SHARE

คัดลอกแล้ว

ซีรีส์เกาหลีที่น่าติดตามในช่วงเดือนนี้ และเป็นแนว Rom-Com ที่หลาย ๆ คน รับชมอยู่ทาง Netflix น่าจะเป็นเรื่อง “Love Next Door” รักอยู่ประตูถัดไป หรือชื่อในภาษาเกาหลี “엄마친구아들” ทีแปลว่าลูกชายของเพื่อนแม่

Love Next Door เล่าเรื่องของ ‘แบซอกรยู’ หรือในเรื่องอ่านออกเสียงว่า ‘แพซองนยู’  รับบทโดย จองโซมิน สาววัย 30 ที่ชีวิตเคยประสบความสำเร็จกับการทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกา รู้สึก burn out จนตัดสินใจกลับมาอยู่เกาหลีในฐานะ ‘คนว่างงาน’ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของครอบครัว มีเพียง ‘ชเวซึงฮโย’ รับบทโดย จองแฮอิน เพื่อนสนิทที่อยู่ข้างบ้าน เติบโตด้วยกันมา ดูจะเป็นคนเดียวที่เข้าใจเธอ และสนับสนุนให้เธอทำตามความฝัน ทั้งคู่เหมือนจะรู้ใจกัน และสนิทกันมาก แต่ก็ยังมีความลับบางอย่างที่ซ่อนไว้ไม่ให้อีกฝ่ายรู้…

ซีรีส์เรื่องนี้เดินมาถึงครึ่งทางแล้ว แต่คนดูไม่น้อยคงมีคำถามว่าจะรอมคอมกี่โมง บทความนี้จึงอยากชวนนักอ่านทุกท่านมาทำความรู้จักพระเอกและนางเอกผ่านมุมมองเลนส์ชาวเกาหลีมากขึ้น เผื่อว่าเสน่ห์ของตัวละครที่ถูกสร้างผ่านทางคุณค่าทางสังคม จะเป็นอีกมิติความโรแมนติกของซีรีส์เรื่องนี้

บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางช่วงของซีรีส์ แต่ไม่ได้คลี่คลายปมสำคัญให้ผู้อ่านได้ทราบ

จุดเริ่มต้นและหนึ่งในหัวใจสำคัญของซีรีส์เรื่องนี้คือการพูดถึง ‘ความฝัน’ ไม่ว่าจะเป็นความฝันอันสวยงามของแม่ก่อนที่ลูกจะกำเนิด ภาพอนาคตที่พวกเขาวาดหวังไว้เพื่อลูก ๆ ความฝันที่หายไปจากการไขว่คว้าความสำเร็จ การก้าวข้ามความฝันอันแตกสลาย หรือความรักในฝันที่รอวันเป็นจริง  

Love Next Door นำใจความสำคัญนี้เหล่านี้มาเสนอผ่านรายละเอียดทางวัฒนธรรมที่แทรกอยู่ในบทสนทนาของผู้เป็นแม่ เจเนเรชัน Babyboomer ทำให้เราได้ค่อย ๆ รู้จักตัวละครในอีกมุมมากขึ้น

แทมง (태몽; 胎夢): นิมิตบอกว่าฝันตั้งครรภ์

ทุกสังคมล้วนมีความเชื่อเกี่ยวกับความฝัน อย่างของไทยเองมี ‘บุพนิมิต’ เป็นลางบอกเหตุล่วงหน้า ในสังคมเกาหลี บรรดาแม่ ๆ จะเชื่อว่าสัญลักษณ์ที่ปรากฏใน ‘แทมง’ หรือฝันตั้งครรภ์จะบอกเพศกำเนิดของลูก โดยตีความสัญลักษณ์ตามรูปร่างและสี เช่น หากฝันถึง พริก เต่า มังกร งู ไส้เดือน หัวไชเท้า และแตงกวาในช่วงที่ตั้งครรภ์ หมายความว่าจะได้ลูกชาย แต่ถ้าฝันถึงเกาลัด ลูกพลับแห้ง ทับทิม เครื่องประดับ แปลว่าจะได้ลูกสาว  

ใน Ep.1 คงจำกันได้ว่าก๊วนดรุณีซุก ขณะที่กำลังขิงลูก ๆ กันอยู่ มีซุก แม่ของนางเอกก็บอกว่าตนเองนั้น

“นี่ ซองนยูลูกฉันน่ะ สวรรค์ประทานลงมานะขอบอก เธอรู้ไหมว่าฉันฝันว่าอะไรตอนอุ้มท้องซองนยู…”

“เธออยู่ในแดนสวรรค์สีรุ้ง แล้วก็มีต้นไม้ต้นใหญ่ต้นหนึ่ง เธอเดินเข้าไปใกล้เหมือนถูกสะกด แล้วก็เจอผลทับทิมสุดเย้ายวน เลยเด็ดเป๊าะเข้าให้ รู้ตัวอีกทีก็ท้องซองนยูแล้ว”

