Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

คุยกับ คุณแพม-ประนัปดา พรประภา จิราธิวัฒน์ ผู้บริหารแห่งอาณาจักรสยามกลการ ผู้ก่อตั้งและอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแพลตฟอร์มขับเคลื่อนสังคมอย่าง Dragonfly ถึงเรื่องราวกว่าจะเป็น Dragonfly แนวคิดที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านอีเวนต์ประจำปี ที่เริ่มได้จากการรักและยอมรับตัวเองอย่างที่เป็นอยู่จริงๆ ให้ได้ ดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่กลับเป็นเรื่องยากเหลือเกินในสังคมปัจจุบัน

เติบโตในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ที่สังคมทำงานรายล้อมด้วยผู้ชาย

เมื่อต้องเติบโตในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน และต้องดูแลธุรกิจที่บ้านที่อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ต้องทำงานกับพาร์ตเนอร์ชาวญี่ปุ่นซึ่งก็มีแต่ผู้ชาย ทำให้คุณแพมเป็นผู้หญิงคนเดียวในห้องประชุมตลอดเวลา และได้รับประสบการณ์การทำงานที่อาจจะแตกต่างจากบริษัททั่วไป

“เราเจออะไรมาเยอะ แล้วคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่เราเจอมันไม่ใช่เรื่องปกติ เราก็เลยมีความสนใจในเรื่องของ Women’s Empowerment (การเสริมสร้างศักยภาพสตรี) มาตลอด เพราะเราคิดว่า ขนาดตัวแพมเองที่โชคดี เกิดมามีสิทธิต่างๆ ขนาดนี้ แล้วคนอื่นล่ะจะเป็นยังไง”

จุดเริ่มต้นของ Dragonfly

คุณแพมเล่าว่า จุดเริ่มต้นของการจัดงานอีเวนต์ครั้งแรกของ Dragonfly เกิดขึ้นหลังจากที่เธอสนใจและได้ไปร่วมงานอีเวนต์ Women in the World ของคุณ Tina Brown ที่นิวยอร์ก ที่พูดถึง Women’s Empowerment ซึ่งเป็นหัวข้อที่เธอสนใจอยู่แล้ว และคิดว่ามันน่าจะดีถ้ามีงานแบบนี้จัดในประเทศไทยบ้าง เพราะจริงๆ แล้วประเทศฝั่งเอเชียต้องการการตระหนักรู้ถึงเรื่องนี้มากกว่าที่ประเทศฝั่งตะวันตกเสียอีก

“เราชอบพูดกันว่าประเทศไทยมีผู้หญิงทำงานอยู่ในระดับ C-Suite เยอะ (ระดับผู้บริหาร) แต่เอาเข้าจริงแล้ว เรื่องของสิทธิของผู้หญิงในเรื่องการทำงานมันไม่ได้เยอะเลย เช่น การลาคลอด การแบ่งหน้าที่กันทำงานต่างๆ รวมไปถึงหน้าที่ในการเลี้ยงลูก หรือดูแลบ้าน ที่ส่วนมากยังมองว่าเป็นหน้าที่ของผู้หญิงอยู่”

“หลังจากกลับมาจากการร่วมงานที่นิวยอร์กในวันนั้น ได้ฟัง speakers หลายๆ ท่านจากทั่วทุกมุมโลกมาแชร์ประสบการณ์และแง่คิดต่างๆ ที่เกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ ทำให้เรากลับมานั่งคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญในไทย และเราทำอะไรเพื่อสังคมไทยได้บ้าง”

“พอลองเสิร์ชหาข้อมูลดูเราก็เจอว่าในไทยก็มีหลายคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่ แต่พวกเขาก็ทำในสเกลเล็กๆ เท่าที่พวกเขาทำได้ เราเลยคิดว่าทำไมเราไม่รวบรวมคนที่เขาอยากทำเรื่องนี้มาทำด้วยกันในสเกลที่ใหญ่ขึ้น มีอำนาจมากกว่านี้ ส่งพลังถึงคนอื่นๆ ได้กว้างกว่านี้ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดอีเวนต์ครั้งแรกของ Dragonfly”

