SHARE

คัดลอกแล้ว

เมื่อไม่นานมานี้มีกระแสข่าวที่รัฐบาลมีไอเดีย ‘ปฏิรูปภาษี’ ครั้งใหญ่ เตรียมขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจโตต่ำ ซึ่ง VAT นี้คือเงินที่เราจ่ายตามร้านอาหาร หรือสินค้าที่เราซื้อทั่วไปอย่างที่รู้กันคือจัดเก็บ 7% ขณะเดียวกันรัฐก็จะหันไปลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้ส่วนบุคคลแทน 

หากประเทศไทยเพิ่ม VAT จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจจริงไหม? TODAY Bizview จะสรุปให้เรื่องนี้ฟัง

เรื่องนี้เริ่มต้นจาก ‘พิชัย ชุณหวชิร’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ใจความว่า ปัจจุบันการลงทุนในไทยนั้นน้อยเกินไป ถ้าอยากให้ประเทศไทยมีการลงทุนที่เพิ่มขึ้น จะต้องลดต้นทุนการเงินให้ภาคเอกชน เพื่อดึงดูดให้ภาคเอกชนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่ม

[ เสนอให้ลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 15% เอื้อนักลงทุนต่างชาติเข้าประเทศ ]

โดยหลักๆ วิธีแก้ปัญหาของเรื่องนี้ ต้องเริ่มจาก ‘ภาษี’ 

เริ่มจาก ‘ภาษีเงินได้นิติบุคคล’ ปัจจุบันภาษีเงินได้นิติบุคคลในไทยอยู่ที่ราวๆ 20% อธิบายง่ายๆ ว่านี่คือตัวเลขที่ธุรกิจเอกชนต้องจ่าย ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ การจัดเก็บเงินได้ของภาคเอกชนจะกระจายไปหลายรูปแบบ บางประเทศก็ไม่มีภาษีในส่วนนี้เลย ทำให้สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้มากกว่าเพราะเข้าไปลงทุนแล้วไม่ต้องเสียภาษีหนัก 

แต่ในภาพรวมโลก องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กำลังเสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ (MNEs) ซึ่งมีสมาชิกกว่า 130 ประเทศเข้าร่วมข้อตกลง รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยกำหนดภาษีให้อยู่ที่ 15%

พูดง่ายๆ ว่า ‘พิชัย’ กำลังแนะให้ประเทศไทยปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 20% ไปสู่ 15% ไม่เกี่ยวว่าจะธุรกิจขนาดไหน ก็ควรลดเพื่อที่จะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าไทยมากขึ้น

ต่อมา ‘พิชัย’ ยังพูดเรื่องของ ‘ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา’ ด้วย เพราะปัจจุบันของไทยสูงสุดอยู่ที่ 35% แต่กลับไม่ได้มีคนจ่ายภาษีในระดับสูงสุดเท่าไรนัก ซึ่งในระดับสากลก็มีหลายประเทศปรับลดลงมาที่ 15% แล้ว ไทยก็ควรปรับตัวเองตามด้วย

และแน่นอนว่าถ้าลดภาษีตรงนี้ไป รายได้จากรัฐบาลก็จะหดตัวลงตาม คำถามคือจะแก้เกมอย่างไรต่อ? 

[ ขึ้น VAT ช่วยเก็บภาษีได้จากทั้งคนรวยและคนจน ]

‘พิชัย’ พูดถึงการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ของไทยว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมากๆ ประเทศอื่นอยู่ที่ 10-15% ถ้าสมมติประเทศไทยสามารถขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้ ก็จะสามารถเก็บรายได้จากทั้งคนรายได้น้อยและคนรวย พอเก็บภาษีส่วนนี้ได้มากขึ้นก็สามารถนำมาพัฒนาสวัสดิการอื่นๆ ในประเทศได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาด้านการศึกษา ระบบสาธารณสุข ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และอีกมากมาย