ผลทับทิมนี้เองเป็นนิมิตบอกมีซุกว่าเธอจะได้ลูกสาว ซึ่งต้นทับทิมในภาษาเกาหลีคือ 석류; 石榴 อ่านตามตัวเขียนคือ ‘ซอก-รยู’ นี่จึงเป็นที่มาของชื่อนางเอก แต่ในภาษาเกาหลีมีกฎการออกเสียงอยู่ หากตัวสะกดเสียง /ก/ เจอกับพยัญชนะต้น ร  เสียงตัวสะกด /ก/ จะกลายเป็นเสียง /ง/ และเสียงพยัญชนะต้น ร ในพยางค์ถัดมาจะต้องเปลี่ยนเป็นเสียง 

ตอนดูซีรีส์ แม้ซับไตเติลไทยจะเขียนว่า ‘ซอกรยู’ แต่เราจะได้ยินนักแสดงทุกคนเรียกนางเอกว่า ‘ซองนยู’ หมด เช่นเดียวกับแซ่ของนางเอก ในซับไตเติลจะใช้คำว่า ‘แบ’ แต่จริง ๆ แล้ว เสียงพีอึบ เมื่ออยู่พยางค์แรกคู่กับสระแอ (배) จะอ่านว่า “แพ” จึงได้ยินว่า “แพ-ซอง-นยู”

ในบทความนี้ จะขออนุญาตเรียกนางเอกว่า ‘ซองนยู’ เพื่ออรรถรสการรับชมซีรีส์ของทุกท่าน  ภาษาของต้นทับทิมคือ ‘ความงามที่สุกงอม’ สื่อถึงความเป็นผู้ใหญ่ และความงดงามที่เปล่งประกายจากภายใน  เพราะผลทับทิมต้องใช้เวลาในการเติบโต เช่นเดียวกับคนเราที่ต้องสั่งสมประสบการณ์ และปัญญาเพื่อที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ หากใครได้ดูซีรีส์มาถึงกลางเรื่องแล้ว ก็จะพบว่าชีวิตของซองนยูนั้น แม้จะอยู่ในวัยที่เป็นผู้ใหญ่ แต่เธอก็ยังต้องสั่งสมประสบการณ์ชีวิต เรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อตามหาความฝันและความสุขในชีวิต พร้อมที่จะผลิดอก ออกผลเป็นต้นทับทิมที่สวยงาม

นอกจากนี้ทับทิมยังเป็นผลไม้ที่เมล็ดจำนวนมาก จึงสื่อถึง ‘ความอุดมสมบูรณ์’ และ ‘ความมั่งคั่ง’ ได้อีกด้วย ทำให้ในวันเปิดบริษัท Atelier-in ของพระเอก (개업식) ซองนยูเลือกส่งตัวเธอเอง หรือต้นทับทิมให้กับเขา การมอบต้นทับทิมมีนัยอวยพรให้ธุรกิจของอีกฝ่ายประสบความสำเร็จและมีลูกค้ามากมาย 

ด้านชเวซึงฮโย พระเอกของเรื่อง

ฮเยซุก แม่ของพระเอกเล่าว่า “…ซึงฮโยลูกฉันน่ะ…เธอถูกย้ายไปทำงานที่ฝรั่งเศส โดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าท้องอยู่ แล้วก็ฝันว่ามังกรเขียวคาบลูกแก้วขึ้นจากแม่น้ำแซนไปสวรรค์ใช่มั้ยล่ะ”

มังกรนี้เองเป็นนิมิตบอกว่าฮเยซุกว่าเธอจะได้ลูกชาย แน่นอนว่า ‘ชเว’ นั้นเป็นแซ่ที่ได้มาจากพ่อ ชเว-กยอง-จง (최경종) ส่วนซึงฮโยนั้น คนเกาหลีนิยมตั้งชื่อด้วยคำยืมภาษาจีน ผู้เขียนขอเดาว่า “ซึง” ในที่นี้น่าจะมาจาก 승 (勝) ที่แปลว่า ชัยชนะ ยอดเยี่ยม ดีเด่น เพราะฮเยซุกชอบอวยว่าลูกชายของเธอนั้นทำอะไรก็เก่งไปหมด และเคยเป็นตัวแทนนักกีฬาว่ายน้ำของประเทศอีกด้วย ส่วน “ฮโย” น่าจะมาจาก 효 (孝) ที่แปลว่าความกตัญญูกตเวทิตา แปลโดยรวมได้ว่า ลูกชายที่ยอดเยี่ยมและกตัญญู

