SHARE

คัดลอกแล้ว

คุยกับ วิลล์ โบเวน (Will Bowen) นักพูดระดับโลก ถึงศาสตร์ของการ “หยุดบ่น” เพื่อชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น ในงาน DRAGONFLY H.E.A.L Summit 2024 เมื่อวันที่ 22-23 ตุลาคม 2567 ที่ พารากอน ฮอลล์

“คนที่มีศีลเสมอกัน มักอยู่ด้วยกันได้” เราอาจจะเคยได้ยินประโยคนี้มาก่อน คนที่มีความคิดความอ่านใกล้เคียงกัน มีทัศนคติในเรื่องต่างๆ ใกล้เคียงกัน มักจะดึงดูดเข้าหากัน และอยู่ร่วมกันได้เป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเพื่อนสนิท หรือคนรัก

ศาสตร์ของการ “บ่น” หรือการ “แสดงความไม่พอใจ” (complain) เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของการมีชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุขมากยิ่งขึ้นได้ หากเราหยุดบ่น ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่หลายคนไม่เคยคิดถึงมาก่อนว่าการบ่นจะทำให้ชีวิตของเราไม่มีความสุขได้อย่างไร และการหยุดบ่นส่งผลดีต่อชีวิตของเราได้มากแค่ไหน TODAY จึงถือโอกาสนี้พูดคุยกับ วิลล์ โบเวน (Will Bowen) นักพูดระดับโลก เจ้าของหนังสือ A Complaint Free World ที่มาพูดให้ความรู้และคำแนะนำกับเหล่าผู้นำในอนาคตว่า เราจะใช้ศาสตร์ในการหยุดบ่น เพื่อเป็นผู้นำที่ดีได้อย่างไร

ผู้นำถึงต้องดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของตัวเอง ก่อนที่จะไปดูแลคนอื่น

วิลล์ โบเวน กล่าวว่า “ตำแหน่งผู้นำมักจะเป็นตำแหน่งที่คอยดึงเอาปัญหาต่างๆ ที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขแสดงออกมาอยู่บ่อยๆ เพราะฉะนั้นยิ่งคุณเป็นผู้นำที่คอยดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของตัวเองให้ดีอยู่เสมอ ก็จะยิ่งทำให้คุณเป็นผู้นำที่ดียิ่งขึ้น”

“ปกติแล้วเราไม่ค่อยตระหนักรู้ได้ด้วยตัวเองเท่าไรว่าเราก็มีจุดบอดในชีวิตอยู่เหมือนกัน แต่การเป็นผู้นำทำให้เราได้มองเห็นถึงปัญหาเหล่านั้น ผ่านการพัฒนาศักยภาพของตัวเองในการเป็นผู้นำที่ดี”

ปัญหาที่มักเกิดขึ้นกับเหล่าผู้นำที่สังเกตเห็นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

วิลล์ โบเวน บอกว่า ความท้าทายของเหล่าผู้นำที่เกิดขึ้น เป็รปัญหาที่เกิดขึ้นหลังวิกฤติโควิด-19 ที่แต่ละประเทศได้รับผลกระทบที่มากน้อย และในเรื่องที่ต่างกัน

“อย่างประเทศไอร์แลนด์ที่ผมเพิ่งไปร่วมงานมา ผมพบว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงสูงมาก ในอเมริกาก็ยังคงมีปัญหาราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังสูงอยู่แม้ว่าจะผ่านพ้นช่วงโควิด-19 ไปแล้ว ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบมาถึงเหล่าผู้นำในธุรกิจที่ไม่สามารถหาแรงงานที่ดีพอในการเข้ามาเติมเต็มบริษัทได้ โควิด-19 เข้ามาสั่นคลอนหลายธุรกิจทั่วโลก ที่ทำให้หลายบริษัทมีการผลัดเปลี่ยนพนักงานเข้าออกมากมาย และอาจทำให้สูญเสียแรงงานดีๆ ไปในช่วงนั้น”