แพม-ประนัปดา พรประภา จิราธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง Dragonfly แพม-ประนัปดา พรประภา จิราธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง Dragonfly

Dragonfly สัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลง

เพราะมีจุดมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไทยและทั่วเอเชียให้ดีขึ้น คุณแพมจึงเล่าถึงที่มาที่ไปของการใช้ชื่อแพลตฟอร์มของตัวเองว่า “Dragonfly” หรือแมลงปอ ว่าแมลงปอเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลง ที่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมภายนอก แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงผ่านการตระหนักรู้จากภายในใจของตัวเอง (self-realization) รวมถึงการรับรู้ด้วยตัวเอง (self-awareness) โดยจะเกิดขึ้นเมื่อเราเข้าไปอยู่ในสภาวะที่ไม่ดี จนเกิดภาวะที่เราต้องต่อสู้ และฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ จนเกิดการเรียนรู้ถึงสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น

นอกจากนี้ แมลงปอยังเป็นแมลงที่มีความยืดหยุ่นสูงมาก เพราะมันสามารถบินขึ้นลง กลับหัวบิน บินถอยหลัง บินได้ทุกทิศแบบ 360 องศา เป็นแมลงน้อยชนิดมากที่สามารถบินได้รอบทิศแบบนี้ จึงทำให้แมลงปอเป็นสัตว์ที่เหมาะกับการสื่อถึงความยืดหยุ่นที่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้ตามแต่ละสภาวะ แต่ละสถานการณ์

ซินดี้ และ วู้ดดี้ ผู้ร่วมก่อตั้งของ Dragonfly ที่แข็งแกร่ง

การเข้ามาของคุณซินดี้ ครอว์ฟอร์ด และ คุณวู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา ช่วยเสริมทัพให้แพลตฟอร์ม Dragonfly แข็งแรงมากยิ่งขึ้น โดยแต่ละคนได้มาร่วมงานกันครั้งแรกจากการเป็น guest speaker ให้กับคุณแพมในงานของ Dragonfly ครั้งแรกภายใต้ธีม Wo=Men ที่โฟกัสเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ

คุณแพมเล่าว่า เห็นคุณซินดี้รณรงค์เรื่อง #DontTellMeHowToDress ที่พูดถึงสิทธิการแต่งกายของผู้หญิง ความเท่าเทียมทางเพศ ไปจนถึงการรับมือคดีล่วงละเมิดทางเพศ และเห็นคุณวู้ดดี้ให้ความสนใจในเรื่องของสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศเช่นกัน เลยเอ่ยปากชวนทั้งสองคนมาร่วมงาน และทั้งคู่ก็ตอบตกลงในทันที ทำให้คุณแพมประทับใจ และเห็นถึงแพสชั่นในเรื่องนี้ของทั้งสองคนที่มีปณิธานเดียวกันกับเธอ ไปๆ มาๆ เมื่อพูดคุยกันถูกคอ และเห็นความสำคัญของเรื่องเหล่านี้มากพอๆ กัน จึงทำให้ทั้งสองคนได้มาเป็นผู้ก่อตั้งร่วมของ Dragonfly ในเวลาต่อมา

แต่อย่างที่เราทราบกันดีว่าแต่ละคนก็มีธุรกิจรัดตัวกันทั้งนั้น ตัวคุณแพมเองก็ทำงานทั้งกับ สยามกลการ สยามดนตรียามาฮ่า และอีกมากมายหลากหลายตำแหน่ง แต่ละคนหาเวลาว่างมาทำงานของ Dragonfly กันได้อย่างไร คุณแพมหัวเราะก่อนตอบชัดถ้อยชัดคำว่า ทุกอย่างทำได้เพราะแพสชั่นล้วนๆ

“ทั้งแพม ซินดี้ วู้ดดี้ ต่างคนก็ต่างมีแพสชั่นที่จะทำตรงนี้ เลยต่างคนต่างหาเวลามาทำด้วยกันเรื่อยๆ นอกจากนี้เรายังมีทีมงานที่ดีที่จะเอาวิสัยทัศน์ของเราเอาไปต่อยอดจัดการต่อยอดให้เป็นรูปเป็นร่างได้อย่างราบรื่น”