ชเวซึงฮโย: ความฝันครั้งที่สอง

ความฝันแรกของชเวซึงฮโยคือการเป็นนักว่ายน้ำ แม้ว่าในที่สุดเขาไม่สามารถทำตามความฝันแรกได้ แต่เราก็ได้เห็นว่าเขาใช้ความฝันครั้งที่สองของการเป็นสถาปนิกมาเยียวยาบาดแผลที่ต้องล้มเลิกการเป็นนักว่ายน้ำ ชเวซึงฮโยเป็นตัวละครที่ชี้ให้เห็นความสำคัญว่าคนรอบข้างเป็นฟันเฝืองสำคัญที่จะช่วยให้ความฝันดำเนินต่อไปได้ อนุภาคข้างต้นซ่อนอยู่ในรายละเอียดการทำงานของเขา และศิลปะของการออกแบบที่ยึดตามหลักของฮวงจุ้ย 

แม้ซีรีส์เรื่องนี้จะไม่ได้เน้นรายละเอียด หรือเบื้องหลังการทำงานอาชีพ ‘สถาปนิก’ เท่าไรนัก แต่คนดูก็จะเห็นได้ว่าซึงฮโยเป็นสถาปนิกคนหนึ่งที่มีอุดมการณ์ชัดเจน ไม่คิดจะออกแบบ หรือรับงานที่เน้นทำกำไร หรือยอมลอกเลียนแบบ ใช้ reference ของสถาปนิกคนอื่น ทำให้เขามักจะมีปากเสียงกับ CEO ร่วมอย่างรุ่นพี่มยองอูที่ต้องการหารายได้เข้าบริษัท เพื่อเลี้ยงปากท้องพนักงาน

เสน่ห์ของซึงฮโยไม่ได้อยู่ที่อุดมการณ์อย่างเดียว แต่เขายังเป็นสถาปนิกที่เคารพ และออกแบบสถาปัตยกรรมอยู่บนพื้นฐานคติชนอย่าง ‘ฮวงจุ้ย’ อีกด้วย ในภาษาเกาหลี ฮวงจุ้ย ใช้คำว่า “พุง-ซู” (풍수; 風水) แปลตามตัว คือ ‘ลม’ และ ‘น้ำ’  

ฮวงจุ้ยเป็นปรัชญาจีนโบราณที่เน้นการจัดวางสิ่งของและอาคารให้สอดคล้องกับพลังงานธรรมชาติ ใน Ep.1 เราจะเห็นว่าพระเอกแอบพกเข็มทิศไปยังไซต์งานทุกที่ เพราะเข็มทิศถูกนำมาใช้กำหนดทิศทางและวางแนวของอาคารเพื่อให้แน่ใจว่าสอดคล้องกับหลักของฮวงจุ้ย แม้ว่าฮวงจุ้ยจะไม่ได้มีต้นกำเนิดในเกาหลี แต่ก็มีอิทธิพลอย่างมากต่อวัฒนธรรมเกาหลี

“ส่วนหนึ่งของงานสถาปนิกคือการชี้ให้เห็นบริบททางวัฒนธรรมและความเป็นมาของพื้นที่นะ”

“ประเทศเรามีศาสตร์เกี่ยวกับทำเลฮวงซุ้ย มาตั้งแต่โบราณด้วยซ้ำนะ”

 บ้านโบราณของเกาหลี หรือ ฮันอก (한옥; 韓屋 อ่านออกเสียงว่า ฮา-นก) ถูกสร้างขึ้นโดยคำนึงถึงทิศทางลม ประตูมักอยู่ทางทิศใต้หรือทิศตะวันออก และมีหน้าต่างอยู่ทางทิศเหนือและทิศตะวันตก โครงสร้างแบบนี้ช่วยให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก  นอกจากนี้ยังตัวบ้านยังถูกออกแบบมาให้รับแสงแดดได้ในฤดูหนาว โดยหน้าต่างจะหันไปทางทิศใต้เพื่อรับแสงแดดจากดวงอาทิตย์ที่มีมุมต่ำ 

หากสังเกตให้ดี ชีวิตและความสำเร็จของซึงฮโยจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าเขาไม่ดู ‘ทิศทางลม’ คนรอบตัวเขา กล่าวอีกอย่างคือ เขาเลือกที่ ‘ประนีประนอม’ กับคนรอบข้าง หากเจอลมแรง เขาควรทำตัวให้อ่อนไปกับสายลม เพื่อหลีกเลี่ยงบาดแผลที่จะเกิดขึ้นมากที่สุด การเป็นสถาปนิกรุ่นใหม่ที่ยังให้ความสำคัญกับหลักฮวงจุ้ย สะท้อนให้เห็นว่าเขาต้องการทำงานร่วมกับคนอีกเจเนเรชันอย่างราบรื่น

หลายครั้งที่รุ่นพี่มยองอู CEO ร่วมของบริษัทต้องการรับงานออกแบบจากบริษัทขนาดใหญ่ เพื่อผลประกอบการ และกำไร แต่ซึงฮโยกลับมีแพชชั่นในการออกแบบงานเล็ก ๆ อย่างสระว่ายน้ำโรงเรียนมัธยมที่เขาผูกพัน ทำให้กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างเพื่อนร่วมงาน ซึงฮโยคลี่คลายปมดังกล่าวด้วยการเป็นฝ่ายยอมขอโทษก่อน เลือกที่จะประนีประนอมกับอีกฝ่ายที่เป็นผู้อาวุโส ทำให้บริษัทของเขายังดำเนินกิจการไปต่อได้