“การเปิดรับสมัครพนักงานใหม่ ก็อาจหาได้ไม่ดีเท่าคนเก่า ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากของเหล่าผู้นำที่จะหาคนใหม่มาทำงานให้ได้ประสิทธิภาพดีเหมือนเดิม และต้องรักษากลุ่มคนเหล่านั้นเอาไว้ให้ดีด้วย เพราะหากบริษัทหนึ่งเจอคนที่ดี อีกบริษัทหนึ่งที่ทราบอาจจะมาดึงตัวคนนั้นออกไปร่วมงานด้วยแทน ดังนั้นในงาน Dragonfly ช่วงของผม ผมก็พูดถึงเรื่องนี้เหมือนกันว่า เหล่าผู้นำต้องเผชิญกับปัญหาการร้องทุกข์ถึงอัตราการเข้าออกของพนักงานบริษัทสูงเกินไป และความยากในการจูงใจเพื่อรักษากลุ่มพนักงานที่ทำงานได้ดีเอาไว้ให้ได้เหมือนเดิม”

คำแนะนำที่อยากบอกกับเหล่าผู้นำ ในโลกปัจจุบันที่มีปัญหามากมาย มีหลากหลายวิกฤติที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ สงคราม และอื่นๆ ในขณะที่ตัวผู้นำเองก็ยังคงต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอด้วย

“โดยปกติแล้วผมจะเป็นนักพูดที่คอยแก้ปัญหาจากการร้องทุกข์ การแสดงความไม่พอใจในเรื่องต่างๆ ซึ่งคำร้องทุกข์เหล่านั้นมาจากข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น หรือพูดถึงสิ่งที่ขาดหายไป ผู้นำที่ดีมักจะโฟกัสในสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและสิ่งที่กำลังดำเนินอยู่ แต่จริงๆ แล้วไม่ว่าจะยุคสมัยไหน ต่างก็มีเรื่องราว มีปัญหาที่เกิดขึ้นแตกต่างกันออกไป”

วิลล์ โบเวน ย้ำว่า “เรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ก็เป็นเรื่องของ 20 ปีที่แล้ว ในปัจจุบันและอนาคตก็จะมีเรื่องราวของในแต่ละยุคที่เราต้องมานั่งถกกัน ดังนั้นการอยู่ปับปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ต้องเป็นคนที่ลอยอยู่เหนือปัญหา ไม่ใช่จมอยู่กับปัญหา”

“สังคมปัจจุบันแตกต่างจากสังคมเมื่อ 10-20 ปีที่แล้วมาก ผู้คนมีความห่างไกลจากความเป็นอนุรักษ์นิยมมากขึ้น ผู้คนแสดงความคิดเห็นกันง่ายขึ้นมาก แต่ก่อนหากอยากจะบ่นเรื่องอะไร ต้องมาบ่นต่อหน้า หรืออย่างมากก็ส่งจดหมาย หรือส่งอีเมล แต่เดี๋ยวนี้แค่โพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ใช้เวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้น ผมเลยรู้สึกว่าผู้คนมีความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นมากขึ้น”

นอกจากนี้ วิลล์ โบเวน ยังสังเกตเห็นว่า ผู้คนสมัยนี้แสดงความรู้สึกเสียใจ ความรู้สึกเจ็บปวดกันมากยิ่งขึ้นด้วย แม้ว่าตัวเขาเองจะอาศัยอยู่ในประเทศอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้คนมีสุขภาพที่ดีและฐานะทางการเงินดีมากประเทศหนึ่งของโลก แต่ผู้คนก็ยังคงบ่น และแสดงความไม่พอใจกันออกมามากมาย และการแสดงออกถึงสิ่งที่ไม่พอใจ ก็สามารถทำได้ง่ายมากขึ้นกว่าแต่ก่อนด้วย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากของเหล่าผู้นำที่จะต้องตอบสนองต่อความพึงพอใจของคนเหล่านั้น

Will Bowen

แต่สำหรับประเทศไทย เรามักพูดกันอยู่บ่อยๆ ว่า ถ้าเราไม่บ่น ไม่คอมเมนต์ ไม่ทำให้เป็นเรื่องไวรัลในโลกอินเตอร์เน็ต ก็จะไม่มีใครแยแส เรื่องก็จะไม่เดิน ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ

“ผมเข้าใจในสถานการณ์ของคุณ” วิลล์ โบเวน ยิ้ม “แต่สิ่งที่ผมมักพูดอยู่เสมอคือ การที่เราไม่พอใจในเรื่องหนึ่ง เราไม่พอใจคนหนึ่ง แต่เราดันไปร้องทุกข์กับอีกคนหนึ่ง แต่การที่เราไปคอมเมนต์ถึงการทำงานของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าเราต่อว่าคุณเสมอไป แต่เรากำลังกระตุ้นให้กลุ่มคนเหล่านั้นตระหนักถึงปัญหาแล้วลุกขึ้นมาทำการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นต่างหาก ผมไม่นับว่านี้คือการร้องทุกข์หรือคำบ่น แต่เป็นการเรียกร้องให้ออกมารับผิดชอบมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบของผู้นำประเทศ ผู้นำบริษัท หรือองค์กรใดๆ ก็ตาม” 

“ยิ่งคุณมีคนในการปกครองมากเท่าไร คุณก็มีอำนาจมากขึ้นเท่านั้น ผมเรียกกระบวนการนี้ว่า enrage (โกรธแค้น) เพื่อ engage (มีส่วมร่วม) ‘ถ้าคุณโมโหเมื่อไร ฉันจะสนใจคุณเมื่อนั้น’ ถ้าทำแบบนี้แล้ว เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น นั้นการเรียกร้องให้ออกมารับผิดชอบมากกว่า และมันเป็นสิ่งที่ควรทำด้วย”

ถึงกระนั้น วิลล์ โบเวน ก็ไม่ได้บอกให้ทุกคนเก็บความรู้สึก งดแสดงความคิดเห็นใดๆ ขนาดนั้น “ผมไม่ได้บอกให้ทุกคนปิดปากเงียบ ไม่ต้องบ่นอะไรออกมา แต่ผมกำลังบอกให้ทุกคนแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้น หรือข้อเรียกร้องที่ต้องการได้รับการแก้ไขให้ถูกที่ถูกทาง ถูกคนที่รับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรง ดังนั้นหากเราอยากเสนอแนะหรือแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้รัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องรับรู้และแก้ไข นั่นเป็นเรื่องที่ควรทำ”

 

จุดเริ่มต้นในความสนใจต่อศาสตร์ของการ “บ่น”

วิลล์ โบเวน พุดถึงแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องการบ่น การแสดงความไม่พอใจของมนุษย์ว่า “ผมเคยสอนเกี่ยวกับ ‘ความสำเร็จ’ เมื่อ 18 ปีที่แล้ว ในประเทศอเมริกา ที่นับได้ว่าเป็นประเทศที่อู้ฟู่ มีคุณภาพชีวิตที่ดีและฐานะทางการเงินที่ดีในระดับหนึ่งของโลกอยู่แล้ว เมื่อคนเข้าสอบถามหลังจากเรียนกับผมไป มักจะเข้ามาถามถึงการได้รับทุกสิ่งทุกอย่างที่ ‘มากกว่าเดิม’ อยากได้เงินมากกว่าเดิม อยากได้ความรักมากกว่าเดิม อยากประสบความสำเร็จมากกว่าเดิม อยากมีเพื่อน อยากมีเวลามากกว่าเดิม แต่อันที่จริงแล้ว ถ้าคุณมีความสุขในสิ่งที่มีอยู่แล้ว คุณจะยังต้องการ ‘มากกว่าเดิม’ อีกทำไม ดังนั้นเป้าหมายหลักของผมก็คือ อยากให้คนมีความสุขในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้ว”

“ผมเลยลองท้าทายให้ทุกคนลองใช้ชีวิตในแบบที่ไม่บ่นไม่แสดงความไม่พอใจอะไรออกมา 21 วันติดต่อกันดู ตอนนี้จึงผู้คนมากถึง 15 ล้านคน ใน 106 ประเทศ ที่กำลังลองทำชาเลนจ์นี้อยู่”

 

ในบางคน การที่เราห้ามใจตัวเองไม่ให้บ่น ไม่แสดงความไม่พอใจอะไรออกมาเลยติดต่อกัน 21 วัน มันจะเป็นการทรมานตัวเองมากเกินไปหรือเปล่า

