรกิจใหม่ให้กับลูกค้าของเราได้เป็นมูลค่าเท่าไหร่ เราก็เอามูลค่าเหล่านั้นมารวมกันจนกลายเป็นจีดีพีอิมแพคนั่นเอง

RISE Thailand

กุญแจสำคัญที่ทำให้แต่ละองค์กรสามารถสร้างธุรกิจใหม่

ตอนที่เราออกแบบหน้าที่ของเราในการเพิ่มจีดีพี เราต้องทำอย่างไร เราเอา Corporate หรือองค์กรเป็นศูนย์กลาง ว่าจริงๆ แล้วองค์กรเขาต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างธุรกิจใหม่ได้ ซึ่งมี 3 ขั้นตอนในการเข้าไปช่วยสร้าง New S-Curve ให้แก่องค์กร

1. วิเคราะห์ เขาต้องรู้จักตัวเองก่อน คล้ายกับการตรวจสุขภาพ เราไปช่วยเขาตรวจสุขภาพก่อนว่า องค์กรของเขา วันนี้มีความพร้อม ในแง่ที่จะสามารถสร้าง New S-Curve ให้กับองค์กรตัวเองแล้วหรือยัง

ที่ RISE เรามีเครื่องมือ ซึ่งเราให้บริการฟรี เป็นเครื่องมือที่เราเรียกว่า CIMM หรือ Corporate Innovation Maturity Model ซึ่งมีพัฒนาการมาอย่างยาวนาน เราทำมา 4 ปีแล้ว ตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19

เครื่องมือตัวนี้ ถ้าชื่อภาษาไทย เราเรียกว่า ‘มาตรวัดนวัตกรรมองค์กร’ เป็นการวัดระดับความสามารถในการสร้างนวัตกรรมองค์กร และดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันในองค์กร

2. เสาะหา เมื่อเราผ่านการวัดสุขภาพแล้ว อยากจะลงลึก หรือตรวจเฉพาะทางเรื่องการสร้าง S-Curve การที่เราจะสร้างนวัตกรรมใหม่ หรือสร้าง New S-Curve ใหม่ในองค์กรได้ สามารถ ‘เสาะหา’ วิธีการเหล่านั้นได้ 3 วิธีด้วยกัน เราเรียกเป็นชื่อเล่นว่า ‘Buy Build Borrow’

• Buy คือการใช้เงินไปซื้อธุรกิจใหม่เข้ามา ซื้อเทคโนโลยีใหม่เข้ามา เราก็จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ เพราะเราเป็นคนที่ทำงานร่วมกับบริษัทเทคโนโลยี รวมถึงสตาร์ทอัพกว่า 20,000 บริษัททั่วโลก ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นเรามีพูลฐานข้อมูลของสตาร์ทอัพไม่ต่ำกว่า 2 ล้านรายทั่วโลก

เราสามารถช่วยบริษัทหาสตาร์ทอัพหรือเทคโนโลยีที่สามารถเข้ามาสร้าง New S-Curve ให้กับองค์เขาได้ เช่น องค์กรที่ทำสวน ทำเกษตร ทำอย่างไรจะนำ AgriTech เข้ามา หรือหากเป็นองค์กรที่ทำเกี่ยวกับอาหาร ทำอย่างไรที่จะนำ FoodTech เข้ามาช่วยดิสรัป สร้างโปรดักต์ไลน์ หรือสร้างบริการใหม่ๆ

• Build ที่ RISE เราใช้โนว์ฮาวที่ช่วยปั้นสตาร์ทอัพมาเป็นพันๆ บริษัท มาช่วยปั้นคนในองค์กร ทำให้คนในองค์กรกลายเป็นสตาร์ทอัพได้ หรือที่เรียกว่า ‘Intrapreneur’ หรือผู้ประกอบการในองค์กร ซึ่งปัจจุบัน RISE ได้สร้าง Intrapreneur ไปแล้วกว่า 20,000 คน ในองค์กรขนาดใหญ่ทั่วประเทศไทย