ใน Ep.9 ไซต์งานก่อสร้างที่ซึงฮโยรับผิดชอบอยู่เกิดข้อพิพาท เพราะมีชาวบ้านคนหนึ่งไปร้องเรียนสำนักงานเขตว่าตึกที่กำลังก่อสร้างบดบังแสงแดด และทำให้ท่อประปาบริเวณใกล้เคียงมีปัญหา ตอนแรกซึงฮโยกับรุ่นพี่คิดจะใช้หนังสือสัญญายินยอมให้ดำเนินการก่อสร้างต่อสู้ทางกฎหมายกับคู่กรณี แต่รุ่นน้องในบริษัทกลับทำเอกสารสำคัญหาย และขอรับผิดชอบด้วยการลาออก แต่ซึงฮโยเลือกให้โอกาสรุ่นน้องที่ทำผิดพลาดได้ทำงานต่อในบริษัทของตัวเอง แลกกับที่ตัวเองยอมไปไกล่เกลี่ย ทำท่อประปาให้คู่กรณี ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ความผิดของบริษัทซึงฮโยเลย สิ่งที่ซึงฮโยเลือก ไม่ใช่ ‘ผลกำไรของบริษัท’ แต่เป็นการประนีประนอม ‘จิตใจ’ ลูกน้องในทีม

บทเรียนการทำงานของซึงฮโยสะท้อนให้เห็นว่า เราไม่ได้ดูทิศทางลม และความเหมาะสมของแนวอาคารแค่ตอนออกแบบ หรือสร้างตึก แต่ต้องดูทิศทางลมในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นด้วย ชีวิตจึงประสบความสำเร็จ

แพซองนยู: ชีวิตที่เป็น ‘ความหวังและความฝัน’ ให้ครอบครัว

“ถึงแพซองนยูในอีกสิบปีข้างหน้า หวัดดีจ้ะ ฉันคือแพซองนยูที่เก่งที่สุดและสวยที่สุด…”

“…เธอรู้ใช่มั้ยว่าดีที่สุดกับที่หนึ่งคือสิ่งเดียวกัน ถ้าเธอทำดีที่สุด เธอก็คงได้ที่หนึ่ง”

จดหมายที่ซองนยูเขียนถึงตัวเธอเอง สะท้อนความเป็นตัวเธอมากที่สุด คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะมุ่งมั่นและพยายามได้ ภูมิหลังทางครอบครัวของซองนยู กับซึงฮโยแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด มีซุก แม่ของซองนยู มีฐานะทางบ้านที่ไม่ดี ต่อให้หัวดี เรียนเก่งแค่ไหน เธอก็ต้องจบการศึกษาลงที่ชั้นม.6 ไม่ได้เรียนต่อระดับอุดมศึกษาเหมือนฮเยซุก แม่ของซึงฮโยที่นอกจากจะได้เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว ยังได้มีโอกาสไปทำงานที่ต่างประเทศ ในฐานะนักการทูต

เมื่อชีวิตของแม่ซองนยูต้องล้มเหลวไม่เป็นท่า ผู้เป็นแม่จึงเอาความหวัง และความต้องการของตัวเองไปฝากให้ลูกสาวแบกไว้ ซองนยูกลายเป็น ‘กระดาษห่อของขวัญ’ ให้แม่โดยไม่รู้ตัว ที่โรงเรียนมัธยมฮเยรึง ซองนยูจัดว่าเป็นเด็กเรียนเก่ง สอบได้ท๊อปตลอด ขนาดเรียนพิเศษภาษาอังกฤษตามเพื่อน และลองยื่นสมัครไปเรียนที่อเมริกาเล่น ๆ เธอยังสอบติด University of California, Berkeley และได้ทุนเรียนฟรีอีกด้วย

การเน้นย้ำเรื่องการศึกษาในสังคมเกาหลีไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ สังคม และการเมือง แรงกดดันทางสังคมมีรากฐานมาจากลัทธิขงจื๊อใหม่ซึ่งสืบทอดจากจีนไปยังเกาหลีตั้งแต่การสถาปนาราชวงศ์โชซอน (ค.ศ. 1392-1897) ลัทธิขงจื๊อใหม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาและความรู้เป็นอย่างมาก ตรงกันข้ามกับลัทธิขงจื๊อแบบคลาสสิกซึ่งเน้นหนักไปที่ตำราและพิธีกรรมในตำนาน 

