90% ของคนไทยกำลังเป็นหนี้ ถ้านับรวมหนี้นอกระบบเข้าไปด้วย น่าจะเกิน 100% ไปแล้ว บทบาท ‘ธนาคาร’ ที่จะมาช่วยรัฐในการแก้หนี้ถือว่าสำคัญไม่แพ้กัน แล้วตอนนี้ธนาคารทำอะไรไปแล้วบ้าง
TODAY Bizview สรุปประเด็นจากงานสัมมนาหัวข้อ Banking and Beyond : Sustainable Finance บทบาทใหม่ธนาคารไทยสร้างการเงินยั่งยืน
ฟังความเห็นจาก ‘วิทัย รัตนากร’ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และ ‘กฤษณ์ จันทโนทก’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ที่มาพูดในหัวข้อ : Banking and Beyond : Sustainable Finance บทบาทใหม่ธนาคารไทยสร้างการเงินยั่งยืน
ผู้บริหาร ‘แบงก์ออมสิน’ ให้มุมมองเรื่องแก้หนี้ว่า ‘ต้องโฟกัสการแก้หนี้ครัวเรือน เพราะปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจตอนนี้คือหนี้ครัวเรือนถ้าแก้ไม่ได้เศรษฐกิจก็จะไม่ขยายตัว’
ในไตรมาส 3 ปี 2567 เศรษฐกิจไทยโตได้ที่ 3% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีเกินความคาดหมาย สำหรับไตรมาส 4 ปี 2567 มองว่าเศรษฐกิจไทยจะยังเติบโตได้ที่ 3% หรือใกล้ 4% ทำให้ทั้งปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ 2.6-2.7%
ส่วนปี 2568 หลายสำนักมองว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้ไม่ดี แต่ก็ยังมีความหวังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่กำลังจะออกมาในเดือน ธ.ค. นี้ และปีหน้าที่จะมีมาตรการออกมาอีกหลายรอบทำให้คาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะแตะ 3% ได้
ในปีหน้าถ้ามีโอกาสที่รัฐบาลปรับลดดอกเบี้ย 1-2 ครั้ง มองว่าจะเป็นสิ่งที่ดีและจะช่วยคนที่เป็นหนี้ได้มาก เพราะดอกเบี้ยที่ถูกปรับลดลงจะทำให้คนที่เป็นหนี้สามารถปลดหนี้ได้เร็วและไม่กลายเป็นหนี้เสีย
ปัจจุบันสถาบันการเงินของรัฐมี 7 แห่ง ทำหน้าที่แตกต่างกันไป แต่หลักๆ มี 4 ภารกิจที่ต้องทำในทิศทางเดียวกัน คือ ดึงคนเข้าสู่ระบบทางการเงิน ทั้งประชาชนฐานรากและเอสเอ็มอี การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้นอกระบบ งานพัฒนาชุมชนและสนับสนุนภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ธนาคารออมสินตั้งเป้าการทำภารกิจช่วยสังคมในแต่ละปี เช่น ลดดอกเบี้ย แก้หนี้ ดึงคนเข้าสู่ระบบ ให้ได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 15,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังโฟกัสเรื่องการสร้างประวัติทางเครดิตให้ประชาชน เช่น อาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ค้า ผ่านการดึงเข้าระบบด้วยการทำทำโครงการปล่อยสินเชื่อ 10,000 บาท ให้ประชาชนฐานรากประมาณ 3 แสนคน และทำโครงการลักษณะเดียวกันนี้ในกลุ่มเอสเอ็มอีด้วย โดยอยู่ระหว่างหารือกับรัฐบาล
[ ธุรกิจต้องหนีความเชย ไปทำสิ่งใหม่ๆ ]
ส่วนซีอีโอ ‘ธนาคารไทยพาณิชย์’ บอกว่า 90% ของคนไทยกำลังเป็นหนี้ ถ้านับรวมหนี้นอกระบบเข้าไปด้วย น่าจะเกิน 100% ไปแล้ว ธนาคารก็เลยมีความคิดที่ไม่ต่างกันคือต้องหาวิธีที่จะช่วยให้คนเป็นหนี้ปลดหนี้ให้ได้ สร้างภูมิคุ้มกัน และให้ความรู้ที่เพียงพอเพื่อให้คนเข้าใจและไม่เป็นหนี้ซ้ำ
และมองปัญหาอื่นๆ ด้วย พราะว่านอกจากเรื่องหนี้ครัวเรือนสูงแล้ว ยังมีความท้าทายอื่นๆ ที่ต้องเจอเช่น การกีดกันการค้า และเทรนด์ใหม่ที่มีการนำ AI และ ESG เข้ามาช่วยในการบริหารและทำงาน โดยให้คำจำกัดความง่ายๆ ว่า ‘เศรษฐกิจไทยชะลอตัว ครัวเรือนฟื้นช้า ธุรกิจต้องหนีเชย’
ในส่วนของธุรกิจที่จะต้องหนีความเชย ต้องกลับมาดูว่าธุรกิจไหนที่เป็นที่ต้องการของโลกธุรกิจและเศรษฐกิจในประเทศ อะไรที่เชื่อว่าสุดท้ายแล้วไม่มีศักยภาพในการแข่งขันก็ควรจะหนีไปทำสิ่งใหม่ๆ ที่เชื่อว่ามีจุดเด่นหรือได้เปรียบมากกว่า
ส่วน AI ธนาคารก็จะพยายามที่จะใช้ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเสมอภาค และยังเชื่อว่าการมี AI จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งและพัฒนาศักยภาพของประเทศให้ดีขึ้นไปสู่กับคนอื่นได้
‘ปีหน้าถามว่าแรงกดดันจะทำให้ภาคธนาคารถึงขั้นตัวเลขติดลบเลยไหม เราเชื่อว่าถ้าบริหารจัดการดีๆ ก็ยังพอจะทรงๆ อยู่ตัวได้ แต่ก็มีความท้าทายรออยู่ในทุกมิติ’
โจทย์ของธนาคารพาณิชย์ในปี 2568
- การสร้างการเติบโตทางธุรกิจทางการเงินและความมั่งคั่ง เป็นอีกทางเลือกที่ทำให้บาลานซ์ชีทของธนาคารพาณิชย์ไม่ได้มีความเสี่ยงมากไป ในทางกลับกันการสร้างวินัยทางการเงินที่ดีให้คนไทยช่วยบริหารจัดการหนี้และทรัพย์สินได้อย่างถูกต้องเป็นโจทย์ของธนาคารพาณิชย์ต้องทำ
- เศรษฐกิจโตไม่ได้มาก ธุรกิจธนาคารก็ดูเหมือนว่ามีความท้าทายมากพอสมควรในปีหน้า แต่ในรายละเอียดจะเห็นว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งธนาคารจะปรับใช้ AI ในการที่จะตอบโจทย์ช่องทางและการนำเสนอสินค้าผ่านช่องทางดิจิทัล โดยประสาน AI มาเป็นตัวสำคัญและสอดคล้องกับภาพรวมของเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย
- การสนับสนุนเศรษฐกิจและธุรกิจไทยผ่านความยั่งยืน ทุกธนาคารต่างมีเป้าหมายที่ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายสีเขียวสิ่งเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าจุดอื่นเลย เพราะโลกกำลังไปสู่ ESG มากขึ้นเรื่อยๆ
เรียบเรียงจากงานสัมมนา Thailand Next Move 2025 : “Resiliency for an Uncertain World” จัดโดยวารสารการเงินธนาคาร