Lead Well

ในช่วงที่คุณแพมคิดจะก่อตั้งแพลตฟอร์มเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม เป็นช่วงที่เกิดปัญหาหนักไปทั่วโลกอย่างโควิด-19 ในปี 2019 ที่หลายคนทำงานที่บ้าน เป็นช่วงที่เรื่องของ Women’s Empowerment เห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะผู้หญิงเองก็ต้องทำงาน แต่เรื่องการจัดการภายในบ้าน การทำอาหาร เลี้ยงลูก ก็ยังเป็นหน้าที่ของผู้หญิงอีก หลายคนได้ทำงานที่บ้านแต่กลับมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น เครียดกับการทำงาน เครียดกับการดูแลคนในบ้าน เครียดกับการดูแลลูกๆ ตลอดเวลาเพราะลูกก็ไม่ได้ไปโรงเรียน

Lead Well เป็นปรัชญาหลักขององค์กร Dragonfly ที่มาจาก Leadership + Wellbeing โดย Leadership มาจากความเป็นผู้นำที่ไม่ได้หมายถึงแค่การเป็นผู้บริหาร แต่หมายถึงการเป็นผู้นำของตัวเราเอง ยอมรับในสิ่งที่เราเป็น ยอมรับว่าตัวเองมีปัญหา แล้วทำการเยียวยาบำบัดรักษาจิตใจตัวเองให้ดีก่อนที่จะไปดูแลคนอื่นต่อ จึงเป็นปรัชญาสำคัญของ Dragonfly นับตั้งแต่วันก่อตั้งแพลตฟอร์มในปี 2019 จนถึงปัจจุบัน

Dragonfly กับหัวข้ออีเวนต์ในแต่ละปี

คุณแพมยอมรับว่า ในแต่ละปี หัวข้อในการจัดอีเวนต์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีวิตของตัวเธอเองและผู้ถือหุ้น

“เริ่มแรกมาจากที่เราสนใจเรื่องของ Women’s Empowerment แต่พอหลังจากงานปีนั้นจบไป เราก็ค้นพบว่า เราจะเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิงอย่างเดียวไม่ได้ เราก็ต้องเสริมสร้างศักยภาพของผู้ชาย และคนทุกเพศ รวมถึงเหล่าผู้บริหารด้วย เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากการทำงานเยอะเหมือนกัน ที่ทำให้หน้าที่การงานของพวกเขาส่งผลถึงชีวิตส่วนตัว และชีวิตในครอบครัวด้วย จากนั้นหัวข้อต่อไปที่เราอยากพูดถึงจึงเป็นเรื่องของการดูแลจิตใจของเราแต่ละคน”

แพม-ประนัปดา พรประภา จิราธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง Dragonfly แพม-ประนัปดา พรประภา จิราธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง Dragonfly

เรื่องไกลตัว? เข้าใจยาก?

อาจมีคนบางกลุ่มที่อาจมองว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจอยู่บ้าง หรือมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะเป็นเรื่องของจิตใจและความคิดที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่เรื่องใกล้ตัวอย่างเรื่องการหาเงินทองเพื่อปากท้อง คุณแพมยิ้มอย่างเข้าใจก่อนบอกว่า “ถ้าคุณจะไม่เข้าใจในสิ่งที่เราอยากจะสื่อในตอนนี้ก็ไม่เป็นไร ปีหน้าคุณอาจจะเข้าใจก็ได้ หรือถ้าปีต่อๆ ไปคุณก็ยังไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยแค่ 1,500-2,000 คนที่มาร่วมงานเราเขาเข้าใจ แล้วได้กลับไปเผยแพร่แมสเสจที่เราอยากจะสื่อต่อกันไปเป็นทอดๆ หรือทำเป็นตัวอย่างให้ดูที่บ้านและที่ทำงานของเขา แค่นี้ก็ดีมากๆ แล้ว”