ในลัทธิขงจื๊อใหม่มีมุมมองว่าการศึกษาส่งเสริมความดีของส่วนรวม ทุกคนควรเข้าถึงการศึกษาโดยไม่คำนึงถึงภูมิหลังทางสังคม ความรู้คือคุณธรรมที่เผยให้เห็นศักยภาพส่วนบุคคลและสังคมอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันระดับการศึกษาก็เป็นตัวกำหนดสถานะของบุคคลในสังคมเช่นกัน นอกจากนี้ลัทธิขงจื๊อใหม่ยังส่งเสริมมุมมองครอบครัวแบบรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง สถานะของบุคคลไม่ได้ถูกกำหนดโดยการศึกษาของบุคคลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงระดับการศึกษาของสมาชิกในครอบครัวด้วย

ในการสำรวจ ‘The Intelligence of Nations’ เพื่อวัดผลทดสอบไอคิว โดยนักสังคมศาสตร์ Richard Lynn และ David Becker ปรากฏว่าเกาหลีใต้มีไอคิวเฉลี่ย 102.35 ติดอันดับ 6 ของโลก

ผู้เชี่ยวชาญบางคนวิจารณ์ว่าประเทศนี้ประสบปัญหาการมีคุณสมบัติเกินความจำเป็น เกือบ 70%ของแรงงานเกาหลีสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยซึ่งอาจจะมากเกินไป รายงานจากธนาคารแห่งชาติของเกาหลีพบว่าชาวเกาหลี 30% ทำงานในตำแหน่งที่เกินคุณสมบัติของตน

“ความฝันเหรอคะ…พอต้องตอบแล้ว พี่ไม่รู้จริง ๆ ค่ะ”

“สมัยนั้น ความฝันของพี่คือการได้ที่หนึ่งทุกเรื่อง พี่อยากเป็นลูกสาวที่แม่ภูมิใจ พี่อยากให้พวกครูชมเชย พี่อยากให้ทุกคนรู้จักพี่”

“พอนึกย้อนกลับไปตอนนี้ พี่ก็สงสารตัวเองนิดหน่อยนะ พี่ใส่ใจว่าคนอื่นจะมองพี่ยังไง และพี่ว่าพี่ไม่ได้ความสนใจกับตัวเองน่ะ”

บทสนทนาข้างต้น เป็นคำตอบที่ยากจะพูดออกมา เมื่อซองนยูถูกรุ่นน้องที่โรงเรียนมัธยมฮเยรึงถามถึงความฝันของเธอ จนถึงวัย 30 แล้วเธอเองยังไม่รู้เลยว่าความฝันที่แท้จริงของเธอคืออะไร…

ชีวิตที่ความฝันหล่นหายไปตอนไหนก็ไม่รู้ ในระหว่างทางที่วิ่งไขว่คว้าความสำเร็จ เป็นสิ่งที่สะท้อนภาพของนักเรียนเกาหลีจำนวนมากที่ใช้เวลาทั้งหมดในโรงเรียนมัธยมไปกับการมุ่งเน้นเรื่องวิชาการ พวกเขาจึงไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองอยากจะทำงานอะไรหลังจากเรียนจบ ทำให้ชาวเกาหลีหลายคนขาดความฝันหรือแรงบันดาลใจในชีวิต นอกเหนือจากความสำเร็จทางวิชาการ

ชาวเกาหลีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ชอบสาขาวิชาเอกของตัวเองด้วยซ้ำเมื่อถึงเวลาสำเร็จการศึกษา พวกเขาไม่มีหลงใหลสิ่งที่กำลังศึกษาอยู่ หรือสูญเสียความสนใจไปตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะพวกเขาตัดสินใจโดยอิงจากสิ่งที่ข้อสอบบอก และจากความสำเร็จทางวิชาการ ทุกวันนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่าชาวเกาหลีจะไม่สามารถจิตนาการได้ว่าจะทำอาชีพอะไรเมื่อเรียนจบ

Da-Sol Goh นักข่าวชาวเกาหลีท่านหนึ่งเผยว่า “เมื่อสิบปีก่อน ผู้เขียนก็เคยเป็นนักเรียนมัธยมปลายคนหนึ่งที่มุ่งมั่นจะเข้ามหาวิทยาลัย โดยไม่เคยคิดถึงอาชีพในอนาคต” ผู้เขียนเคยเชื่อผิด ๆ ว่า “เมื่อได้เข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงแล้ว จะได้งานดีและมีรายได้สูงกว่าใคร ๆ ซึ่งจะทำให้ชีวิตมีคุณค่าในอนาคต” 

N-po Generation (N-포세대): ในยุคสมัยที่ทุกคนต้องทิ้งความฝัน

“ฉันแค่อยากให้เธอเจอความฝันที่แท้จริงของเธอ”

“ความฝันเหรอ ความฝันเนี่ยนะ… คิดว่าคนเราจะมีความฝันกันได้เฉย ๆ หรือไง มีแต่คนที่มีทางเลือกให้ค้นหาความฝัน ถึงจะฝันได้เท่านั้นแหละ”

