SHARE

คัดลอกแล้ว

ทีมกฎหมายของนายราจิบ นาซัค อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียผู้อื้อฉาวจากคดีคอร์รัปชัน กำลังพยายามต่อสู้ให้ได้ออกจากคุก มารับโทษด้วยการกักบริเวณในบ้านพักแทน โดยอ้างว่าได้รับพระราชานุญาตจากอดีตกษัตริย์องค์ก่อน

ความเคลื่อนไหวนี้สืบเนื่องมาจากกรณีที่นายนาจิบ ถูกศาลตัดสินให้จำคุก 12 ปี จากความผิดรวม 7 ข้อหาในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการทุจริต และฟอกเงินที่ได้รับมาโดยมิชอบจากกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว วัน มาเลเซีย ดีเวลลอปเมนต์ เบอร์ฮัด (1Malaysia Development Berhad) หรือ 1MDB

ส่งผลให้เขาถูกส่งตัวเข้าเรือนจำตั้งแต่ปี 2022 หลังแพ้อุทธรณ์ในศาลกลางแห่งมาเลเซีย ก่อนที่ในเวลาต่อมา คณะกรรมการพิจารณาการอภัยโทษของมาเลเซีย จะมีมติลดโทษให้ครึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 6 ปี 

เท่ากับว่าในเวลานี้ นายนาจิบรับโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำมาแล้ว 2 ปี แต่ทีมกฎหมายของเขากำลังพยายามทำให้เขาออกมารับโทษที่เหลือต่อด้วยการกักบริเวณในบ้านพัก จนกว่าจะครบกำหนด 

โดยทนายความของนายนาจิบ ยื่นคำร้องต่อศาลเป็นครั้งแรกเมื่อเดือน เม.ย. อ้างว่ามีคำสั่งเพิ่มเติม ตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระราชาธิบดีอัล-สุลต่าน อับดุลเลาะห์ อะหมัด ชาห์ แห่งรัฐปะหัง อดีตกษัตริย์องค์ก่อน ที่มาพร้อมกับการพระราชทานอภัยโทษ ระบุให้ นายนาจิบมีสิทธิ์รับโทษที่เหลืออยู่ ด้วยการถูกจองจำในบ้านพักของเขาเอง

ทนายความจึงต้องการให้ศาลสั่งให้รัฐบาลมาเลเซียตอบรับ หรือยืนยันการมีอยู่ของของคำสั่งเพิ่มเติมฉบับนี้ ซึ่งถือเป็นพระราชวินิจฉัยของอดีตกษัตริย์ ที่เพิ่งสละราชสมบัติเมื่อต้นปีที่ผ่านมา 

แต่ศาลสูงมาเลเซียปฏิเสธคำร้องขอดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า บันทึกคำให้การของนายนาจิบที่นำมายื่นต่อศาลนั้น เป็นเพียงคำบอกเล่า ไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร จึงไม่มีน้ำหนักมากพอต่อการพิจารณา และรัฐบาลก็ไม่ได้มีหน้าที่ตามกฎหมายในเรื่องนี้ 

ขณะที่ทนายความของนายนาจิบโต้ว่า รัฐบาลมีหน้าที่ตามหลักศีลธรรม พร้อมกับยืนยันว่าจะยื่นอุทธรณ์ต่อไป โดยศาลอุทธรณ์มีกำหนดรับฟังคำโต้แย้งของนายนาจิบในวันพฤหัสบดี 5 ธ.ค. นี้ 

ความเคลื่อนไหวนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายครั้งใหญ่ของรัฐบาลมาเลเซีย หลังจากเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา ศาลเพิ่งมีคำตัดสินยกฟ้องนายนาจิบในข้อหาคอร์รัปชันที่เชื่อมโยงกับคดี 1MDB  

แม้ว่าคำตัดสินดังกล่าวยังคงเปิดทางให้อัยการมีสิทธิ์ยื่นฟ้องในข้อหาเดิม หรือรื้อฟื้นคดีในภายหลังได้หากมีหลักฐานใหม่ โดยที่จำเลยไม่มีสิทธิ์คัดค้าน เช่นเดียวกับกรณีที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2019 ที่ศาลสูงเคยสั่งยกฟ้องนายนาจิบในข้อหาฟอกเงิน แต่ในวันต่อมาได้มีการสั่งดำเนินคดีในข้อหาเดิม จนนำไปสู่การพิจารณาว่านายนาจิบมีความผิดจริงและต้องรับโทษจำคุกในปี 2020

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวล่าสุดของศาล ได้ทำให้รัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่นำโดย นายอันวาร์ อิบราฮิม ถูกตั้งคำถามถึงความเด็ดขาดของนโยบายปราบปรามคอร์รัปชันและการทุจริต ที่เป็นนโยบายชูโรงจนเขาทำให้ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2022 

แม้นายอันวาร์จะยืนยันว่า เขายังคงมุ่งมั่นจะจัดการกับการทุจริต เพียงแต่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคดีในศาล 

แต่ข้อกังขาสำคัญคือ เมื่อเดือนที่แล้ว รัฐบาลของนายอันวาร์ เพิ่งจะออกมาเปิดเผยว่า กำลังพิจารณาอนุญาตให้กักบริเวณในบ้านสำหรับความผิดในบางกรณี ทำให้ถูกมองว่า อาจเป็นความพยายามเพื่อช่วยเหลือนายนาจิบ หรือนักการเมืองคนอื่นๆ ที่กำลังถูกดำเนินคดี แม้รัฐบาลจะยืนกรานว่าไม่ได้จุดมุ่งหมายแบบนั้น

 