“ผมไม่เห็นด้วย 100%” วิลล์ โบเวน ยิ้มแล้วอธิบายต่อทันที “เพราะผมทำสิ่งนี้มามากกว่า 20 ปี ทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นความคิดที่ดี และอยากจะลองทำสิ่งนี้ดู แต่ก่อนอื่นเราต้องแยกให้ออกว่า การบ่นหรือแสดงความไม่พอใจที่ว่านี้คืออะไร เหมือนอย่างที่บอกไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า การแสดงความคิดเห็น การแจ้งปัญหา หรือข้อแนะนำเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น สิ่งนี้ไม่ได้เรียกว่าการบ่นหรือการแสดงความไม่พอใจ การแสดงความไม่พอใจที่เรากำลังพูดถึงคือ การแสดงความไม่พอใจต่อคนที่ไม่ได้มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงหรือการแก้ปัญหาเหล่านั้น และการแสดงอารมณ์ที่ทำให้คุณราวกับเป็นเหยื่อในสถาณการณ์นั้นๆ ต่างหาก”

“จริงๆ แล้วความหมายของ complain ในดิกชันนารีหมายถึง การแสดงออกถึงความเสียใจ ความไม่พอใจ ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เราอยากให้คุณลองทำชาเลนจ์ไม่แสดงความไม่พอใจออกมาติดต่อกัน 21 วันนี้ สิ่งที่เราได้เป็นสิ่งแรกคือ เราจะกลายเป็นคนที่มีความสุขมากขึ้น จริงๆ แล้วหลายคนเริ่มบ่น เริ่มแสดงความไม่พอใจออกมา เพียงเพราะว่าอยากจะเริ่มต้นบทสนทนากับคนอื่น ‘มันยากเกินไปไหมสำหรับคุณ’ ‘เมื่อไรฝนจะหยุดตก’ จริงๆ แล้วหลายคนก็แค่อยากจะหาเรื่องคุย แต่หาเรื่องราวดีๆ มาคุยด้วยไม่ได้ สมองของเราก็จะพยายามหาเรื่องต่างๆ มาต่อบททสนทนาด้วย แต่ถ้าเราลองหาเรื่องดีๆ มาเริ่มบทสนทนา เช่น ‘เสื้อของคุณสวยจัง’ ‘ถุงเท้านั้นซื้อมาจากไหน’ เราก็จะเริ่มบทสนทนาดีๆ ได้โดยไม่ต้องเริ่มต้นจากพลังงานด้านลบ”

“ไม่ใช่เรื่องผิดที่เราจะบ่นเรื่องแย่ๆ ให้คนอื่นฟังบ้างเป็นบางครั้งบางคราว ถ้าวันนั้นมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น คุณอาจจะกลับมาบ่นให้คนที่บ้านฟัง แต่สิ่งหนึ่งที่ควรจำเอาไว้คือ ควรยึดติดอยู่กับข้อมูลที่เป็นจริงเท่านั้น”

“ยกตัวอย่างเช่น ผมเพิ่งเดินทางมาจากโดฮา ที่กาตาร์ ผมได้รับข้อมูลมาผิด ทำให้ผมไปที่ประตูผิด แล้วผมก็ลืมของเอาไว้ในห้องน้ำอีก ทำให้ผมเกือบจะขึ้นเครื่องไม่ทัน ผมเล่าให้คุณฟังเท่านี้ มันไม่ใช่การบ่น ผมแค่เล่าเรื่องที่เป็นข้อมูลจริงล้วนๆ ให้ฟัง ผมไม่ได้เล่าเพื่อให้คุณมาแก้ปัญหานี้ให้ผม และผมไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็นเหยื่อจากเหตุการณ์นี้ แต่ถ้าผมเล่าแบบใส่อารมณ์ว่า ‘มีผู้ชายคนหนึ่ง บอกฉันให้ไปผิดประตู เกือบทำให้ฉันไปขึ้นเครื่องไม่ทันเลย’ แบบนี้เรียกว่าบ่น หรือการแสดงความไม่พอใจออกมา ดังนั้น หากคุณลองทำชาเลนจ์ไม่บ่น 21 วัน คุณจะรู้สึกได้เลยว่าคุณจะมีความสุขมากยิ่งขึ้น”