“คนที่มีโอกาสให้ล้มเหลวแล้วลุกขึ้นได้อีกครั้ง ถึงจะไล่ตามความฝันได้”

“นายจะไปรู้อะไรในเมื่อนายก็อยู่ดีมีสุข ท่ามกลางอากศปลอดโปร่งโล่งสบาย สุดแสนจะสมบูรณ์แบบ”

“ขณะที่ฉันเจอความอบอุ่นแค่ช่วงสั้น ๆ ชีวิตส่วนใหญ่ฉันก็เหมือนอยู่ในไซบีเรีย…หนาวจับใจ ลมก็แรงบาดผิว เจอทั้งหิมะ ฝน ลูกเห็บ…”

บทวิวาทะระหว่างซองนยูกับซึงฮโย คงจะทำให้หลาย ๆ คนสะเทือนใจอยู่ไม่น้อย เมื่อนายุน รุ่นน้องในบริษัทของซึงฮโยบอกว่า ซึงฮโยแตกต่างจากคนอื่น ไม่ต้องคิดถึงความลำบาก สามารถใช้ชีวิตได้เป็นอย่างดี ตามอุดมคติของตนเอง เพราะซึงฮโยมี ‘พรีวิเลจ’ (privilege) ต่อให้ซึงฮโยจะอดเป็นนักว่ายน้ำทีมชาติ เพราะประสบอุบัติเหตุที่ขา เขาก็ยังได้สานฝันของตัวเองด้วยการเป็นสถาปนิก เนื่องด้วยเขาเติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะ และมีพ่อแม่ที่พร้อมจะสนับสนุน

ในขณะที่ซองนยู ลึก ๆ เธออาจจะมีความฝันของเธอเองก่อนหน้านี้ แต่อาจจะต้องล้มเลิกไป เพราะชีวิตเธอไม่ได้มีแต้มต่อที่เอื้ออำนวยให้เธอได้สานฝันจนสำเร็จ ยิ่งใน Ep.8 แม้เธอจะค้นพบว่าตัวเองชอบทำอาหาร และกำลังเรียนฝึกทำอาหารเพื่อสอบใบประกอบวิชาชีพ แต่เธอกลับถูกพ่อแม่ที่มีฐานะทางบ้านไม่ดีคัดค้าน โดยเฉพาะกึนชิก ผู้เป็นพ่อที่เปิดร้านขายอาหารว่าง มองว่าซองนยูไม่มีทางได้ดีในการทำอาหาร ซึ่ง ๆ ลึกแล้ว กึนชิกได้ตัดสินเอาความล้มเหลว และบทเรียนในชีวิตตนเองไปวางทับไว้ที่ชีวิตของลูกสาวตัวเอง โดยที่ยังไม่ปล่อยให้ซองนยูได้เริ่มต้นทำสิ่งที่เธอรัก

N-po Generation เป็นปรากฏการณ์ในสังคมเกาหลีที่คนรุ่นใหม่ต้องยอมแพ้หรือละทิ้งหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิต โดยคำว่า ‘โพ’ มาจากคำศัพท์ ‘โพกี’ (포기; 抛棄) ที่แปลว่าการยอมแพ้ และ N มาจาก Number of Things หรือ Infinity การยอมแพ้นี้เกิดขึ้นกับเรื่องความรัก การแต่งงาน การมีลูก รวมไปถึงการมีบ้านเป็นของตัวเอง การสานความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ  สาเหตุหลักของปรากฏการณ์นี้มาจากปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจหลายอย่าง เช่น อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวที่เพิ่มขึ้น ค่าครองชีพที่สูง โดยเฉพาะราคาบ้าน การจ้างงานที่ไม่มั่นคง และการแข่งขันที่สูงในสังคม

คำว่า N-po ปรากฏขึ้นครั้งแรกในปี 2011 ซึ่งในตอนนั้นหมายถึงกลุ่มคนอายุ 20-30 ปีที่ยอมแพ้กับ 3 สิ่งในชีวิต (삼포세대) ได้แก่ การออกเดท การแต่งงาน และการมีลูก จากนั้นก็มีคำว่า การยอมแพ้ 5 สิ่งในชีวิต (오포세대) โดยเพิ่มการมีงานทำ และการมีบ้านเป็นของตัวเองเข้าไปในสิ่งที่ยอมแพ้ด้วย  ต่อมามีการทำผลสำรวจว่าชาวเกาหลีท้อถอยกับเรื่องอะไรอีก ทำให้เกิดเป็น การยอมแพ้ 7 สิ่งในชีวิต (칠포세대) โดยรวมเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและ ความฝันหรือความหวังในชีวิตเข้าไปด้วย นอกจากนี้ยังมี การยอมแพ้ 9 สิ่งในชีวิต (구포세대) ซึ่งรวมการดูแลสุขภาพ และการดูแลรูปร่างหน้าตาตัวเอง