แต่จริงๆ เรื่องนี้ก็ไม่ง่าย ใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจถึงการปรับขึ้นของภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพราะประชาชนอาจจะมองว่าเป็นการผลักภาระมาให้ผู้บริโภค ทุกวันนี้ข้าวของก็แพงอยู่แล้ว จะมาเพิ่มภาษีส่วนนี้อีก ราคาสินค้า บริการต่างๆ จะแพงมากขึ้นอีกหรือไม่

‘ผมคิดทุกคืนว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจเรื่องนี้ (การขึ้น VAT) เพราะถ้าคนไม่เข้าใจ ผมจะอยู่รอดถึงวันไหนนะ จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนนะครับ’ นี่คือสิ่งที่ ‘พิชัย’ พูดในส่วนท้าย

[ ขึ้นหรือลดภาษีตัวไหน รายรับเข้าสู่รัฐบาลเท่าๆ เดิม ]

อย่างไรก็ตาม TODAY Bizview ได้ฟังความคิดเห็นเรื่องนี้จาก ‘ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล’ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ว่า สมมติถ้าประเทศไทยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% ไปถึง 10% จริงๆ เมื่อหักลบกับรายได้ส่วนที่หายไปจากภาษีเงินได้นิติบุคคลภาคเอกชน สุดท้ายแล้วก็อาจมีผลลัพธ์ที่พอๆ กัน

รายได้ใหม่จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)  ไม่ได้เข้ามาเติมรายได้ให้กับรัฐบาลมากขนาดนั้น เพราะอย่าลืมว่ารัฐจะจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและส่วนบุคคล ได้น้อยลงด้วย

คิดแบบเร็วๆ ว่าถ้าภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% ไปถึง 10% ทุกๆ 1% จะเท่ากับ 1 แสนล้าน หากเพิ่ม 3% ก็จะเท่ากับ 3 แสนล้านบาท แต่หักลบแล้ว คิดเป็นรายได้ออกมาแล้วก็พอๆ กัน อีกทั้งการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กลับส่งผลกระทบทำให้เกิดเงินเฟ้อแทน 

เพราะถ้าปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 3% เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นราวๆ 1.8% ราคาสินค้าและอาหารก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้ต้องวางแผนดีๆ หากจะปรับจริง เนื่องจากโครงสร้างภาษีของไทยซับซ้อนมาก และจะส่งผลกระทบไม่น้อยเลยทีเดียว 

ด้าน ‘บุรินทร์ อดุลวัฒนะ’ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เสริมเรื่องนี้ว่า ควรไปเก็บภาษีกลุ่มคนมั่งคั่งจะดีกว่า เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดินและอื่นๆ เพราะอย่างที่บอกไปว่าโครงสร้างภาษีในไทยนั้นซับซ้อน มีคนจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษี ดังนั้นต้องวางแผนและตัดสินใจให้รอบคอบ

สรุปเรื่องนี้ง่ายๆ ว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจัดเก็บภาษี แม้จะเป็นเพียงข้อเสนอที่ ‘พิชัย ชุณหวชิร’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้พูดถึง แต่กลับสร้างความกังวลให้หลายๆ ฝ่าย ถึงจะมีการเสนอให้ลดภาษีนิติบุคคลเพื่อเอื้อให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น และเสนอให้ปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แทนเพื่อที่จะได้เก็บภาษีได้กับคนทุกกลุ่ม แต่เรื่องนี้ก็ใช่ว่าทำง่ายเพราะโครงสร้างภาษีในไทยซับซ้อน 

ต้องมาตามดูกันต่อว่า ประเด็นร้อนนี้ จะแค่โยนหินถามทาง หรือนำไปสู่การปฏิรูประบบภาษีครั้งใหญ่ได้จริง แต่ที่แน่ๆ ในระดับนานาชาติ ภาษีของประเทศไทยถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่นมาก 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า