“แต่อย่างน้อยๆ แพมเชื่อว่าสิ่งที่เราพูดกันในงาน มันไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวของทุกคน ในชีวิตของเราทุกคนจะต้องมีสักครั้งที่เรารู้สึกว่าเราไม่กล้าเป็นตัวของตัวเองมากนัก หรือไม่แน่ใจในสิ่งที่ตัวเองต้องแสดงออกไปต่อหน้าคนอื่น เช่น หากเราจะพรีเซนต์งานหรือนำเสนอไอเดียต่างๆ ในที่ประชุม เราอาจจะวิตกกังวลว่าทุกคนจะเข้าใจเราไหม เราต้องใช้น้ำเสียงแบบไหนเขาถึงจะโอเค เราพูดเสียงดังเกินไปหรือเปล่า เราแสดงออกว่าเรามั่นใจเกินไปไหม เราต้องพูดน้อยลง ใช้น้ำเสียงที่เบาลง เพื่อให้เข้ากับคนอื่นในที่ทำงานหรือเปล่า จริงๆ แล้วเราอยากจะบอกว่าคุณเป็นตัวของตัวเองได้ ถ้าไม่ใช่ที่นี่ ก็อาจจะเป็นที่อื่นที่เป็นที่ของคุณ”

“เราแค่อยากให้คุณรู้ว่า it’s okay to be you. (เป็นตัวของตัวเองมันก็โอเค) คุณไม่ต้องพยายามเป็นคนอื่น แพมบอกลูกชายของตัวเองอยู่ตลอดว่า ลูกเป็นแบบนี้ก็โอเคแล้วนะ ไม่ต้องแข่งกับคนอื่น เพราะสังคมสมัยนี้ทำให้เราเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอยู่บ่อยๆ จากการเห็นชีวิตของคนอื่นผ่านโซเชียลมีเดีย อินสตาแกรม ชอบมีคนมาทักแพมว่า ‘ชีวิตเธอดีนะ’ พอถามว่ารู้ได้ไง ‘อ๋อ เห็นจากอินสตาแกรม’ ก็แล้วจะให้เราโพสต์ด้านแย่ๆ ด้านเศร้าๆ ของชีวิตเราลงโซเชียลเหรอ เราก็บอกเขาไปว่าไม่จริงหรอก เราเองก็มีชีวิตที่ขึ้นๆ ลงๆ เหมือนคนอื่นเหมือนกันนั่นแหละ”

แค่ได้ส่งต่อพลังงานดีๆ ให้คนอื่น ก็บรรลุเป้าหมายแล้ว

จริงๆ แล้วหลายคนอาจมองว่า ด้วยฐานะทางสังคม และหน้าที่การงานของผู้ก่อตั้งแต่ละคนก็ดูจะสบายดีอยู่แล้ว ไม่มีเหตุผลให้ต้องมาเหนื่อยจัดงานส่งเสริมหรือเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมมากขนาดนี้ แต่คุณแพมยืนยันว่านี่คือสิ่งที่เธอต้องการที่จะทำด้วยใจจริง และสิ่งที่ผู้มาร่วมงานจะได้รับกลับไปเป็นสิ่งที่เธอคาดหวังว่าจะเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้นได้ไม่มากก็น้อย

“ถ้าเราได้ส่งพลังดีๆ ต่อให้กับคน 2,000 คนได้ แล้วให้เขาไปส่งพลังบวกต่อกับคนอื่นอีกเรื่อยๆ ได้ ก็จะเป็นเรื่องที่เรายินดีมากๆ เราอยากให้คนที่มาร่วมงานของเราส่งต่อแมสเสจที่เราอยากจะสื่อต่อๆ กันไป เป็น Dragonfly ที่จะสยายปีกบินและส่งต่อความคิด mindset ดีๆ ต่อคนอื่น ต่อคนรอบข้าง ต่อครอบครัว ต่อคนในที่ทำงานต่อไปเรื่อยๆ ได้”