Will Bowen

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่า หากเราไม่บ่น ไม่แสดงความไม่พอใจออกมาเลย เราจะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนอื่น

วิลล์ โบเวน บอกว่า “การไม่บ่น ไม่แสดงความไม่พอใจออกมา เป็นชาเลนจ์ที่เราเรียกว่า เหมือนการเดินผ่าน ‘พรมเช็ดเท้า’ คือ ก่อนเข้าบ้าน ไม่ว่าจะเจอเรื่องอะไรไม่ดีมา ก็แค่เช็ดพื้นรองเท้าให้สะอาดก่อนเดินเข้าบ้าน สำหรับคนที่มีปัญหาแล้วเดินไปบอกกับคนที่อำนาจในการแก้ไขปัญหาโดยตรง คนนั้นไม่ได้บ่น แต่คนที่บ่นคือคนที่เอาปัญหาที่ตัวเองเจอไปเล่าให้คนอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยฟัง”

“ดังนั้นจุดมุ่งหมายในการที่ผมให้ทุกคนลองทำชาเลนจ์นี้ด้วยกัน คือการให้คุณเก็บปัญหาที่เกิดขึ้น ไปบอกให้ถูกคน สิ่งหนึ่งที่ผมได้บ่อยในวัยผู้ใหญ่คือ เมื่อไรก็ตามที่พวกเขาต้องการบางสิ่ง จริงๆ แล้วพวกเขาแค่ ‘บอก’ เท่านั้นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องบ่น โมโห โวยวายออกมา”

 

สำหรับในประเทศไทย อาจมีบางสถานการณ์ หรือบางเรื่อง กับบางองค์กร ที่การ ‘บอก’ ตรงๆ มันไม่เวิร์ค มันไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือไม่มีคนสนใจ

วิลล์ โบเวน พยักหน้าเข้าใจ และอธิบายว่า “คนเราเมื่อได้พูดคุยกับ มักจะจับอารมณ์ของผู้พูดได้ว่ากำลังรู้สึกอะไรอยู่ แต่เรื่องที่น่าแปลกคือ เมื่อเรารับรู้อารมณ์ของผู้พูด เราจะถูกเบี่ยงเบนความสนใจในสิ่งที่เขากำลังพูดอยู่ได้ เราอาจจะไม่ได้ใส่ใจต่อสิ่งที่เขากำลังจะสื่อมากพอ มันมีแน่ๆ ที่จะเจอกับคนที่ไม่ทำตามที่เราต้องการ มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตของเรา แต่เชื่อหรือไม่ว่าหากเราแค่บอกในสิ่งที่เราต้องการโดยไม่ใส่อารมณ์ คนฟังเขาจะจับได้ว่าเราต้องการสิ่งนั้นจริงๆ เพราะเหตุผลอะไรบ้าง คนพูดไม่ได้มีท่าทีโมโหหรือไม่พอใจอะไร และนั่นจะทำให้คนฟังใส่ใจในเรื่องที่เราร้องขอได้มากขึ้น เผลอๆ อาจจะชอบเราและตอบสนองต่อสิ่งที่เราเรียกได้ง่ายขึ้นด้วย”

 

การที่ผู้นำมีความคิดที่เต็มไปด้วยพลังงานบวก จะส่งผลอย่างไรต่อองค์กรและคนที่ทำงานด้วยบ้าง

“ผมอยากจะบอกว่า ผู้นำที่ดี มักจะมีผู้ตามที่ดีไปด้วยเสมอ ที่ที่ผมอยู่ในคลินิคหมอฟันที่เปิดตรงข้ามกันสองร้าน ร้านหนึ่งพนักงานและหมอฟันต่างอารมณ์ดี พูดคุยยิ้มแย้มแจ่มใส มีเลี้ยงวันเกิดให้กันและกัน แต่อีกคลินิกหนึ่งบรรยากาศค่อนข้างมืดหม่น ทำให้ดูไม่น่าเข้าไปใช้บริการ”

“ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากจะบอกคือ หากผู้นำมีความสุข พนักงานและคนที่ทำงานด้วยก็จะมีความสุขตามไปด้วย ผู้นำควรเป็นคนที่มอบแรงบันดาลใจดีๆ ให้กับคนรอบข้าง ส่งต่อพลังงานบวก และทัศนคติบวกว่า ‘คุณทำได้’ ให้กับคนอื่น ถ้าคุณคิดว่า ‘แต่ฉันดันรายล้อมไปด้วยคนที่มีแต่พลังงานลบ’ นั่นไม่จริง เพราะมีแต่คนที่มีพลังงานแบบเดียวกับคุณเท่านั้นแหละที่จะอยู่กับคุณ”

“สิ่งที่เราควรโฟกัสคือหนทางแก้ปัญหา และผลลัพท์ที่ได้ มากกว่าสิ่งที่เป็นข้อจำกัดที่เป็นสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น”

Will Bowen

แต่ในโลกของความเป็นจริง ในสังคมการทำงาน เราจำเป็นต้องทำงานร่วมกับคนที่มีแต่พลังงานลบอยู่ด้วยเหมือนกัน เรามีวิธีทำงานหรืออยู่ร่วมกับคนเหล่านี้ได้อย่างไร

วิลล์ โบเวน ให้คำแนะนำในการอยู่ร่วมกับคนที่ปล่อยแต่พลังงานลบว่า จริงๆ แล้วสาเหตุที่ทำให้คนบ่น แสดงความไม่พอใจออกมา แบ่งออกมาเป็น 5 ปัจจัยหลักๆ แต่หนึ่งในนั้นที่พบได้บ่อยคือ การเริ่มต้นบทสนทนา ต้องการเรียกร้องความสนใจจากเรา และเมื่อเราต่อบทสนทนาออกไปเรื่อยๆ ก็จะยิ่งมีแต่เพิ่มพลังงานด้านลบไปเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน

“ดังนั้น คำแนะนำของผมคือ ให้พยายามตอบกลับเขาไปด้วยคำถามที่ไปทางบวก เช่น ‘มีอะไรดีๆ เกิดขึ้นบ้างในช่วงนี้’ ‘งานเป็นยังไงบ้าง ลูกของคุณ หมาที่บ้านเป็นยังไงบ้าง’ ‘เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้กินอะไรอร่อยๆ บ้างไหม’ ‘ช่วงนี้มีหนังอะไรสนุกๆ ดูบ้าง’ เราสามารถเริ่มต้นหัวข้อสนทนาก่อนที่อีกฝ่ายจะเป็นคนเริ่มได้ ถ้าคนๆ นั้นเดินเข้ามา เรารู้เลยว่าเราต้องเริ่มถามด้วยคำถามดีๆ เพื่อเป็นการเปิดบทสนทนาในเรื่องดีๆ เหมือนกับผมที่เริ่มต้นบทสนทนากับคนข้างบ้านด้วยคำถามดีๆ ก่อนที่เธอจะเป็นคนเปิดบทสนทนา เพราะผมรู้ว่าเธอชอบบ่นเรื่องบ้านโน้นบ้านนี้ให้ฟัง แล้วผมไม่อยากได้ยินเท่าไร”

“จริงๆ แล้วมนุษย์เราเกิดมาพร้อมความคิดลำเอียงด้านลบมากมายต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว ผมเองก็เช่นกัน มันไม่ใชเรื่องแย่ แต่มันก็เป็นของมันแบบนั้น มนุษย์มีสัญชาตญาณในการมองคนในแง่ลบไว้ก่อน โดยเฉพาะคนเพศเดียวกัน มองว่าเป็นศัตรูของเราหรือไม่ แล้วสมองของเราก็เริ่มประมวลผลหาสาเหตุว่า ทำไมคนๆ นี้ถึงจะเป็นศัตรูของเรา ดังนั้นเราจึงควรมีสติ เพื่อไม่ให้สมองของเราไปถึงจุดประมวลผลนั้น เพื่อให้เรามองหาด้านดีๆ ของอีกฝ่ายก่อนเสมอ”