• Borrow เป็นวิธีตรงกลาง วันที่เราไม่มั่นใจว่าจะซื้อดีหรือสร้างเองดี ทำไมเราไม่ลองพาร์ทเนอร์ดูก่อน เอาเทคโนโลยีของเขามาลองทำดูก่อน เป็นลักษณะกิจการร่วมค้า (Joint Venture: JV) หรือยืมเทคโนโลยีมา

 3. สร้างคน เป็นประสบการณ์โดยตรงของเรา คือ เราช่วยเขาวิเคราะห์ ช่วยเขาเสาะหามาพักใหญ่ แต่ทำไมการสร้าง New S-Curve ใหม่ๆ ในองค์กรถึงยังไม่เกิดสักที บางคนทำมาตั้งหลายปีก็ยังอยู่ที่เดิม หรือดีจากเดิมนิดหน่อย ไม่ใช่ก้าวกระโดด แต่เป้าหมายของเราคือทำให้เขาก้าวกระโดดเป็น S-Curve ให้ได้

สุดท้ายแล้ว เราไปเจอว่าที่เขาติด จริงๆ ไม่ได้ติดที่ไหนเลย ไม่ติดทั้ง Build Buy หรือ Borrow ตรวจสุขภาพออกมาก็ดีมาก แต่สิ่งที่เจอคือ เขาติดที่ ‘คน’ วิธีที่สามของเราคือต้องสร้างคนขึ้นมา เพราะสุดท้ายแล้ว ของจะดีแค่ไหน เทคโนโลยีจะดีแค่ไหน สมมติไม่มีคนเอาไปทำ เอาไปสร้างให้เกิด มันก็ไม่เกิดอยู่ดี

ในส่วนที่สาม RISE จึงเข้าไปช่วยเขาสร้างคน สร้างตั้งแต่ผู้บริหาร ไล่ไปจนถึงบอร์ด หรือกรรมการบริษัท เพราะหลายครั้งเราเคยเจอฟีดแบคว่า ซีอีโออยากลุยแล้ว พร้อมที่จะลุย แต่ติดที่บอร์ดของตัวเองที่ยังไม่ไฟเขียว

‘เราเองก็มีโอกาสดีมากๆ ที่ได้เข้าไปทำเรื่องของบอร์ด เรียกว่าทรานส์ฟอร์ม หรือเข้าไปให้ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เราเรียกว่าเป็น Experiential Learning เราคงไม่กล้าจะเข้าไปสอนบอร์ด เพราะเขาจับปลามาเยอะแล้ว เราคงไม่สอนให้เขาจับปลา แต่เราพาเขาไปดูน่านน้ำใหม่ พาเขาไปดูบ่อใหม่ๆ พาเขาไปลงมือทำอะไรใหม่ๆ’

สิ่งที่ทำให้หลักสูตรของ RISE แตกต่างจากสถาบันอื่น

สิ่งที่เราคิดว่าเราแตกต่างมากๆ คือ ทุกหลักสูตร หรือทุกโปรแกรมที่เรารันที่มีคำว่า Experiential Learning แปลว่าเวลาที่เราเจอกัน เราไม่ได้มาแค่ Networking รู้จักกับองค์กรต่างๆ แต่เราพาเขามาลงมือทำ

ในทุกๆ หลักสูตรของ RISE จะมีการลงมือทำ เช่น เจอกัน 12 สัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งก็เอไอ อีกสัปดาห์หนึ่งก็ Deep Tech หรืออีกสัปดาห์หนึ่งก็เรื่องของคน ทุกอันเขาจะได้ลงมือทำหมดเลย

อย่างเรื่องคน คือมาลองโค้ชจริงๆ มาลองโค้ชน้องๆ ดู หรือใช้เครื่องมือในการโค้ชอย่างไรบ้าง ที่ทำให้เขากลับไปทรานส์ฟอร์มองค์กรเขาได้จริงๆ ไม่ใช่แค่มานั่งฟังพอดแคสต์หรือวีดีโอแล้วเข้าใจคอนเซ็ปต์ แต่ตกลงแล้วต้องทำยังไง ทำไม่เป็น