“เราสามคนยุ่งกันมากๆ หลายคนอาจคิดว่าเราจะทำสิ่งนี้ไปทำไม แต่ท้ายที่สุดเมื่อเราได้เห็นคนที่มาร่วมงานเขามีความสุข ได้รับเอเนอร์จี้ดีๆ จากเรากลับไปแม้แต่เพียงครึ่งเดียว เราก็มีความสุขไปด้วย มันก็ไม่มีอะไรที่จะทำให้เรามีความสุขไปมากกว่านี้อีกแล้ว ที่เราเหนื่อยกับมันมากๆ ทุ่มเททั้งเงินและแรงกายแรงใจจัดงานขึ้นมา เมื่อได้เห็นคนที่มาร่วมงานได้เยียวยาจิตใจของตัวเองกลับไปได้จริงๆ มันก็คุ้มทุกอย่าง เป็นสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้จริงๆ”

เมื่อถามถึงฟีดแบ็กที่ได้จากคนทั่วไป คุณแพมกล่าวด้วยท่าทางที่ภูมิใจว่า “เราได้ข้อความจากคนต่างประเทศ เช่น คนญี่ปุ่น ที่ถึงแม้จะไม่ได้มาร่วมงานของเรา แต่ด้วยการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียของเรา ทำให้เขาได้ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลจิตใจของตัวเอง รักตัวเอง เขาก็ส่งอีเมลมาขอบคุณเรา หรือแม้แต่แม่บ้านชาวเมียนมาร์ เขาก็ถามเราว่าเราทำอะไรกัน มันมีสิ่งนี้อยู่ด้วยเหรอ เราควรดูแลตัวเองก่อนเหรอ การได้ปลูกฝังไอเดียเหล่านี้เอาไว้เป็นเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ในใจแค่นี้ เราก็ถือว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว”

“โดยเฉพาะเด็กๆ อายุ 15-21 ปี เขาก็มองว่าเราเป็น role model ในเรื่องของ Women’s Empowerment และการดูแลตัวเองทั้งร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง เรียนรู้ที่จะรักตัวเอง นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เราคิดว่าเรามาถูกทางแล้ว เป็นแรงผลักดันที่จะทำให้เรายังคงทำสิ่งนี้ต่อไปเรื่อยๆ”

Dragonfly Bazaar & Dragonfly Academy

นอกจากการจัดงานอีเวนต์ที่เป็นงานใหญ่อย่าง summit แล้ว Dragonfly ยังจัดงานขนาดย่อมๆ ระหว่างปีอย่าง Dragonfly Bazaar ที่เป็นการออกบูธเพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SMEs รายเล็กๆ ที่ทำด้วยตัวเอง เลี้ยงปากท้องและมีเงินสานต่อธุรกิจด้วยตัวเองโดยไม่ได้พึ่งพาคนอื่น ซึ่งคุณแพมมองว่าเป็นจุดประสงค์หลักของการจัด Bazaar ที่เป็นการ Empower ตัวเองโดยไม่ต้องพูดถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่เป็นการเพิ่มและสนับสนุนให้เจ้าของธุรกิจทุกคนส่งเสริมตัวเองได้หลังจากที่มีความมั่นคงทางการเงินเป็นอย่างดี

“เป็นเรื่องน่าเศร้าที่โลกของเราถูกสร้างขึ้นมาให้คนที่มีเงินเยอะกลายเป็นซูเปอร์ฮีโร่ ในขณะที่คนที่มีเงินไม่เยอะ กลับได้รับโอกาสต่างๆ น้อยลง ซึ่งจริงๆ แล้วเงินเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา มอบคุณค่าให้กับมันขึ้นมาเองทั้งนั้น แต่สุดท้ายความมั่นคงทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้เราเห็นคุณค่ากับตัวเองได้มากขึ้น เพราะผู้หญิงหลายคนไม่มีงาน ไม่มีเงินของตัวเองหลังแต่งงานเป็นแม่บ้าน ถ้ามีสามีดีก็โชคดีไป แต่ถ้าสามีไม่ดี จะอยู่ยังไง”

“แพมเลยอยากสนับสนุนเหล่าธุรกิจ SMEs มากๆ เพราะเป็นชนชั้นที่อยู่ตรงกลางระหว่างนายทุนชั้นบน กับชนชั้นด้อยโอกาสที่อย่างน้อยก็ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอยู่บ้าง แต่คนชนชั้นกลางจะไม่ได้อะไรเลย พวกเขาถูกลืมไป ดังนั้นพวกเขาต้องพึ่งพาตัวเองมากๆ เราจึงอยากสนับสนุนให้พวกเขาได้มีรายได้ที่มั่นคง”