“ดังนั้นชาเลนจ์ 21 วันรวดที่ลองไม่บ่น ไม่แสดงความไม่พอใจออกมา จึงอาจใช้เวลายาวนานถึง 4-8 เดือน เพื่อที่จะทำได้ติดต่อกัน 21 วัน เพราะจริงๆ แล้วค่าเฉลี่ยของคนเราที่จะบ่นเรื่องต่างๆ มากถึง 15-30 ครั้งต่อวันเดียวทีเดียว แล้วแต่ละคนก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ดังนั้นเป้าหมายของเราคือ ค่อยๆ ลดจำนวนครั้งที่บ่นลง จาก 30 เหลือ 29 เหลือ 28 ครั้ง ค่อยๆ ลดลงมาทีละเล็กทีละน้อย จึงเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาพอสมควร ถ้าวันไหนพลาดไป ก็เริ่มต้น Day 1 ใหม่ไปเรื่อยๆ แต่สิ่งสำคัญคือ คุณต้องรู้ตัวเองว่า วันนี้คุณเผลอบ่นไป พรุ่งนี้ต้องระวังไม่บ่นอีก หากคุณรู้ตัวเอง ในอนาคตคุณก็จะหลีกเลี่ยงที่จะทำอีกได้”

 

คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับโซเชียลมีเดีย อาจจะถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่บ่น หรือแสดงความไม่พอใจออกมาได้ง่ายหรือมากกว่าคนรุ่นอื่น

“ผมได้ยินมาว่ารุ่นใหม่มีความรู้สึกไวต่อสิ่งต่างๆ มากกว่าคนรุ่นอื่น เหมือนพวกเขาได้รับสิทธิ์ที่จะบ่นมากกว่า แต่จริงๆ มันเป็นคนรุ่นเก่าอย่างพวกเราต่างหากที่มอบสิทธิ์นั้นให้กับพวกเขา ดังนั้นผมจะไม่บ่นในเรื่องนี้ ผมอยากจะบอกว่าคนรุ่นใหม่อาจจะเป็นกลุ่มที่มีความคาดหวังสูง และรับรู้ถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวได้ง่าย ดังนั้นการรับรู้ถึงเรื่องนี้อาจทำให้เรามองคนรุ่นใหม่ด้วยความเห็นอกเห็นใจได้มากขึ้น”

วิลล์ โบเวน เล่าปิดท้ายว่า ตัวเขาเองดีใจและภูมิใจที่ได้เป็นนักพูด ถ่ายทอดแง่คิดต่างๆ ในการใช้ชีวิตด้วยการลดการแสดงความไม่พอใจเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน แม้ว่าเขาจะต้องแลกมากับการบินข้ามประเทศไปมาในวัยใกล้เลข 65 ปี แต่เขาก็รักที่จะได้อยู่บนเวที มองหน้าผู้ฟัง และกลายเป็นสิ่งหนึ่งที่เขาภูมิใจที่ได้ทำ แม้ว่าเขาจะเพิ่งเริ่มเป็นนักพูดมืออาชีพในวัย 46 ปี ซึ่งไม่ใช่อายุน้อยๆ แต่มันไม่เคยสายไปเลยในการเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนเห็นถึงคุณค่าของตัวเองให้เยอะๆ ไม่ว่าตัวเองจะอยู่ในวัยไหน เห็นถึงคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองมี ไม่สนใจในสิ่งที่ตัวเองไม่มี ขอให้โฟกัสในสิ่งที่ตัวเองมีให้เยอะเข้าไว้

“ถ้าผมบอกตัวเองในวัย 40 ปีได้ ผมอยากบอกตัวเองให้ผ่อนคลาย หาความสนุกใส่ตัวเยอะๆ ทำงานให้น้อยลง ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวให้มากขึ้น ดูแลตัวเองให้มากขึ้น กินอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น เพราะมันใช้เวลาหลายปีกว่าจะเห็นผล และผมอยากบอกตัวเองว่า ทุกอย่างมันจะดี และผมหวังว่า ถ้าผมในอายุ 85 ปีมานั่งอยู่ข้างๆ ผมตอนนี้ เขาคงมองผม และเฝ้าดูในทุกสิ่งที่ผมกำลังเผชิญ เพราะชีวิตคนเรามักเผชิญอยู่กับอะไรบางอย่างอยู่ทุกช่วงอายุอยู่แล้ว แต่ผมอยากจะบอกตัวเองอีกครั้งว่า ทุกอย่างจะดี”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า