‘เราทำหลักสูตรนี้มา เราก็ภูมิใจมาก เพราะพี่ๆ เขาก็บอกว่า มันเปลี่ยนแปลงจริงๆ อันนี้ก็เป็น 3 วิธี ที่ตั้งแต่วิเคราะห์ เสาะหา และสร้างคน ที่เราบอกว่า วิธีการเหล่านี้ แต่ละองค์กรก็สามารถเอาไปใช้ได้ และ RISE เองก็ใช้วิธีการเหล่านี้ในการทรานส์ฟอร์มองค์กร เพื่อให้เขาสามารถไปสร้าง 1% ของจีดีพีให้กับประเทศไทยได้’

RISE Thailand

นวัตกรรมองค์กร ไม่เท่ากับเทคโนโลยีอย่างเดียว

ถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่น Design Thinking ซึ่งไม่ได้เอามาใช้แต่กับการคิดโปรดักต์ใหม่ แต่สามารถนำไปคิดกับบริการใหม่ก็ได้ หรือเดี๋ยวนี้เราจะได้ยินคำว่า Service Design ซึ่งทำออกมาเพื่อให้การบริการเอาลูกค้าเป็นศูนย์กลางจริงๆ และเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการ

ยกตัวอย่างเช่น Whole Foods Market บริษัทร้านขายของชำ ซึ่งตอนหลัง Amazon ชอบมาก จึงมาซื้อไป ถ้าเป็นบ้านเรา เวลาจัดของก็จะจัดตามหมวดอาหาร หมวดเครื่องอุปโภคบริโภค ทุกคนก็จะจัดหมวดร้านสะดวกซื้อหรือโมเดิร์นเทรดตามนี้

แต่ที่ Whole Foods Market เขาไม่ได้จัดแบบนั้น เขาคิดว่า วันนี้คนเดินไปซื้อเนื้อ จริงๆ แล้วเอาไปทำบาร์บีคิวได้ ถ้าอย่างนั้นใกล้ๆ เนื้อก็ขายถ่านด้วยดีไหม ไม่ได้อยู่อีกหมวดหนึ่ง แต่จัดไว้ตรงนั้นด้วยกัน เพราะเขาเอาผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง

หรือว่าวิธีการจัดอีกแบบหนึ่งคือ ผัก ปกติมักจะมาเป็นกล่องและวางทับๆ กันเป็นเรื่องปกติ แต่ที่ Whole Foods Market เขาหันหน้ากล่องออกมาข้างนอก และให้ผักเรียงกันสวยงามเหมือนสวนผัก คนก็รู้สึกว่าน่ากิน และเข้าไปหยิบได้ง่ายขึ้น

แทนที่เขาจะเอากล่องมาซ้อนๆ กัน เขาก็ทำให้ตู้ออกแบบเป็นกล่องที่เอาผักมาหันหน้าหาเรา อะไรแบบนี้ก็เป็นการคิดแบบที่เราใช้ Service Design เข้ามาใช้ทั้งหมด ซึ่งย้อนกลับมาที่ RISE เราไปช่วยเขาทำนวัตกรรมองค์กร มันไม่ได้มีแค่เรื่องเทคโนโลยีเท่านั้น

อยากให้แนะนำ CIS คืองานอะไร แล้วคนไปจะได้อะไร

วันนี้เราภูมิใจที่ 5 ปีที่ผ่านมาเราเทรนด์คนไปแล้ว 25,000 คน คนที่จบจากหลักสูตรทั้งหมดของ RISE แต่เราใช้เวลาตั้ง 5 ปี ถ้ามันจะมีสักงานหนึ่งที่เราจัดงาน 2-3 วัน แล้วมีคนมาสัก 5,000 คนพร้อมกันเลยได้ไหม จะได้ทำทีเดียว