กษัตริย์มาเลย์ฯ กับพระราชอำนาจอภัยโทษ

ตำแหน่งกษัตริย์ หรือสมด็จพระราชาธิบดีของมาเลเซีย ทรงมีฐานะเป็นประมุขของประเทศ ตามชื่อเรียกในรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า ยังดี เปอร์ตวน อากง หมายถึง ผู้ได้รับเลือกให้เป็นผู้นำสูงสุดของผู้นำทั้งปวง

โดยผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งกษัตริย์ มาจากการเลือกในบรรดาผู้ครองรัฐ 9 รัฐ ผลัดเปลี่ยนกันดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี โดยสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบัน คือ สุลต่าน อิบราฮิม แห่งรัฐยะโฮร์

ในทางปฏิบัติแล้ว กษัตริย์มาเลเซียจะมีบทบาทในเชิงพิธีการเป็นส่วนใหญ่ แม้พระองค์จะมีพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี หรือคัดค้านการยุบสภา แต่ที่ผ่านมา แทบจะไม่มีพระองค์ใดใช้อำนาจในทางการเมืองดังกล่าว

มีเพียงไม่กี่ครั้งในประวัติศาสตร์ที่กษัตริย์มาเลเซียทรงใช้พระราชอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี อย่างครั้งล่าสุด คือ การแต่งตั้ง นายอัมวาร์ อิบราฮิม เมื่อปี 2022 หลัง ผลการเลือกตั้งไม่มีพรรคการเมืองใดครองเสียงข้างมากในสภา จนเกิดความวุ่นวายทางการเมือง ทำให้การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีต้องเป็นไปตามพระราชวินิจฉัยของกษัตริย์ 

หรืออีกครั้งหนึ่ง คือเมื่อตอนที่เกิดคดีฉ​าวทุจริตกองทุน 1MDB ของอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ทำให้การเมืองตกอยู่ในสถานการณ์ไร้เสถียรภาพ นายกรัฐมนตรีลาออกถึง 2 คนติดต่อกัน จนกษัตริย์ต้องใช้พระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

ขณะที่พระราชอำนาจในทางศาล รัฐธรรมนูญมาเลเซียกำหนดให้ กษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการตัดสินพระทัยพระราชทานอภัยโทษผู้ทำผิด ตามคำแนะนำของคณะกรรมการอภัยโทษ 

แต่ยังคงมีข้อถกเถียงอยู่ว่าแท้จริงแล้วกษัตริย์มีพระราชอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินพระทัยเองเกี่ยวกับการพระราชทานอภัยโทษบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือไม่ หรือว่าต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะกรรมการอภัยโทษเท่านั้น 

 

ย้อนคดีฉาวทุจริตแสนล้าน 1MDB

กองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว วัน มาเลเซีย ดีเวลลอปเมนต์ เบอร์ฮัด (1Malaysia Development Berhad) หรือ 1MDB คือกองทุนที่รัฐบาลมาเลเซียก่อตั้งขึ้นเพื่อเอาเงินทุนสำรองของประเทศ แทนที่จะเก็บไว้เฉยๆในคลัง ก็เอาเงินก้อนนั้นไปลงทุนในกิจการต่างๆทั้งในและนอกประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาเงินฝืด และเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับรัฐในอีกทาง

กองทุนนี้ก่อตั้งในเดือน ก.ค. 2009 โดยมี นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียในขณะนั้น เป็นประธานที่ปรึกษาของบอร์ดบริหาร โดยหลังจากเปิดตัวกองทุนมา 2 เดือน 1MDB ได้เอาเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเงินในคลังของประเทศ ไปร่วมทุนกับบริษัท PetroSaudi ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันเอกชนของประเทศซาอุดีอาระเบีย

ทั้งยังมีการระดมทุนหลากหลายวิธีในช่วงระหว่างปี 2009-2015 ไม่ว่าจะเป็นเงินที่มาจากภาษีของประชาชน การออกพันธบัตร และการกู้เงิน เพื่อไปไล่ซื้อกิจการทั้งในและนอกประเทศ รวมแล้วเงินที่ 1MDB ใช้ในการลงทุนทั้งหมดสูงถึง 11,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 398,402 ล้านบาท

จนต่อมากองทุนดังกล่าวถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใส และมีการสืบไปพบว่า มีการโอนเงินไปยังบริษัทปลอมที่ถูกตั้งขึ้นมา และส่งต่อเข้าไปในบัญชีของผู้มีส่วนร่วมในการทุจริตหลายคน รวมถึงตัวของนายนาจิบด้วย มูลค่าความเสียหายมหาศาล

ทำให้คดีนี้กลายเป็นคดีใหญ่ถึงขั้นที่มีการเปิดการสอบสวนในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ 

โดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ระบุว่า มีการยักยอกเงินออกจากกองทุน 1MDB มากถึง 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 154,552 ล้านบาท ไหลเข้าสู่กระเป๋าของบรรดาผู้นำหัวๆ ของกองทุน 

พวกเขานำไปซื้อทั้งอสังหาริมทรัพย์หรู เครื่องบินส่วนตัว เรือยอร์ช เครื่องประดับ อัญมณี ไปจนถึงผลงานศิลปะของจิตรกรเอกของโลกอย่าง แวนโก๊ะ และโมเนต์ และก็นำไปลงทุนในธุรกิจต่างๆ เพื่อทำการฟอกเงินอีกจำนวนมาก กลายเป็นคดีอื้อฉาวที่นำไปสู่การโค่นอำนาจพรรคอัมโน ซึ่งเป็นพรรคที่ปกครองมาเลเซียมาตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า