พูดถึงความเคลื่อนไหวในธุรกิจยานยนต์ ข่าวใหญ่ตอนนี้คงหนีไม่พ้น ดีลควบรวมกิจการระหว่างสองค่ายใหญ่ อย่าง ฮอนด้า มอเตอร์ (Honda Motor) และ นิสสัน มอเตอร์ (Nissan Motor) หลังมีการเปิดเผยออกมาว่าทั้งสองค่ายกำลังเจรจาถึงความเป็นไปได้กันอยู่
แต่เรื่องนี้ดูเหมือนจะมีเบื้องลึกเบื้องหลังมากกว่าแค่ความตั้งใจจะควบรวมกิจการแบบธรรมดาๆ หากเจาะลึกลงไปถึงที่มาที่ไปของดีลที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ จะพบว่ามีตัวละครอีกหลายตัวที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับดีลนี้ เราสรุปมาให้เข้าใจง่ายที่สุดในโพสต์นี้
เหตุผลแรกที่แสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้ดูจะมีเบื้องหลังก็เพราะ ดีลนี้เกิดขึ้นมาท่ามกลางการแข่งขันดุเดือดในแวดวงธุรกิจยานยนต์ โดยเฉพาะในช่วงหลังๆ ที่มีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหน้าใหม่ๆ เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดเพิ่มขึ้น
ยังไม่รวมถึงผู้เล่นหน้าใหม่มากๆ ที่แสดงความสนใจจะกระโดดเข้ามาร่วมวงในสมรภูมิการแข่งขันของอุตสาหกรรมรถยนต์ หนึ่งในนั้น ก็คือ ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของไต้หวัน ที่ผลิตอุปกรณ์ป้อนให้บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ รวมถึง แอปเปิ้ล ที่เป็นเจ้าของไอโฟนด้วย
ซึ่งฟ็อกซ์คอนน์ เคยออกมาประกาศก่อนหน้านี้ว่า บริษัทสนใจที่จะขยายธุรกิจเข้าสู่วงการรถยนต์ไฟฟ้า และยังเคยเปิดเผยด้วยว่า กำลังเจรจากับผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น 2 ราย เพื่อเข้าไปเป็นหุ้นส่วนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
โดย 1 ใน 2 รายนั้นก็คือ นิสสัน มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น แต่นิสสันปฏิเสธไม่ขายหุ้นให้กับฟอกซ์คอนน์ และนี่ก็เป็นที่มาที่ไปของบิ๊กดีล การเจรจาควบรวมกิจการระหว่างฮอนด้ากับนิสสัน
เพราะหลังจากที่ นิสสันไม่ยอมขายหุ้นให้ฟอกซ์คอนน์ ก็มีข่าวหลุดออกมาว่า ฟ็อกซ์คอนน์ หันไปเจรจากับเรโนลต์ (Renault) ที่เป็นผู้ถือหุ้นของนิสสันแทน ด้วยการไปขอซื้อหุ้นนิสสันที่เรโนลต์โอนไปไว้ในกองทรัสต์เมื่อปี 2023 หลังจากเรโนลต์กับนิสสันตกลงที่จะปรับสมดุลโครงสร้างความสัมพันธ์ด้านการลงทุนร่วมกัน
โดยหุ้นอยู่ในกองทรัสต์มีอยู่ 22.8% ซึ่งหากฟ็อกซ์คอนน์เจรจากับเรโนลต์สำเร็จ และได้หุ้นนิสสันทั้งหมดในกองทรัสต์มา ก็จะทำให้ฟ็อกซ์คอนน์ เข้ามามีอิทธิพลในธุรกิจของนิสสันทันที รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีของนิสสัน ซึ่งเป็นเรื่องที่นิสสันไม่ต้องการให้เกิดขึ้น
ทำให้หลังจากที่มีข่าวนี้หลุดมา นิสสันพยายามหาทางปกป้องตัวเอง แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่ง่ายเลย เพราะภายในบริษัทนิสสันเอง ก็กำลังประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนัก จนต้องตัดสินใจปรับโครงสร้างองค์กร ประกาศเลิกจ้างพนักงาน 9,000 คนทั่วโลก และลดกำลังการผลิตลง 20% ไปเมื่อเดือนที่แล้ว
ขณะที่ฮอนด้า ซึ่งเพิ่งลงนามเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับนิสสันเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ก็มีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ของฮอนด้าถึงกับออกมาเตือนเลยว่า หากนิสสันไปร่วมมือกับฟ็อกซ์คอนน์ ฮอนด้าจะตัดขาดความเป็นพันธมิตรกับนิสสันทันที
ก่อนที่จะมีการเปิดเผยในเวลาต่อมา ว่าฮอนด้าได้ตัดสินใจหาทางควบรวมกิจการของนิสสัน ซึ่งเหตุผลหนึ่งอาจจะบอกได้ว่า พวกเขาต้องการที่จะปกป้องเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่น และเพิ่มความสามารถการแข่งขันระดับโลก เพื่อรับมือกับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่อย่างเช่น เทสลา (Tesla) ของสหรัฐฯ และ BYD ของจีน
ที่สำคัญคือ การควบรวมกิจการครั้งนี้ ยังมีการคาดการณ์ด้วยว่า นิสสันจะนำมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (Mitsubishi Motors) ซึ่งนิสสันเป็นถือหุ้นรายใหญ่ 24% เข้ามาร่วมในดีลนี้ด้วย