อย่างไรก็ตามเมื่อคนรุ่นปัจจุบันยอมแพ้ทุกอย่าง แม้กระทั่งชีวิตของเขาเอง เพราะมองว่าชีวิตไม่มีแม้แต่ความฝันและความหวัง  จึงเกิดศัพท์บัญญัติอีกคำว่า “완포세대” (วันโพ เซแด) เนื่องจากคำเหล่านี้มีความหมายในเชิงเดียวกัน สื่อมวลชนจึงนิยมใช้คำว่า “เอ็นโพ เซแด” (N포세대; N-po Generation) เพื่อกล่าวถึงคนกลุ่มนี้โดยรวม

Lee O-young นักวิจารณ์และนักประพันธ์ชาวเกาหลีใต้  มองว่าปรากฏการณ์ N-po Generation เป็นภาพสะท้อนของสภาพจิตใจที่อยากฆ่าตัวตาย เช่นเดียวกับคนที่พยายามฆ่าตัวตายมักจะแสดงสัญญาณเตือน เพราะต้องการให้คนอื่นช่วยเหลือ การที่คนเรียกตัวเองว่า N-po Generation อาจเป็นเพราะพวกเขาไม่อยากยอมแพ้สิ่งเหล่านั้น แต่ในใจจริงแล้วกลับโหยหาสิ่งเหล่านั้นต่างหาก

ความฝันไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ แต่เป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่ทำให้เราตาเป็นประกาย

“สำหรับฉัน เรื่องราวของผู้คนที่ค้นพบความฝันของตัวเองเป็นเรื่องพิเศษเสมอ”

“ฉันไม่รู้เลยว่าจะเริ่มต้นที่ไหนยังไง”

“เธอชอบอะไรล่ะ…ดูเหมือนเธอจะคิดมากเกินไป แค่ทำในสิ่งที่เธอชอบมาตลอดสิ จะเป็นอะไรก็ช่างเถอะ”

“สิ่งที่ฉันชอบมาตลอดเหรอ”

บทสนทนาสั้น ๆ ระหว่างจางแทฮีกับซองนยู เหมือนจะไม่มีอะไร แต่มีความลึกซึ้งกินใจอยู่ไม่น้อย เชื่อว่าบางคนอาจจะยังคงตามหาความฝันในชีวิตตัวเองอยู่ สิ่งที่เราชอบอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราทำได้ดี หรือสิ่งที่เราถนัด แต่ต้องเป็นสิ่งที่เราทำด้วยรอยยิ้ม และความสนุก มีความสุข ความตื่นเต้น ทุกครั้งที่ได้ทำ และที่สำคัญความชอบของเรา ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่เสมอไป

“ชเวซึง ฉันว่าฉันหาเจอแล้วละ…ความฝันไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่อลังการ”

“ฉันทำเรื่องน่าทึ่งอย่างเวลานายว่ายน้ำฟรีสไตล์ไม่ได้”

“แต่ฉันน่าจะพอว่ายท่าลูกหมาตกน้ำได้แหละนะ”

“ฉันอยากทำอาหารน่ะ”

“นี่ฉันเอาซอสนี่ไปทำอะไรตั้งหลายอย่าง”

จองโซมินถ่ายทอดฉากที่ค้นพบความฝันของตัวเองได้มาอย่างประทับใจ เพราะขณะที่เธอพูด และเจอซอสถั่วเหลืองที่ถูกหมักมา 100 ปี แววตาของเธอมีประกายและความสุขเป็นอย่างมาก นัยของฉากนี้ อาจจะกำลังจะบอกคนดูว่า การใช้เวลาตามหาความฝันตัวเองนั้น ไม่ได้จะเกิดขึ้นปุ๊บปั๊บทันที แต่อาจจะต้องอาศัยเวลา ลองผิดลองถูก ผ่านประสบการณ์และเวลาเหมือนกับอาหารหมักดองของเกาหลีที่ได้รับขนานนามว่า ‘อาหารแห่งกาลเวลา’ ทั้งกิมจิ เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว และซอสพริกโคชูจังต่างต้องใช้เวลาในการหมักดองให้ได้รสชาติ ถึงจะช่วยเติมรสชาติความเค็มให้อาหารได้

จากปรากฏการณ์สังคมที่ชาวเกาหลียอมแพ้ให้กับความฝัน มุ่งแต่การเรียน การทำงานจนไม่รู้เป้าหมายในชีวิตของตัวเองคืออะไร เนื้อหาในสื่อบันเทิงเกาหลีระยะหลังจึงมีแนวโน้มปลุกไฟในใจพลเมืองของพวกเขาอยู่ไม่น้อย เห็นได้จากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเราจะพบว่ามีซีรีส์แนว Fight for my dream เช่น Start-Up (2020) Twenty-Five Twenty-One (2022) Castaway Diva (2023) The Story of Park’s Marriage Contract (2023) หรือ  Miss Night and Day (2024) ปรากฏธีมเกี่ยวกับความฝัน และ Passion อยู่บ่อย ๆ