อันนี้ก็เลยเป็นเหตุผลว่า จริงๆ ตัวเองเป็นคนที่เกลียดงานประชุมมาก เพราะไปแต่ละครั้งมันก็เหมือนๆ เดิม มีคีย์โน๊ต มีผู้ร่วมอภิปรายแล้วก็จบ กลับไปบ้านก็มีแรงบันดาลใจบ้างสัก 1-2 วันแล้วก็หายไป

แต่ถ้าเราสามารถสร้างงานที่มีอิมแพคเยอะๆ จริงๆ มีคนมาเยอะๆ นอกจากนั้นยังได้มาลงมือทำด้วย เพราะฉะนั้นงาน Corporate Innovation Summit (CIS) จึงเป็นงานที่เราเรียกว่า งานสัมมนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ‘แบบลงมือทำ’ ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

แปลว่าคนจะได้มาลงมือทำประมาณ 60 เวิร์คช็อป ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ เขาจะต้องการอะไรบ้างในการเข้าไปสร้าง S-Curve ในองค์กรของเขา ในการที่จะทำให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน

Corporate Innovation Summit

ธีมงาน CIS 2024 ว่าด้วยเรื่องเอไอและความยั่งยืน

ปีนี้ธีมงานของเราถูกแตกออกมาจากสิ่งที่ RISE โฟกัส ก็คือ เพิ่ม 1% ของจีดีพี และลด 1% ของคาร์บอน ในการเพิ่ม 1% ของจีดีพี ซึ่งปีนี้เราก็ตีความออกมาเป็นเรื่องของเอไอ เพราะฉะนั้นในงานก็จะมีทุกอย่างที่เป็นเอไอ ในเรื่องของการลดคาร์บอน เราก็ตีความออกมาเป็นเรื่องความยั่งยืน ซึ่งปีนี้จะมี 2 เรื่องนี้เป็นแกนหลัก

ยกตัวอย่างเรื่องเอไอ คอนเซ็ปต์ของเราคือการลงมือทำ เราก็รวบเอาวิธีการสร้างธุรกิจ S-Curve โดยใช้เอไอ ทำอย่างไรได้บ้าง มีด้วยกัน 10 เวิร์คช็อป เริ่มต้นตั้งแต่คนที่อยากสร้างธุรกิจใหม่โดยใช้เอไอ เช่น เอไอ ที่เมื่อครู่เราคุยกันเรื่อง Design Thinking

หรือใครอยากจะดูพฤติกรรมผู้บริโภค ก็เอา Behavioural Science หรือวิทยาศาสตร์พฤติกรรม เข้ามาใช้ประกอบกับเอไอ ทำอย่างไรที่จะสร้างธุรกิจใหม่ได้ นี่ก็เป็นเวิร์คช็อปหนึ่งที่มี

พอหลังจากที่เราสร้างธุรกิจเสร็จแล้ว เราอาจจะรู้แล้วว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นอย่างไร เราอาจจะอยากสร้างธุรกิจใหม่โดยใช้เอไอ เราก็มีอีกเวิร์คช็อปหนึ่งที่ใช้ Gen AI เอา Gen AI มาสร้างธุรกิจใหม่ได้อย่างไร

พอสร้างธุรกิจใหม่เสร็จ คราวนี้เราอยากจะเริ่มทรานส์ฟอร์มแล้ว ก็จะมีอีกเวิร์คช็อปหนึ่งที่บอกว่า เราจะทรานส์ฟอร์มธุรกิจของเราที่ทำอยู่แล้วโดยใช้เอไอได้อย่างไร

สำหรับธุรกิจที่เริ่มใหญ่แล้ว เริ่มเติบโตแล้ว ใช้เป็นหมดแล้ว รู้เรื่องหมดแล้ว ปัญหาถัดไปที่เขาเจอคือเรื่อง ‘คน’ ทุกองค์กรมีปัญหาเรื่องคนหมด เอาเอไอมาโค้ชและเมนเทอร์คนในองค์กรได้อย่างไรในยุคเอไอ อันนี้ก็มีอีกเวิร์คช็อปหนึ่ง