ในส่วนของ Dragonfly Academy เป็นสถาบันที่ให้การอบรมผู้บริหารในองค์กรต่างๆ เพื่อให้เป็นผู้นำที่ดี ที่เข้าใจและใส่ใจพนักงาน มีความสามารถและความพร้อมในการเป็นผู้นำที่ดี ยอมรับในความหลากหลายทางเพศและเชื้อชาติ ลดความเหลื่อมล้ำในฐานะ ความอคติต่างๆ ต่อคนในองค์กรให้น้อยลง เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี สร้างสังคมในการทำงานที่ดี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอย่างมีความสุขต่อไป

แพม-ประนัปดา พรประภา จิราธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง Dragonfly แพม-ประนัปดา พรประภา จิราธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง Dragonfly

Dragonfly H.E.A.L. Summit 2024

การจัด summit ในครั้งนี้ คุณแพมบอกว่าเป็นการจัดอีเวนต์ที่ถือว่าใหญ่ที่สุดเท่าที่ Dragonfly เคยจัดมา และยังอาจถือได้ว่าเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียเลยด้วยซ้ำ เพราะเป็นงานที่เชิญ speakers มาได้มากที่สุดในเอเชีย บางคนเดินทางมาเอเชียครั้งแรกเพื่องานนี้ นอกจากนี้เมืองไทยยังเป็น Hub ของ Wellness หรือการดูแลสุขภาพทั้งกายและใจ ดังนั้นจึงเข้าทางและเหมาะสมมากๆ ที่จะจัดอีเวนต์ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ในไทย

คุณแพมมองว่า หลังผ่านมรสุมโควิด-19 กันมาได้อย่างทุลักทุเล การตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสุขภาพจิตของตัวเองก็เกิดขึ้นตามมาด้วย นั่นเป็นเหตุให้คุณแพมเกิดไอเดียที่จะจัดงานในปี 2024 นี้ภายใต้ธีม H.E.A.L. ที่แยกออกมาเป็น H=Harmony, E=Empower, A=Accept และ L=Love ที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของชีวิตการทำงานที่ไม่ได้เน้นแค่ผลลัพธ์แต่เพียงอย่างเดียว

‘ดูแลจิตใจของตัวเอง ก่อนที่จะไปดูแลจิตใจและชีวิตของคนอื่น’ คือไอเดียสำคัญของการจัดงานในปี 2024 นี้ เพราะหากเราอารมณ์ไม่ดี จิตใจขุ่นมัว เกิดความเครียดจากที่ทำงาน เราอาจกลับไปส่งต่ออารมณ์ รวมถึงคำพูด การกระทำต่างๆ ในแง่ลบให้กับคนที่บ้านอีกต่อหนึ่ง ดังนั้นเพื่อหยุดวัฏจักรแย่ๆ ที่ส่งต่อจากที่ทำงานสู่ที่บ้านนี้ การดูแลสุขภาพจิตของตัวเองตั้งแต่ที่ทำงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ

“คนสมัยนี้มองว่าที่ทำงานเป็นอัตลักษณ์ (identity) ของพวกเขาเองด้วย พวกเขาไม่ได้มองว่าสถานที่ทำงาน บริษัทที่พวกเขาทำงานเป็นแค่ที่ทำงานเพื่อเงินอีกต่อไป แต่ยังเป็นชีวิต เป็นตัวตนที่พวกเขาอยากเป็น เพราะพวกเขาต้องโพสต์ชีวิตการทำงานลงในโซเชียลมีเดีย และยังเป็นการทำงานที่ตามหาว่างานที่ตัวเองทำ ทำไปเพื่ออะไร และตัวเองมีแพสชั่นในการทำสิ่งนี้หรือไม่ ซึ่งแตกต่างจากคนในสมัยก่อนอย่างสิ้นเชิงที่ทำงานเพื่อผลตอบแทนในรูปแบบของเงิน และความจงรักภักดีต่อบริษัท เพื่อแลกกับการดูแลเป็นอย่างดีจากบริษัทเช่นกัน”