นางเอกของซีรีส์เกือบทุกเรื่องล้วนประสบเหตุเดียวกันคือ ทุกคนต่างกำลังตามหาความฝันในวัย 27 ถึง 30 ต้น ๆ บางคนยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการทำอะไร เช่น ซอดัลมี หรือ อีมีจิน บางคนอาจจะเจอความฝันของตัวเองแล้วเช่น นาฮีโด ซอมกฮา และพัคยอนอู แต่ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน  สิ่งที่ซีรีส์เกาหลีแนวนี้กำลังจะบอกคนดูคือ ความฝัน ไม่ใช่แค่เราฝันไปวัน ๆ แต่เราต้องลงมือทำและพยายามด้วย ความสำเร็จถึงจะเกิดขึ้น 

และถึงแม้นางเอกทุกคนจะตามหาความฝันเจอในที่สุด แต่ระหว่างทางที่พวกเธอเดินไปถึงเส้นชัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะทุกความฝันล้วนมีอุปสรรครออยู่เสมอ ถ้าใครที่ดู Twenty-Five Twenty-One (2022)  คงจำวรรคทองของเรื่องนี้ได้ 

สู้ชีวิตแต่ชีวิตสู้กลับใช่มั้ย? 

กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้… ต้องแอบร้องไห้มากแค่ไหน?

ต้องเจ็บปวดมาตั้งเท่าไหร่ล่ะ…?

เมื่อเหรียญทองเหรียญแรกที่นาฮีโดได้ควรเป็นความภูมิใจของเธอกลับถูกคนทั้งประเทศคลางแคลงใจผลตัดสินว่าเธอไม่คู่ควรกับมัน

หากลองคิดดู นางเอกในซีรีส์เกือบทุกเรื่องผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ เพราะพวกเธอมี ‘พระเอก’ และคนรอบข้างเป็น ‘ลมใต้ปีก’ คอยสนับสนุนและให้กำลังใจบนเส้นทางความฝัน สิ่งที่ซีรีส์หลายๆ เรื่อง โดยในเฉพาะผลงานของชินฮาอึน นักเขียนบท Love Next Door ซึ่งเน้นการฮีลใจ ยังคงกระซิบบอกเราเสมอว่า “ในบางครั้งการลดกำแพงและปล่อยให้ตัวเองพึ่งพิงคนรอบข้างในวันที่หัวใจอ่อนแอบ้าง อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราไปถึงความฝันได้ด้วยหัวใจที่แข็งแรง” หรือแม้จะไม่ได้ถึงฝันที่วาดไว้เราก็ยังมีคนรอบข้างให้ล้มตัวลงไปในอ้อมแขน 

ในชีวิตจริงของใครหลายคน การตามหา ‘พระเอกในละคร’ ที่คอยพยุงให้เราบินสูงขึ้นและไปได้ไกลกว่าเดิมอาจจะเป็นไปได้ยาก แต่สิ่งที่จะช่วยนำทางเราในวันที่มืดมน อุ้มชูเราในวันที่ล้มลง อาจจะเป็นสิ่งที่เราชอบอย่างการทำอาหารแบบซองนยูก็เป็นไปได้ ที่สำคัญเราจะต้องไม่ลืมให้กำลังใจตัวเอง ชื่นชมตัวเอง เห็นคุณค่าในตัวเอง อย่างสุดท้าย…ลองหันไปมองความรักที่ครอบครัวและคนรอบข้างเช่นเพื่อนสนิทมอบให้ ที่แห่งนั้นอาจจะเป็นที่พักพิงใจยามเหนื่อยล้าที่ดีที่สุด

อ้างอิง

  • Da-Sol Goh. (2019). Why Korean students are obsessed with university admission. https://asiatimes.com/2019/10/why-korean-students-are-obsessed-with-the-university-admission/
  • Elizabeth Peters. (2023). Academic Culture in South Korea. https://www.theslateonline.com/article/2023/04/academic-culture-in-south-korea
  • Jannik Krahe. (2024). Tough Schools. https://shorturl.at/AwPph
  • 전원주택라이프. (2021). 한옥에서 배우는 풍수 지혜. https://shorturl.at/943pI
  • 아르미. (2023.) 태몽꾸는시기 아들 딸 태몽으로 성별 알아보기. https://m.blog.naver.com/loginam/223285477546
  • 인사이트 마스터. (2024). 석류나무 꽃말: 원숙한 아름다움의 의미. https://shorturl.at/Njpm0
  • namu.wiki. (n.d.). N포세대. https://shorturl.at/DpPdE
  • user20. (2023). 풍수지리학적 원리가 적용된 한옥의 특징 5가지. https://shorturl.at/FphhL

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า