เวิร์คช็อปไฮไลต์อีกเวิร์คช็อปหนึ่งที่บินตรงมาจากสแกนดิเนเวีย เราได้พาร์ทเนอร์จาก Manyone ซึ่งเป็น Design Consultancy Firm อันดับต้นๆ ของสแกนดิเนเวีย เขาจะมาทำเวิร์คช็อปที่ว่า ถ้าคุณอยากจะ Future Foresight อยากจะมองอนาคตอีก 5 ปีให้แตกละเอียด ให้ชัดเจนคมกริบ จะต้องใช้เอไออย่างไร

เหล่านี้จะเป็นเวิร์คช็อปเอไอตั้งแต่เช้าถึงเย็น คุณจะได้ดื่มด่ำกับเอไอทุกเรื่อง ที่จะทำให้ธุรกิจของคุณเติบโตอย่างก้าวกระโดด นี่ก็เป็นตัวอย่างที่จะเกิดขึ้นในงาน

มาที่ไฮไลต์งาน CIS 2024 ของฝั่งความยั่งยืนบ้าง

สำหรับไฮไลต์ของสปีกเกอร์ในฝั่งความยั่งยืนนั้น เพราะเราเชื่อว่า ตอนนี้ ธุรกิจที่ดี ไม่ใช่ธุรกิจที่รวยอย่างเดียว แต่มันต้องยั่งยืนด้วย ไม่ใช่แค่โตเร็วอย่างเดียว แต่ต้องยั่งยืนด้วย เราก็เชื่อว่า เรื่องความยั่งยืนก็มีความสำคัญ และในอนาคตความยั่งยืนจะไม่ใช่แค่ทำไปเพื่อ CSR

วันนี้ ภาพของเมืองไทยยังคิดว่า Sustainability, ESG หรือ SDG คือเรื่องของ CSR จะบริจาคอะไรดี แต่ไม่ใช่ ในอนาคตเรามองว่าความยั่งยืนจะเป็นแต้มต่อให้ธุรกิจ คนที่มีความยั่งยืน ลูกค้าจะวิ่งหาเขาเยอะขึ้น เขาจะเติบโตได้ไวขึ้น ไม่ใช่แค่การบริจาคเงินหรือการปลูกป่าเท่านั้น

นั่นเป็นที่มาว่าทำไมรอบนี้ เราก็เลยขนความยั่งยืนมาเต็มเลย เช่นไฮไลต์ตัวหนึ่ง คือ บ้านเรา เสริมสวย ผลิตภัณฑ์เสริมความงาน ในอนาคตต้องเป็น Green Beauty

วันนี้สาวๆ เวลาไปร้านทำหน้า ร้านเสริมสวย หรือซื้อครีม ก็มักจะพูดถึงคอลลาเจน อยากจะกินคอลลาเจน อยากจะฉีดคอลลาเจน ซึ่งคอลลาเจนจริงๆ แล้วทำมาจากไขมันสัตว์

วันนี้ในงาน CIS เราจะเจอสตาร์ทอัพตัวหนึ่งที่เป็นตัวท็อปของยุโรป เขาทำสิ่งที่เรียกว่า Green Collagen คือคอลลาเจนที่ไม่ต้องฆ่าหมู คุณภาพดีมาก ซึ่งเขาทำการทดลองมาแล้ว ใช้ 2 อาทิตย์ ริ้วรอยหาย ซีอีโอเขามาเองเลย บริษัทชื่อ Cambrium

เราเชื่อว่าต่อไป เราซื้อครีมยี่ห้อดังๆ ต่างๆ ต่อไปเขาอาจจะมีจุดขายว่า สวยแล้วยังช่วยรักโลกด้วยนะ เป็น Green Collagen อีกอย่างหนึ่ง หมูที่เอามาทำคอลลาเจน บางทีเราไม่รู้ว่าหมูมันเร่งโตหรือเปล่า ฉีดยาปฏิชีวนะหรือเปล่า แต่ Green Collagen พวกนี้ผลิตมาในห้องทดลอง เพราะฉะนั้นไม่มีสารเร่งโต ไม่มียาปฏิชีวนะแน่นอน