ทำให้หากการควบรวมกิจการสำเร็จ กลุ่มนี้ ที่ประกอบด้วยฮอนด้า นิสสัน และมิตซูบิชิ คาดว่าจะมียอดขายรถยนต์สูงถึง 8 ล้านคันต่อปี กลายเป็นกลุ่มธุรกิจยานยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ในแง่ของยอดขาย เป็นรองแค่เพียงเพื่อนร่วมชาติอย่าง โตโยต้า มอเตอร์ (Toyota Motor) และ โฟล์คสวาเกน (Volkswagen) ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมนี
อย่างไรก็ตาม ตอนนั้นยังไม่มีการยืนยันหรือปฏิเสธมาจากทั้งนิสสันและฮอนด้า แม้นิคเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) ที่ออกมารายงานข่าวนี้เป็นสื่อแรกจะระบุว่า การเจรจาควบรวมกิจการระหว่างทั้งสองบริษัทอาจเกิดขึ้นเร็วที่สุดในสัปดาห์หน้า
แต่เรื่องนี้ มีนักวิเคราะห์เตือนว่า อภิมหาดีลของค่ายรถยนต์รายใหญ่ในญี่ปุ่น อาจไม่สามารถเกิดได้ง่ายขนาดนั้น เพราะต้องไม่ลืมว่า ตอนนี้ ยังมีหุ้นส่วนหนึ่งของนิสสันอยู่ในมือเรโนลต์ ดังนั้น เรโนลต์ย่อมจะต้องมีส่วนในการตัดสินใจ และจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของดีลที่จะเกิดขึ้นด้วย
มีคำอธิบายจาก อากิระ คิชิโมโต นักวิเคราะห์ของ เจพี มอร์แกน (JPMorgan) บอกเลยว่า อุปสรรคในการควบรวมกิจการของสองค่ายใหญ่ญี่ปุ่นครั้งนี้ สำหรับนิสสันคือ “พวกเขาจำเป็นต้องชี้แจงให้ได้ว่าความสัมพันธ์ด้านเงินทุนที่ซับซ้อนเป็นพิเศษกับเรโนลต์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลฝรั่งเศส จะไปจบลงที่ไหน และจะต้องเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเสนอการปรับโครงสร้างหลังจากควบรวมกิจการแล้วออกมาด้วย” ส่วนฮอนด้า นักวิเคราะห์คนนี้อธิบายว่า “ฮอนด้าเองก็จำเป็นจะต้องแสดงให้เห็นว่าจะจัดการกับการลงทุนด้านรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในแคนาดายังไง”
โดยคำอธิบายจากนักวิเคราะห์ของ เจพี มอร์แกน คนนี้ สอดคล้องกับความเห็นของนักวิชาการ อย่าง ปีเตอร์ เวลส์ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านธุรกิจและความยั่งยืนจากศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมยานยนต์ของ Cardiff Business School ที่กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “แม้เขาจะมองว่านี่จะเป็นพัฒนาการที่สำคัญมาก เพราะนิสสันและฮอนด้าจะสามารถนำสินทรัพย์ที่มีอยู่มารวมกัน ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุน และทำให้ง่ายต่อการพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็นในอนาคต”
แต่ถ้าถามว่า การควบรวมกิจการระหว่างฮอนด้ากับนิสสัน จะถือว่าเป็นทิศทางที่ดีในการต่อสู้กับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ขนาดนั้นได้เลยหรือไม่
เรื่องนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจคนนี้บอกเลยว่า เขาคิดว่านี่ยังเป็นแนวทางแก้ปัญหาแบบเดิมๆ โดยอธิบายว่า “ผมกังวลว่านี่อาจเป็นการขยับที่ช้าไปของนิสสัน เพราะพวกเขาไม่ได้มีเทคโนโลยี และตำแหน่งในปัจจุบัน หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมจะแข่งขันในตลาดหลัก” โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของนิสสันเลย เพราะพวกเขาไม่ได้มีผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเรื่องนี้ เป็นเรื่องนิสสันเองก็กังวลมาก และรู้ดีว่านี่เป็นปัญหาที่จำเป็นต้องใช้เวลาในการแก้ไข
ส่วนคำถามที่ว่า การควบรวมกิจการจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อทั้งสองบริษัท อาริฟูมิ โยชิดะ นักวิเคราะห์จากซิตี้แบงก์ ให้คำตอบเรื่องนี้ว่า “ดูเหมือนถ้าการควบรวมกิจการสำเร็จ จะเป็นผลดีต่อนิสสันและมิตซูบิชิ แต่อาจจะไม่ดีเท่าไหร่นักสำหรับฮอนด้า เพราะถ้าพิจารณาถึงความสามารถการแข่งขันของฮอนด้าในตลาดรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ไฮบริด รวมถึงความแข็งแกร่งของแบรนด์
นักวิเคราะห์ของซิตี้แบงก์คนนี้บอกว่า เขาเชื่อว่าฮอนด้ายังอยู่ในตำแหน่งที่จะเอาชนะคู่แข่งได้ต่อไป อย่างน้อยก็ใน 5-10 ปีข้างหน้า
แต่ถึงจะเป็นแบบนั้น เขายังยืนยันว่า เขามองว่าการตัดสินควบรวมกิจการในครั้งนี้ ถ้าสำเร็จขึ้นมาจริงๆ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่อาจจะทำให้คาดการณ์ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์เลยก็ได้