ดังนั้นการมองหาตัวเองว่าตัวเองเป็นใคร มีจุดมุ่งหมายในชีวิตคืออะไร มีความหลงไหลในสิ่งใด และเรียนรู้ที่โอบรับความเป็นตัวเองให้ได้มากที่สุด เป็น “ผู้นำ” ของตัวเองที่ดีที่สุด จึงเป็นธีมหลักของการจัดงานของ Dragonfly ในปี 2024 นี้ ที่เชื่อว่าคนทุกเพศทุกวัย ทั้งวัยเรียน และวัยทำงานได้ทำความเข้าใจตัวเอง ค้นหาตัวเอง และรักตัวเองให้มากขึ้นได้ ก่อนที่จะไปเป็นผู้นำเพื่อรักและดูแลคนอื่นอย่างดีต่อไป โดยเฉพาะวัยเรียนที่คุณแพมให้ความสำคัญจนถึงขั้นมีราคาบัตรเข้างานเรตนักเรียนโดยเฉพาะ เพราะคุณแพมมองว่า เด็กคืออนาคตของเรา จึงอยากปลูกฝังความคิดให้เด็กๆ ได้รู้จักการเป็นผู้นำของชีวิตตัวเอง ก่อนที่จะไปเป็นผู้นำของคนอื่นในภายภาคหน้า

“เราต้องเป็น CEO ของตัวเราเอง ทั้งร่างกายและจิตใจ เช่น เราดูแลตัวเองได้ดีหรือเปล่า เราออกกำลังกายและทานอาหารดีๆ บ้างหรือเปล่า เราพักผ่อนเพียงพอหรือเปล่า ทางด้านจิตใจ เราดูแลจิตใจของตัวเองได้ดีหรือเปล่า เรานั่งสมาธิบ้างหรือเปล่า เราเครียดเกินไปหรือเปล่า นี่คือความหมายของการเป็นผู้นำของตัวเอง ที่อยากให้เรียนรู้ว่าร่างกายและจิตใจของเราเป็นของเราเอง เราต้องดูแลให้ดี รวมถึงเรียนรู้ที่จะให้อภัยตัวเองเมื่อเราทำผิดพลาด และยอมรับกับตัวเองตรงๆ ว่าเราเหนื่อย เราเครียด เราอยากพัก ไม่ต้องฝืนตัวเองทำงานต่อไปโดยที่เราไม่รู้ตัวเองว่าเราไม่ไหว” ซึ่งสิ่งที่คุณแพมไม่อยากให้เกิดขึ้น คือการเห็นใครที่ฝืนทำงานหนักจนเอาเงินที่หามาได้อย่างยากลำบากไปรักษากับหมอที่โรงพยาบาล การยอมรับว่าตัวเองเหนื่อย แล้วหยุดพัก เป็นสิ่งที่ควรทำ และสามารถทำได้ ไม่ใช่เรื่องผิด

อีเวนต์ summit ประจำปีของ Dragonfly จะส่งต่อและปลูกฝังความคิดและค่านิยมที่ดีให้กับสังคมได้มากแค่ไหน ไม่มีใครรู้ นอกจากตัวคุณเองที่อาจจะต้องลองเข้าร่วมงานสักครั้ง อย่างที่คุณแพมกล่าวไว้ ถ้าปีนี้ไม่เข้าใจ ปีหน้าคุณอาจจะเข้าใจ หรือหากคุณไม่เข้าใจ คนอื่นอาจจะเข้าใจ แล้วส่งต่อแง่คิดที่ดีต่อชีวิตให้กับคุณ ในแบบที่คุณเองก็อาจไม่รู้ตัวก็ได้ว่ามันเป็นเรื่องของคุณมากกว่าที่คุณคิด

_____________________________________________

Dragonfly H.E.A.L. Summit 2024 จะจัดขึ้นในวันที่ 22-23 ตุลาคม 2024 ณ พารากอนฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน

พิเศษ! เพียงใส่โค้ด DFTODAY เพื่อรับส่วนลด 10% สำหรับบัตรเข้างานทุกประเภท

ซื้อบัตรได้ที่ Ticketmelon

Dragonfly H.E.A.L Summit 2024

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า