‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ ที่กำลังจะรับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค. เคยประกาศว่า หากเขาได้เป็นประธานาธิบดี จะทำให้สงครามยูเครนจบลงภายใน 24 ชั่วโมง
วันที่ทรัมป์จะก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังใกล้เข้ามาทุกที เขาจะสามารถหยุดสงครามที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 3 ปี ตามที่พูดได้หรือไม่ โพสต์นี้ จะพาไปจับสัญญาณความเป็นไปได้ที่สงครามยูเครนจะจบลง ในยุคสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และถ้าเป็นแบบนั้นจริงๆ ฉากจบของสงครามจะออกมาในรูปแบบไหน
ก่อนจะไปหาคำตอบของคำถามข้างต้นประเด็นที่น่าสนใจประเด็นแรกก็คือนัยยะของคำประกาศกร้าวที่ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์โพล่งออกมาว่าเขาจะทำให้สงครามจบแม้คำพูดนี้จะถูกมองว่าเป็นแค่คำพูดเรื่อยเปื่อยเลื่อนลอยตามแบบฉบับทรัมป์ที่มีภาพลักษณ์เป็นคนชอบโอ้อวดพูดไปเรื่อยติดตัวอยู่แล้ว
แต่ครั้งนี้นักวิเคราะห์หลายคนกลับมองต่างไปจากนั้นบางคนถึงกับแสดงความเชื่อมั่นเลยว่าทรัมป์ตั้งใจที่จะทำแบบนั้นจริงๆเพราะจากท่าทีที่ผ่านมาๆเขาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากำลังเหลืออดกับสงครามนี้เต็มทีแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวเลขงบประมาณที่สหรัฐฯส่งไปช่วยยูเครนเป็นจำนวนมหาศาลซึ่งเขาไม่เคยเห็นด้วยเลย
ดังนั้น แม้ว่าทรัมป์อาจจะไม่สามารถทำให้สงครามจบภายในวันเดียวกันอย่างที่พูด แต่หลายคนเชื่อก็ยังคงว่า มีโอกาสสูงที่ทรัมป์จะพยายามยุติสงครามยูเครนให้ได้ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นำไปสู่คำถามสำคัญที่ตามมาคือ..
ทรัมป์จะทำให้สงครามยูเครนจบลงยังไง?
ถ้าสังเกตท่าทีของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงหลังๆ วิธีการที่ถูกมองว่ามีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุดคือ เขาอาจพาสหรัฐฯ ถอยออกจากยูเครน เพราะมีหลายครั้งที่ทรัมป์ออกมาพูดกับสื่อถึงเรื่องนี้ อย่างล่าสุด ต้นเดือนที่แล้ว เขาเพิ่งให้สัมภาษณ์กับ NBC News ว่า ยูเครนควรต้องเตรียมรับมือหากสหรัฐฯ ตัดความช่วยเหลือ
ถ้าเป็นไปตามนั้นจริงอาจทำให้ยูเครนต้องยอมแพ้ไปโดยปริยายเพราะที่ผ่านมาสหรัฐฯถือว่าเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดที่ช่วยสนับสนุนยูเครนในการต่อกรกับรัสเซียมาโดยตลอดดังนั้นถ้าไม่ได้ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯอีกต่อไปก็คงเป็นเรื่องยากสำหรับยูเครนในการรับมือกับกองทัพรัสเซีย
อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์หลายคนยังคงมีความเห็นว่าว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์อาจไม่พาสหรัฐฯถอยออกจากยูเครนอย่างสิ้นเชิงแต่จะเป็นการลดความช่วยเหลือลงเพื่อบีบให้ยูเครนยอมเข้าสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติสงครามกับรัสเซีย
การเจรจาสันติภาพมีโอกาสแค่ไหน?
