SHARE

คัดลอกแล้ว

Grandma goes to the Oscars, Thai Cinema goes…?

2024 เป็นปีทองของวงการหนังไทยอย่างแท้จริง สังเกตได้จากการที่ตลอดทั้งปี มีหนังไทยทำเงินทั่วประเทศทะลุ 100 ล้านบาท มากถึง 8 เรื่อง ประกอบกับการที่หนังไทยทั้งฟอร์มเล็ก ฟอร์มใหญ่ มีโอกาสไปเข้าฉายในต่างประเทศ ส่งให้นักแสดงนำหลายคนเป็นที่รู้จัก และได้รับการยอมรับผ่านรางวัลการันตีระดับนานาชาติ

แล้วก็อาจถึงคิวของภาพยนตร์กันบ้าง ล่าสุด ตัวแทนหนังไทยร่วมลุ้นรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 97 อย่าง หลานม่า ก็เพิ่งประกาศศักดา ติดโผ 15 เรื่องสุดท้ายในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ (หรือนานาชาติ) ยอดเยี่ยม นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการหนังไทย และหากเก็บสถิติจนถึงปัจจุบัน หนังว่าด้วยสายสัมพันธ์ครอบครัวไทยเชื้อสายจีนเรื่องนี้ กวาดรายได้ทั่วโลกไปแล้วมากกว่า 2,500 ล้านบาท

หนังไทยอุตส่าห์มาได้ไกลขนาดนี้ ในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคือง แถมคนดูหนังในโรงก็ลดจำนวนลงเรื่อยๆ หากภาครัฐไม่ฉวยโอกาสต่อยอดจากปรากฏการณ์  ก็คงเสียของไปหน่อย แถมไม่รู้ว่าต้องรออีกกี่ปี กว่ากระแสความนิยมของหนังไทย และรายได้จะเป็นใจมากเท่าปีที่ผ่านมา

ทว่าคำถามสำคัญคือ หากจะต่อยอด ภาครัฐสามารถร่วมสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ จากจุดนี้อย่างไรได้บ้าง

ในวันที่ หลานม่า กลายเป็นหนังไทยที่ไปได้ไกลที่สุดบนเวทีออสการ์ สำนักข่าวทูเดย์ ชวน พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ และ วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ของหนังเรื่องนี้ มาร่วมสำรวจว่า รัฐไทย มีส่วนในการขับเคลื่อนฟันเฟืองแห่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างไร และเพราะเหตุใด หลายสิ่งมีเพียงรัฐเท่านั้นที่ทำได้

“หนังเป็นงานศิลปะที่ใช้ทรัพยากรมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นเม็ดเงิน จำนวนคน ระยะเวลา การโปรโมต ทุกอย่างสอดประสานกันเหมือนเป็นฟันเฟือง แต่ฟันเฟืองจะไม่เคลื่อนที่เลยหากไม่ได้รับการสนับสนุนด้านทุนทรัพย์ในก้าวแรก”

ผู้กำกับอย่าง พัฒน์ เริ่มต้นอธิบายจากจุดแรกสุด ที่ภาครัฐสามารถเข้ามาสนับสนุน จริงอยู่ที่หนังเรื่องหนึ่งประกอบขึ้นจากหลากองค์ประกอบ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เงินลงทุนคือปัจจัยขั้นพื้นฐานที่สุด ในการปั้นภาพยนตร์สักเรื่องให้เป็นรูปเป็นร่าง

ตลอดเวลาที่ผ่านมา น่าจะมีหลายจินตนาการ ของทั้งคนเขียนบทและผู้กำกับ ที่ไม่สามารถเนรมิตออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหวได้ เพียงเพราะเงินทุนไม่อำนวย ดังนั้น ในมุมของพัฒน์ การสนับสนุนของภาครัฐในก้าวแรก จึงเป็นเรื่องสำคัญต่อการขับเคลื่อน ให้ฟันเฟืองที่เรียกว่าหนังไทยไปต่อได้

“ต่อให้บทจะดีแค่ไหนก็ตาม มันต้องการแรงเคลื่อนในครั้งแรก แล้วหลังจากนั้น มันจะกลายเป็นเฟืองที่เคลื่อนไปด้วยกัน เรียนรู้ผลลัพธ์ไปด้วยกัน”

อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแค่เม็ดเงินที่ภาครัฐควรให้น้ำหนัก เพราะแม้เหล่าผู้สร้างจะมีเงินทุน ได้ปลุกปั้นตัวหนัง ทั้งยังทุ่มเทแรงกายแรงใจ จนสามารถส่งหนังแต่ละเรื่องออกฉาย แต่หากผู้ชมชาวไทยไม่ให้โอกาส เบือนหน้าหนี หรือที่เลวร้ายไม่ต่างกัน คือให้โอกาสผ่านการรับชมแบบผิดลิขสิทธิ์ จนแล้วจนรอด วงการหนังไทยก็คงไม่ขยับไปไหนอยู่ดี