เราเชื่อว่า ของในอนาคตเหล่านี้ พวกนี้คือจุดขาย อย่างวันนี้เราไม่อยากกินสัตว์ที่มาจากฟาร์มแล้ว เพราะมันถูกเร่งโต แต่อยากกินของที่มาจากแล็บมากกว่า นี่ก็เป็นอีกไฮไลต์หนึ่ง เราจะมีไฮไลต์สปีกเกอร์แบบนี้อีกเพียบที่จะมาแตะเรื่องของฝั่งที่เป็นความยั่งยืน

Corporate Innovation Summit

โอกาสสำหรับผู้ประกอบการในงาน CIS 2024

นอกจากนี้ เรายังมีซีอีโอของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์รายใหญ่ๆ มาเข้าร่วม กองทุนของ Google AI Fund 40,00 ล้านเหรียญ (ราว ​1.3 ล้านบาท) ที่ลงทุนเฉพาะ AI มาเข้าร่วม ชื่อ Gradient AI บินมาจากซานฟรานซิสโก มีแลปอาหารมาจากเยอรมนี ลงทุนในเรื่องของ Sustainability, GreenTech, Deep Tech เหล่านี้ ก็มาเข้าร่วม

หรืออย่างคีย์โน๊ตอีกท่านหนึ่ง เราก็ได้บริษัทแบตเตอรี่ ชื่อ TDK แต่ก่อนเราจะรู้จัก TDK ในแง่ที่เขาทำเทป ทำแบตเตอรี่ วันนี้เขามาเป็นบริษัทลงทุนแล้ว เขาลงทุนเรื่อง Deep Tech เท่านั้น ชื่อ TDK Ventures เราก็ได้ซีอีโอของ TDK Ventures มาเข้าร่วม ซึ่งบริหารเงินอยู่ประมาณ 15,000 ล้านเหรียญ (ราว 5 แสนล้านบาท)

‘เราก็จะได้เจอคนระดับโลก เปิดโอกาสให้คนไทยได้เจอคนระดับโลก เปิดการเรียนรู้ให้มันกว้างขึ้น แล้วก็มาดูว่า เราจะเปลี่ยนจากธุรกิจ SME ของเราให้แข็งแรงขึ้นได้อย่างไร ผ่านเทคโนโลยีและความยั่งยืน’

ส่วน SME กับสตาร์ทอัพก็มีโอกาสแน่นอน ฝั่งสตาร์ทอัพสามารถมาเจอนักลงทุนระดับโลกได้ เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่า ที่เมืองไทยหาเงินลงทุนยากขึ้น ฝั่ง SME กับสตาร์ทอัพก็สามารถมาเจอนักลงทุนได้หมดเลย

รายละเอียดบัตร ซื้อบัตรใบเดียวเข้าได้ทั้งหมดไหม

เรามีบัตรอยู่หลายประเภท แต่บัตรที่ขายดีที่สุดคือ ‘บัตรไม่อั้น’ สามารถจะเลือกเข้าเวิร์คช็อปไหนก็ได้ ภาษาทางการของเราเรียกว่า ‘EXPERIENTIAL (Workshop Buffet)’ เป็นบัตรแบบ Experiential คือเข้ามาแล้วเวิร์คช็อปไม่อั้นเลย ตัวนี้จะเป็นบัตรที่ขายดีที่สุดของเราในปัจจุบัน

นอกจากนี้ เรายีงมีงาน Networking ทุกวัน โดยวันที่ 25 ก.ย.จะมี Networking ของทาง Invext ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่พาคนไทยไปลงทุนทั่วโลก ลงทุนแบบ Private Market หรือบริษัทก่อนเข้าตลาด ส่วนวันที่ 26 ก.ย.จะมี Networking กับ Singapore Global Network รัฐบาลสิงคโปร์

RISE Thailand

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า