แม้ที่ผ่านมาจะเริ่มมีการพูดถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครนอีกครั้งแต่ถ้าดูจากท่าทีของยูเครนในเวลานี้แล้วคงต้องบอกว่าโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะกลับมาเจรจากันอีกยังคงมองไม่เห็นทาง
เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งมีท่าทีมาจากมิคาลิโอโปโดลยัคหัวหน้าที่ปรึกษาของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์เซเลนสกีผู้นำยูเครนออกมาพูดถึงแนวโน้มที่จะมีการรื้อฟื้นการเจรจาสันติภาพหลังจากว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง
โดยหัวหน้าที่ปรึกษาประธานาธิบดีเซเลนสกียอมรับว่า มีการพูดถึงการเจรจาอยู่หลายครั้ง แต่สำหรับตัวเขาเองมองว่า “การเจรจาเป็นแค่ภาพลวงตา” พร้อมกับยืนยันว่า “ยังไงกระบวนการเจรจาก็ไม่สามารถเกิดขึ้น เพราะรัสเซียไม่เคยถูกบังคับให้จ่ายในราคาที่สูงพอสำหรับสงครามครั้งนี้”
เซเลนสกีเดินเกมฉลาด ใช้กลยุทธ์เข้าหาทรัมป์
อย่างไรก็ตามคงปฏิเสธไม่ได้ว่ายูเครนจะได้รับผลกระทบเต็มๆจากการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลสหรัฐฯเนื่องจากจุดยืนของประธานาธิบดีโจไบเดนกับว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ต่างกันอย่างสิ้นเชิง
แต่ถึงกระนั้นที่ผ่านมาก็มีการตั้งข้อสังเกตว่ายูเครนเองก็เตรียมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อยู่พอสมควรและเป็นการเตรียมการมาตั้งแต่ก่อนที่สหรัฐฯจะเลือกตั้งประธานาธิบดีแล้ว
โดยประธานาธิบดีเซเลนสกีใช้กลยุทธ์ในการวางตำแหน่งยูเครนให้เป็นประเทศที่ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์คิดว่าสามารถทำธุรกิจด้วยได้และจะสร้างประโยชน์ให้กับสหรัฐฯเริ่มจากการยื่นข้อเสนอให้สหรัฐฯเข้ามาร่วมลงทุนกับยูเครนเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ทั้งยูเรเนียมแกรไฟต์และลิเธียมอีกทั้งยังเสนอต่อว่าที่ผู้นำสหรัฐฯไปด้วยว่าทหารยูเครนที่ผ่านศึกมาอย่างโชกโชนอาจไปช่วยแทนที่กองกำลังสหรัฐฯในยุโรปได้หลังจากที่สงครามกับรัสเซียจบลง
และหลังจากที่โดนัลด์ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเซเลนสกีก็แทบจะเป็นผู้นำประเทศคนแรกที่ออกมาแสดงความยินดีกับว่าที่ประธานาธิบดีพร้อมกับส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปพบทีมงานของว่าที่รัฐบาลสหรัฐฯชุดใหม่อย่างไม่รีรอ
จนนักวิเคราะห์หลายคนอธิบายว่า วิธีการที่ผู้นำยูเครนนำมาใช้ ถือเป็นวิธีที่ชาญฉลาดมากในการเข้าถึงว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งโดยปกติเป็นที่รู้กันอยู่ว่า เขาเป็นคนที่ชอบลงทุน ชอบทำธุรกิจ และไม่ค่อยจะเต็มใจที่จะให้ทหารสหรัฐฯ เข้าไปช่วยปกป้องความมั่นคงของยุโรปด้วยงบประมาณของประเทศ
ซึ่งก็ดูเหมือนว่ากลยุทธ์นี้ได้ผลอยู่พอสมควรเพราะหลังจากว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ชนะการเลือกตั้งผู้นำยูเครนมีโอกาสได้เข้าพบว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯอยู่หลายครั้งแต่กลยุทธ์นี้จะได้ผลถึงขั้นที่จะช่วยกำหนดทิศทางอนาคตความอยู่รอดของยูเครนได้หรือไม่คงเป็นเรื่องที่ยังต้องติดตามกันต่อไป
จับท่าทีปูติน มองอนาคตสงครามยูเครน
แม้ว่ายูเครนจะพยายามเข้าหาว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์แต่เรื่องหนึ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือว่าที่ผู้นำสหรัฐฯกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ปูตินมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมานานดังนั้นตอนนี้ยังคงยากที่จะสรุปว่ารัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯจะลงมาเล่นบทบาทใดในสงครามยูเครน
แต่ถ้าไปดูจากท่าทีของประธานาธิบดีปูตินแล้วดูเหมือนว่าตัวเขาเองมีมุมมองเชิงบวกต่อผลลัพธ์ของสงครามมากขึ้นในขณะที่พันธมิตรของเขาอย่างโดนัลด์ทรัมป์กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ
สังเกตได้จากถ้อยแถลงในสุนทรพจน์ปีใหม่ ที่ประธานาธิบดีปูตินออกมาพูดในคืนวันที่ 31 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันครบรอบ 25 ปีที่เขาขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำรัสเซียพอดี
ประธานาธิบดีปูตินบอกกับประชาชนชาวรัสเซียผ่านรายการเฉพาะกิจที่เผยแพร่ไปทั่วประเทศว่า “ทุกอย่างกำลังจะดีขึ้น” และขอให้ชาวรัสเซียภูมิใจกับความสำเร็จที่ดำเนินมาตลอด 25 ปี
ก่อนที่เขาจะยกย่องทหารรัสเซียที่ต่อสู้ในสงครามยูเครนว่าเป็นวีรบุรุษ พร้อมกับประกาศให้ปี 2025 เป็นปีแห่งการต่อสู้เพื่อมาตุภูมิเพื่อสดุดีเหล่าทหารกล้าและบรรพบุรุษที่ต่อสู้เพื่อประเทศชาติมาโดยตลอด
ดังนั้น ถ้าดูจากท่าทีของทุกฝ่ายแล้ว คงต้องบอกว่ายังเร็วเกินไปที่จะตอบว่าการก้าวขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ จะทำให้สงครามยูเครนมาถึงฉากจบหรือไม่ หรือจะจบลงแบบใด อยู่ที่ว่าการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลของสหรัฐฯ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในสมรภูมิมากน้อยแค่ไหน