โปรดิวเซอร์อย่าง วรรณฤดี ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า เงินเป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่ในส่วนของภาพรวมอุตสาหกรรม รัฐไทยสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่ทำอยู่มาก บางเรื่องมีเพียงรัฐเท่านั้นที่ทำได้ อาทิ การสร้างระบบนิเวศที่ดีให้แก่วงการภาพยนตร์ไทย ตลอดจนการสร้างความเข้าใจในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา

“การสร้างทัศนคติให้คนในชาติรู้สึกว่า ศิลปวัฒนธรรมเป็นสินค้า ที่ต้องจ่ายเงินซื้อสำคัญมากเลยนะ ถ้าคนไทยรู้สึกว่า หนังเรื่องนี้ดัง งั้นเราไปหาโหลดเถื่อนดูกันเถอะ แล้วคนที่ทำอาชีพนี้จะอยู่ยังไง เราถึงบอกว่ามันไม่ใช่แค่เงินทุนที่รัฐควรสนับสนุน แต่รัฐควรมีส่วนในการสร้างความเข้าใจในอุตสาหกรรม สร้างระบบนิเวศของวงการศิลปวัฒนธรรม ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้”

นอกจากทัศนคติเรื่องทรัพทย์สินทางปัญญา และปัญหาลิขสิทธิ์ หนึ่งในการสร้างความเข้าใจที่ใหม่ แต่ไม่ควรมองข้าม คือมุมมองที่คนไทยมีต่อเวทีออสการ์ วรรณฤดีชี้ว่า รัฐมีส่วนสำคัญในการกำหนดว่า สังคมจะมีความรู้ความเข้าใจต่อเรื่องนี้แบบไหน และการผลักดันหนังเรื่องหนึ่ง ไปสู่เวทีออสการ์มีความหมายต่อประเทศของเราอย่างไร ความรู้ความเข้าใจตรงนี้ จะมีบทบาทสำคัญอย่างถึงที่สุด ต่อการบ่มเพาะคนทำหนังไทยในอนาคต เพราะมันอาจกลายเป็นภาพความสำเร็จ และแรงบันดาลใจที่คนรุ่นใหม่อยากไปให้ถึง

“สำหรับออสการ์ ปีนี้เป็นครั้งแรก เราเองก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องนี้มาก่อน รัฐเองก็อาจจะไม่มีเหมือนกัน ก็เหมือนมาเรียนรู้ไปด้วยกัน แต่อย่างน้อยสิ่งที่เราร่วมกันเรียนรู้นี้ จะช่วยให้คนที่ตามมาเดินง่ายขึ้น หรือเขาอาจจะไปได้ไกลกว่าคนที่เริ่มต้นมันเอาไว้”

วรรณฤดีว่าอย่างมีความหวัง ในขณะที่พัฒน์เสริมต่อว่า หลานม่าเป็นโอกาสและเป็น ‘Case Study’ ที่ดีมาก และไม่ว่า ‘ฟันเฟือง’ เรื่องนี้จะหมุนไปได้ไกลแค่ไหน หรือจะต้องไปหยุดที่จุดใด ทุกคนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ก็ควรมาศึกษากระบวนการว่า เมื่อหนังไทยเรื่องหนึ่ง มีโอกาสได้เป็น 15 เรื่องสุดท้าย บนเวทีระดับโลกอย่างออสการ์ เราจะสามารถผลักดันหรือส่งเสริมอย่างไรได้บ้าง

ก่อนจากกับสองผู้สร้าง หลานม่า เราร่วมส่งแรงใจให้หนังของพวกเขา ซึ่งเป็นตัวแทนของทุกคนโชคดี ทั้งสองยิ้มรับ ก่อนที่วรรณฤดีจะทิ้งท้ายบทสนทนา ด้วยประโยคที่น่าจะแทนสิ่งที่อยู่ในใจของคนทำหนังไทยทั้งประเทศ

“สมมติเราสร้างคนทำหนังที่เก่งมากๆ มาได้หนึ่งคน แล้วโยนเขาเข้าไปในสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ ไม่สนใจเรื่องลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญา เขาก็จะตาย เราก็ต้องไปหาคนใหม่ แทนที่จะได้มองเขางอกงาม เราไม่อยากเห็นเขาทำหนังแค่เรื่องสองเรื่อง แล้วต้องเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น…”

“เราไม่อยากเห็นวงการนับ 1 นับ 1 แล้วก็นับ 1 แต่ไม่เคยนับได้ถึง 2 สักที ถ้ารัฐออกแรงอีกนิด อะไรๆ คงจะเปลี่ยนได้เร็วกว่านี้”

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า